TOP

เชื่อมต่อสวนสาธารณะระดับมหานคร สร้างคุณภาพชีวิตคนกรุงเทพฯ

กรุงเทพมหานคร (กทม.) ดำเนินโครงการปรับปรุงทางเชื่อมสวนสาธารณะระดับมหานคร สำเร็จเป็นรูปธรรมแล้ว 2 โครงการ คือ ‘โครงการปรับปรุงสวนสาธารณะ 3 แห่ง’ ได้แก่ สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ, สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) และสวนจตุจักร ส่วนอีกโครงการคือ ‘โครงการสะพานเขียวสร้างทางเดินและทางจักรยานยกระดับ เชื่อมระหว่างสวนลุมพินีและสวนเบญจกิติ’ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนให้เข้าถึง และใช้พื้นที่สวนสาธารณะที่เชื่อมต่อกัน เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ สถานที่ออกกำลังกาย ท่องเที่ยวถ่ายภาพ และทำกิจกรรมร่วมกันกับครอบครัว

 

เชื่อมต่อ 3 สวนสาธารณะกลางเมือง รวมเป็น ‘อุทยานสวนจตุจักร’

กทม. โดยสำนักสิ่งแวดล้อม สำนักการโยธา สำนักการจราจรและขนส่ง รวมทั้งสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว ดำเนินโครงการปรับปรุงทางเชื่อมสวนสาธารณะ 3 แห่ง ได้แก่ สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พื้นที่ 196 ไร่, สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) พื้นที่ 375 ไร่ และ สวนจตุจักร พื้นที่ 155 ไร่ ซึ่งเมื่อรวมสวนสาธารณะทั้ง 3 แห่งนี้เข้าด้วยกันเป็น ‘อุทยานสวนจตุจักร’ สวนสาธารณะขนาดใหญ่มีพื้นที่ทั้งหมดถึง 726 ไร่ โดยมีโครงการก่อสร้างปรับปรุงทางเดิน – วิ่ง และทางจักรยานภายในสวนสาธารณะทั้ง 3 แห่งให้เชื่อมต่อกัน จัดทำเส้นทางวิ่งมินิมาราธอนระยะทาง 10.5 กิโลเมตร และเส้นทางจักรยานระยะทาง 10 กิโลเมตร ซึ่งทั้งสองเส้นทางนี้แยกออกจากกัน เพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน ‘อุทยานสวนจตุจักร’ เป็นอีกทางเลือกของการออกกำลังกายและพักผ่อนหย่อนใจ ที่ประชาชนสามารถเรียนรู้และศึกษาธรรมชาติได้ในเวลาเดียวกัน

โดยสวนสาธารณะทั้ง 3 แห่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว คือ

  • สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ เป็นสวนพฤกษศาสตร์ เป็นแหล่งรวมพันธุ์ไม้หรือพืชที่มีสรรพคุณทางสมุนไพร
  • สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) เป็นสวนสำหรับครอบครัวที่ประชาชนเข้ามาใช้ออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมร่วมกัน
  • สวนจตุจักร เป็นสวนในวรรณคดีและเป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์ไม้ในวรรณคดีหรือต้นไม้หายาก

นอกจากนี้ กทม. ยังมีแนวคิดรวมพื้นที่ สวนสมเด็จย่า 84 พรรษา ให้เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานสวนจตุจักร โดยใช้สะพานลอยคนข้ามบริเวณสวนจตุจักรที่มีอยู่เดิมเป็นทางเชื่อม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างปรับปรุงภูมิทัศน์ ทำทางเดิน – วิ่ง ลานกิจกรรมสวยงาม ปรับปรุงรางระบายน้ำ ถมดินปรับระดับ คาดว่าแล้วเสร็จพร้อมกับงานปรับปรุง 3 สวนสาธารณะ ซึ่งหากปรับปรุงเสร็จเรียบร้อยสมบูรณ์ กทม. จะสามารถรวมพื้นที่ 4 สวนสาธารณะเข้าด้วยกัน กลายเป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ โดยใหญ่กว่าสวนหลวง ร.9 เขตประเวศ ที่มีพื้นที่ 500 ไร่

 

สวนลุมพินี – สวนเบญจกิติ เชื่อมต่อด้วย ‘สะพานเขียว’

เส้นทาง ‘สะพานเขียว’ เป็นโครงสร้างทางเดินและทางจักรยานยกระดับ ที่เชื่อมระหว่าง สวนลุมพินี และ สวนเบญจกิติ โดยเริ่มต้นจากสี่แยกสารสินถึงปากซอยโรงงานยาสูบสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2543 จากนั้น กทม. โดยสำนักการโยธา ได้ขอจัดสรรงบประมาณเมื่อปี พ.ศ. 2562 ปรับปรุงทางคนเดิน – ทางจักรยาน เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน และเพิ่มความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ซึ่ง กทม. ดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างคอนกรีตที่เสื่อมสภาพ รอยต่อและผิวหน้าทางคนเดิน – ทางจักรยานและราวสเตนเลส อีกทั้งซ่อมแซมโครงสร้างส่วนล่างบริเวณตอม่อสะพาน ปรับปรุงโคมไฟและไฟประดับหัวเสา พร้อมท่อร้อยสายไฟปรับปรุงทางเชื่อมทางคนเดิน – ทางจักรยาน

นอกจากนี้ กทม. มีแผนฟื้นฟูสะพานเขียว ให้เป็นสะพานสวนสาธารณะของคนกรุงเทพฯ ต่อไป ตามเป้าหมายการเป็น ‘มหานครสีเขียว’ ภายในปี พ.ศ. 2573 ที่วางนโยบายเพิ่มพื้นที่สีเขียวใน โครงการ Green Bangkok 2030 ซึ่ง กทม. เร่งเพิ่มพื้นที่ให้ได้ 10 ตารางเมตรต่อคน โดยการวางแผนเพิ่มพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ ล่วงหน้า 10 ปี เพื่อนำมาพัฒนาให้เป็นสวนหย่อม สวนสาธารณะ และสวนป่าต่อไป

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด