กทม. สร้างมหานครแห่งความสุข ผู้ว่าฯ ‘อัศวิน’ คลายทุกข์ชาวกรุงผ่านนโยบาย ผลักดันทันใจแก้ไขทันที!
จากความมุ่งมั่นในการบริหารราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) มุ่งพัฒนาและแก้ปัญหาเพื่อให้ประชาชนมีความสุขในมหานครที่ชื่อ ‘กรุงเทพมหานคร’ แห่งนี้ ของ พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยการทำงานภายใต้นโยบาย ‘ผลักดันทันใจ แก้ไขทันที NOW! กับ ผู้ว่าฯ อัศวิน’ เพียงเพื่อเป้าหมายหัวใจสำคัญ ดังที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้กล่าวไว้ว่า “เป้าหมายของผม คือ ทำให้ดีที่สุด ทำอย่างไรให้ประชาชนได้รับผลประโยชน์สูงสุด” นั่นหมายความว่า ประชาชนชาวกรุงเทพฯ จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สุขภาพดีขึ้น เดินทางสะดวก และปลอดภัย
ผ่านไป 4 ปี ของการบริหารงานกรุงเทพมหานคร นโยบายการพัฒนาต่างๆ กำหนดเป็นแนวทางให้เกิดโครงการแก้ปัญหาให้คนกรุงเทพฯ และโครงการพัฒนากรุงเทพฯ มากมายหลายโครงการ รวมทั้งสำเร็จเป็นรูปธรรม ประชาชนได้ผลประโยชน์อย่างชัดเจน
บริหารราชการภายใต้นโยบาย
NOW ‘ทำ จริง เห็นผลจริง’
พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เดินหน้าพัฒนากรุงเทพฯ ด้วยวาระแผนพัฒนาประจำปี 2561 โดยบูรณาการจากยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี วิสัยทัศน์ประเทศไทย 4.0 แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 แผนพัฒนากรุงเทพฯ ระยะ 20 ปี ทั้งระยะที่ 1 และ 2 ผนวกรวมกับกลไกความเคลื่อนไหวของโลก ที่รุดหน้าไปอย่างไม่หยุดยั้ง เกิดเป็นนโยบาย NOW ภายในแนวคิด ‘ทำจริง เห็นผลจริง’ เกิดขึ้นภายใต้กรอบเวลา เพื่อกำหนดระยะเวลาการทำงาน และการเห็นผลงานอย่างชัดเจน เป็นรูปธรรม ด้วยการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ เพื่อให้ทำงานได้ทันที มีประสิทธิภาพ และประหยัด พร้อมการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน เพื่อเป็นรากฐานของงาน และโครงการในการพัฒนาเมืองและดูแลคนกรุงเทพฯ ทั้งปัจจุบัน และในอนาคต
ทุกข์ของคนกรุงเทพฯ
แจ้ง ‘อัศวินคลายทุกข์’ ให้เร่งแก้ไข
พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ยังได้สั่งการให้เพิ่มความสะดวกแก่ประชาชน ด้วยการส่งข้อร้องเรียนปัญหาความเดือดร้อนต่างๆ หรือข้อเสนอแนะผ่านแอปพลิเคชันไลน์แอด ‘อัศวินคลายทุกข์’ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวกรุงเทพฯ ไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย ขยะไม่จัดเก็บ ทางเท้าชำรุด น้ำท่วมขัง ทางเดินมืดเปลี่ยวไม่ปลอดภัย หรือเรื่องเดือดร้อนอื่นๆ ที่ต้องการให้เร่งแก้ไข แจ้ง ‘อัศวินคลายทุกข์’ ที่ผ่านมา ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้ทราบ และเข้าถึงช่องทางการร้องทุกข์ดังกล่าว เพียงแอดไลน์ @aswinbkk “นับเป็นอีกช่องทางรับแจ้งเรื่องร้องทุกข์ของคนกรุงเทพฯ และความตั้งใจของผมที่จะแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชน เพื่อกรุงเทพฯ น่าอยู่ ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงความมุ่งหมายของการกำหนดใช้แพลตฟอร์มดังกล่าวนี้ และจากการรายงานความคืบหน้าโครงการ ตรวจสอบติดตามแก้ปัญหาร้องทุกข์ ผ่านไลน์แอด ‘อัศวินคลายทุกข์’ ตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2560 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2563 มีประชาชนแจ้งเรื่องทั้งหมด 26,029 เรื่อง แบ่งเป็นเรื่องร้องเรียน 23,510 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 90.33 เรื่องอื่นๆ 2,519 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 9.67 โดยเรื่องร้องเรียนที่แก้ไขแล้วเสร็จ 22,689 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 96.51 สำหรับเรื่องที่อยู่ระหว่างดำเนินการ 821 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 3.49
พัฒนาระบบ ‘ล้อ ราง เรือ’
เข้าถึงทุกพื้นที่กรุงเทพฯ
‘ล้อ ราง เรือ’ โครงการพัฒนาจุดเชื่อมต่อการเดินทางของ กทม. เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดในพื้นที่กรุงเทพฯ และส่งเสริมประชาชนให้หันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น ทั้งรถโดยสารประจำทาง (ล้อ) รถไฟฟ้า (ราง) และทางน้ำ (เรือ) ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบขนส่งให้เชื่อมต่อกันทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็น BMA FEEDER นำส่งด้วยบริการ Shuttle Bus ให้คนกรุงเทพฯ เดินทางแบบไร้รอยต่อ เพราะสามารถเชื่อมต่อการเดินทางพาผู้โดยสารไปถึงที่หมาย ในระบบขนส่งมวลชนหลักในระบบราง ได้แก่ รถไฟฟ้า รถไฟฟ้าใต้ดิน และแอร์พอร์ตเรลลิงก์ โดยการเดินรถไม่ทับซ้อนกับรถเมล์
นอกจากนี้ กทม. ร่วมมือทำงานกับ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ก่อสร้างรถไฟฟ้าทั่วกรุง ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ, ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต ขณะนี้เปิดบริการจากสถานีหมอชิตถึงสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ สำหรับรถไฟฟ้าสายสีทอง (สถานีรถไฟฟ้ากรุงธนบุรี – สำนักงานเขตคลองสาน – ประชาธิปก) ซึ่งเชื่อมต่อโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนสายหลัก พร้อมให้บริการเดือนตุลาคม พ.ศ. 2563 นี้
กทม. มุ่งพัฒนาเส้นทางสัญจรทางน้ำ สร้างทางเลือกการเดินทางด้วยขนส่งมวลชนทางเรือ มีนโยบายพัฒนาการเดินทางในคลองของกรุงเทพฯ 28 คลอง ที่มีศักยภาพ อาทิ คลองแสนแสบ ส่วนต่อขยายจากวัดศรีบุญเรืองไปมีนบุรี, เส้นทางคลองภาษีเจริญ จากท่าเทียบเรือประตูน้ำภาษีเจริญ ไปจนถึงถนนเพชรเกษม 69 และยังได้เปิดให้เดินเรือไฟฟ้าในคลองผดุงกรุงเกษม ระยะทาง 5 กิโลเมตรทุกวัน ขับเคลื่อนเต็มกำลังสร้างกรุงเทพฯ สู่ ‘มหานครสีเขียว’ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม กทม. ตั้งเป้าหมายในปี 2030 (พ.ศ. 2573) กรุงเทพฯ จะเป็นมหานครสีเขียวอย่างเต็มรูปแบบ โดยยุทธศาสตร์และมาตรการสำคัญแรก คือ สร้างพื้นที่สาธารณะสีเขียว พร้อมไปกับการบำรุงรักษาสวนสาธารณะ สวนหย่อม เกาะกลาง และต้นไม้ริมทางเท้า ผลักดันทุกภาคส่วนให้มีส่วนร่วมอนุรักษ์ ฟื้นฟู และรักษาพื้นที่สีเขียว
นอกจากนี้ กทม. กำลังพัฒนา โครงการ ‘สะพานสีเขียว’ เปลี่ยนที่เปลี่ยวเป็นที่เที่ยว โดยสะพานแรกเป็นสะพานเขียวเชื่อมต่อระหว่างสวนลุมพินี – สวนเบญจกิติ ระยะทาง 1,300 เมตร ซึ่งมีการปรับปรุงตัวสะพาน พื้นผิว ทางเดินจักรยาน เพิ่มไฟฟ้าส่องสว่าง รวมถึงโครงการปรับปรุงทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยา เชื่อมต่อระหว่างย่านกะดีจีน กับโครงการสวนลอยฟ้าเจ้าพระยา ซึ่งเป็นสวนสาธารณะลอยฟ้าแห่งใหม่ ให้คนกรุงเทพฯ ได้ไปพักผ่อนท่ามกลางความร่มรื่น และจุดชมวิวกลางแม่น้ำเจ้าพระยาอันงดงาม และสามารถติดตามข่าวสาร เรื่องราว และกิจกรรมดีๆ ที่ กทม. จับมือกับชาวมหานครสีเขียว ร่วมกันสร้างสรรค์ผ่านช่องทาง www.bkkgreencity.com หรือ เฟซบุ๊ก: bangkokgreencity
กรุงเทพฯ ‘มหานครสวยไร้สาย’
ความคืบหน้าของโครงการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน ของเส้นทางนำร่องใน 4 พื้นที่ ‘สวยไร้สาย’ พร้อมดำเนินการก่อสร้างและทดสอบแล้วเสร็จ 100% ได้แก่
– พื้นที่กรุงเทพเหนือ บริเวณถนนวิทยุ (จากแยกถนนวิทยุ เชื่อมต่อถนนเพชรบุรี ถึงแยกเพลินจิต)
– พื้นที่กรุงเทพตะวันออก บริเวณถนนรัชดาภิเษก (จากถนนรัชดาภิเษกบริเวณด้านหน้าสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ถึงหน้าซอยรัชดาภิเษก 7 และซอยประชาสันติ) รวมไปถึงเส้นทางถนนเทียมร่วมมิตร (จากถนนรัชดาภิเษกถึงบริเวณหน้าตึก CW Tower)
– พื้นที่กรุงธนเหนือ บริเวณถนนนราธิวาสราชนครินทร์ (จากถนนนราธิวาสราชนครินทร์ บริเวณถนนสาทรเหนือ / ใต้ ถึงหน้าซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 10)
– พื้นที่กรุงธนใต้ บริเวณถนนวิทยุ (จากทางแยกถนนวิทยุ ตัดกับถนนเพลินจิต ถึงหน้าซอยร่วมฤดี)
ดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพระบบระบายน้ำ แก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืน
จากโครงการแก้มลิงตามแนวพระราชดำริอันเป็นต้นแบบป้องกัน และแก้ไขน้ำท่วม ทำให้ กทม. ต่อยอดแนวคิดระบบการระบายน้ำในกรุงเทพฯ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ด้วยการจัดหาพื้นที่รับน้ำเพื่อทำเป็นแก้มลิง จำนวน 31 แห่ง พร้อมกับก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ไปแล้ว 4 แห่ง ได้แก่ อุโมงค์ระบบผันน้ำคลองเปรมประชากร อุโมงค์ระบายน้ำบึงมักกะสัน อุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบ และคลองลาดพร้าว และอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อ จากคลองลาดพร้าวถึงแม่น้ำเจ้าพระยา และกำลังเร่งเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ จากพื้นที่ท่วมขังด้วยแผนก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำ อีก 8 แห่ง ทั่วกรุงเทพฯ อีกทั้ง กทม. ยังได้ก่อสร้างระบบระบายน้ำขนาดเล็ก (Pipe Jacking) กว่า 10 แห่ง เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมบริเวณจุดเสี่ยงน้ำท่วมในถนนสุขุมวิท ถนนพหลโยธิน ถนนประดิพัทธ์ ให้สามารถระบายน้ำ
ถนนข้าวสารภูมิทัศน์ใหม่แล้วเสร็จ พร้อมรองรับผู้ค้า 480 แผง
กทม. ดำเนินโครงการปรับปรุงพื้นที่ย่านถนนข้าวสาร ให้มีความสวยงาม สะอาด กว้างขวาง และสามารถรองรับการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวได้อย่างเหมาะสม โดยขณะนี้ได้ดำเนินการทางด้านกายภาพเสร็จสิ้นทั้งหมดแล้ว มีลักษณะสำคัญ คือ ทางเท้า และพื้นถนนอยู่ในระดับเดียวกัน มีเสากั้นระหว่างแผงค้ากับทางเท้า ซึ่งเสากั้นสามารถถอดออกได้ในกรณีที่ต้องการใช้พื้นที่มากขึ้น นอกจากนี้ ได้จัดทำรางระบายน้ำทั้ง 2 ฝั่ง เพื่อนำสู่ท่อระบายหลักต่อไป ในส่วนของการจัดระเบียบแผงค้า สามารถจัดแผงค้าได้รวมทั้งสิ้น 240 แผง แบ่งเวลาทำการค้า 2 ช่วงเวลา คือ เวลา 09.00 – 16.00 น. และ 17.00 – 24.00 น. รวมทั้งสองช่วงเวลาสามารถทำการค้าได้ 480 แผง
แอปพลิเคชัน ‘กทม. Now Connect’ เชื่อมโยงชีวิตคนกรุงในหนึ่งเดียว
เพราะเทคโนโลยีสารสนเทศมีความจำเป็น และเป็นส่วนหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในชีวิตของคนเมือง ซึ่งในส่วนของคนกรุงเทพฯ ที่อยู่อาศัยหรือการเข้ามาประกอบอาชีพ และเดินทางมาท่องเที่ยวนั้น มีความต้องการข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต ถูกต้อง รวดเร็ว ทันสมัย และเชื่อถือได้ สอดคล้องกับนโยบายของ กทม. ในการจัดการบริการเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้โดยสะดวก ชีวิตสะดวก ข้อมูลสะดวก ทำให้ แอปพลิเคชัน ‘กทม. Now Connect’ เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่เชื่อมโยงชีวิตทุกคนให้ง่ายขึ้น ด้วยการให้ข้อมูลที่คนกรุงเทพฯ ต้องการ เช่น การแจ้งข้อมูลข่าวสาร ข่าวด่วน ข่าวดี บริการต่างๆ แนะนำสถานที่ท่องเที่ยวในเมือง และย่านชุมชนต่างๆ ร้านค้า ร้านอาหารอร่อยจาก 50 เขตทั่วกรุงเทพฯ การแจ้งเตือนฝนตก น้ำท่วม น้ำประปาไม่ไหล ไฟฟ้าดับ สภาพการจราจรแบบเรียลไทม์ และการร้องทุกข์ต่างๆ ซึ่งทั้งหมดมารวมเป็นหนึ่งเดียวใน ‘กทม. Now Connect’
นอกจากนี้ ประชาชนสามารถติดตามภารกิจการทำงานของ พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รวมถึงเสนอแนะแนวทางการพัฒนากรุงเทพฯ ผ่านทาง เฟซบุ๊ก : ผู้ว่าฯ อัศวิน (การบอกเล่าเรื่องราวการทำงาน) รวมถึง แอปพลิเคชันไลน์ : อัศวินคลายทุกข์ (Line ID : @aswinbkk) รับเรื่องราวร้องทุกข์
——————————-
เรื่องโดย : อโนชา ทองชัย
ที่มา : ฺBangkok News issue 273 ประจำเดือนสิงหาคม 2563