TOP

ลัดเลาะเยือน 5 สถาปัตยกรรมสุดคลาสสิก แลนด์มาร์กสำคัญรอบเกาะรัตนโกสินทร์

เยือน 5 พื้นที่วัฒนธรรมสำคัญที่มีความสวยงาม และโดดเด่นของตัวอาคารสถานที่ แม้จะตั้งอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน ทว่าสถานที่แต่ละแห่งก็มีความสำคัญเชิงประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกัน ทำให้พื้นที่รอบเกาะรัตนโกสินทร์ในปัจจุบัน ยังคงเป็นย่านวัฒนธรรมมีชีวิต ที่รอให้ชาวกรุงเทพฯ และนักท่องเที่ยวตามรอยเส้นทางเรืองรอง ของสถาปัตยกรรมอันทรงคุณค่าอยู่นั่นเอง นอกจากนี้ ยังเดินทางสะดวกด้วยระบบบริการขนส่งสาธารณะ ล้อ ราง เรือ ซึ่งเหมาะกับวิถีนักท่องเที่ยวที่ต้องการเก็บรายละเอียดสถานที่ท่องเที่ยว และไม่อยากกังวลเรื่องสถานที่จอดรถยนต์

 

กทม.เปิดเส้นทางเดินเรือ ‘บางหว้า-ท่าช้าง’ เชื่อมรถไฟฟ้า เพียงปักหมุดจุดหมายไว้ที่ท่าช้าง วัดพระแก้ว หรือพระบรมมหาราชวัง คุณจะพบว่ามีวิธีเดินทางมาสะดวกหลากหลายวิธี แต่เราขอแนะนำวิธีเดินทาง ที่จะเพิ่มความเพลิดเพลินในการท่องเที่ยว เมื่อกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเส้นทางเดินเรือ ‘บางหว้า-ท่าช้าง’ เชื่อมโยงกันด้วยระบบบริการขนส่งสาธารณะ ล้อ ราง เรือ ครบวงจร ที่จะได้นั่งทอดอารมณ์ชมบรรยากาศร่มรื่นระหว่างการเดินทาง เริ่มต้นการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าไปยังสถานีบีทีเอสบางหว้า ณ จุดนี้เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้าสายสีเขียวและรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และเชื่อมต่อกับท่าเรือบางหว้า ที่จะมีเรือนำส่งผู้โดยสารจากท่าเรือบางหว้าไปท่าเรือท่าช้าง ผ่านวัดปากน้ำภาษีเจริญ เข้าสู่คลองบางกอกใหญ่ จอดรับส่งผู้โดยสารท่าเรือวัดอินทราราม ออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา และจอดรับส่งผู้โดยสารที่ท่าเรือสะพานพุทธ ท่าเรือราชินี ซึ่งสามารถเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายตรงสถานีสนามไชย และไปสิ้นสุดที่ท่าเรือท่าช้าง

 

ตึก Golden Place ท่าช้างวังหลัง

สวยคลาสสิกด้วยกลิ่นอายอดีต

จุดหมายแรกที่ตั้งอยู่ใกล้ท่าช้างที่สุด ที่นี่เราได้พบกับร้าน Golden Place สาขาท่าช้าง โดดเด่นอยู่ภายในอาคารอนุรักษ์ทรงโบราณ ที่ได้รับการบูรณะโดยสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ตั้งอยู่บนถนนท่าช้าง ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตัวอาคารเป็นสถาปัตยกรรมร่วมสมัยแบบตะวันออก ผสานตะวันตกสไตล์นีโอ-คลาสสิก ภายในตกแต่งให้มีกลิ่นอายของวิถีชีวิตในอดีต ผสมผสานระหว่างคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และรูปแบบความทันสมัยที่ตอบโจทย์คนยุคใหม่

-||-

 

ตึกถาวรวัตถุ อาคารสีแดงชาด

จัดแสดงนิทรรศการพระราชประวัติ รัชกาลที่ 5

เดินผ่านหน้าถนนพระลานแล้วเลี้ยวซ้าย ก็จะเห็นตึกสวยเด่นด้วยลักษณะอาคารยอดปรางค์ 3 ยอด ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัดติวงษ์ หรือ ‘สมเด็จครู’ นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม เป็นผู้อำนวยการและออกแบบ ตั้งอยู่บนถนนหน้าพระธาตุ ใกล้สนามหลวง ชวนให้เข้าไปเยี่ยมชมความงดงามของตึกถาวรวัตถุ หรือตึกแดง ซึ่งเดิมเคยเป็นหอสมุดแห่งชาติ ปัจจุบันเป็นที่จัดแสดงนิทรรศการพระราชประวัติ และพระราชกรณียกิจเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

-||-

 

สักการะพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 4

ชมความงามพระราชวังสราญรมย์

พระราชวังสราญรมย์สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2409 ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเพื่อใช้เป็นที่ประทับ หลังจากทรงสละราชสมบัติแก่สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ (รัชกาลที่ 5) ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของพระบรมมหาราชวัง เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนสองชั้น ด้านหน้ามีพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ประดิษฐานอยู่บนพระแท่น มีส่วนสูงเป็นสองเท่าจากพระองค์จริง หล่อด้วยโลหะสำริดโดยช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร งามสง่าสมพระเกียรติยศอย่างยิ่ง

-||-

 

ชมซุ้มประตูแพร่งสรรพศาสตร์

‘ย่านสามแพร่ง’ เดิมเป็นย่านค้าขายสำคัญ เพราะมีคลองคูเมืองเดิมเป็นคลองสายหลัก ตรงข้างคลองคูเมืองเดิมคือ แพร่งภูธร แพร่งนรา และแพร่งสรรพศาสตร์ มีแลนด์มาร์กสำคัญคือ ‘ซุ้มประตูวังสรรพสาตรศุภกิจ’ ที่แม้จะชำรุดทรุดโทรมตามกาลเวลา แต่ยังหลงเหลือความสวยงามสุดท้ายของสถาปัตยกรรมแบบยุโรป ของประตูกว้างใหญ่สูงขนาดตึก 2 ชั้น ซุ้มกรอบประตูรูปโค้งกลม (Arch) และประติมากรรมรูปหล่อเทพธิดากรีก ยืนถือคบไฟขนาดเกือบเท่าคนจริง ปัจจุบันย่านสามแพร่ง ยังเป็นแหล่งรวมร้านอาหารเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงที่ดึงดูดให้คนมาสัมผัสกลิ่นอายความดั้งเดิม ควบคู่กับวิถีชีวิตในปัจจุบัน

-||-

 

ตึกสวยสองข้างทางบนถนนราชดำเนิน

ที่ตั้งหอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร

จากสนามหลวงเดินต่อไปที่สี่แยกคอกวัว ด้วยระยะทางเพียง 700 เมตร จะพบกับอาคาร 15 หลัง ที่เรียงรายตลอดสองฟากถนนราชดำเนิน เสมือนสถานที่ส่งต่อเรื่องราวจากอดีตสู่ปัจจุบัน ด้วยอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ความสูง 3 ชั้น มีกลุ่มอาคารสาธารณะ อาทิ อาคารพาณิชย์ โรงแรม และโรงมหรสพ รูปแบบสถาปัตยกรรมได้รับอิทธิพลแนวนีโอ-คลาสสิก มีสถานที่สำคัญคือ หอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร โดยได้รับการออกแบบปรับปรุงอาคารใหม่ ด้วยแนวคิดการอนุรักษ์และเคารพในคุณค่าของสถาปัตยกรรมเดิม ย่านนี้จึงได้ชื่อว่า ถนนสายวัฒนธรรมที่สะท้อนอัตลักษณ์ของชาติอีกด้วย

******************************

เรื่องโดย : จารุวรรณ ทิมินกุล

ช่างภาพ : พุฒิพัฒน์ ศุภวิบูลย์ผล

ที่มา : BANGKOK NEWS (กทม.สาร) ฉบับ 271

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด