TOP

‘อาสาฬหบูชา’ ศาสนาพุทธเกิดขึ้นครั้งแรกในโลก

คนพุทธทุกคน จะถูกสอนให้รู้จัก “วันอาสาฬหบูชา” ตั้งแต่จำความได้ในวิชาพุทธศาสนา ตรงกับวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 หรือ ราวเดือนกรกฎาคมของทุกปี คำว่า “อาสาฬหปุรณมีบูชา” คือ การบูชาในวันเพ็ญเดือนอาสาฬห คือ เดือน 8 ด้วยเป็นวันสำคัญที่สุดวันหนึ่งของพุทธศาสนิกชน เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระศาสนาเป็นครั้งแรก และศาสนาพุทธจึงเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในโลก เมื่อ 2,562 ปีมาแล้ว  โดยพระศาสดาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา คือ ธรรมจักกัปปวัตนสูตร เป็นผลให้เกิดมีพระสาวกรูปแรกขึ้น ในพระพุทธศาสนา จนถือได้ว่าเป็นวันแรกที่มี พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ครบเป็นองค์พระรัตนตรัย ให้เราชาวพุทธ ได้มีแนวทางยึดปฏิบัติสู่หนทางแห่งการดับทุกข์

แล้วเราควรวางตัว วางใจ อย่างไร ในวันอาสาฬหบูชา

AROUND Online ขอนำบทความเทศนาธรรม ของ “ท่านพุทธทาสภิกขุ” อันจะเป็นประโยชน์ เป็นธรรมทานต่อเราชาวพุทธอีกครั้ง

 

“สำหรับวันอาสาฬหบูชานี้ เป็นที่เข้าใจกันอยู่แล้วเหมือนกันว่า ชาวพุทธจะทำการบูชา ระลึกถึงพระศาสดา ในการที่พระพุทธองค์ได้ตรัสพระธรรมเทศนา อันเป็นหัวใจแห่งพระศาสนา ไว้เป็นครั้งแรกของการประกาศพระธรรมของพระองค์ เรียกได้ว่าเป็นวันที่พระธรรมได้ปรากฏออกมา อย่างเป็นหลักฐานในโลกนี้ ในนามที่เรียกกันว่า “พระพุทธศาสนา” ในทุกวันนี้

 

ท่านทั้งหลายควรจะพิจารณาดูให้ดี ในลักษณะที่เกี่ยวข้องกันอยู่กับมนุษย์อย่างลึกซึ้ง ข้อนี้มีใจความสำคัญที่สุดอยู่ตรงที่ว่า ก่อนหน้าแต่นี้ มนุษย์ยังอยู่ในความมืด หรือว่าโลกยังอยู่ในความมืด ไม่มีแสงสว่างที่แท้จริง ที่จะทำให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร เมื่อถึงวันเช่นวันนี้ เมื่อสองพันห้าร้อยกว่าปีมาแล้วนั้น ได้มีบุคคลคนหนึ่ง คือ “พระพุทธเจ้า” ได้ประกาศสิ่งที่ควรจะเรียกได้ว่า “เป็นแสงสว่างแก่มนุษย์” และพร้อมกันนั้นก็เรียกกันว่าเป็น “ธรรมาณาจักร” ที่พระองค์ประกาศออกไป ในฐานะที่เป็นแสงสว่างนั้น จะช่วยให้เรารู้จักความจริงเกี่ยวกับชีวิตจิตใจ เกี่ยวกับความสุข ความทุกข์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ “ความดับทุกข์” 

 

ในฐานะที่เป็นธรรมาณาจักรนั้น คือ เป็นสิ่งที่กล่าวได้ว่า “พระธรรมได้คุ้มครองโลก” พระธรรมได้ปรากฏเป็นแสงสว่างขึ้นมาในโลก เป็นชัยชนะของมนุษย์ มนุษย์จะไม่ต้องแพ้แก่ความมืดอีกต่อไป จะไม่ต้องพ่ายแพ้แก่กิเลสหรือความทุกข์อีกต่อไป ดังนั้นวันนี้มันจึงเป็นวันสำคัญสำหรับมนุษย์ คือ “เป็นวันชัยชนะของมนุษย์เหนือความมืด กิเลส และความทุกข์” เป็นต้น นั่นเอง 

