ฉลองครบรอบ 100 ปี ‘สวนลุมพินี’ ปรับโฉมสู่สวนสาธารณะระดับโลก
นอกจากโครงการ Green Bangkok 2030 ที่มุ่งเน้นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวด้วยการสร้างสวนสาธารณะใหม่ทั่วกรุงเทพฯ เพื่อให้อัตราส่วนพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้นเป็น 10 ตารางเมตรต่อประชากร 1 คนตามเป้าหมายใน 10 ปีข้างหน้า กรุงเทพมหานคร (กทม.) ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาพื้นที่สีเขียวเดิม เพื่อต่อยอดศักยภาพและสร้างความยั่งยืนในอนาคต หนึ่งในนั้นคือสวนสาธารณะแห่งแรกของไทยอย่าง ‘สวนลุมพินี’ ที่กำลังจะได้รับการปรับโฉมครั้งใหญ่เพื่อฉลองครบรอบ 100 ปี ในปี พ.ศ. 2568
ตำนานสวนสาธารณะแห่งแรกของไทย
สวนลุมพินีนับเป็นสวนสาธารณะที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานที่สุดของประเทศ สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ดินให้เป็นสวนสาธารณะสำหรับประชาชน เริ่มเปิดบริการในปี พ.ศ. 2468
พื้นที่สีเขียวใจกลางเมือง
‘สวนลุมพินี’ เป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่มีพื้นที่ 360 ไร่ ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตปทุมวัน ซึ่งเป็นย่านศูนย์กลางธุรกิจ CBD (Central Business District) ของกรุงเทพฯ ล้อมรอบด้วยอาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า โรงแรม คอนโดมิเนียม ภายในมีลักษณะการใช้งานแบบอเนกประสงค์ เป็นที่ตั้งของศูนย์นันทนาการ สมาคม ชมรมต่างๆ
‘ปอด’ ของคนกรุงเทพฯ
สวนลุมพินีโอบล้อมด้วยพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ เปรียบเสมือน ‘ปอด’ สำคัญของคนเมือง มีต้นไม้ขนาดใหญ่ให้ความร่มรื่นรายล้อมอยู่ทั่วบริเวณ มีสระน้ำกว้างใหญ่ ดอกไม้นานาพันธุ์ สวนป่าและสถานที่สำคัญต่างๆ ซึ่งในแต่ละวันมีประชาชนเข้ามาใช้บริการภายในสวนสาธารณะเป็นจำนวนมาก โดยเฉลี่ยในวันจันทร์ – ศุกร์ ประมาณ 10,000 คนต่อวัน และในวันเสาร์ – อาทิตย์ ประมาณ 15,000 คนต่อวัน
พร้อมปรับโฉมเพื่อเป็นสวนสาธารณะระดับโลก
จากการสำรวจสภาพปัจจุบันของสวนลุมพินี พบว่าอาคารสถานที่และอุปกรณ์ต่างๆ ภายใน รวมถึงระบบสาธารณูปโภคมีสภาพชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา การจัดพื้นที่ใช้สอยและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ยังไม่สามารถตอบสนองกับการใช้งานตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป กทม. จึงเตรียมปรับปรุงและพัฒนาสวนลุมพินีครั้งใหญ่ เพื่อเฉลิมฉลองสวนลุมพินีครบรอบ 100 ปี ในปี พ.ศ. 2568 ให้เป็นสวนสาธารณะระดับโลกที่สร้างสรรค์และทันสมัย สามารถรองรับการใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย
การปรับปรุงในครั้งนี้ได้ดำเนินการตามแนวคิดในการออกแบบเพื่อพัฒนาพื้นที่สวนสาธารณะในทุกมิติ ครอบคลุมอัตลักษณ์ของเมือง 5 ด้าน คือ
1. คุณค่าแห่งประวัติศาสตร์ (History)
2. คุณภาพทางวัฒนธรรม ศิลปะ การแสดงและแหล่งเรียนรู้รูปแบบต่างๆ (Cultural Integration)
3. การพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนให้กับเมือง เพื่อตอบรับสภาวะโลกร้อน (Climate Action Park)
4. สร้างพื้นที่กิจกรรมที่ทันสมัยและหลากหลายเข้ากับยุคสมัย (Modern Recreation)
5. ตอบโจทย์การใช้งานตามรูปแบบมาตรฐานของการออกแบบ หรือ Universal Design ในการให้บริการทุกส่วน (Inclusive for All) โดยจะแบ่งการปรับปรุงออกเป็น 3 เฟส ได้แก่
เฟสที่ 1 เป็นการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคในสวนให้แล้วเสร็จ เช่น งานระบบท่อและงานระบายน้ำใต้ดิน ซึ่งปัจจุบันไม่สามารถระบายน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และท่อระบายน้ำบางส่วนไม่เชื่อมต่อกับทางระบายน้ำ รวมถึงปัญหาน้ำในบึงเน่าเสียอีกด้วย นอกจากนี้ ยังดำเนินการปรับปรุงงานระบบไฟฟ้าส่องสว่าง งานปรับทางเดิน – วิ่ง และงานปรับปรุงอาคารที่ทรุดโทรม
เฟสที่ 2 จะเน้นการพัฒนาพื้นที่เพื่อการเรียนรู้ที่หลากหลาย
เฟสที่ 3 เป็นการพัฒนาพื้นที่ที่ยังไม่ได้ใช้งานให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการออกแบบและพัฒนาพื้นที่เชิงภูมิสถาปัตยกรรม
คงเสน่ห์อัตลักษณ์เดิมพร้อมเสริมภาพลักษณ์ใหม่
นอกจากสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กรุงเทพฯ แล้ว การปรับโฉมใหม่ให้สวนลุมพินียังจะเป็นแรงดึงดูดใหม่ในด้านการท่องเที่ยว ให้คนไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้มาเช็กอินและถ่ายรูปสวยๆ พร้อมกับสร้างประโยชน์ในหลายด้าน ได้แก่ การพัฒนาพื้นที่สีเขียวกลางใจเมือง ให้ใช้งานอย่างเต็มศักยภาพ โดยแสดงอัตลักษณ์ด้านสวนสาธารณะของกรุงเทพฯ ให้เป็นมากกว่าสวน แต่เป็นภาพลักษณ์ของประเทศ ที่สามารถรองรับการจัดกิจกรรมระดับเมืองและระดับชาติได้ พร้อมทั้งส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพฯ
กทม. เตรียมปรับปรุงและพัฒนาสวนลุมพินีครั้งใหญ่ เพื่อเฉลิมฉลองสวนลุมพินีครบรอบ 100 ปี ในปี พ.ศ. 2568 ให้เป็นสวนสาธารณะระดับโลกที่สร้างสรรค์และทันสมัย สามารถรองรับการใช้ประโยชน์ในทุกมิติ
1 คุณค่าแห่งประวัติศาสตร์
2 คุณภาพทางวัฒนธรรม ศิลปะ การแสดงและแหล่งเรียนรู้
3 พัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนให้กับเมืองเพื่อตอบรับสภาวะโลกร้อน
4 สร้างพื้นที่กิจกรรมที่ทันสมัยและหลากหลาย
5 ตอบโจทย์การใช้งานตามรูปแบบมาตรฐานของการออกแบบ หรือ Universal Design
——————————
เรื่อง : อโนชา