TOP

รับฟังปัญหา ปฏิบัติการเชิงรุกดูแลชาวกรุงเทพฯ ‘ผู้ว่าฯ อัศวิน’ ลงพื้นที่พบประชาชน

จากการที่ พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ลงพื้นที่พร้อมด้วยผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ตรวจเยี่ยมความเป็นอยู่ ให้กำลังใจ ช่วยเหลือและบรรเทาทุกข์ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 โดยนำสิ่งของที่ได้รับบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธาไปมอบให้แก่ประชาชนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในการลงพื้นที่นั้น ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้พูดคุยและรับฟังปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชาวชุมชนในพื้นที่เขตต่างๆ โดยมีตัวแทนหลายฝ่ายเข้ารับฟังและหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ทั้งประธานชุมชน ผู้แทนชุมชนในพื้นที่เขต หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อนำปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนไปแก้ไขทันที ตามนโยบาย ‘ทำจริงเห็นผลจริง, Now Moving Forward’ แต่หากเป็นปัญหาความเดือดร้อนเกี่ยวข้องกับหน่วยงานอื่น ก็จะรับหน้าที่ประสานงานให้มีการดำเนินการแก้ไขโดยเร็วที่สุด และได้รวบรวมปัญหา และข้อมูลที่น่าสนใจที่ กทม. พร้อมจัดการและประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในด้านต่างๆ มีรายละเอียดโดยสรุป ดังนี้

 

‘ผู้ว่าฯ พบประชาชน’

ความคล้ายคลึงกันของปัญหา แต่แตกต่างในรายละเอียด

จากการลงพื้นที่พบปะพี่น้องประชาชนของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม ที่ผ่านมา ในพื้นที่หลายเขต เช่น เขตทุ่งครุ เขตบางพลัด เขตคลองเตย เขตพระนคร เขตสะพานสูง เขตบางกะปิ เขตบางกอกน้อย เขตตลิ่งชัน ฯลฯ ที่ได้พูดคุยสอบถามปัญหา และเหตุเดือดร้อนต่างๆ โดยสรุปแล้ว ภาพใหญ่ของปัญหามีความคล้ายคลึงกัน แต่จะมีความแตกต่างกันในรายละเอียดปลีกย่อยของแต่ละชุมชน ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบจะเร่งดำเนินการเข้าไปแก้ไขปัญหาในชุมชนอย่างเร่งด่วน

 

สร้างความปลอดภัย

และบรรเทาความเดือดร้อนอย่างเร่งด่วน

สำหรับความช่วยเหลือเบื้องต้น กทม. จะพิจารณาว่าสามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อน และสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้หรือไม่ หากเรื่องไหนจำเป็นเร่งด่วน และดำเนินการได้ทันที ก็จัดการเป็นอันดับแรก เช่น การลอกท่อระบายน้ำเพื่อ เปิดทางน้ำไหล และป้องกันปัญหาน้ำท่วมขัง การซ่อมแซมผิวจราจร ทางเดิน และสะพานข้ามคลองในชุมชนที่ชำรุด การซ่อมแซมอุปกรณ์ออกกำลังกายของชุมชน ให้ใช้งานได้อย่างปลอดภัย ระหว่างรอการจัดสรรงบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างถาวร ในส่วนของงานที่ต้องประสานงานกับหน่วยงานอื่นๆ เช่น รถโดยสารประจำทางลอดอุโมงค์ข้ามแยกไม่เข้าจอดป้าย หรือจอดไม่ตรงป้าย ก็ให้สำนักงานเขตแจ้งปัญหาไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งแก้ไข พร้อมทั้งมอบหมายให้สำนักงานเขตพื้นที่ ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสอบและดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

 

หลากปัญหาเรื่องร้องเรียนที่ต้องเร่งแก้ไข

ปัญหาที่ประชาชนร้องเรียนเข้ามามากที่สุด ทั้งช่องทางไลน์ @อัศวินคลายทุกข์ รวมถึงการลงพื้นที่ไปสำรวจความเดือดร้อนของประชาชน ในแต่ละเขตของผู้ว่าฯ กทม. และคณะผู้บริหาร ได้แก่ ปัญหาไฟฟ้าส่องสว่างดับ และความต้องการให้ติดตั้งกล้อง CCTV ซึ่งในส่วนนี้ รองปลัดฯ กทม. ที่กำกับดูแลสำนักการโยธา จะเร่งรัดแก้ไขปัญหาไฟฟ้าส่องสว่าง นอกจากนี้ ยังมีผู้ตรวจราชการในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบ ตรวจกำชับสำนักงานเขตให้กวดขันตรวจตราพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ หากพบไฟฟ้าส่องสว่างดับ จะได้ดำเนินการแจ้งการไฟฟ้าเขตหรือสำนักการโยธาทันที

สำหรับการติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่าง และกล้อง CCTV นั้น นอกจากการร้องเรียนของประชาชนแล้ว กทม. ก็ดำเนินการต่อเนื่องในหลายโครงการ เช่น ‘กรุงเทพฯ เมืองสว่าง’ ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 และจากการสรุปผลการดำเนินงานด้านความปลอดภัยของปีที่ผ่านมา ได้ติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างในสวนสาธารณะไปแล้ว 57 สวน สะพานลอย 657 สะพาน และถนน 694 สาย ทั้งยังติดตั้งกล้อง CCTV แบบเชื่อมต่อศูนย์ควบคุม ณ วันนี้ มีจำนวนทั้งหมด 46,834 ตัว อย่างไรก็ตาม ยังคงมีจุดอื่นที่มีปัญหาอยู่ กทม. จึงขอความร่วมมือจากประชาชนช่วยเป็นหูเป็นตา พร้อมกับแจ้งจุดที่ต้องการให้แก้ไขหรือติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างเพิ่มเติมมาที่ ไลน์: @อัศวินคลายทุกข์ หรือ โทร. 1555 สายด่วน กทม. เพื่อช่วยกันลดจุดเสี่ยง เพิ่มความปลอดภัยและแก้ปัญหาได้รวดเร็ว

 

จัดระเบียบสายไฟฟ้าและสายสื่อสารอย่างจริงจัง

การจัดระเบียบสายไฟฟ้าและสายสื่อสาร เป็นอีกหนึ่งข้อที่ประชาชนร้องเรียนให้แก้ไข ซึ่งสำนักการโยธา กทม.ได้เร่งรัดการจัดระเบียบสายสื่อสาร เพื่อเตรียมความพร้อมรับการประชุมเอเปกที่จะจัดขึ้นในช่วงปลายปี พ.ศ. 2564 และเพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี และคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่มอบหมายให้ กทม. เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดิน โดยขณะนี้ กทม. ได้ทำหนังสือถึงการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เพื่อขอความร่วมมือในการพิจารณาอนุญาตให้ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมติดตั้งสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวง เฉพาะในเส้นทางที่ไม่มีโครงการท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดิน ตลอดจนยกเลิกการอนุญาตในเส้นทางที่มีท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินแล้ว เพื่อร่วมกันจัดระเบียบสายสื่อสารในพื้นที่กรุงเทพฯ

 

เตรียมปรับภูมิทัศน์คลองต้นแบบ
1 เขต 1 คลอง ในหลายพื้นที่

การปรับปรุงภูมิทัศน์ริมคลองเป็นข้อร้องเรียนที่สอดคล้องกับการทำงานเชิงนโยบายด้านการปรับปรุงภูมิทัศน์ลำคลองทั่วกรุงเทพฯ ซึ่งกำลังเดินหน้าแก้ไขอย่างเต็มกำลัง หนึ่งในความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมคือ การปรับปรุงภูมิทัศน์คลองโอ่งอ่าง จนได้รับรางวัล 2020 Asian Townscape Awards จากโครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ (UN – HABITAT)

ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของโครงการพัฒนาคูคลองในกรุงเทพฯ โดยการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพื่อคืนพื้นที่คลองและพื้นที่สาธารณะ เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการฟื้นคืนวิถีชีวิต และเป็นต้นแบบการพัฒนาเมืองที่สอดคล้องกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพฯ

ในอนาคต กทม. ยังมีแผนปรับปรุงภูมิทัศน์และพัฒนาคูคลองอื่นๆ โดยเฉพาะคลองที่อยู่ในเส้นทางแหล่งท่องเที่ยว แก้ไขปัญหาสภาพน้ำในคลองตื้นเขิน เน่าเสีย มีปัญหาขยะหรือผักตบชวาจำนวนมาก ปรับปรุงทางเดินเลียบคลองที่ชำรุด เป็นที่เปลี่ยวและจุดอับสายตาที่ไม่ปลอดภัย อีกทั้งประสานภาคเอกชนและภาคประชาชน ให้เข้ามามีส่วนร่วมปรับปรุงภูมิทัศน์ริมคลอง ในรูปแบบของการวาดภาพสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ ซึ่งที่ผ่านมา กทม.ได้พัฒนาคลองสำคัญในพื้นที่เขตต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยจัดให้มีโครงการปรับภูมิทัศน์คลองต้นแบบ 1 เขต 1 คลองด้วย

