TOP

7 Q & A ข้อสงสัยเมื่อฉีดวัคซีนโควิด 19

ในขณะที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) เดินหน้าเร่งฉีด “วัคซีนโควิด 19” ให้แก่ประชาชนกลุ่มต่างๆ ตามแผนการกระจายการฉีดวัคซีนโควิด 19 ในช่วงแรกนี้ เพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้เกิดขึ้นภายในประเทศ แต่ดูเหมือนว่ากลุ่มประชาชนที่กำลังจะไปฉีดวัคซีนและที่ฉีดไปแล้ว รวมถึงคนที่ยังไม่ตัดสินใจฉีดวัคซีนนั้น ยังมีข้อสงสัยและมีความกังวลเกี่ยวกับ “วัคซีนโควิด 19” กันอยู่ไม่น้อย ดังนั้น กทม. โดยสำนักการแพทย์และสำนักอนามัย จึงได้เร่งประชาสัมพันธ์ ไขข้อข้องใจและข้อสงสัยที่เกี่ยวกับการฉีด “วัคซีนโควิด 19” และนี่คือคำตอบของ 7 ข้อสงสัย ที่จะทำให้ทุกคนมั่นใจใน “วัคซีนโควิด 19” ยิ่งขึ้น

Q

รับวัคซีน Sinovac แล้ว จะเปลี่ยนยี่ห้อเป็น AstraZeneca ในวัคซีนเข็มที่สอง ได้หรือไม่?

A

ยังไม่ได้ เพราะขณะนี้ ยังไม่มีการศึกษารองรับ กรณีการฉีดวัคซีนสลับยี่ห้อ กทม. จึงยังคงแนะนำให้ฉีดยี่ห้อเดียวกันไปก่อน จนกว่าจะมีการศึกษาวิจัยออกมาเพิ่มเติม

+++++||+++++

 

Q

ถ้าไม่สะดวกไปรับ “วัคซีนโควิด 19” ตามที่โรงพยาบาลกำหนด ต้องทำอย่างไร?

A

สามารถโทรศัพท์ติดต่อไปยังโรงพยาบาลที่นัดหมายเพื่อขอเลื่อนนัดได้ (กรณีมีไข้หรือไม่สบาย ไม่ควรรับวัคซีน ควรเลื่อนการฉีดวัคซีนออกไปอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์)

+++++||+++++

Q

เพิ่งรับวัคซีนอื่นมาไม่นาน สามารถรับ “วัคซีนโควิด 19” ได้หรือไม่?

A

ไม่ได้ เนื่องจาก “วัคซีนโควิด 19” เป็นวัคซีนใหม่ และยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการให้วัคซีนนี้ควบคู่กับวัคซีนอื่น จึงแนะนำให้เลี่ยงการฉีด “วัคซีนโควิด 19” และวัคซีนชนิดอื่นร่วมกัน เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2-4 สัปดาห์ เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดปฏิกริยาจากการฉีดวัคซีนพร้อมกัน และการรบกวนการสร้างภูมิคุ้มกัน

+++++||+++++

 

Q

รับ “วัคซีนโควิด 19” เข็มแรกที่โรงพยาบาล ก. แล้วไม่สะดวกกลับไปรับวัคซีนที่โรงพยาบาล ก. ขอเปลี่ยนสถานที่รับวัคซีนได้ไหม?

A

ปัจจุบันยังไม่สามารถเปลี่ยนสถานที่ได้ เนื่องจากข้อมูลต่างๆ ของผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนนั้น จะต้องอยู่ในสถานที่เดียวกัน

+++++||+++++

Q

หลังรับ “วัคซีนโควิด 19” แล้วขับรถได้เลยหรือไม่ สามารถรับประทานอาหารและเครื่องดื่ม ได้ทุกอย่างหรือไม่?

A

หลังรับ “วัคซีนโควิด 19” ต้องนั่งพัก สังเกตอาการในสถานพยาบาลอย่างน้อย 30 นาที และเข้าสู่ขั้นตอนการตรวจสอบอาการก่อนกลับ หากไม่พบอาการผิดปกติใดๆ จึงจะสามารถขับรถและทำกิจกรรมอื่นได้ตามปกติ ส่วนอาหารและเครื่องดื่มหลังการฉีด “วัคซีนโควิด 19” สามารถรับประทานได้ทุกอย่าง

+++++||+++++

 

Q

รับ “วัคซีนโควิด 19” ครบ 2 เข็มแล้ว คุ้มครองได้กี่ปี และต้องรับวัคซีนอีกเมื่อใด?

A

การศึกษาจนถึงปัจจุบันพบว่าภูมิต้านทานที่เกิดจากการฉีด “วัคซีนโควิด 19” อยู่ได้นานอย่างน้อย 6 เดือน และคาดว่าจะอยู่ได้นานกว่านั้น ซึ่งต้องรอการศึกษาต่อไป

+++++||+++++

 

Q

ผู้ที่เคยมีประวัติเป็นโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 มาก่อน ยังจำเป็นต้องได้รับการฉีด “วัคซีนโควิด 19” หรือไม่?

A

แม้ว่าจะเคยเป็นโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 มาก่อน ก็ควรได้รับ “วัคซีนโควิด 19” โดยเว้นระยะห่างจากการติดเชื้ออย่างน้อย 3-6 เดือน (แนะนำควรรอประมาณ 3 เดือน โดยฉีดวัคซีนเพียงเข็มเดียว) และไม่จำเป็นต้องตรวจการติดเชื้อก่อนฉีดวัคซีน เพราะแม้จะเคยเป็นมาก่อน ก็ไม่ทำให้มีอันตรายจากการฉีดวัคซีน

+++++||+++++

 

หากพบอาการข้างเคียงรุนแรง เช่น มีผื่นทั้งตัว หน้าบวม คอบวม หายใจลำบาก ใจสั่น วิงเวียน อ่อนแรง หรือมีอาการแขนขาอ่อนแรง ให้รีบไปโรงพยาบาล หรือ โทร. 1646, 1669 เพื่อรับบริการทางการแพทย์ฉุกเฉิน

—————————————–

 

เรื่อง :  อโนชา ทองชัย

ที่มา: BANGKOK NEWS (กทม.สาร) Issue 278 

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด