เสียงคุณสำคัญ! 22 พฤษภาคมนี้ ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก.
มาถึงวันนี้ ไม่ว่าจะเดินทางไปไหนก็เห็นป้ายหาเสียงผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่า กทม.) และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ที่กำลังจะมีขึ้น ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งที่ชาวกรุงเทพฯ ต่างรอคอย เพราะเป็นการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งแรกในรอบ 9 ปี และเป็นการเลือกตั้ง ส.ก. ครั้งแรกในรอบ 12 ปี เรียกว่าเป็นความหวังของประชาชนในเมืองหลวง ที่มีประชากรตามทะเบียนบ้านและประชากรแฝงที่มาทำงานหรือเรียนหนังสือ ราว 8 ล้านคน สำหรับทุกคนแล้วคงไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าคุณภาพชีวิตที่ดี และต้องการให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่
ดังนั้น การเข้าคูหาเลือกตั้งครั้งนี้ของคนกรุงเทพฯ ที่มีสิทธิเลือกตั้ง ไม่ใช่เพียงการลงคะแนนให้ผู้สมัครหรือพรรคที่ถูกใจเท่านั้น แต่ต้องเลือกผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. ที่รับฟังเสียงประชาชนอย่างแท้จริง มีแนวทางพัฒนาและแก้ไขปัญหากรุงเทพฯ ได้เป็นรูปธรรม ทำให้เมืองหลวงแห่งนี้มีความสุขในการอยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตที่ดี
กรุงเทพมหานคร (กทม.) ในฐานะผู้ดำเนินการการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. ได้เดินหน้าเตรียมความพร้อมจัดเตรียมสถานที่เลือกตั้ง และการบริหารจัดการการเลือกตั้งให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย บริสุทธิ์ ยุติธรรม ถูกต้องตามขั้นตอนของกฏหมาย เพราะเห็นความสำคัญของทุกคะแนนเสียงของประชาชนในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ และ ส.ก. คณะใหม่มาบริหารเมือง
ทำไมคนกรุงเทพฯ ต้องเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก.
กทม. เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษที่มีขนาดใหญ่มาก เป็นเมืองหลวงของประเทศไทยที่เป็นศูนย์กลางความเจริญทุกด้าน จัดตั้งโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร มีฐานะเป็นนิติบุคคลแบ่งเขตการปกครองเป็น 50 เขต มีโครงสร้างการบริหารประกอบด้วย ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) เป็นฝ่ายบริหาร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ โดยมีวาระการคำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี เพื่อความคล่องตัวในการบริหารและพัฒนาท้องถิ่น
ผู้ว่าฯ กทม. มีบทบาทและหน้าที่สำคัญในการกำหนดนโยบาย และบริหารพัฒนาเมืองให้มีความเจริญรุ่งเรือง รวมทั้งควบคุมดูแลรักษาการให้เป็นไปตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ส.ก. มีหน้าที่ในการให้ความเห็นชอบการออกข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร อนุมัติงบประมาณของ กทม. กว่า 70,000 ล้านบาท และตรวจสอบติดตามการบริหารงานของฝ่ายบริหาร เพื่อควบคุมให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่
กทม. พร้อมจัดเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกประกาศกำหนดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยกำหนดวันเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม 2565 และให้มีการรับสมัครระหว่างวันที่ 31 มีนาคม ถึง 4 เมษายน 2565 โดยชาวกรุงเทพฯ จะเลือกผู้ว่าฯ กทม. 1 คน โดยให้ถือเขตของกรุงเทพฯ เป็น 1 เขตเลือกตั้ง และ ส.ก. มีการเลือกตั้ง 50 คน เขตเลือกตั้งจำนวน 50 เขตเลือกตั้ง จากจำนวนประชากรผู้อาศัยในกรุงเทพฯ ทั้งหมด 5,523,676 คน มีจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 4,411,768 คน จำนวนหน่วยเลือกตั้ง 6,817 หน่วย (ข้อมูล ณ วันที่ 2 พฤษภาคม 2565)
22 พ.ค. นี้ ชาวกรุงเทพฯ เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. ในคราวเดียวกัน
กทม. กำหนดแนวทางการเตรียมความพร้อมการจัดการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. และ ส.ก. ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย พร้อมมอบหมายให้ผู้เกี่ยวข้องทุกคนศึกษากฏหมายการจัดการเลือกตั้งให้ถี่ถ้วน เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้อง รวมไปถึงการแจ้งรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เนื่องจากเป็นการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. ในคราวเดียวกัน แต่กฏหมายกำหนดระยะเวลาการมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านที่มีสิทธิเลือกตั้งแตกต่างกัน เช่น บางคนอาจมีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. คนละหน่วยเลือกตั้งกัน หรือบางคนอาจมีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เพียงอย่างเดียวก็ได้ ดังนั้น กทม. จึงได้เร่งให้ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจกฏหมายให้ชัดเจน เพื่อป้องกันความผิดพลาด พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ในเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. ให้ประชาชนรับทราบและเตรียมความพร้อมของตนเอง เพื่อไม่ให้เสียสิทธิในการเลือกตั้ง และไม่กระทำผิดกฏหมายเลือกตั้ง
อย่าลืม! ตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก.