 

คุมเข้มสถานที่ก่อสร้างสาธารณะ
ลดปัญหาฝุ่นละออง

ขณะนี้พื้นที่กรุงเทพฯ มีงานก่อสร้างหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างรถไฟฟ้า การตัดถนนสายใหม่ตามแผนการพัฒนาโครงข่ายถนน ทั้งการสร้างสะพานข้ามแยก และอุโมงค์ทางลอดเพื่อลดปัญหารถติด ทำให้เกิดความไม่สะดวกในการใช้ชีวิตประจำวันไปบ้าง ซึ่ง กทม. ต้องกำกับดูแลให้ทำการก่อสร้างให้มีความเรียบร้อยตามระเบียบปฏิบัติ ไม่ก่อความเดือดร้อนกับประชาชนในพื้นที่ หรือให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด และดำเนินการให้แล้วเสร็จตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา แต่อาจมีความจำเป็นต้องยุติการก่อสร้างต่างๆ ลงชั่วคราว ในช่วงที่พบปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ปริมาณสูงเกินค่ามาตรฐาน ตามมาตรการและแนวทางการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัยของประชาชน

 

ข้อร้องเรียนด้านเศรษฐกิจ
และการส่งเสริมแหล่งทำมาหากิน
ในช่วงวิกฤตโรคโควิด 19

สำหรับในส่วนของการฟื้นฟูด้านเศรษฐกิจ หลังวิกฤตการณ์โรคโควิด 19 กทม.ได้พิจารณาโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยว จำนวน 6 โครงการ ได้แก่ โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวย่านคลองบางหลวง, โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวย่านสวนลอยฟ้าเจ้าพระยา, โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวย่านเดินเพลินกรุงรัตนโกสินทร์, โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวย่านคลองผดุงกรุงเกษม, โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวย่านหัวตะเข้ และโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวย่านวัดกระทุ่มเสือปลา – วัดมหาบุศย์ เพื่อสร้างพื้นที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์กระจายทั่วกรุงเทพฯ รวมทั้งมอบหมายให้หน่วยงานสังกัด กทม. คิดโครงการเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวย่านต่างๆ ให้นักท่องเที่ยวเข้าไปใช้บริการ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของกรุงเทพฯ ทั้งนี้ ก็ต้องเป็นไปตามวิถีปกติใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการเว้นระยะห่างทางกายภาพ การตรวจวัดอุณหภูมิ หรือการเตรียมเจลแอลกอฮอล์ สำหรับล้างมือในพื้นที่ท่องเที่ยว เพื่อป้องการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 อนึ่ง จากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมความเป็นอยู่และบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 ในพื้นที่เขตทั้ง 50 เขต ที่ยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีที่แล้ว กทม.ได้นำสิ่งของที่ได้รับการบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธาไปส่งมอบให้แก่ประชาชน โดยไม่ได้ใช้งบประมาณของทางราชการแต่อย่างใด มาจากความห่วงใยอย่างจริงใจ ของผู้มีจิตศรัทธารวมถึงผู้บริหาร กทม. เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน จากการที่ ผู้ว่าฯ กทม.ได้มีโอกาสพบปะพูดคุย และรับฟังปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ในแต่ละชุมชนนั้น ทำให้ได้รับทราบข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหา และพัฒนากรุงเทพฯ ต่อไป

 

สรุปปัญหาจากการลงพื้นที่
ผู้ว่าฯ พบประชาชน

 

= การซ่อมแซมผิวถนน =

ถนนหลายสาย ขรุขระเป็นหลุมบ่อทั้งจากการสัญจร และเสียหายจากการขุดวางระบบสาธารณูปโภค สะพานทางเดินในชุมชนชำรุด ร้องเรียนเรื่องการเปิดผิวถนนทำงานช่วงเวลากลางคืน โดยตั้งไฟแจ้งเตือนกระชั้นชิด จนเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง

 

= การปรับปรุงพื้นที่จราจร =

ขอให้ทำคันชะลอความเร็วรถ ขยายไหล่ทางถนนในชุมชน ติดตั้งสัญญาณไฟจราจร ขีดเส้นทางม้าลาย ป้ายไฟจราจรอัจฉริยะ เนื่องจากปัญหาป้ายจราจรไม่ชัดเจน

