เปิดโฉมถนนสวยไร้สาย ฝันที่เป็นจริงของคนกรุงเทพฯ
ความฝันของคนกรุงเทพฯ ยังคงต้องการเห็นถนนทุกสายมีพื้นที่ทางเท้าที่เอื้อต่อการเดินอย่างแท้จริง มีความเป็นระเบียบสวยงาม มองแล้วสบายตาโดยปราศจากเสาและสายสื่อสาร ซึ่งต่อจากนี้จะไม่ใช่เรื่องที่ไกลเกินจริงอีกต่อไป หลังจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) หน่วยงานและองค์กรที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้บูรณาการการทำงาน เพื่อนำสายสื่อสารลงดินมาตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน เปลี่ยนภูมิทัศน์ของถนนสวยไร้สายไปหลายแห่งแล้ว และแน่นอนว่าในปี 2565 นี้ ทุกภาคส่วนยังคงทำงานอย่างเต็มที่เพื่อให้ “ถนนสวยไร้สาย” เกิดขึ้นทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ
4 ปี แห่งการทำงานเพื่อเติมฝันให้ชาวกรุง
เพื่อก้าวสู่การเป็นมหานครแห่งความปลอดภัย ตามแผนพัฒนากรุงเทพมหานครระยะ 20 ปี ความปลอดภัยทั้งบนท้องถนนและทางเท้าเป็นอีกหนึ่งมิติที่ กทม. ให้ความสำคัญ และต้องการจะยกระดับให้ทัดเทียมกับมหานครชั้นนำอื่นๆ ทั่วโลกตลอด 4 ปีที่ผ่านมา กทม. ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.), การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำการจัดระเบียบสายสื่อสารลงดิน ซึ่ง กทม. รับผิดชอบก่อสร้างท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดิน โดยบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด สำหรับการจัดระเบียบสายสื่อสารและสายไฟฟ้าลงดิน หน่วยงานต่างๆ ได้ร่วมกันจัดระเบียบสายสื่อสารที่พาดบนเสาไฟฟ้าของ กฟน. โดยนำสายสื่อสารที่ไม่มีการใช้งานออก และในส่วนของสายที่ยังมีการใช้งานจะจัดระเบียบให้เรียบร้อย พร้อมทั้งระบุเจ้าของสายสื่อสารแต่ละเส้นให้ชัดเจน ระหว่างดำเนินการตามแผนนำสายสื่อสารลงใต้ดิน เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2561 – 2564 จำนวน 40 เส้นทาง ระยะทางประมาณ 143.72 กิโลเมตร ดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 19 เส้นทาง ระยะทางประมาณ 119 กิโลเมตรและอยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน 21 เส้นทาง ระยะทางประมาณ 24.72 กิโลเมตร
ก้าวผ่านปัญหา เพื่อถนนสวยไร้สายของทุกคน
การนำสายสื่อสารลงดินที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบันจะเห็นว่าบางส่วนมีความล่าช้าบ้าง นั่นเพราะมีอุปสรรคที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเผชิญและได้แก้ไข ส่งผลให้การทำงานคืบหน้า เช่น การขออนุญาตเข้าใช้พื้นที่ที่มีอุปสรรคจากการสื่อสารที่ไม่ชัดเจน ส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการก่อสร้าง นอกจากนี้ ยังมีเรื่องงบประมาณที่ไม่เพียงพอต่อการจัดระเบียบสายสื่อสารให้เป็นไปตามแผน ซึ่งมีการหารือด้านงบประมาณร่วมกัน จึงแก้ไขปัญหาให้ลุล่วงได้ และปัญหาที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ คือสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2562 ที่ส่งผลให้ผู้ปฏิบัติงานของหน่วยงานต่างๆ ไม่สามารถเดินหน้านำสายสื่อสารลงดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ในปี 2565 นี้ ประเทศไทยมีองค์ความรู้ในการเฝ้าระวังและป้องกันโรคแพร่หลายกว้างขวางขึ้น การทำงานของทุกภาคส่วนเพื่อเดินหน้าโครงการถนนสวยไร้สายก็สามารถดำเนินการต่อ และแน่นอนว่า ในปีนี้ กทม. และองค์กรต่างๆ จะสามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้
“ถนนสวยไร้สวย” ถนนในฝันที่เกิดขึ้นจริงแล้ว
ปี 2564 ที่ผ่านมา ถนนสวยไร้สายได้เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยการก่อสร้างท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินของ กทม. เสร็จสิ้นเป็นระยะทางทั้งหมด 7 กิโลเมตร ประกอบด้วย
• ถนนวิทยุ (ถนนเพชรบุรี – แยกเพลินจิต – หน้าซอยร่วมฤดี)
• ถนนรัชดาภิเษก (สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินศูนย์วัฒนธรรมประตู 2 – หน้าซอยรัชดาภิเษก 7)
• ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ (ถนนสาทรเหนือและถนนสาทรใต้ – ซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 10)
• แนวถนนพระรามที่ 1 จากแยกปทุมวัน – แยกราชประสงค์ ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร (อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง)
• ถนนวิทยุ (ถนนเพชรบุรี – แยกเพลินจิต – หน้าซอยร่วมฤดี)
• ถนนรัชดาภิเษก (สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินศูนย์วัฒนธรรมประตู 2 – หน้าซอยรัชดาภิเษก 7)
• ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ (ถนนสาทรเหนือและถนนสาทรใต้ – ซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 10)
• แนวถนนพระรามที่ 1 จากแยกปทุมวัน – แยกราชประสงค์ ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร (อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง)
นอกจากนี้ ยังมีการรายงานความคืบหน้าจากเฟซบุ๊ก : ผู้ว่าฯ อัศวิน ว่ามีถนนสวยไร้สายเพิ่มเติมจากรายงานสรุปผลการทำงานของกรุงเทพมหานครปี 2564 กับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแล้วในกรุงเทพฯ ด้วยแฮชแท็ก #กรุงเทพฯเปลี่ยนไปแล้ว ได้แก่ ถนนพญาไท, ช่วงถนนโดยรอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ – สะพานหัวช้าง, ถนนพระรามที่ 1 (ช่วงถนนพญาไท – สะพานกษัตริย์ศึก)
เดินหน้าสู่เป้าหมายระยะ 3 ปี (พ.ศ. 2565 – 2567)
สำหรับแผนการนำสายสื่อสารลงดินในอีก 3 ปีข้างหน้าจะอยู่ในแผนบูรณาการการจัดระเบียบสายสื่อสารทั่วประเทศ โดยส่วนของกรุงเทพฯ และปริมณฑล เฉพาะปี 2565 มีระยะทางในการดำเนินการรวม 456 กิโลเมตร และเมื่อส่วนนี้เสร็จสิ้น จะมีเป้าหมายต่อไปในส่วนที่เหลืออีก 963 กิโลเมตร โดยทุกหน่วยงานจะบูรณาการและแบ่งภารกิจหน้าที่ความรับผิดชอบอย่างชัดเจน เพื่อจัดระเบียบสายสื่อสารตามเป้าหมายที่วางไว้ ตั้งแต่ สำนักงาน กสทช. กำหนดเส้นทางการจัดระเบียบสายสื่อสารร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประสานงานกับผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม และกำกับการจัดระเบียบสายสื่อสาร ส่วน กฟน. กำกับดูแลการพาดสายสื่อสาร กำหนดเส้นทางการจัดระเบียบสายสื่อสารร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และกำกับการจัดระเบียบสายสื่อสารในพื้นที่รับผิดชอบของการไฟฟ้านครหลวง สำหรับ กทม. รับผิดชอบในการอำนวยความสะดวกการจราจรในพื้นที่ของการจัดระเบียบสายสื่อสารและประสานงานกับตำรวจ ดูแลและอนุญาตการใช้พื้นที่ทางเท้า รวมถึงการประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจกับประชาชน
การจัดระเบียบสายสื่อสารแบบ Single Last Mile
หัวใจสำคัญของความสำเร็จ
ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป จะมีการนำแนวทางการจัดระเบียบสายสื่อสารแบบ Single Last Mile (การใช้ทรัพยากรร่วมกัน) มาใช้กล่าวคือ ผู้ดำเนินการจัดระเบียบสายสื่อสารจะเป็นผู้ให้บริการโครงข่ายเพียงรายเดียวเพื่อลดการซ้ำซ้อน ซึ่งเป็นรูปแบบการจัดระเบียบสายสื่อสารแบบการใช้โครงข่ายปลายทางร่วมกัน โดย บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ จะเป็นผู้ดำเนินการในพื้นที่นำร่องและกำหนดให้หน่วยงานผู้ได้รับสิทธิ์เป็นผู้บริหารจัดการในส่วนของโครงข่ายสายปลายทางที่มีเพียงรายเดียว (Single Last Mile Provider) โดยผู้ให้บริการทุกรายจะต้องไปเช่าใช้ ซึ่งจะทำให้สายสื่อสารปลายทางมีจำนวนลดลง และเป็นระเบียบเรียบร้อยมากขึ้น
———————————————————————
เรื่องโดย กองบรรณาธิการ BANGKOK NEWS (กทม.สาร)
ที่มา: BANGKOK NEWS (กทม.สาร) ฉบับ 279 (1/2565)