กรุงเทพฯ มุมมองใหม่ มหานครที่ให้ความสำคัญกับทุกคน
มหานครสำหรับทุกคน เป็นอีกมิติที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) เดินหน้าเติมเต็มเพื่อก้าวสู่การเป็น ‘มหานครแห่งเอเชีย’ ที่พร้อมให้ประชาชนทุกคนอยู่ร่วมกัน ภายใต้คุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งปี พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้นำคณะทำงานดำเนินการตามแผน อันเป็นที่มาของความเปลี่ยนแปลงมากมาย และแน่นอนว่าในปี พ.ศ. 2564 นี้ ยังมีโครงการอีกมากมายที่จะสร้างความเชื่อมั่นว่า ‘ทุกคนคือคนสำคัญ’ และวันนี้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้แสดงวิสัยทัศน์ผ่านบทสัมภาษณ์พิเศษ
เดินหน้าต่อในปี 2564
กับหลากหลายโครงการที่พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพฯ
“ในปี พ.ศ. 2564 กทม. ยังมีอีกหลายโครงการที่จะต่อยอดจากปีที่แล้ว เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง และโครงการใหม่ๆ โดยเน้นการให้ความสำคัญกับประชาชนทุกคน ซึ่งประชาชนในทุกช่วงอายุต้องได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง นอกจากเน้นในเรื่องความสะดวกสบายแล้ว ปัญหาปากท้องก็ต้องได้รับการแก้ไขอย่างตรงจุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ COVID-19 ที่พี่น้องชาวกรุงเทพฯ ต้องเจอกับพิษเศรษฐกิจที่ค่อนข้างซบเซา แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือความสุขในชีวิตที่ กทม. จะสะท้อนออกมาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ หรือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเดิมที่มีการปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น รวมไปถึงสถานที่สำหรับทำกิจกรรมตามความสนใจที่หลากหลายของประชาชน กทม. พร้อมตอบสนองความต้องการของประชาชนทุกคน และทุกช่วงอายุ”
——————–||——————–
สร้างความเสมอภาคด้านการศึกษาให้กับเด็กๆ
“ในส่วนของประชาชนที่อยู่ในวัยเด็กหรือวัยเรียน กทม. เน้นไปที่การยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับนักเรียน ในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ด้วยการปรับเพิ่มอัตราค่าอาหารเช้าและอาหารกลางวัน นอกจากนี้ ยังได้เพิ่มเติมโรงเรียนที่สอนในระบบสองภาษาให้กระจายในเขตต่างๆ อย่างทั่วถึง ทั้งหมด 73 โรงเรียน ทั้งไทย – อังกฤษ และไทย – จีน และยังมีโรงเรียนสอนภาษาต่างประเทศอื่นๆ ด้วย อย่างภาษาญี่ปุ่น อาหรับ และมลายู ขณะเดียวกัน เราได้สร้างความเสมอภาคทางการศึกษาให้กับนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษด้วย เพราะเด็กทุกคนล้วนแล้วแต่มีความสำคัญเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะมีความบกพร่องทางการมองเห็น การได้ยิน สติปัญญา ร่างกาย สุขภาพ ภาษา และการพูด อารมณ์ และพฤติกรรม การเรียนรู้ ออทิสติก รวมถึงพิการซ้ำซ้อน พวกเขาต้องได้รับโอกาสด้านการศึกษาที่ไม่แตกต่างกัน”
——————–||——————–
โครงการส่งเสริมวัยรุ่นในทางสร้างสรรค์
“สำหรับกลุ่มวัยรุ่น พวกเขาเป็นวัยที่มีความคิด เริ่มเป็นตัวของตัวเองและแสดงออกในสิ่งที่ชอบ ดังนั้น กทม. จึงต้องมีพื้นที่ให้ได้แสดงออกอย่างเต็มที่ ซึ่งที่โดดเด่นเป็นพิเศษในช่วงเวลานี้ คือการเล่นสเก็ตบอร์ด ลองบอร์ด หรือกีฬาเอ็กซ์ตรีมอื่นๆ อันเป็นที่มาของการสร้างลานกีฬาเอ็กซ์ตรีมขึ้น เพื่อให้เยาวชนได้ใช้เวลาว่างอย่างสร้างสรรค์ และได้ออกกำลังกาย โดยเรานำพื้นที่บางส่วนของสนามเปตองในศูนย์กีฬาวชิรเบญจทัศ มาปรับปรุงให้เหมาะกับการเล่นกีฬาเอ็กซ์ตรีม ซึ่งถือเป็นแห่งแรกของกรุงเทพฯ และอีกสถานที่ที่ถือว่าไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อวัยรุ่นเท่านั้น แต่ยังเป็นสถานที่ของทุกคน นั่นคือพื้นที่บริเวณคลองโอ่งอ่างที่ได้ถูกพลิกโฉมให้เป็นย่านสตรีทอาร์ตอย่างเต็มรูปแบบ”
“อีกส่วนสำคัญในชีวิตวัยรุ่น คือการใช้เวลากับโซเชียลมีเดีย ซึ่งเราปฏิเสธไม่ได้กับปัญหา Social Bullying ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง กทม. จึงอยากจะเป็นอีกหนึ่งกำลังในการช่วยแก้ปัญหานี้ โดยได้จัดแคมป์ที่ชื่อว่า ‘Stop Bullying Camp เยาวชนรุ่นใหม่ ใส่ใจหยุดการบูลลี่’ เพื่อสร้างค่านิยมใหม่ในหมู่วัยรุ่นให้อยู่ร่วมกันในสังคมออนไลน์อย่างมีคุณภาพ เป็นต้น”
——————–||——————–
กรุงเทพฯ เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเปี่ยมคุณภาพ
“ขาดไม่ได้กับกลุ่มประชาชนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเราต้องดูแลพวกเขาอย่างเต็มที่ นั่นคือกลุ่มผู้สูงอายุ โดยหนึ่งในโครงการสำคัญของปี พ.ศ. 2564 คือการสร้างบ้านพักคนชราแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจและคัดเลือกที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของ กทม. ที่มีความเหมาะสมที่สุดในการจัดสร้างบ้านพักคนชราแห่งใหม่ ในส่วนของการรักษาพยาบาลผู้สูงวัย กทม. ก็มีความพร้อมแล้วสำหรับโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน ที่จะเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญในการดูแลคนไข้สูงวัย และยังมีบริการที่จะเข้ามาดูแลประชากรอาวุโสของกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นบริการ Mobile Lab บริการ Telemedicine รถทันตกรรมเคลื่อนที่สำหรับผู้สูงอายุ อาสาสมัคร Care Giver และรถตู้บริการสำหรับผู้สูงอายุ ที่ใช้รถเข็นหรือรถแท็กซี่สำหรับผู้ใช้วีลแชร์นั่นเอง”
——————–||——————–
ชีวิตประจำวันที่สะดวกสบายของผู้คนในเมืองหลวง
ได้รับการตีโจทย์อย่างเข้มข้น
“จากแนวคิด ‘มหานครสำหรับทุกคน’ กทม. สร้างนโยบายต่างๆ เพื่อความต้องการให้พี่น้องประชาชนชาวกรุงเทพฯ ที่ไม่ว่าจะใช้ชีวิตอยู่ในตรอกซอกซอยไหนก็ตาม พวกเขาต้องได้รับความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตในแง่มุมต่างๆ ตัวอย่างของโครงการที่ตอบโจทย์นี้ คือ กทม. เติมความสุขสู่ชุมชนบริการฟรีถึงที่ ซึ่งมีบริการหลากหลาย อาทิ ด้านการแพทย์ ฉีดวัคซีน งานทะเบียนราษฎร์ ทำหมันสัตว์เลี้ยง ซ่อมอุปกรณ์ไฟฟ้าขนาดเล็ก และยังพร้อมเสริมให้ชีวิตในยุคดิจิทัลของคนกรุงเทพฯ ง่ายขึ้น ด้วยระบบจองคิวออนไลน์ BMA Q ที่สามารถนัดหมายการรับบริการจากเขตต่างๆ รวมถึงจุดบริการด่วนมหานครทั้ง 12 แห่ง”
——————–||——————–
การกระจายรายได้ และกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน
เป็นอีกนโยบายสำคัญในปีนี้
“เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสภาพเศรษฐกิจของทั้งประเทศ สิ่งที่ กทม. ช่วยแก้ปัญหาให้กับประชาชน คือการสร้างรายได้หมุนเวียนในชุมชนต่างๆ ของแต่ละเขต ด้วยการจัดกิจกรรมถนนคนเดิน ตลาดชุมชน และการฝึกอาชีพที่มีศูนย์ฝึกอาชีพ รองรับความต้องการของประชาชนกระจายอยู่ทั่วกรุงเทพฯ หรือแม้กระทั่งแหล่งเศรษฐกิจที่มีศักยภาพในตัวเองอยู่แล้ว เราได้ทำการเพิ่มเติมในด้านต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ถนนข้าวสารที่ กทม.ได้เข้าไปปรับปรุงทั้งทางเท้า ถนน และแผงค้า ให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย และพร้อมเต็มที่ในการต้อนรับนักท่องเที่ยวไทย ที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังส่งเสริมให้ทุกคนเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และเตรียมไว้สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่จะกลับมาสัมผัสแหล่งสตรีทฟู้ดส์ที่มีเสน่ห์ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เมื่อมีการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้งในอนาคต”
เรื่องโดย: อโนชา ทองชัย
ที่มา: BKK NEWS (กทม.สาร) Issue275