 

= การติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่าง =

ขอให้เร่งติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างตามถนน ในชุมชนใต้สะพาน ใต้ทางด่วนและบริเวณทางเดินริมคลอง รวมทั้งแจ้งจุดที่ไฟชำรุดเสียหาย และขอติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างระบบโซลาร์เซลล์ในชุมชน เพื่อความปลอดภัยในการสัญจรในช่วงเวลากลางคืน

 

= การติดตั้งกล้องวงจรปิด (CCTV) =
พบการขอติดตั้งใหม่ ติดตั้งเพิ่มเติมในจุดเสี่ยงและจุดที่ไม่เพียงพอ รวมถึงซ่อมแซมกล้องวงจรปิด (CCTV) ที่ชำรุดและทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ

 

= ปัญหารถโดยสารประจำทาง =

เกี่ยวกับประเด็นรถโดยสารประจำทางลอดอุโมงค์ไม่จอดตรงป้าย บางพื้นที่ไม่มีรถโดยสารประจำทางผ่านชุมชน ทำให้การเดินทางไม่สะดวก ซึ่ง กทม. จะเร่งประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

 

= การจัดระเบียบสายสื่อสาร =

เนื่องจากปัญหาสายไฟฟ้า ไม่เป็นระเบียบและห้อยต่ำสร้างความเดือดร้อนหลายพื้นที่ เร่งรัดการก่อสร้างท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดิน

 

= การเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ = 

เนื่องจากปัญหาน้ำท่วมขัง และระบบระบายน้ำได้ช้า จึงขอให้เร่งลอกท่อระบายน้ำ การวางท่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ ปัญหาเขื่อนกั้นน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา และประตูน้ำคลองชำรุด ระบายน้ำเข้าคลองไม่ได้ ปรับปรุงการเปิด – ปิดประตูระบายน้ำให้สัมพันธ์กับระดับน้ำและดูแลอุปกรณ์ให้พร้อมใช้

 

= ความคืบหน้าการสร้างเขื่อนต่างๆ =

เช่น เดินหน้าเร่งตอกเสาเข็มเขื่อนคลองลาดพร้าว ที่หน้าวัดบึงทองหลาง และจากคลองหัวหมากถึงคลองพระโขนง เร่งการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็ก และปรับปรุงภูมิทัศน์ริมคลอง คูนายกิมสาย 2 เขตดอนเมือง เป็นต้น

 

= การปรับปรุงภูมิทัศน์คลองและพื้นที่ริมคลอง =

การพัฒนาพื้นที่ริมคลองในเขตต่างๆ ทั้งการขุดลอกลำคลอง ก่อสร้างทางเดินริมคลองให้เชื่อมถึงกัน ขยายทางสัญจรบนสันเขื่อน ซ่อมแซมพื้นสะพานเหล็กข้ามคูน้ำ สร้างราวกันตกริมคลอง ส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวริมคลอง พัฒนาพื้นที่ว่างเพิ่มพื้นที่สีเขียว

 

= การจัดการปัญหาขยะมูลฝอย =

ปัญหาขยะตกค้างและแก้ปัญหาขยะลอยมาตามน้ำ

 

= ขออนุมัติสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ =

การติดตั้งประปาในชุมชน การเพิ่มบาทวิถีสะพานลอยคนข้าม จัดสร้างห้องน้ำสาธารณะในลานกีฬา การจัดหาถังดับเพลิง และขอถังขยะเพิ่มเติม

 

= การบริหารจัดการภายในชุมชน =

อาทิ การจัดการกองทุนในชุมชน การแก้ไขหลักเกณฑ์เบิกค่าใช้จ่ายต่างๆ สิทธิรักษาพยาบาลในศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. การส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนและหาแนวทางช่วยเหลือผู้ถูกเลิกจ้าง ที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด 19 รวมทั้งเข้มงวดมาตรการดูแลแรงงานต่างด้าวจากสถานการณ์ดังกล่าว และปัญหาคนเร่ร่อน

 

= การดำเนินการกับผู้กระทำผิดกฎหมาย =

การจัดการยกซากรถ เก็บป้ายโฆษณาผิดกฎหมาย การจอดรถกีดขวางทางเข้าชุมชน และกวดขันวินัยจราจร

ข้อมูลเพิ่มเติม : www.prbangkok.com

——————————————————-

ที่มา: Bangkok News (กทม.สาร) Issue 277

เรื่องโดย: อโนชา ทองชัย

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด