สัมผัสหัวใจสีเขียว ของซูเปอร์ฮีโร่ “อเล็กซ์ เรนเดลล์”
Man in the Realm of Nature
ในวัยเด็กเราอาจจะเคยมีซูเปอร์ฮีโร่ในดวงใจ ที่ใช้พลังวิเศษเพื่อช่วยเหลือคนในสังคม แต่เมื่อเติบโตขึ้นจึงได้เข้าใจว่า ฮีโร่ไม่จำเป็นต้องมีพลังวิเศษ แต่อาจเป็นเพียงแค่คนธรรมดาคนหนึ่ง ที่มีหัวใจวิเศษ ซึ่งพร้อมจะเสียสละเวลา เสียสละแรงกายแรงใจของตัวเองเพื่อคนหมู่มาก และถึงแม้ว่าชายหนุ่มที่ทุ่มเททั้งกายและใจเพื่อสิ่งแวดล้อมคนนี้ จะปฏิเสธว่าเขาไม่ใช่ฮีโร่ แต่สำหรับเราผู้ชายที่ชื่อ อเล็กซ์ เรนเดลล์ ก็เป็นฮีโร่ของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอยู่ดี
“สำหรับคนที่มองว่าเป็นฮีโร่ก็ต้องขอบคุณที่เขามองมาแบบนี้ แต่ก็ต้องยอมรับว่าการที่เราเป็นนักแสดงมันเป็นความโชคดีที่ทำให้คนมีโอกาสรับรู้ในสิ่งที่เราทำมากขึ้น ซึ่งในความเป็นจริงแล้วคนที่ทำงานหนักกว่าเราก็มี คนที่ทำมานานกว่าเราก็มี แล้วคนที่เต็มที่กว่าเราก็มี เพราะฉะนั้นเราคงไม่ไปเคลมว่าเราเป็นฮีโร่ แต่ว่าก็ดีใจถ้าหากเราเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นๆ ได้” พระเอกหนุ่มผู้มีหัวใจรักธรรมชาติ ได้เริ่มต้นออกตัว ก่อนจะเล่าถึงจุดเริ่มต้นของความรักในธรรมชาติ ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่เขายังเป็นเด็กชายตัวเล็กอายุเพียง 10 ปี
“ตอนนั้นผมได้มีประสบการณ์การช่วยเหลือช้างป่าที่เขาใหญ่ จำได้ว่าเป็นการถ่ายรายการ โดยทางรายการเขาจะให้เราไปเจอกับผู้เชี่ยวชาญด้านช้าง ตอนนั้นก็ไปเจอช้างที่ขาเจ็บ ซึ่งหน้าที่ของเราก็คือคอยติดตามขึ้นรถกระบะไปกับพี่ๆ ไปช่วยรักษา แล้วก็มาระดมทุนที่กองถ่าย เพื่อซื้อยาให้กับช้าง นั่นเป็นครั้งแรกที่เราได้สัมผัสกับสัตว์ป่า ได้อยู่ในป่าจริงๆ ซึ่งพอเราไปแล้วเราสนุก คุณแม่ก็ไปถามว่าจะขอมาบ่อยๆ ได้ไหม เขาก็บอกว่าได้ แล้วคุณแม่ก็จะไปส่งให้อยู่ที่นั่น ประมาณวันศุกร์ถึงวันอาทิตย์ ไปอยู่กับอาจารย์ อยู่ประมาณ 2 ปี แล้วก็ไปเดินป่า อยู่ที่อุทยาน ไปอยู่บ้านกับเจ้าหน้าที่ คือคุณพ่อคุณแม่เขาก็เห็นว่าเราชอบ สนุก แล้วก็เป็นกิจกรรมที่ดีด้วย เขาก็เลยสนับสนุนให้เรามาทางนี้ บวกกับช่วงนั้นครอบครัวก็ได้พาไปที่เกาะพีพี แล้วเราก็จำภาพที่เรากระโดดน้ำลงไป แล้วมีปลาเต็มไปหมดเลย ประสบการณ์ตอนนั้นสำหรับเด็ก 10 ขวบ มันคือโลกแห่งความมหัศจรรย์มาก ก็ทำให้เราเกิดความชอบธรรมชาติ แต่ก็ไม่ได้คิดถึงขั้นว่าจะมาเรียนด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง”
“จนเรียนจบนิเทศฯ ก็มาระดมทุนเพื่อเอาช้างจากภาคใต้เชือกหนึ่ง มาเป็นครูช้างให้กับเด็กๆ ที่เขาใหญ่ หลังจากนั้นก็มาทำรถพยาบาลช้าง เป็นการระดมทุนเหมือนกัน เพื่อสร้างรถพยาบาลช้างคันแรกของประเทศไทย จนได้มาเจอกับอาจารย์ท่านเดิม ที่สอนตอนเรา 10 ขวบที่ไปช่วยช้าง ก็เลยมีโอกาสได้มาช่วยกิจกรรม ช่วยสอน ซึ่งก็เป็นเหมือนจุดเริ่มต้น ทำให้เกิดความคิดที่จะทำ EEC (Environmental Education Center) หรือศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษา ตั้งแต่นั้นมาเราก็จัดค่ายให้กับเยาวชนแล้วก็เหมือนเราได้เรียนรู้ไปพร้อมกับเด็กๆ พอเรียนรู้ ประสบการณ์เราก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งพอเราอยู่ตรงนั้นเยอะๆ งานต่างๆ ก็เริ่มไปทางด้านสิ่งแวดล้อมหมดเลย ทำให้ได้เดินทางเยอะ แล้วยิ่งทำก็ยิ่งอิน ยิ่งรู้สึกว่าเรามีส่วนในการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างได้ ทำให้มีความสุขที่จะทำ ก็เลยทำมาตลอดจนทุกวันนี้ ซึ่งถ้าเริ่มนับจากวันแรกที่อุปถัมภ์ช้างขวัญเมืองมา ก็ประมาณ 7 ปีแล้ว และในส่วนของ EEC ก็เปิดมา 5 ปี เรียกว่าจากนั้นมาชีวิตของเราก็มาทำงานทางด้านนี้ยาวเลยครับ”
จากประสบการณ์การทำ EEC ที่ทำให้เขาได้มีโอกาสสัมผัสและคลุกคลีอยู่กับเด็กๆ อย่างใกล้ชิด ก็ทำให้เขายอมรับว่า เยาวชนในปัจจุบันได้มีการตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้นกว่าในอดีต ซึ่งนับเป็นเรื่องที่น่ายินดี “ถ้าเปรียบเทียบกับตอนที่ผมอายุเท่าเขา ผมว่ามันมากขึ้นคนละระดับเลย อาจจะเป็นผลจากโซเชี่ยลด้วย คือยกตัวอย่างเมื่อก่อนที่โรงเรียนก็จะมีเป็น Environment Club เล็กๆ มีคนไม่มากนักที่จะให้ความสำคัญ แต่เดี๋ยวนี้มันไม่ใช่อย่างนั้นแล้ว มันกลายเป็นเรื่องปกติของการเรียนรู้ กลายเป็นเรื่องเท่ที่ได้มาดำน้ำ มาอยู่กับธรรมชาติ มันกลายเป็นเทรนด์ขึ้นมา แล้วเทรนด์นี้มันก็ส่งผลต่อ ไม่ใช่แค่เด็กๆ นะ แต่เป็นสังคมโดยรวมเลย ตอนที่ทำแรกๆ เลยเมื่อ 5 – 6 ปีที่แล้ว คนไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมอะไรมากขนาดนี้ จะเป็นเรื่องที่เฉพาะกลุ่มมากๆ แต่เดี๋ยวนี้อะไรๆ ก็อีโค เมื่อก่อนเรื่องของการอนุรักษ์จะมาจากแคมเปญ CSR เดี๋ยวนี้เขามีเป็นแผนก sustainability เลย มีคนที่คอยดูแลเรื่องของความยั่งยืน ทีนี้มันก็เลยทำให้เห็น ถ้าจะให้ตอบคำถามก็คือยุคนี้เรามองว่ามีการให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากกว่าที่เราคาดเดาไว้เยอะเลย และเยาวชนก็เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อน ผมเชื่อว่าอย่างนั้น แล้วเขาก็จะมีบทบาท ไม่ใช่แค่ที่โรงเรียน แต่ว่าในครอบครัวของเขาด้วย ซึ่งส่งผลให้คนอื่นๆ ที่อยู่รอบตัวเขาก็หันมาสนใจเหมือนกัน”
หลังจากปีที่ 7 การทำงานที่ดูเหมือนจะราบรื่น ก็กลับต้องมาสะดุดลงด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบกับกิจกรรมและสิ่งต่างๆ ที่พระเอกรักษ์โลกคนนี้กำลังทำอยู่เช่นกัน เขาก็ได้มีวิธีการจัดการและรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้น “พอเกิดโควิด-19 เราก็ยกเลิกทั้งหมดเลยครับ ซึ่ง 3 เดือนที่ผ่านมาเรายังไม่ได้มีค่าย ไม่ได้มีกิจกรรมอะไร แต่กำลังจะมีในอีกประมาณ 1 เดือนจากนี้ ซึ่งก็เพิ่งประชุมเรื่องนี้กันไป โดยจะต้องมีมาตรการรับมือ อาจจะจัดเป็นกรุ๊ปที่น้อยลง ต้องมีเรื่องของ Social Distancing เข้ามาเกี่ยวข้อง ค่ายที่ต้องบินไปไกลๆ ก็ต้องปรับมาเป็นกาญจนบุรี เขาใหญ่ หรือสถานที่ใกล้ๆ ที่ครอบครัวสามารถจะเดินทางไปด้วยกัน มันก็ได้รับผลกระทบที่ค่อนข้างเยอะ แต่สำหรับผม ผมมองว่ามันเป็น crisis ของโลก ซึ่งสุดท้ายแล้วความปลอดภัยของคนก็ต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง โดยเฉพาะเราทำงานกับเด็กๆ ก็ต้องดูแลให้ถึงที่สุดครับ ค่ายจะจัดเมื่อไหร่ก็ได้ รอให้เหตุการณ์เรียบร้อย แล้วค่อยกลับมาเต็มที่เหมือนที่เราเคยทำก็ได้”
“ส่วนหลังจากนี้ก็จะมีโปรเจ็กต์กอดป่ากอดทะเล เป็นโปรเจ็กต์ส่วนตัวของเรา ที่เราเดินทางไป 11 จังหวัดทั่วประเทศไทย เพื่อที่จะสร้างเวทีการศึกษาให้เด็กๆ ในพื้นที่มาเรียน และเราเป็นผู้บรรยาย มีดนตรี มีแขกรับเชิญ มีสิ่งต่างๆ ที่ทำให้สิ่งแวดล้อมมันสนุก ซึ่งเราก็จะพยายามรวมกลุ่มให้ได้ 2 – 3 พันคน ในทุกๆ จังหวัดที่ไป ก็จะเดินทางไปเรื่อยๆ เปลี่ยนคอนเทนต์ให้เหมาะกับสถานที่นั้นๆ ไปเรื่อยๆ นี่ก็เป็นโปรเจ็กต์ที่เราจะทำไปอีก 2 ปี” จากความทุ่มเททำงานด้านสิ่งแวดล้อมที่ไม่หยุดนิ่งตลอดระยะเวลา 7 ปี ในที่สุดผลจากความทุ่มเทและตั้งใจ ก็ส่งให้เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นทูตสิ่งแวดล้อมคนแรกของประเทศไทย จาก UN ซึ่งการได้รับตำแหน่งครั้งนี้ ก็ไม่ได้สร้างความกดดันให้กับเขามากนัก เพราะไม่ว่าจะมีตำแหน่งหรือไม่ เขาก็ยังคงเต็มที่กับงานด้านสิ่งแวดล้อมเหมือนเช่นที่เป็นมาตลอด 7 ปี
“ผมไม่รู้สึกกดดันครับ จะมีก็แต่ต้องมานั่งคิดว่าจะมีปัญหาอะไรที่จะนำมาสู่เราได้บ้าง กับการมีตำแหน่งแบบนี้ ซึ่งผมก็ได้ดำตอบว่าสุดท้ายแล้วเราก็ยังเต็มที่ ไม่ว่าอย่างไรเราก็ยังทำต่อไป ฉะนั้นไม่ใช่ว่าพอเราได้รับตำแหน่งตรงนี้ แล้วเราจะต้องเปลี่ยนตัวเอง ผมมองว่าที่เราได้มา ก็เพราะว่าสิ่งที่เราทำอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นจึงไม่มีความจำเป็นอะไรที่เราจะต้องไปกดดันตัวเอง มีแต่ความภูมิใจมากกว่าครับ ซึ่งหลังจากที่ได้รับตำแหน่งนี้แล้ว บทบาทการทำงานด้านสิ่งแวดล้อมก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรมากครับ เพราะเราก็ยังทำเรื่องของการศึกษา และเรื่องกิจกรรมของเราเหมือนเดิม ซึ่งจากที่ได้คุยกับทาง UN เขาก็อยากให้เราทำเหมือนเดิมนั่นแหละ แต่ว่าอาจจะได้รับเชิญไปในงานที่จริงจังมากขึ้น แล้วก็อาจจะได้ไปมีส่วนในการเป็นตัวแทนของประเทศในงานต่างๆ มีตำแหน่งที่เป็นเรื่องเป็นราว คนอาจจะเชื่อถือเรามากขึ้นหรือเปล่าไม่รู้ แต่สำหรับผม โดยส่วนตัวแล้วผมก็ยังเต็มที่เหมือนที่เคยทำมาโดยตลอด เพียงแต่ว่าตอนนี้เรามีตำแหน่ง จะทำอะไรก็ต้องรอบคอบมากขึ้น แล้วก็มีสติมากขึ้น เพราะว่าคนก็จะคาดหวังมากขึ้น”
ในวันนี้แม้ว่าสิ่งที่เขาตั้งใจและทุ่มเททำมาตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาจะเป็นที่ยอมรับ แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็ยังยอมรับว่า การทำงานด้านสิ่งแวดล้อมนั้นไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลย ซึ่งน่าแปลกที่มันกลับทำให้เขามีความสุขทุกครั้งที่ได้ทำ “งานสิ่งแวดล้อมมันยาก ถ้าเราต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงเดี๋ยวนี้ แต่ว่าสำหรับผมมองว่า ถ้าเราจะทำแล้วเราไม่มีความสุข มันจะยิ่งไม่อยากทำ ผมก็เลยจะพยายามมองในแง่บวกเข้าไว้ แล้วพยายามทำความเข้าใจ ซึ่งท้ายที่สุดมันก็จะทำให้เรารู้เองว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ใช่แค่เป็นเรื่องระหว่างคนไม่กี่คน แต่ว่ามันเป็นระดับที่ค่อนข้างใหญ่ แล้วหน้าที่ของเราไม่ใช่การที่จะไปแก้ปัญหาตรงนั้น แต่หน้าที่ของเราคือการทำให้ปัญหาตรงนั้นมันไม่เกิดขึ้นอีก ด้วยการทำให้เจเนอเรชั่นถัดไป มีความรู้และมีความคิดอยากจะปกป้องมากกว่า เจเนอเรชั่นก่อนๆ เพราะฉะนั้นเราก็จะเห็นปัญหา มักจะมีคนถามผมมาเยอะเหมือนกันว่าอะไรคือปัญหาหลัก จะแก้ไขอย่างไร ผมก็จะบอกเลยว่าผมก็รับรู้แหละ แต่การทำงานตรงนี้ต้องไม่โลกสวย เพราะมันจะต้องอาศัยความเข้าใจเพื่อที่จะเอาข้อมูลตรงนี้ไป educate เจเนอเรชั่นต่อไป”
“การทำงานสิ่งแวดล้อมอาจจะเหนื่อยแต่กาย แต่ไม่ได้เหนื่อยใจครับ ก็เลยทำแล้วมีความสุข แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราจะไม่แก้ปัญหาที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเลย คือก็มีแก้แต่เราจะมองว่าถ้าเราทำเรื่องของ education มันเป็นการแก้ที่ต้นเหตุจริงๆ ยกตัวอย่างเรื่องขยะทะเล ถ้าเราไม่แก้ที่คนทิ้ง เราเก็บไปตลอดชีวิตมันก็ยังมีขยะลอยมาอยู่ตลอด แต่ถ้าเราไปแก้ที่ต้นทาง นั่นก็คือการแก้ที่ความรู้ของสังคม ผมว่าตรงนี้มันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในอนาคตที่เราคาดหวังไว้ คือปัญหาปัจจุบัน ถ้าอะไรที่เราช่วยแล้วเราแก้ได้ เราก็จะทำอยู่แล้ว แต่ว่า priority หลักคือการแก้ด้วยการใช้เครื่องมือการศึกษามากกว่า และสำหรับผมเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ทุกคนก็มีส่วนร่วมได้”
“ผมมักจะได้รับคำถามว่า อยากทำเหมือนที่ผมทำอยู่ จะทำอย่างไรได้บ้าง ผมก็มองว่ามันก็เหมือนหนังภาพยนตร์ คือถ้าคุณอยากจะถ่ายหนัง สิ่งแรกที่คุณต้องทำก็คือคุณต้องออกไปซื้อกล้อง แล้วคุณลองทำมัน แต่ถ้ายังอยู่แค่ในความคิดของเรามันก็จะไม่เกิด ผมเชื่อว่ามีหลายๆ activities หลายๆ หน่วยงานที่ให้คุณพร้อมที่จะไปเป็นอาสาสมัคร หรือไปสมัครงานเพื่อทำงานทางด้านนี้ คือถ้าคุณอยากจะทำจริงๆ มันขึ้นอยู่ที่ตัวคุณ คุณต้องพร้อมจริงๆ เพราะทำงานทางนี้มันเหนื่อย และมันต้องอาศัยความอ่อนโยน บอกกับใจต้องค่อนข้างนิ่งโดยเฉพาะถ้าเกิดว่าเราเป็นคนที่รักธรรมชาติมากๆ คุณจะเห็นอะไรที่ขัดใจอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นต้องยอมรับตรงนี้ให้ได้ คนที่จะมาทำตรงนี้ ต้องมาเพื่อหาความสุขให้กับตัวเอง แล้วความสุขของเรา ก็จะนำไปสู่ความสุขให้กับคนอื่นๆ ด้วยครับ”
***************
เรื่องโดย : จักรีรัตน์ อัสดรวุฒิไกร
ภาพ : EEC Thailand