 

ท่านทั้งหลายลองพิจารณาดูเถิดว่า มันมีความสำคัญสักเท่าไร และแล้วเราก็ได้ให้ความสนใจหรือเอาใจใส่ ให้ความสำคัญกับวันเช่นวันนี้มากสักเท่าไร ดูเหมือนว่าเราจะยังคงมืดอยู่ และความโง่ของเรานั่นเองที่ทำให้ไม่สนใจ ไม่เอาใจใส่ กับความสำคัญของวันนี้ ซึ่งเป็นวันที่เรียกได้ว่าเป็นชัยชนะของมนุษย์เหนือกิเลสและความทุกข์

วันนี้เรามารวมกันเพื่อทำอาสาฬหบูชา มันก็ควรจะเข้าใจว่าเป็นวันธรรม “เป็นวันที่กระทำเพื่อเป็นที่ระลึกแก่ชัยชนะของมนุษย์นั่่นเอง และต้องกระทำด้วยอาการที่มีลักษณะแห่งชัยชนะ มีความชนะ” ไม่ใช่มีความงมงาย แล้วก็สักว่าจะทำกันไป หรือว่ากระทำเพื่อความสนุกสนาน เพราะได้กระทำอะไรแปลกๆ ตามความรู้สึกของเด็กๆ เช่น ได้เดินเวียนกันเป็นงูใหญ่ สนุกสนานดี อย่างนี้ เป็นต้น นี้เป็นตัวอย่างแห่งความงมงาย ความโง่เขลา ความไม่รู้ในความหมายของคำว่าอาสาฬหบูชา ถ้ายังขืนทำกันอยู่อย่างนี้ มันก็ไม่มีประโยชน์อะไร ไม่มีความก้าวหน้าในทางจิตใจ เกี่ยวกับความเป็นมนุษย์ของตนเลย จะยังคงเป็นมนุษย์ที่อยู่นอกเหนือขอบเขตของธรรมาณาจักร มิได้อยู่ในอาณาจักรของพระพุทธเจ้า เป็นคนนอกศาสนา นอกธรรมะ ไม่รู้สิ่งที่มนุษย์ควรจะรู้ คือ ไม่รู้ธรรมะที่ทำให้เป็นมนุษย์ที่ถูกต้อง จึงเรียกว่าอยู่ในความมืด หรืออยู่ในอาณาจักรของความโง่ ของความมืด ไม่ได้อยู่ในอาณาจักรของพระธรรม

 

ดังนั้นท่านทั้งหลายจงได้ระวังตัวดีๆ เวลานี้ ขณะนี้ ที่นี่ และเดี๋ยวนี้ เรากำลังอยู่ในลักษณะอย่างไร อยู่ในลักษณะของความมืด สว่างไสว ความไม่มีทุกข์ หรือว่าอยู่ในลักษณะที่มืดมัว หม่นหมอง และยังคงมีความทุกข์เหมือนเดิมอยู่นั่นเอง เดี๋ยวนี้เราอยู่ในลักษณะที่จะทำอาสาฬหบูชา แสดงออกมาทางกาย ทางวาจา ด้วยความรู้สึกที่รู้สึกเป็นอย่างดีอยู่ในจิตใจ ในการทำอาสาฬหบูชา เราก็จะปรับปรุงตัวเอง ตระเตรียมตัวเองให้มีความเหมาะสมและถูกต้อง ในการที่จะทำอาสาฬหบูชา มันจึงจะมีการทำอาสาฬหบูชากันจริงๆ

 

ท่านทั้งหลายลองคิดดูว่า วันหนึ่งวันเดียวนี้ มีเพียงวันเดียวใน 1 ปีนี้ ควรจะทำให้ดีสักเท่าไร ให้สมกันสักเท่าไร อย่าได้ละเลยวันเดียวใน 1 ปีนี้เสีย มันจะทำให้เกิดความประมาทยิ่งยิ่งขึ้นไป จนไม่มีอะไรที่มีความสำคัญเลย”

(พุทธทาสภิกขุ)

 

ที่มา : Facebook : หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ : Buddhadasa Indapanno Archives

Photos : น้ำเพชร วรกานนท์ & อรนุช อิทธิภากร | iStock

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด