ปี 2565 กับปฏิบัติการของ กทม. สู้ฝุ่น PM 2.5
ประเทศไทยโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ พบผู้ป่วยด้วยโรคที่มีสาเหตุจากฝุ่น PM 2.5 สูงสุดในช่วงเดือนธันวาคม – มีนาคม ของทุกปี เพราะเป็นช่วงที่กรุงเทพฯ มีแนวโน้มพบค่าฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน (ค่ามาตรฐานคือ ไม่เกิน 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร) มากที่สุด เนื่องจากเป็นช่วงที่มีอากาศเย็น ลมสงบ ความกดอากาศสูง และเมื่อสภาวะอากาศปิดทำให้ฝุ่นละอองลอยนิ่งอยู่กับที่ ค่าฝุ่นจึงเกินมาตรฐานกลายเป็นปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่แวะมาเยือนกรุงเทพฯ ทุกปี ดังนั้น กรุงเทพมหานคร (กทม.) จึงได้วางแผนและเตรียมความพร้อมแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างเต็มกำลังเพื่อให้กรุงเทพฯ เป็น “มหานครปลอดภัย” ของประชาชนทุกคน ด้วยมาตรการรับมือแบบเร่งด่วนที่ต้องทำทันที โดยมีกลยุทธ์ที่ทันต่อสถานการณ์รวมถึงมาตรการป้องกันระยะยาว พร้อมความร่วมมือจากหน่วยงานภาคีเครือข่าย เพื่อดูแลคนกรุงเทพฯ ให้ผ่านพ้นวิกฤตฝุ่น PM 2.5 อย่างปลอดภัย
ผนึกกำลังสู้ฝุ่น PM 2.5
ในปี 2565 กทม. ได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กองบังคับการตำรวจจราจร กรมการขนส่งทางบก องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กรมอุตุนิยมวิทยา กรมควบคุมมลพิษ กรมธุรกิจพลังงาน การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจรกรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมอนามัย กรมควบคุมโรค ปรับปรุงแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ให้สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ของกรมควบคุมมลพิษ เพื่อควบคุมการปล่อยมลพิษทางอากาศจากแหล่งกำเนิดหลักในพื้นที่กรุงเทพฯ
นอกจากนี้ กทม. ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามแผนระยะยาว เพื่อรองรับและปรับแนวทางการดำเนินงานให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศ “เกณฑ์แนะนำคุณภาพอากาศ (Air Quality Guidelines: AQGs) ฉบับใหม่” ซึ่งมีการปรับระดับเกณฑ์แนะนำคุณภาพอากาศใหม่ที่เข้มงวดกว่าเดิม
แผนปฏิบัติการ 3 ระยะ แก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในกรุงเทพฯ
ระยะที่ 1 ค่าฝุ่นไม่เกิน 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร มีแผนปฏิบัติการแก้ไข 12 มาตรการ ได้แก่ ควบคุมรถควันดำ บริการตรวจเช็กควันดำเครื่องยนต์ฟรี กำกับดูแลสถานก่อสร้าง ควบคุมสถานประกอบการปล่อยควันเกินมาตรฐาน ล้างถนนและดูดฝุ่นบนถนน กวดขันและตรวจตราไม่ให้มีการเผาในที่โล่ง หากค่าฝุ่นมากกว่า 40 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ควรงดกิจกรรมกลางแจ้งของเด็กเล็กในโรงเรียน และประชาสัมพันธ์ให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น ตรวจวัดและรายงานสถานการณ์ฝุ่น (สวนสาธารณะ 20 จุด สำนักงานเขต 50 จุด ในกรุงเทพฯ) เปิดคลินิกมลพิษทางอากาศฉีดพ่นละอองน้ำบนอาคารสูง เปิดสายด่วน 1584 แจ้งเบาะแสรถควันดำ ให้บริการแอปพลิเคชันตรวจเช็กค่าฝุ่นในพื้นที่กรุงเทพฯ
ระยะที่ 2 ค่าฝุ่นระหว่าง 51 – 75 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร มีแผนปฏิบัติการแก้ไข 8 มาตรการ ได้แก่ ปิดการเรียนการสอน จัดให้มี Safe Zone ในทุกโรงเรียนและศูนย์เด็กเล็ก เข้มงวดตรวจจับรถยนต์ควันดำ งดกิจกรรมก่อสร้างทุกประเภทที่เกิดฝุ่น ห้ามจอดรถริมถนนในถนนสายหลักและถนนสายรอง บังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำการเผาในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลเก็บขยะมูลฝอยแล้วเสร็จก่อนเวลา 04.00 น. และออกหน่วยบริการสาธารณสุขและหน่วยบริการเคลื่อนที่
ระยะที่ 3 ค่าฝุ่นเกินกว่า 76 – 100 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร มีแผนปฏิบัติการแก้ไข 6 มาตรการ ได้แก่ สั่งหยุดการก่อสร้างรถไฟฟ้า 5 – 7 วัน ปิดการเรียนการสอนครั้งละไม่เกิน 15 วัน บุคลากรของ กทม. ให้ Work from Home และเหลื่อมเวลาทำงานพร้อมกับงดใช้รถยนต์ส่วนตัว จับ – ปรับจอดรถไม่ดับเครื่อง บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดกับผู้กระทำการเผาในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เข้มงวดจับ – ปรับรถยนต์ควันดำ “ควันรถยนต์” ต้นเหตุสำคัญปัญหาฝุ่น PM 2.5
กทม. ดำเนินมาตรการอย่างไร?
กทม. โดยสำนักสิ่งแวดล้อม ดำเนินแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ด้วยการร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กองบังคับการตำรวจจราจร กรมการขนส่งทางบกองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และกรมควบคุมมลพิษ จัดเจ้าหน้าที่ชุดเฉพาะกิจลงพื้นที่ตรวจสอบขับเคลื่อนมาตรการ การตรวจจับและห้ามใช้รถยนต์ควันดำทุกประเภทในพื้นที่กรุงเทพฯ จำนวนกว่า 20 จุดต่อวัน รวมถึงกำหนดมาตรฐานค่าควันดำใหม่ที่เข้มงวดขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 จากยานพาหนะ และเน้นย้ำหน่วยงานในสังกัด กทม. ตรวจสอบและบำรุงรักษาเครื่องยนต์ไม่ให้เกิดควันดำ ลดการใช้เครื่องยนต์ดีเซล ตลอดจนนำรถยนต์ในสังกัดเข้ารับการตรวจวัดควันดำเป็นประจำ หากพบว่ามีควันดำเกินค่ามาตรฐานต้องนำรถไปปรับปรุงแก้ไขให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
สำหรับภาคประชาชน หากมีการใช้มาตรการในระดับ 3 ก็ต้องถูกสั่งห้ามวิ่งรถในวันและเวลาที่กำหนด เช่น รถบรรทุกห้ามวิ่งในเขตกรุงเทพฯ ชั้นใน รวมทั้ง กทม. ขอความร่วมมือประชาชนให้ใช้รถเท่าที่จำเป็น รณรงค์ไม่ขับรถให้ดับเครื่อง ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนบำรุงรักษาเครื่องยนต์เพื่อลดการปล่อยมลพิษ และลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว หันมาเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งนอกจากแก้ไขปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯ แล้ว ยังช่วยลดมลพิษทางอากาศและฝุ่น PM 2.5 ที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ โดย กทม. มีมาตรการรับมือและแก้ไขปัญหาระยะยาว ด้วยการดำเนินการระบบขนส่งมวลชนหลัก ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีเขียว (BTS) และระบบขนส่งมวลชนรอง เช่น รถโดยสารด่วนพิเศษ BRT
อีกทั้ง กทม. ยังส่งเสริมการเดินทางด้วยเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันมีการเดินเรือในคลองภาษีเจริญ คลองผดุงกรุงเกษมและในอนาคตจะเปิดให้บริการเดินเรือโดยสารในคลองแสนแสบส่วนต่อขยาย (จากวัดศรีบุญเรืองถึงเขตมีนบุรี) และเส้นทางอื่นๆ ที่เหมาะสม นอกจากนี้ ยังมีแผนการศึกษาเส้นทางก่อสร้างรถไฟฟ้ารางคู่ขนาดเบา (Light Rail Transit) สายบางนา – ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) สายสีเทา ช่วงวัชรพล – พระราม 9 – ท่าพระ เพื่ออำนวยความสะดวก ความปลอดภัย และความรวดเร็วในการเดินทาง ซึ่งจะช่วยลดปัญหามลพิษทางอากาศจากฝุ่น PM 2.5 ได้อย่างยั่งยืนต่อไป
ทำความสะอาด ดูดฝุ่นถนนทั่วกรุงเทพฯ
กทม. ดำเนินการลดฝุ่นละอองอย่างเข้มงวดและต่อเนื่องด้วยการล้างทำความสะอาดและดูดฝุ่นถนนเพื่อล้างฝุ่นลงท่อระบายน้ำ ป้องกันไม่ให้ฝุ่นฟุ้งกระจายกลับขึ้นมาในอากาศ การฉีดน้ำบริเวณเขตก่อสร้างและรอบอาคารสูง เพื่อควบคุมปริมาณฝุ่นและลดการฟุ้งกระจายของฝุ่นเช่นกัน รวมถึงฉีดล้างต้นไม้ในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อชะล้างฝุ่น PM 2.5 ที่เกาะอยู่กับใบไม้ ให้ใบไม้สะอาดเพื่อใช้ดักจับฝุ่นใหม่ต่อไป อีกทั้งดำเนินการจัดชุดเฉพาะกิจตรวจสอบห้ามเผาในที่โล่งและควบคุมฝุ่นละอองจากการก่อสร้างโดยขอความร่วมมือโครงการก่อสร้างในพื้นที่กรุงเทพฯ ฉีดพ่นละอองน้ำดักจับฝุ่นละออง ทำความสะอาดพื้นที่ก่อสร้าง เพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5
เตรียมพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุขของ กทม.
ในการดูแลและให้บริการประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาฝุ่น PM 2.5 โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ เด็กเล็ก และผู้ที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ กทม. โดยสำนักสิ่งแวดล้อม สำนักอนามัย และสำนักงานเขตพื้นที่ ร่วมมือผนึกกำลังจัดหน่วยแพทย์และสาธารณสุขลงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 สูงเกินค่ามาตรฐานจนส่งผลเสียต่อสุขภาพ เพื่อช่วยเหลือและให้ความรู้ประชาชน เน้นย้ำข้อควรปฏิบัติในการป้องกันตนเองจากฝุ่นละออง แนะนำการสวมหน้ากากอนามัยอย่างถูกต้อง นอกจากนี้ ยังได้เปิดคลินิกมลพิษทางอากาศเพื่อให้คำปรึกษาแก่ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคหอบหืด เยื่อบุตาอักเสบ หัวใจและหลอดเลือด รวมถึงผู้ที่ทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน เพื่อให้บริการตรวจรักษาลดความรุนแรงของอาการที่เกิดจากฝุ่นละอองขนาดเล็กภายในโรงพยาบาลสังกัด กทม. จำนวน 5 แห่ง ได้แก่
1. โรงพยาบาลตากสิน โทร. 0 2437 0123 (วันจันทร์ เวลา 08.00 – 12.00 น.)
2. โรงพยาบาลกลาง โทร. 0 2225 1354 (วันพฤหัสบดี เวลา 13.00 – 15.30 น.)
3. โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โทร. 0 2289 7198 (วันพุธ เวลา 13.00 – 15.00 น.)
4. โรงพยาบาลสิรินธร โทร. 0 2328 6900 (วันอังคาร เวลา 13.00 – 16.00 น.)
5. โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ โทร. 0 2444 3724 (ต่อ 8945) (วันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 08.00 – 16.00 น.)
โดยมีทีมแพทย์วินิจฉัยและให้การรักษาที่ถูกต้องตามแนวทางการรักษาโรค พร้อมจัดเตรียมยา เวชภัณฑ์ และหน้ากากอนามัยเพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชน พร้อมเปิดเป็นศูนย์ปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขกรณีฝุ่นละออง PM 2.5 เกิน 75 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หรือปรึกษาเรื่องสุขภาพ โทร. HOTLINE 1646 สายด่วนสุขภาพ สำนักการแพทย์ กทม. ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง
แจ้งเตือนสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 แบบเรียลไทม์
กทม. แจ้งเตือนสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ให้ประชาชนรับทราบด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง เชื่อถือได้ ผ่านช่องทางจอภาพแสดงผลบริเวณสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศและจอแสดงผลแบบเคลื่อนที่ ซึ่งหากพบค่าฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐานต่อเนื่องจะมีการเพิ่มความถี่การแจ้งเตือนค่าฝุ่น PM 2.5 เป็นวันละ 3 เวลา คือ 07.00 น. 12.00 น. และ 15.00 น. ผ่านช่องทางสื่อออนไลน์ 6 ช่องทาง แบบเรียลไทม์ ได้แก่
เว็บไซต์: www.bangkokairquality.com, www.air4bangkok.com, www.prbangkok.com
เฟซบุ๊ก: กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อมกรุงเทพมหานคร, เฟซบุ๊ก: กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์
แอปพลิเคชัน: AirBkk
ทั้งนี้ เพื่อแจ้งเตือนประชาชนให้หลีกเลี่ยงและงดการทำกิจกรรม หรือออกกำลังกายกลางแจ้ง พร้อมแนะนำการปฏิบัติตัว หากจำเป็นต้องอยู่กลางแจ้ง
———————————————————————–
เรื่องโดย: BANGKOK NEWS (กทม.สาร)
ที่มา: BANGKOK NEWS (กทม.สาร) ฉบับ 279 (1/2565)