TOP

ปลัด กทม. ชวนเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงเพื่อกรุงเทพฯ ที่ดีกว่าเดิม

การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 กำลังเดินหน้าใกล้เข้ามาทุกที นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ขอเชิญชวนทุกคนออกมาใช้สิทธิและยืนยันความพร้อมของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในการจัดการเลือกตั้งครั้งสำคัญนี้

 

ความพร้อมในการจัดการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. เป็นอย่างไรบ้าง

“กทม. พร้อมจัดการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยมีเจ้าหน้าที่ทั้งข้าราชการและลูกจ้างของ กทม. ช่วยกันเตรียมการรวมกว่า 170,000 คน มีการจัดอบรมไปแล้วทั้งหมด 6 ครั้ง เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างราบรื่น กทม. มีหน่วยเลือกตั้งรวมทั้ง 50 เขต จำนวน 6,817 หน่วย เพื่อรองรับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง (ผู้ว่าฯ กทม.) ก่อนเพิ่มชื่อ-ถอนชื่อ มีจำนวน 4,411,768 คน ซึ่งมีความน่าสนใจและน่าจับตามองว่าในจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด จะมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกราว 700,000 คน อีกทั้งการเลือกตั้งครั้งนี้ จะเป็นการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครครั้งแรกในรอบ 9 ปี และเป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ครั้งแรกในรอบ 12 ปี นับเป็นประวัติศาสตร์ของการเลือกตั้ง ที่อาจมรการเปลี่ยนแปลงในการพัฒนากรุงเทพฯ ครั้งสำคัญ”

 

การหาเสียงของผู้สมัครมีข้อควรระวังอะไรบ้าง

“สำหรับป้ายหาเสียง จะต้องมีขนาดตามที่กฏหมายกำหนด และติดตั้งตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการเลือกตั้งประจำถิ่นได้กำหนดไว้ โดยต้องคำนึงถึงความเหมาะสม ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความสะอาด ความปลอดภัย ความมั่นคงแข็งแรง มีทัศนียภาพและทัศนวิสัยที่ดี ไม่ก่อให้เกิดอันตรายแก่ประชาชนหรือยานพาหนะ รวมทั้งไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของทางราชการหรือประชาชน และจะต้องไม่เป็นการกีดขวางทางสัญจร การจราจร ฯลฯ”

“ส่วนการหาเสียงด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ ผู้สมัครสามารถดำเนินการได้ ไม่ว่าจะเป็นทางโซเชี่ยลมีเดีย ยูทูป แอปพลิเคชัน อีเมล SMS หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ประเภทอื่น ๆ แต่ต้องระวังไม่ให้เกินเวลา 18.00 น. ของวันที่ 21 พฤษภาคม 2565 และสำหรับผู้สมัครท่านใดที่มีการกระทำเข้าข่ายไม่สุจริตเที่ยงธรรม คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะทำการออกใบส้ม และหากมีการประกาศให้จัดการเลือกตั้งใหม่ ผู้สมัครรายนั้นจะถูกระงับสิทธิการสมัครทันที”

 

กทม. มีวิธีการดูแลเพื่อให้การเลือกตั้งมีความสงบเรียบร้อย และเป็นธรรมอย่างไร

“เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทุกคน จะใช้ความละเอียดรอบคอบในการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามกฏหมาย เพื่อให้การจัดการเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โปร่งใส สุจริต และเที่ยงธรรม ขณะเดียวกัน กกต. มีแนวทางป้องกันและปราบปรามการซื้อเสียง โดยตั้งรางวัลการให้เบาะแสข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการทุจริตเลือกตั้งสำหรับประชาชน หากข้อมูลนำไปสู่การไต่สวนของ กกต. จังหวัด ผู้แจ้งเบาะแสจะได้รับเงินรางวัล 5,000 บาท แต่หากคดีไปถึงข้นศาล อาจได้เงินรางวัลสูงสุด 100,000 บาท การซื้อเสียงไม่ใช่แค่ผู้ให้เงินเท่านั้นที่มีความผิด แต่ผู้รับเงินก็มีความผิดด้วยเช่นกัน โดยมีอัตราโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท

ช่องทางสำหรับแจ้งเหตุ กรณีพบเห็นการทุจริต มีดังนี้

  1. แอปพลิเคชัน “ตาสับปะรด”(สามารถร่วมรายงานสถาการณ์การเลือกตั้ง แจ้งข่าวทุจริตการใช้สิทธิ มีส่วนร่วมในการป้องกันการทุจริต ใช้งานง่าย ข้อมูลเป็นความลับ) 
  2. สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หรือฝ่ายปฏิบัติการข่าว โทร. 0 2141 8050 หรือ 0 2141 8201 หรือ 0 2141 2611 
  3. สายด่วน กกต. โทร.1444 กด 2 หรือแจ้งทางเว็บไซต์ ect.go.th

 

เป็นคนกรุงเทพ แต่หากคุณสมบัติไม่ครบถ้วนตามกฏหมาย

ก็อาจไม่มีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก.

ประเด็นดังกล่าวนี้ มีรายละเอียดอย่างไรบ้าง

“ใน พ.ร.บ. การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 มาตรา 38 ได้มีการกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้งไว้อย่างชัดเจนว่า ต้องมีสัญชาติไทย แต่บุคคลผู้มีสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ ต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ในวันเลือกตั้ง โดยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 1 ปี (นับถึงวันเลือกตั้ง)”

“สำหรับผู้ที่ย้ายทะเบียนบ้านจากจังหวัดอื่นมาอยู่กรุงเทพฯ ไม่ถึง 1 ปี ก่อนวันเลือกตั้ง จะขาดคุณสมบัติเป็นผู้มีสิทธืเลือกตั้ง แต่หากเป็นการย้ายทะเบียนบ้านภายในกรุงเทพฯ จะยังถือว่าเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง สามารถใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านครั้งสุดท้าย เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าหนึ่งปี”

 

“ส่วนการเลือกตั้ง ส.ก. ต้องมีชื่อในทะเบียนบ้านในเขตนั้น ๆ ไม่น้อยกว่าหนึ่งปี เช่น มีชื่ออยู่เขตห้วยขวางเกินหนึ่งปี แต่ย้ายไปเขตลาดพร้าวไม่ถึงหนึ่งปี จะต้องใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่เขตลาดพร้าว แต่ต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ก. ที่เขตห้วยขวาง โดยต้องไปแจ้งขอเพิ่มชื่อที่เขตห้วยขวาง ภายในวันที่ 11 พฤษภาคม 2565 เพื่อการเลือกตั้ง ส.ก. ด้วย”

 

ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ควรเตรียมความพร้อมเพื่อเลือกตั้งอย่างไร

“เริ่มจากตรวจสอบสิทธิเลือกตั้ง โดย กกต. ได้ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน 2565 หลังจากนั้น กกต. ส่งหนังสือแจ่งเจ้าบ้าน หากพบรายชื่อตกหล่นหรือเกิน สามารถแจ้งเพิ่มชื่อหรือถอนชื่อได้ที่สำนักงานเขต จนถึงวันที่ 11 พฤษภาคม 2565 หรือตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ตามลิงก์ https://stat.bora.dopa.go.th/Election/enqelectloc/#/ ของกระทรวงมหาดไทย”

“สิ่งสำคัญที่ห้ามลืม คือ หลักฐานแสดงตัวเพื่อใช้สิทธิเลือกตั้ง ซึ่งหลักฐานที่ใช้ง่ายที่สุดคือ “บัตรประจำตัวประชาชน” (สามารถใช้บัตรที่หมดอายุแล้วได้) นอกจากนี้ ยังใช้บัตรหรือหลักฐานอื่น ๆ ที่ทางราชการหรือหน่วยงานของรัฐออกให้ได้ เช่น ใบขับขี่ พาสปอร์ต หรือบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ สำหรับการลงคะแนนจะใช้บัตรลงคะแนน 2 ใบ เป็นบัตรเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 1 ใบ และบัตรเลือกตั้ง ส.ก. 1 ใบ โดยจะมีสีแตกต่างกัน ระยะเวลาการลงคะแนนในวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 ตั้งแต่เวลา 08.00 – 17.00 น.”

 

ประชาชนจะถูกจำกัดสิทธิใดบ้าง หากไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

“การจำกัดสิทธิหากไม่ไปเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. จะเป็นไปตาม พ.ร.บ. การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 ก็คือ กรณีมีเหตุอันสมควร ถ้าผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งเนื่องจากเหตุอันสมควร ให้แจ้งเหตุต่อบุคคลซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดภายใน 7 วัน ก่อนการเลือกตั้ง หรือภายใน 7 วัน นับตั้งแต่วันเลือกตั้ง แต่ถ้ามีเหตุจำเป็นไม่อาจแจ้งได้ภายใน 7 วัน ก่อนวันเลือกตั้ง ให้ดำเนินการแจ้งตามท่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด ทั้งนี้ การแจ้งเหตุดังกล่าว ไม่เป็นการตัดสิทธิที่ผู้นั้นจะไปใช้สิทธิเลือกตั้ง หากภายหลังสามารถเดินทางไปเลือกตั้งได้”

“สำหรับการแจ้งเหตุไม่ไปใช้สิทธิ ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทำหนังสือหรือด้วยวิธีการอื่น เพื่อชี้แจงเหตุดังกล่าว โดยสามารถมอบหมายให้บุคคลใดยื่นต่อบุคคล ซึ่ง กกต. แต่งตั้งแทน หรือจัดส่งหนังสือชี้แจงเหตุนั้นทางไปรษณีย์ลงทะเบียน หรือแจ้งโดยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ ถ้า กกต. เห็นว่าไม่ใช่เหตุอันสมควรจะแจ้งให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทราบภายใน 3 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้งเหตุ”

