เดินหน้า “สวน 15 นาที” ทั่วกรุง ให้คนกรุงเทพฯ เข้าถึงพื้นที่สีเขียว
“สวน 15 นาที” หนึ่งในกว่า 200 โครงการตามนโยบาย 9 ด้าน 9 ดี ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร “นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ซึ่งหมายถึงการกระจายสวน และพื้นที่สาธารณะที่ประชาชนเข้าถึงได้ภายใน 15 นาที หรือในระยะห่างประมาณ 800 เมตร ด้วยการพัฒนาพื้นที่เดิมควบคู่กับเพิ่มเติมพื้นที่ใหม่ ภายใต้ความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและภาคเอกชนของกรุงเทพมหานคร (กทม.)
ในปัจจุบัน กทม. มีลานกีฬาทั้งสิ้น 1,034 แห่ง ที่สามารถพัฒนาให้เป็นพื้นที่สีเขียวที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้เคยกล่าวว่า “สามารถดำเนินการได้หลายรูปแบบ อาทิ พัฒนาสวนขนาดเล็กในพื้นที่ราชการและเอกชน แปลงที่ดินว่าง พื้นที่รอการพัฒนา พื้นที่รกร้าง พื้นที่จุดบอดบริเวณโครงสร้างพื้นฐาน พื้นที่ระยะถอยร่นหรือพื้นที่ว่างหน้าอาคารขนาดใหญ่ พร้อมกันนี้ ยังได้เปิดโอกาสให้ประชาชนเสนอพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการพัฒนา และสามารถเปิดพื้นที่นอกอาคารของสถานที่ราชการให้ประชาชนเข้าใช้ได้บางเวลา ตลอดจนใช้กลไกทางภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจูงใจให้เอกชนเสนอที่ดินให้ กทม. พัฒนาเป็นพื้นที่สีเขียวเพื่องดเว้นการเสียภาษี หรือส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาพื้นที่สาธารณะบนที่ดินเอกชน ผ่านมาตรการลดหย่อนภาษีจากการสร้างสาธารณประโยชน์ อันเป็นการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนพัฒนาสิ่งแวดล้อมดีเพื่อทุกคน และเพิ่มพื้นที่สาธารณะเพื่อประโยชน์ทางสังคมและเศรษฐกิจของเมืองในอนาคต”
จับมือภาคีเครือข่ายเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการ “สวน 15 นาที” อย่างต่อเนื่อง
เดิมสวนสาธารณะของ กทม. มีจำนวนมากและเป็นสวนขนาดใหญ่หลายแห่ง ซึ่งมีสภาพเหมาะสมและสมบูรณ์ดี แต่สวนที่มีอยู่เดิมประมาณ 36 แห่งนี้ ประชาชนบางกลุ่มเข้าถึงได้ยาก นโยบาย “สวน 15 นาที” จึงเกิดขึ้นด้วยวัตถุประสงค์สำคัญที่สุดคือ ให้ประชาชนสามารถใช้บริการสวนสาธารณะใกล้บ้าน มีสวนขนาดเล็กกระจายตัวหลายพื้นที่ ให้ประชาชนสามารถนั่งเล่น เดินเล่น ออกกำลังกายได้ และอยู่ใกล้บ้าน ซึ่งหลังจากดำเนินการหาพื้นที่ กทม. ได้มาแล้ว 107 แห่ง ประมาณ 659 ไร่ ในจำนวนดังกล่าวนี้เป็นที่ดินของ กทม. 42 แห่ง ที่ดินของรัฐ 38 แห่ง และที่ดินของเอกชน 27 แห่ง
สำหรับการพัฒนา “สวน 15 นาที” ปี 2565 มีการพัฒนาแล้วจำนวน 51 แห่ง ปี 2566 จะมีการพัฒนาเพิ่ม 24 แห่ง ปี 2567 เพิ่มจำนวน 20 แห่ง และในปี 2568 เพิ่มจำนวน 6 แห่ง โดยมีการให้ความรู้เกี่ยวกับการออกแบบองค์ประกอบของสวน 15 นาที จากกลุ่ม We!Park ซึ่งเป็นภาคีเครือข่ายที่ร่วมทำงานกับ กทม. จำนวนหลายโครงการแก่ผู้แทนจาก 6 กลุ่มเขตของ กทม. เพื่อถ่ายทอดไปยังสำนักงานเขต 50 เขต ให้ออกแบบสวนที่ตรงตามความต้องการของประชาชน อีกทั้งเป็นการขับเคลื่อนนโยบาย “สวน 15 นาที” ให้มีประสิทธิภาพต่อไป
“สวน 15 นาที” เปิดใหม่แล้ว 13 แห่ง
(21 ไร่ 10.47 ตารางวา)
สำหรับการออกแบบพื้นที่สวน 15 นาทีทุกสวนนั้น จะเป็นความร่วมมือระหว่าง กทม. และประชาชนในชุมชน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และไม่เน้นการใช้งบประมาณจำนวนมาก ซึ่งปัจจุบัน กทม. สามารถเปิด “สวน 15 นาที” แล้ว 13 แห่ง ได้แก่
▶️ เขตดุสิต หน้าคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล ขนาด 1 ไร่
▶️ เขตดินแดง สถานีดับเพลิงสุทธิสาร ขนาด 3 งาน
▶️ เขตวัฒนา ซอยทองหล่อ 10 ขนาด 25 ตารางวา
▶️ เขตพระโขนง ซอยสุขุมวิท 62/3 ขนาด 20 ตารางวา
▶️ เขตพระโขนง ซอยวชิรธรรมสาธิต 27 ขนาด 32 ตารางวา
▶️ เขตบางรัก พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก ขนาด 100 ตารางวา
▶️ เขตคันนายาว สวนสุขใจ ขนาด 3 ไร่ 3 งาน 55.47 ตารางวา
▶️ เขตลาดกระบัง จุดพักรถลาดกระบัง ขนาด 5 ไร่
▶️ เขตบางกอกน้อย ใต้สะพานบางขุนศรี ขนาด 1 งาน
▶️ เขตบางขุนเทียน เคหะธนบุรี โครงการ 1/4 ขนาด 1 งาน 50 ตารางวา
▶️ เขตบางขุนเทียน สวนสมเด็จย่า ขนาด 5 ไร่
▶️ เขตราษฎร์บูรณะ สวนสุขเวชชวนารมย์ ขนาด 2 ไร่ 3 งาน 23 ตารางวา
▶️ เขตบางบอน สวนบางบอนสุขใจ ขนาด 1 ไร่ 2 งาน 5 ตารางวา
ทั้งนี้ โครงการ “สวน 15 นาที” ทั่วกรุงตามนโยบายสิ่งแวดล้อมดี คงไม่ได้เกิดผลเป็นรูปธรรมในทันที แต่ต้องใช้เวลาดำเนินการประมาณ 5 – 10 ปี ในการดูแลต้นไม้และปรับปรุงพื้นที่ให้สมบูรณ์ “สวน 15 นาที ถือเป็นการแบ่งปันอย่างหนึ่งที่ผมมองว่าทำให้เมืองเราน่าอยู่เพิ่มมากขึ้น เพราะลำพังแล้ว กทม. ไม่ได้มีงบประมาณมากมายที่จะซื้อที่ดินในการทำสวนสาธารณะกลางเมือง สำหรับภาคเอกชนถือเป็นการทำเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกล่าวถึงแนวทางความร่วมมือกับภาคเอกชนในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กรุงเทพฯ
เรื่องโดย: กองบรรณาธิการ Bangkok News (กทม.สาร)
ที่มา: Bangkok News (กทม.สาร) Issue 284 (01/2566)
คลิกอ่านเพิ่มเติม BANGKOK NEWS (กทม.สาร) Issue 284 (01/2566)👉 ที่นี่