เพื่อไม่ให้เสียสิทธิ
ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. ครั้งนี้ ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้
1. สัญชาติไทย แต่ถ้าแปลงสัญชาติ ต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี
2. มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ในวันเลือกตั้ง คือเกิดก่อนวันที่ 24 พฤษภาคม 2547
3. มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้ว เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 1 ปี นับถึงวันเลือกตั้ง (สำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ ต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ก่อนวันที่ 23 พฤษภาคม 2564 และผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ส.ก. ต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเขตพื้นที่ ก่อนวันที่ 23 พฤษภาคม 2564)
4. และคุณสมบัติอื่นตามกฏหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนด
โดยสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งผ่านทางเว็บไซต์ สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย http://stat.bora.dopa.go.th/Election/enqelectloc/#/ ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป หากพบว่าตนเองหรือผู้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านของตน ไม่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หรือเจ้าบ้านเห็นว่ามีชื่อบุคคลอื่นอยู่ในทะเบียนบ้านของตนโดยไม่ได้อาศัยอยู่จริง ให้ยื่นคำร้องต่อนายทะเบียนท้องถิ่นเพื่อขอเพิ่มชื่อ – ถอนชื่อ ภายในวันที่ 11 พฤษภาคม 2565 โดยนำสำเนาทะเบียนบ้านและบัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรประจำตัวอื่นใดที่ทางราชการออกให้ไปแสดงด้วย
กรณีไม่สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งนี้ได้ ต้องแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งก่อนหรือหลังวันเลือกตั้ง 7 วัน คือ ก่อนวันเลือกตั้ง ระหว่าง 15 – 21 พฤษภาคม 2565 หรือหลังวันเลือกตั้ง ระหว่างวันที่ 23 – 29 พฤษภาคม 2565
ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. 2565 มีทั้งหมด 31 คน
มากที่สุดในประวัติศาสตร์เลือกตั้งกรุงเทพฯ
สถิติน่ารู้ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. 2565 คือผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. มีมากถึง 31 คน (โดนตัดสิทธิ 1 คน) ซึ่งถือว่ามากที่สุดในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งกรุงเทพฯ โดยเป็นผู้สมัครเพศชาย 25 คน เพศหญิง 6 คน ซึ่งผู้สมัครอายุมากที่สุด 72 ปี ส่วนผู้สมัครอายุน้อยที่สุด คือ 43 ปี
สำหรับผู้สมัคร ส.ก. มีทั้งหมด 382 คน มากกว่าการเลือกตั้ง ส.ก. ครั้งที่ผ่านมา ที่มีเพียง 200 กว่าคนเท่านั้น โดยเขตที่มีผู้สมัครมากที่สุด 10 คน ได้แก่ เขตดุสิตและเขตสวนหลวง ส่วนเขตที่มีผู้สมัครน้อยที่สุดมี 8 เขต คือ เขตสัมพันธวงศ์ เขตตลิ่งชัน เขตภาษีเจริญ เขตหนองแขม เขตบางพลัด เขตดินแดง เขตบางซื่อ และเขตคันนายาว โดยมีผู้สมัคร ส.ก. อายุมากที่สุดคือ 82 ปี (ผู้สมัครเขตราชเทวี) และผู้สมัครอายุน้อยที่สุดคือ 25 ปี (ผู้สมัครเขตลาดกระบัง)
กทม. ขอความร่วมมือตรวจสอบแผ่นป้ายหาเสียง
ให้มีความแข็งแรงปลอดภัยต่อประชาชน
ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. เป็นช่วงฤดูร้อนที่มักเกิดพายุฤดูร้อน และฝนฟ้าคะนองมีลมกระโชกแรงในพื้นที่กรุงเทพฯ อันเป็นเหตุให้อาคารบ้านเรือนของราษฎรได้รับความเสียหาย รวมถึงป้ายโฆษณาต่าง ๆ ที่ไม่มีความมั่นคงแข็งแรง ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ตลอดจนทรัพย์สินได้รับความเสียหาย ซึ่งมักปรากฏเป็นข่าวอยู่เสมอ ด้วยความห่วงใยในความปลอดภัยของประชาชน และเพื่อป้องกันมิให้เกิดอันตรายและความเสียหายจากเหตุดังกล่าว กทม. และผู้สมัคร ส.ก. พิจารณาตรวจสอบและแก้ไขการติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้ง ที่ติดตั้งอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ให้มีความมั่นคงแข็งแรงและปลอดภัย ไม่เกิดอันตรายแก่ประชาชนหรือต่อยานพาหนะ รวมทั้งไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของทางราชการหรือประชาชน
กทม. เปิดสถานที่สาธารณะให้ปราศรัยหาเสียง 15 แห่ง
โดยต้องมีมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยเคร่งครัด สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 0 2224 2940 และ 0 2621 0721
รู้ไหม สถานที่ห้ามปิดประกาศป้ายหาเสียงเลือกตั้ง มีที่ไหนบ้าง
สถานที่ห้ามปิดประกาศ ได้แก่ ผิวจราจร เกาะกลางถนน สะพานลอยคนข้าม และสะพานลอยรถข้าม รวมทั้งส่วนประกอบของสะพาน รั้ว และแผงเหล็กริมถนน ป้ายจราจร และสัญญาณไฟจราจร ป้ายประกาศของทางราชการ รั้วหรือกำแพง หรือผนังอาคารของทางราชการ ต้นไม้ และเสาไฟฟ้าบริเวณเกาะกลางถนน เป็นต้น
———————————————————————–
เรื่องโดย: กองบรรณาธิการ BANGKOK NEWS (กทม.สาร)
ที่มา: ฺBANGKOK NEWS (กทม.สาร) Issue 281 (3/2565)