 

“ส่วนกรณีไม่มีเหตุอันสมควร หากผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง และไม่ได้แจ้งเหตุที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง หรือแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งแล้ว แต่เหตุนั้นไม่ใช่เหตุอันสมควร ผู้นั้นจะถูกจำกัดสิทธิ ดังต่อไปนี้

  • ไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาได้
  • ไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้านตามกฏหมายว่าด้วยลักษระปกครองท้องที่ได้
  • ไม่สามารถเข้าชื่อร้องขอให้ถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นตามกฏหมาย ว่าด้วยการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นได้
  • ไม่สามารถดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง และข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมืองได้
  • ไม่สามารถดำรงตำแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการ ผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น หรือคณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่นได้
  • ไม่สามารถดำรงตำแหน่งเลขานุการประธานสภาท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการประธานสภาท้องถิ่น และเลขานุการรองประธานสภาท้องถิ่นได้

“โดยระยะเวลาจำกัดสิทธิมีกำหนดเวลาครั้งละ 2 ปี นับแต่วันเลือกตั้งครั้งที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ทั้งนี้หากในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ผู้นั้นไม่ได้ไปใช้สิทธเลือกตั้งอีก ให้นับเวลาการจำกัดสิทธิครั้งหลังนี้ โดยนับจากวันที่มิได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งใหม่ และหากกำหนดเวลาการจำกัดสิทธิครั้งก่อนยังเหลืออยู่เท่าใด ก็ให้กำหนดเวลาการจำกัดสิทธินั้นสิ้นสุดลง”

 

คาดการณ์ว่า ประชาชนจะออกมาใช้สิทธิมากน้อยเพียงใด

“กทม. คาดการณ์ว่า จะมีผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งมากกว่ากาเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา เบื้องต้นประเมินไว้ที่ 70% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด แม้จะอยู่ในช่วงของการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ก็ตาม แต่ก็ขอเชิญชวนให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิกันมาก ๆ เนื่องจากการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นสิ่งที่ประชาชนรอคอย และสำหรับเยาวชนถือเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกของพวกเขาด้วย ซึ่งมีจำนวนเกือบ 700,000 คน ที่เป็น First Time Voter กทม. ต้องการเห็นเสียงของคนกลุ่มนี้ไม่แพ้กลุ่มอื่น ๆ เพราะจะช่วยสะท้อนความต้องการของเยาวชนคนรุ่นใหม่ได้อย่างดี”

 

ในเมื่อสถานการณ์โรคโควิด 19 ยังไม่คลี่คลาย

กทม. มีแนวทางการจัดการเลือกตั้งอย่างไร

“ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด19 กทม. ได้ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้ง ให้เรียนรู้วิธีการและขั้นตอนการจัดการเลือกตั้งในสถานการณ์โรคโควิด 19 อย่างถูกต้อง ส่วนการสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน เรามีมาตรการป้องกัน อาทิ การตรวจวัดอุณหภูมิก่อนเข้าบริเวณหน่วยเลือกตั้ง การจัดพื้นที่ลงคะแนนเฉพาะผู้ที่มีอุณหภูมิสูง จึงขอให้ประชาชนวางใจในมาตรการป้องกัน และออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 เวลา 08.00 -17.00 น.”

 

ผู้ป่วยโควิด 19 สามารถเข้าคูหาเลือกตั้งได้หรือไม่

“สำหรับประชาชนที่ตรวจ ATK แล้วพบว่าตัวเองติดเชื้อโควิด 19 ในวันเลือกตั้ง ยังคงสามารถเดินทางเข้าคูหาเลือกตั้งได้ทุกหน่วยเลือกตั้ง โดย กทม. ได้จัดเตรียมช่องทางพิเศษสำหรับผู้ป่วยโรคโควิด 19 โดยเฉพาะ เพื่อให้ประชาชนทุกคนไม่เสียสิทธิในการเลือกตั้งครั้งนี้”

เสียงของคนกรุงเทพฯ ทุกคนสำคัญ เตรียมตัวให้พร้อม แล้ววันที่ 22 พฤษภาคมนี้ ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ส่งพลังร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงเพื่อกรุงเทพฯ ที่ดีกว่าเดิม

—————————————————————————

เรื่องโดย: กองบรรณาธิการ BANGKOK NEWS (กทม.สาร)

ที่มา: ฺBANGKOK NEWS (กทม.สาร) Issue 281 (3/2565)

คลิกอ่าน https://link.bookkurry.com/bkk_news_issue_281

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด