เศรษฐกิจต้องเดินหน้าต่อในยุคโควิด 19 กทม. เตรียมพร้อมนโยบายเร่งฟื้นฟูกรุงเทพฯ
ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 ที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ทำให้ผู้ประกอบการและธุรกิจจำนวนมาก ยังไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ เหมือนในช่วงเวลาปกติ ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ดังนั้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อนี้ ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ เช่นเดียวกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่มีมาตรการให้ความช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการ ขณะเดียวกันต้องป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดเพื่อให้ชาวกรุงเทพฯ ปลอดภัยและมีคุณภาพชีวิตที่ดี
กทม. เดินหน้าแผนกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน
สำหรับแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจของ กทม. นั้น แม้จะอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 แต่ละเขตยังสามารถดำเนินการตามแนวทางที่ พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบนโยบายให้ 6 กลุ่มเขต จัดทำแผนดำเนินการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้กับประชาชนและชุมชน เป็นการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งมีการกำหนดแผนจัดกิจกรรมต่างๆ ทั้งกิจกรรมถนนคนเดิน การจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ชุมชน การฝึกอาชีพเสริมรายได้ และกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยดูจากความเหมาะสมตามสถานการณ์ของแต่ละพื้นที่ และต้องควบคุมให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคด้วย
เตรียมพร้อมจัดกิจกรรม ‘ตลาด’ทุกรูปแบบ
กระตุ้นเศรษฐกิจ
กทม. เตรียมพร้อมจัดกิจกรรม และเปิดทำการค้าในพื้นที่ต่างๆ เพื่อช่วยเหลือให้ผู้ค้ามีรายได้เพิ่ม และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ บรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประกอบการในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะกิจกรรมตลาด ไม่ว่าจะเป็นตลาดนัดชุมชน ตลาดนัดผลัดกันชม รวมทั้งกิจกรรมถนนคนเดิน (Walking Street) โดยหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ระลอก 3 นี้คลี่คลายลง กทม. ได้มอบหมายให้ 6 กลุ่มเขตของ กทม. จัดทำแผนกิจกรรมถนนคนเดินในพื้นที่ตามความเหมาะสม โดยจะมีการประสานผู้ประกอบการสินค้า OTOP สินค้า Bangkok Brand ผู้ประกอบการรายย่อยในชุมชน และผู้ประกอบการร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ มาร่วมออกร้านจำหน่าย
ชูอัตลักษณ์วิถีชุมชนมัดใจนักท่องเที่ยว
กทม. เดินหน้าโครงการในการพัฒนาพื้นที่ชุมชนต่างๆ พร้อมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยมุ่งเน้นเรื่องการปรับปรุงภูมิทัศน์สถานที่ท่องเที่ยว ให้มีความสะดวก ปลอดภัย และสวยงาม เพื่อกระตุ้นและส่งเสริมการท่องเที่ยว อาทิ ชุมชนย่านกุฎีจีน ที่เป็นแหล่งชุมชนมีอัตลักษณ์ และพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวหลังจากสถานการณ์โรคระบาดครั้งนี้คลี่คลาย กทม. เตรียมความพร้อมปรับปรุงทางกายภาพ ศาลาท่าเรือบริเวณใต้สะพานพุทธยอดฟ้าฯ เพื่อให้เป็นจุดบริการข้อมูลแก่นักท่องเที่ยว โดยสามารถเชื่อมต่อการเดินทางมาจากสวนลอยฟ้าเจ้าพระยามายังชุมชนย่านกุฎีจีนได้ อีกทั้งยังมีชุมชนอื่นๆ ที่พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็น ถนนเยาวราช ที่ขึ้นชื่อเรื่องของกินอร่อย และวิถีชีวิตคนไทยเชื้อสายจีน ย่านตลาดน้อย ได้ชื่อว่ามีสถาปัตยกรรมงดงามเก่าแก่ และมุมสตรีทอาร์ตตามตรอกซอกซอย แพร่งภูธร ที่เป็นย่านการค้าเก่าแก่ โดยยังคงรักษาสถาปัตยกรรมตึกแถวเก่าย่านบางลำพู ที่ได้ชื่อเป็นแหล่งการค้าขาย และเต็มไปด้วยวัดวาอาราม ย่านนางเลิ้ง ชุมชนดั้งเดิมในบรรยากาศย้อนอดีต และร้านอาหารเก่าแก่ให้ได้ชิม รวมไปถึง ชุมชนตลาดพลู ที่มีประวัติความเป็นมายาวนานของฝั่งธนบุรี และ ย่านบ้านบุ ที่เป็นชุมชนริมคลองบางกอกน้อย หนึ่งในเขตอนุรักษ์เมืองเก่าของ กทม. ที่มีทั้งตลาดน้ำ วัดเก่าแก่ และงานหัตถกรรม เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการผลักดันส่งเสริมให้ชุมชน เข้ามามีส่วนร่วมได้รับผลประโยชน์จากการท่องเที่ยว เช่น การพัฒนาและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น การส่งเสริมพัฒนาการเกษตรชุมชน การพัฒนาวิสาหกิจชุมชน เพื่อกระจายรายได้ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากฝ่าวิกฤตโรคโควิด 19
‘เทศกาลชมดอกไม้กรุงเทพฯ’
ยังเที่ยวได้ต่อเนื่องยาวทั้งปี
เมื่อสวนสาธารณะในกรุงเทพฯ เปิดให้บริการได้ สำนักสิ่งแวดล้อมเชิญชวนประชาชนเข้าชม สวนดอกไม้ในเทศกาลชมดอกไม้กรุงเทพฯ (Bangkok Flora Festival) ตามที่ได้กำหนด จัดภายในสวนต่างๆ แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ตามนโยบายของ กทม. ที่ต้องการปรับปรุงและเพิ่มพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ โดยพัฒนาพื้นที่ภายในสวนสาธารณะให้เป็นสวนดอกไม้ตามฤดูกาล เป็นรูปแบบหนึ่งของการปรับปรุงภูมิทัศน์เมืองให้มีความร่มรื่น สวยงามและน่าอยู่ รวมถึงเพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ สำหรับในเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม พ.ศ. 2564 สวนจตุจักรจัดทุ่งดอกดาวเรือง ดอกดาวกระจาย และดอกมาร์กาเร็ต ส่วนในเดือนกันยายนถึงตุลาคม พ.ศ. 2564 สวนลุมพินีจัดทุ่งดอกสร้อยไก่ หงอนไก่ และแพงพวย
ส่งเสริมการขาย สนับสนุนผลผลิตการเกษตร
และข้าวปลอดสารพิษ
จาก ‘ชุมชนขุมทองเกษตรนวัตวิถี’
กทม. มีนโยบายส่งเสริมและพัฒนาด้านการเกษตรของชาวกรุงเทพฯ เพื่อสนับสนุนเกษตรกร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแก้ปัญหาปากท้องของเกษตรกร ด้วยการส่งเสริมให้องค์กรภาคเกษตรมีส่วนร่วมในการพัฒนา และแก้ไขปัญหาทางการเกษตร รวมทั้งลดต้นทุนการผลิตและเน้นการพึ่งพาตนเอง เช่น วิสาหกิจ ‘ชุมชนเกษตรนวัตวิถี’ ที่ให้ความสำคัญกับการผลิตข้าวปลอดภัย และแปรรูปข้าวสารปลอดสารพิษ ที่สามารถให้คนในชุมชนได้บริโภค และเตรียมวางแผนรองรับการขยายพื้นที่การผลิตในอนาคต ทั้งนี้ กทม. พร้อมให้การสนับสนุนและประสานหน่วยงานจัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน ส่งเสริมการตลาดให้สามารถจำหน่ายผลผลิตชุมชนเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งเป็นการช่วยให้คนกรุงเทพฯ ได้บริโภคข้าวอย่างปลอดภัยไม่มีสารพิษ และเป็นข้าวคุณภาพจากเกษตรกรในกรุงเทพฯ อีกด้วย
นอกจากนี้ นางวัลยา วัฒนรัตน์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงภาพรวมการทำงานของทุกหน่วยงานในสังกัด กทม. พร้อมสร้างความมั่นใจให้คนกรุงเทพฯ ทั้งผู้ค้าที่จะสามารถทำการค้าต่อไปได้ และลูกค้าผู้จับจ่ายใช้สอยเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ
สถานธนานุบาลส่งต่อความช่วยเหลือสู่ผู้ค้า
นอกจากมาตรการความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจแก่ผู้ค้า และผู้ประกอบการทั่วกรุงเทพฯ แล้ว กทม. ยังเห็นความสำคัญของสถานธนานุบาล อันเป็นแหล่งเงินทุนในการทำธุรกิจ จึงมอบนโยบายให้สถานธนานุบาลช่วยเหลือธุรกิจรายย่อยด้วย “สถานธนานุบาลกรุงเทพมหานคร ปรับลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อช่วยเหลือกลุ่มธุรกิจรายย่อยและประชาชนทั่วไป ให้มีทางเลือกในการหาแหล่งเงินทุน และกระตุ้นเศรษฐกิจภาคประชาชน ให้มีสภาพคล่องในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 เริ่มตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม จนถึง กันยายน พ.ศ. 2564 สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ โทร. 0 2158 0042 – 4 และ www.pawnshop.bangkok.go.th หรือ เฟซบุ๊ก : pawnshopbangkok
ส่งต่อความปลอดภัยให้ประชาชน
ไม่เพียงมอบความช่วยเหลือให้กับคนทำธุรกิจเท่านั้น แต่ กทม. ยังได้มอบความมั่นใจในการออกมาจับจ่ายใช้สอยของประชาชน ณ แหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ อาทิ คลองโอ่งอ่าง, สวนจตุจักร ฯลฯ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในทุกพื้นที่ “หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 ระลอก 3 คลี่คลายลง กทม. เตรียมพื้นที่ ‘คลองโอ่งอ่าง’ พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยว โดยประชาชนสามารถเที่ยวชม ตรอกศิลป์ (Art Alley) และซื้อสินค้าจากร้านค้าในพื้นที่ได้ตามปกติ ทั้งนี้ บริเวณ ถนนคนเดินคลองโอ่งอ่าง กทม. ได้มีการตรวจคัดกรองและการประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวปฏิบัติตามมาตรการป้องกันส่วนบุคคล (D-M-H-T-T-A) อย่างเคร่งครัด ได้แก่ เว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกนอกบ้าน หรืออยู่ในพื้นที่สาธารณะ ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือแอลกอฮอล์ล้างมือ รวมทั้งตรวจวัดอุณหภูมิ ตรวจหาเชื้อโควิด 19 (กรณีมีความเสี่ยง) และใช้แพลตฟอร์ม ‘ไทยชนะ’ หรือ ’หมอชนะ’ เช็กอินเมื่อเข้าใช้บริการ ทั้งนี้ เพื่อร่วมกันป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด19”
สร้างความมั่นใจให้จับจ่ายใช้สอยได้
ณ ตลาดนัดจตุจักร
เนื่องจากเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาด ของโรคโควิด19 ระลอก 3 ซึ่งพบว่ามีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ที่ผ่านมา กทม. จึงชะลอการดำเนินการตามมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการประกอบการค้าขาย ของผู้ค้าตลาดนัดจตุจักร ทั้ง 3 มาตรการ ได้แก่
(1) ให้ผู้ค้าแผงค้ากึ่งถาวรสามารถทำการค้าในวันอังคาร พุธ และพฤหัสบดี จนถึงเวลา 18.00 น.
(2) ในวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ ค้าขายในแผงค้าได้ จนถึงเวลา 22.00 น. เว้นวันจันทร์ที่ห้ามทำการค้า เพื่อทำความสะอาดพื้นที่และแผงค้า รวมทั้งขุดลอกรางระบายน้ำ
(3) ส่งเสริมและสนับสนุนการค้าขายให้มากขึ้น โดยการจัดกิจกรรมต่างๆ บริเวณรอบหอนาฬิกาภายในตลาดนัดจตุจักร
“ทั้งนี้ กทม. ขอความร่วมมือผู้ค้าและประชาชนที่มาจับจ่ายซื้อสินค้า ให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 (D-M-H-T-T-A) ตามที่ทางราชการกำหนดในการใช้บริการตลาดนัดจตุจักรอย่างเคร่งครัด”
———————————
เรื่อง : อโนชา ทองชัย
ที่มา : Bangkok News (กทม.สาร) Issue 278