กทม. ยกระดับคุณภาพชีวิตคนกรุง เพิ่มพื้นที่สีเขียว พลิกโฉมกรุงเทพฯ สู่ ‘มหานครสีเขียว’ เต็มรูปแบบปี 2573
เพราะสถานการณ์เรื่องมลภาวะในพื้นที่กรุงเทพฯ กำลังอยู่ในภาวะวิกฤต จากที่ข้อมูลพื้นที่สีเขียวของ องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าประชาชน 1 คน ต้องการพื้นที่สีเขียว 9-15 คารางเมตร แต่ชาวกรุงเทพฯ ยังมีพื้นที่สีเขียวเพียง 6.9 คารางเมตรต่อคนเท่านั้น จากปัจจุบันกรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียวรูปแบบสวนสาธารณะและสวนหย่อมรวมประมาณ 8,081 แห่ง อาทิ สวนลุมพินี, สวนหลวง ร.9, สวนวชิรเบญจทิศ และสวนสาธารณะอื่นๆ อีกมากมาย รวมถึงปริมาณพื้นที่สีเขียวที่มีอยู่ มีผลต่อการบรรเทามลภาวะทางอากาศด้วย และนั่นได้กลายเป็นแรงผลักดันสำคัญของกรุงเทพมหานคร กับแนวคิดเพิ่มพื้นที่สีเขียวสร้างกรุงเทพฯ สู่ “มหานครสีเขียว” (Green Bangkok 2030) ด้วยการเพิ่มพื้นที่ร่มไม้ต่อพื้นที่เมืองให้มากขึ้น จากปัจจุบันร้อยละ 14 เป็นร้อยละ 30 และเพิ่มอัตราเฉลี่ยพื้นที่สีเขียวต่อจำนวนประชากรในกรุงเทพฯ จากปัจจุบัน 6.9 ตารางเมตรต่อคน ให้เป็น 10 ตารางเมตรต่อคน เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนต่อไป
อีกทั้งยังได้เพาะกล้าไม้ยืนต้นแจกให้ประชาชน นำไปปลูกภายในบ้าน ตั้งเป้าปลูกต้นไม้ 1 แสนต้นใน 1 ปี ในโครงการ ปลูกไม้ยืนต้นเฉลิมพระเกียรติฯ เนื่องในโอกาสมหามงคล พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 พร้อมกับโครงการใหม่ล่าสุด Tree / You / Again เป็นโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ และอนุรักษ์ธรรมชาติ ด้วยการเชิญนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมาท่องเที่ยว และปลูกต้นไม้ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ไทย โดยโครงการนี้มีไฮไลท์ให้นักท่องเที่ยวที่เข้าร่วมกิจกรรม สามารถตรวจสอบการเจริญเติบโตของต้นไม้ที่ปลูกได้ทาง แอปพลิเคชัน We Grow และในอีกไม่นาน กรุงเทพฯ จะมี สวนสาธารณะลอยฟ้า ซึ่งเป็นโครงการปรับปรุงสะพานพระปกเกล้าสกายปาร์ก ซึ่งจะกลายเป็นแลนด์มาร์กสีเขียวสร้างความสุขแห่งใหม่ของชาวกรุงเทพฯ จากวันนี้กรุงเทพฯ จะกลายเป็นเมืองน่าอยู่ เป็นเมืองแห่งความสุขของทุกคนยิ่งๆ ขึ้นไป
สวนสาธารณะหลักของกรุงเทพฯ
ที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ 5 อันดับ
อันดับ 1 ขนาด 650 ไร่ – สวนสาธารณะศูนย์กีฬาบึงหนองบอน เขตประเวศ
อันดับ 2 ขนาด 500 ไร่ – สวนหลวง ร. 9 เขตประเวศ
อันดับ 3 ขนาด 375 ไร่ – สวนวชืรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) เขตจตุจักร
อันดับ 4 ขนาด 360 ไร่ – สวนลุมพินี เขตปทุมวัน
อันดับ 5 ขนาด 350 ไร่ – สวนเสรีไทย เขตบึงกุ่ม
ขับเคลื่อนเต็มกำลัง เพื่อสร้างมหานครสีเขียว
จากแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2556-2575) ในช่วงนี้ถือเป็นแผนระยะที่ 2 (พ.ศ.2561-2565) ในมิติของมหานครสีเขียวนั้น เป้าหมายของกรุงเทพฯ คือ “มหานครสีเขียว สะดวกสบาย” ด้วยการจัดระเบียบเมือง ปรับภูมิทัศน์สวยงาม ไม่มีสายไฟ สายโทรศัพท์รกรุงรัง สร้างพื้นที่สวนสาธารณะ พื้นที่สีเขียวกระจายทั่วทุกพื้นที่กรุงเทพฯ ร่มรื่นด้วยพรรณไม้ มีพื้นที่สีเขียวเพื่อการพักผ่อนเพียงพอตามมาตราฐานสากล ประชาชนเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะ การจราจรคล่องตัวไม่แออัด รวมถึงกรุงเทพฯ จะเป็นเมืองประหยัดพลังงาน ใช้พลังงานสะอาด ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และนั่นทำให้ปี พ.ศ. 2563 กรุงเทพมหานครขับเคลื่อนนโยบายด้านมหานครสีเขียวอย่างเต็มกำลัง เข้มข้น ในทุกนโยบายและทุกโครงการ เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้แก่ชาวกรุงเทพฯ รวมทั้งตั้งเป้าในปี พ.ศ. 2573 กรุงเทพฯ เป็นมหานครสีเขียวอย่างเต็มรูปแบบ
ยุทธศาสตร์และมาตรการสำคัญของกรุงเทพมหานครในมิติสร้างพื้นที่สาธารณะ พื้นที่สีเขียวในสัดส่วนที่เหมาะสมกับขนาดพื้นที่และจำนวนประชากร อีกทั้งทำให้ชาวกรุงเทพฯ มีวิถีใกล้ชิดกับธรรมชาติ มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม พร้อมไปกับการพัฒนาและให้บริการสวนสาธารณะ บำรุงดูแลรักษาสวนหย่อม เกาะกลาง และต้นไม้ริมทางเท้า ประดับตกแต่งเมืองให้เกิดความสวยงาม อนุรักษ์พันธุกรรมพืช อีกทั้งยังส่งความร่วมมือกับส่วนราชการต่างๆ ผลักดันทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมอนุรักษ์ ฟื้นฟู และรักษาพื้นที่สีเขียว สร้างองค์ความรู้ จิตสำนึก และความตระหนักให้แก่ภาคส่วนต่างๆ ต่อความสำคัญของพื้นที่สีเขียวของเมือง
พัฒนา “สะพานเขียว” เปลี่ยนที่เปลี่ยวเป็นที่เที่ยว
นอกจากนี้ ทางกรุงเทพมหานคร ยังได้แถลงในส่วนของการพัฒนา “สะพานเขียว” สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้กรุงเทพฯ ที่จะมีการพัฒนาสะพานเขียวด้วยการเปลี่ยนที่เปลี่ยวเป็นที่เที่ยว โดยสะพานแรกเป็นสะพานเขียวเชื่อมต่อระหว่าง “สวนลุมพินี – สวนเบญจกิติ” ระยะทาง 1,300 เมตร ในพื้นที่คลองเตย และปทุมวัน โดยเบื้องต้นวางแผนปรับปรุงตัวสะพาน พื้นผิว ทางเดินรถจักรยาน เพิ่มไฟฟ้าส่องสว่าง ให้มีความสะดวกสบาย และมีความปลอดภัยในการใช้เส้นทาง อีกทั้งพื้นที่ดังกล่าวนี้ จะเป็นจุดท่องเที่ยวแห่งใหม่ โดยนำแบบการพัฒนาจาก The High Line นิวยอร์ก ที่พัฒนาทางรถไฟเก่าเป็นสวนสาธารณะลอยฟ้า ซึ่งเป็นหนึ่งในสถานที่สวยงามที่สุดในโลก โดยได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว ส่วนอีกแห่งคือการพัฒนาย่านกะดีจีน เป็นโครงการปรับปรุงทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยา เขตคลองสาน ความยาว 650 เมตร สำหรับรูปแบบกำหนดเป็นซุ้มต้นไม้ ทำระเบียงทางเดินใหม่ และเพิ่มทางขึ้นลง คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ ในเดือนมีนาคม พ.ศ.2563 แล้วเสร็จในเดือนมีนาคม พ.ศ.2564 โดยทางเดินนี้จะเชื่อมต่อกับโครงการพระปกเกล้าสกายปาร์ก (สะพานด้วน) นั่นเอง
ที่มา : กรุงเทพมหานคร
บทความ : อโนชา ทองชัย