TOP

7 ตัวช่วยเตือนความจำ แก้อาการ “ขี้หลงขี้ลืม”

AROUND เชื่อแน่ ว่าอาการ ‘ขี้หลงขี้ลืม’ เป็นกันได้กับทุกคนทุกเพศและทุกวัย ยิ่งในช่วงเวลาที่งานรัดรุมเร้า มีสารพัดเรื่องราวให้ต้องจัดการ งานนี้ก็ด่วน เรื่องนั้นก็กวนใจ รายละเอียดมากมายให้ต้องจดจำ การมีอาการขี้หลงขี้ลืมอาจเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้เป็นครั้งคราว อาจเกิดจากการทานยาบางชนิดที่มีผลต่อความจำ หรือเป็นโรคซึมเศร้าอยู่ ความเครียด หรือแม้แต่อายุที่มากขึ้นก็ตาม แต่หากพบว่าตัวเองมีอาการดังกล่าวบ่อยๆ ต้องเริ่มหาวิธีจัดการกับตัวเอง AROUND ลองแนะวิธีแก้บรรเทาอาการ “ขี้หลงขี้ลืม” เพื่อไม่ให้กระทบกับงานหรือสิ่งที่ต้องการให้ความสำคัญต่างๆ

 

7 ตัวช่วยเตือนความจำ แก้อาการ “ขี้หลงขี้ลืม”

 

1. บอกกับตัวเองดังๆ

เคยมั๊ย! บางทีการพูดกับตัวเองเปล่งเสียงดัง จะทำให้สมองจดจำว่ามีเรื่องที่ต้องจัดการผ่านการรับรู้ แม้จะไม่แม่นเรื่องรายละเอียดก็ตาม อย่างน้อยทำให้เราย้อนคิดถึงและกลับมาดูรายละเอียดอีกครั้ง การพูดออกมาดังๆ เป็นการย้ำซ้ำเตือนตัวเอง ก็เหมือนกับจดบันทึก หรือบางทีอาจใช้ตัวช่วย พูดดังๆ ออกเสียงลงในเครื่องบันทึกเสียง หรือแอพลิเคชั่นบันทึกเสียงบนสมาร์ทโฟน

 

2. ปฎิบัติบางสิ่งให้เป็นกิจวัตร และวางให้เป็นที่

ในแต่ละวันเราอาจมีสารพัดเรื่องให้ต้องจัดการ แต่หากมีบางเรื่องที่ต้องทำเป็นกิจวัตร อาจเตือนความจำด้วยการทำซ้ำๆ ในที่เดิมๆ หรือวางของสิ่งนั้นในที่เดิม จะช่วยให้สมองจำได้เองโดยอัตโนมัติ และไม่เสี่ยงต่อการหาของไม่เจอ จากความรก และความขี้ลืม เช่น ถ้าวางกุญแจบ้านในที่แขวนเดิม อ่านหนังสือเล่มโปรดที่ยังอ่านไม่จบแล้ววางในที่เดิม วางของแต่ละชิ้นในที่วางของเดิม

 

3. เขียนบันทึก อ่านปุ๊บจำได้ปั๊บ

อีกวิธีง่ายๆ แก้อาการลืมด้วยการจดบันทึกทันที จะเป็นตัวช่วยที่เตือนความจำเราได้ดีที่สุดให้ไม่พลาดทุกนัดสำคัญ รวมไปจนถึง จดเบอร์โทรศัพท์, ที่อยู่ และทุกข้อมูลที่สามารถเป็นประโยชน์ ในวันที่เราอาจลืมไปแล้ว ให้ได้ย้อนกลับมาเตือนความทรงจำอีกครั้ง ยิ่งถ้าเราได้จดทุกวันๆ ก็จะทำให้เกิดการจดจำเรื่องราวเหล่านี้ได้ดีขึ้น แต่ดีที่สุดในการพกสมุดบันทึกติดตัวไปด้วยทุกที่

4. กระดาษโน้ต Post-it

กระดาษโน้ต Post-it สีสันสวยงาม มีกาวหนึบๆ จดทุกการนัดหมายลงไว้ในแผ่นแปะบนบอร์ดข้างโต๊ะทำงาน หรือตู้เย็น หรือในจุดที่จะต้องแวะเห็นชัดเจนของทางเข้าออกบ้าน หรือจะไว้ขั้นหน้าในสมุดบันทึก  เช่น ที่ประตูตู้เย็นในครัว, บอร์ดช่วยจำที่ติดไว้ตรงทางเดินก่อนออกจากบ้าน สีสันของ post-it จะชวนให้เป็นจุดสังเกตุและดึงดูให้ต้องมาทวนความจำ ห้ามลืม!!

 

5. ใช้ทริควาดรูปช่วยจำ

หากเป็นคนที่ชอบและมีความสามารถในการวาดเขียน ทริคประเภทช่วยความจำ ด้วยการวาดรูปไปพร้อมกับโน้ตก็สามารถดึงดูดตัวเองให้เตือนความจำได้อีกทาง

 

6. พักผ่อนเพียงพอ กินวิตะมินเสริมความจำบำรุงสมอง

การดูแลสมองหน่วยความจำด้วยการกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ความจำก็จะดีขึ้นด้วย อาหารบำรุงสมองที่ดี ควรช่วยเพิ่มการไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงสมอง

อาหารที่เป็นสุดยอดอาหารบำรุงสมองช่วยเพิ่มความจำ

  • ปลา จริงอย่างที่เขาว่ากันว่า กินปลาแล้วจะฉลาด โดยเฉพาะปลาทะเลน้ำลึก เช่น ปลาทูน่า, ปลาแซลมอน เป็นอาหารที่ประโยชน์สูงสุดต่อสมองมาก แต่ถ้าหาปลาทะเลมารับประทานลำบาก หรือไม่มีเวลาเตรียมอาหาร ก็สามารถกินอาหารเสริมประเภท น้ำมันปลาแทนได้

 

  • ผลไม้รสเปรี้ยวตระกูลเบอร์รี่ ได้แก่ บลูเบอร์รี่ สตรอเบอร์รี เชอร์รี จะช่วยเสริมสุขภาพสมอง ระบบหมุนเวียนเลือดไปเลี้ยงสมอง ช่วยลดความดันโลหิตที่สูงให้สมดุล มีวิตามิน และสารต้านอนุมูลอิสระสูงช่วยเพิ่มความสามารถในการคิด และระดับไอคิวได้ดี ทั้งยังป้องกันการสูญเสียความจำระยะสั้น ช่วยเพิ่มจำนวนเซลล์ประสาทในฮิปโปแคมปัส ที่ทำหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงต่อความทรงจำ โดยเฉพาะบลูเบอร์รีสด จะดีต่อความจำระยะยาวมากที่สุด

 

  • ผักโขม ช่วยลดอาการความจำเสื่อมได้ โดยเฉพาะในผู้หญิง มีการวิจัยพบว่า หญิงวัยกลางคนที่รับประทานผักโขม ร่วมกับผักใบเขียวชนิดอื่นๆ เป็นประจำ จะช่วยลดอาการความจำเสื่อมไปได้ถึง 2 ปี ผักโขม มีเอนไซม์ที่ดีต่อความแข็งแกร่งของปลายเซลล์ประสาท และเสริมความแข็งแรงตัวรับส่งข้อมูลระหว่างเซลล์ประสาท ทั้งยังมีกรดโฟลิกสูงที่ดีต่อการจำ ช่วยรักษาสมดุลของน้ำในร่างกาย นักประสาทวิทยาแนะนำว่า ควรกินผักโขม อย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยเฉพาะผักโขมที่ปลูกแบบออร์แกนิก ซึ่งไร้สารพิษตกค้าง

 

  • ไข่ เป็นที่รู้จักกันดีว่าช่วยพัฒนาระบบการทำงานของสมอง โดยล่าสุดนี้พบว่า สาร “โคลิน” ในไข่ไก่ จะทำหน้าที่สำคัญต่อการพัฒนาการทำงานของสมองและความจำ

 

  • แครอท หากต้องการกระตุ้นให้สมองทำงานอย่างสดชื่นแบบเร่งด่วน ควรรับประทานผลไม้สด โดยเฉพาะแครอทสด รับประทานอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง จะช่วยกระตุ้นให้มีความจำที่ดีได้

 

  • พืชตระกูลถั่ว ไม่ว่าจะเป็น ฮาเซลนัท อัลมอนด์ ถั่วลิสง แมคคาเมีย และวอลนัท ที่ถือได้ว่าเป็นราชาแห่งถั่ว ล้วนเป็นแหล่งรวมโปรตีนที่มีไฟเบอร์สูง และมีไขมันดีมาก เป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน ที่ช่วยทำให้รู้สึกกระฉับกระเฉง ขณะที่โปรตีนและไขมันช่วยให้ร่างกายสมดุล สงบ ผ่อนคลาย อีกทั้งยังมีวิตามินอีที่สำคัญต่อกระบวนการคิดและจำ

 

  • าหารประเภทธัญพืช เช่น เมล็ดดอกทานตะวัน เมล็ดงา เมล็ดแฟลกซ์ ที่มีโปรตีนสูง มีไขมันดี และวิตามินเอสูง ขณะเดียวกันก็มีสารต้านอนุมูลอิสระ ที่ช่วยเพิ่มสารอาหารกระตุ้นสมอง แมกนีเซียมทำให้เลือดไปหล่อเลี้ยงสมองได้ดี เต็มไปด้วยเส้นใยอาหาร มีปริมาณโปรตีนที่เหมาะสม รวมทั้งยังมีโอเมก้าสูง และจะดีมากหากรับประทานเป็นอาหารเช้าเพื่อเพิ่มพลังในวันใหม่

 

  • แอปเปิ้ล การดื่มน้ำแอปเปิ้ลวันละประมาณ 2 แก้ว หรือรับประทานแอปเปิ้ลวันละ 2-3 ลูก มีส่วนช่วยเพิ่มการสร้างสื่อประสาทในสมอง ที่มีชื่อว่า “อะเซทิลโคลีน” ซึ่งเป็นตัวกำหนดความสามารถเรียนรู้ในการจำ และการเรียนรู้ และยังเพิ่มประสิทธิภาพความจำของสมองส่วนฮิปโปแคมปัส จึงช่วยชะลอภาวะสมองเสื่อมได้

 

  • ช็อกโกแลต ช่วยกระตุ้นสมอง มีสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยระบบหมุนเวียนเลือด และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสมองได้ ที่สำคัญช่วยพัฒนาความจำได้ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ยังผลิตสารเอ็นดอร์ฟิน และเซโทโรนิน ที่เป็นสารแห่งความสุขในสมอง ทำให้อารมณ์ดี โดยพกแท่งเล็กๆ ไว้ในกระเป๋ากินเวลาว่าง เมื่อต้องการความสดชื่นจะช่วยผ่อนคลายสมองได้

 

  • แปะก๊วย เป็นพืชสมุนไพรที่ใช้ในการรักษาโรคสมองเสื่อม โรคซึมเศร้า อาการหลงๆ ลืมๆ จึงนิยมแนะนำให้ใช้เพื่อปรับปรุงระบบไหลเวียนโลหิตในสมอง เพราะเมื่อสมองขาดเลือดไปหล่อเลี้ยง ย่อมเสื่อมสมรรถภาพและฝ่อไปในที่สุด ส่งผลต่อการทำงานและประสิทธิภาพของสมอง และยังมีการสกัดเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ในรูปแบบวิตามินเพื่อบำรุงสมองอีกด้วย

 

7. บริหารสมอง

หากิจกรรมที่ทำแล้วเพลิน ผ่อนคลาย แถมยังสามารถช่วยบริหารสมอง เช่น เล่นเกมส์, อ่านหนังสือ, เล่นดนตรี, เล่นกีฬา เหล่านี้ช่วยให้สมองได้ออกกำลัง ก็เหมือนกับร่างกายได้ออกกำลัง ทำให้สดชื่นอารมณ์ดี แอคทีฟขึ้น คิดอะไรได้ฉับไว และที่แน่ๆ ช่วยให้ความจำดีขึ้นแน่นอน

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด