เมืองเศรษฐกิจดี เมืองสร้างสรรค์ดี กทม. เร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจมหานคร สร้างรายได้ สร้างอาชีพ
จากนโยบายเศรษฐกิจดีและสร้างสรรค์ดีของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อการขับเคลื่อนและยกระดับกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้นำนโยบายมาพัฒนาต่อยอดด้วยการจัดโครงการ เทศกาล หรือกิจกรรมสร้างสรรค์ต่าง ๆ ที่ผสมผสานทั้งศาสตร์และศิลป์ รวมทั้งวัฒนธรรมชุมชน เพื่อเป็นเครื่องมือผลักดันให้เกิดพื้นที่แห่งการสร้างสรรค์ และต่อยอดสู่กิจกรรมทุกรูปแบบที่สามารถหมุนเวียนกระตุ้นเศรษฐกิจกรุงเทพฯ นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสแจ้งเกิดการประกอบกิจการในรูปแบบใหม่ ๆ ให้กับคนกรุงอีกด้วย
“หัวใจของ กทม. วันนี้ ต้องสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนและนักท่องเที่ยว ซึ่ง กทม. ต้องสร้างความร่วมมือที่เข้มแข็งกับภาคเอกชน เนื่องจาก กทม. มีทรัพยากรจำกัด ฉะนั้น หน้าที่หลักของ กทม. ต้องโปร่งใส ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อกำหนดทิศทางของเมือง” นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เคยกล่าวไว้
นำร่อง 10 ย่านสร้างสรรค์ สร้าง Soft Power ของเมือง
กทม. มีนโยบายนำร่องเฟสแรกสร้างย่านสร้างสรรค์ 10 ย่าน ได้แก่ บางลำพู เขตพระนคร, นางเลิ้ง เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย, ตลาดเก่าหัวตะเข้ เขตลาดกระบัง, ตลาดพลู เขตธนบุรี, ตลาดน้ำตลิ่งชันและตลาดน้ำวัดสองคลอง เขตตลิ่งชัน, วัดดุสิตาราม เขตบางกอกน้อย, วังเดิม เขตบางกอกใหญ่, ริมคลองบางมด เขตทุ่งครุ, ริมคลองบางหลวง เขตภาษีเจริญ และตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์
สำหรับในเฟสที่ 2 ได้แก่ ตลาดเก่ามีนบุรี เขตมีนบุรี, วัดพระยาไกร (เจริญกรุง 103) เขตบางคอแหลม, ย่านคลองสาน เขตคลองสาน, ริมคลองพระโขนง เขตสวนหลวง, ริมคลองประเวศบุรีรมย์ เขตประเวศ, คลองลำไทร เขตหนองจอก, ย่านสาทร เขตสาทร, สามง่ามพัฒนา เขตจอมทอง, ย่านเจริญกรุง เขตบางรัก, ถนนสายไม้ เขตบางซื่อ โดยแต่ละย่านมีภาคีเครือข่ายที่มีความเชี่ยวชาญในย่านนั้น ๆ ร่วมสร้างอัตลักษณ์และความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมของย่าน โดย กทม. ดูแลเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมไปถึงการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอย
สำหรับความคืบหน้าการดำเนินการตามนโยบายพัฒนาย่านสร้างสรรค์นั้น กทม. ร่วมกับภาครัฐและเครือข่ายองค์กรภาคเอกชน รวมถึงประชาชนในชุมชนดั้งเดิมที่มีอัตลักษณ์โดดเด่นเป็นที่รู้จัก โดยปี 2566 จัดสรรงบประมาณให้สำนักงานเขตเป็นผู้ดำเนินการ จากนั้นฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม ของแต่ละสำนักงานเขตทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายในชุมชน โดยภาคประชาชนด้านการท่องเที่ยวและวัฒนธรรมในพื้นที่คัดเลือกพื้นที่ย่านสร้างสรรค์ โดยจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ตามบริบทพื้นที่ อาทิ กิจกรรมท่องเที่ยวแบบ One Day Trip หรือ Half Day Trip การล่องเรือในคลอง งานศิลปะชุมชนการสาธิตงานศิลปหัตถกรรมท้องถิ่น งานวัฒนธรรมท้องถิ่น ฯลฯ เพื่อให้ประชาชน เยาวชน คนพิการ ผู้สูงวัย และคนทุกกลุ่มสามารถมีส่วนร่วมได้ ซึ่งโครงการดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของแต่ละชุมชนให้เติบโตต่อไป
กทม. จับมือ ททท. ส่งเสริมการท่องเที่ยวกรุงเทพฯ
การท่องเที่ยวเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยผลักดันเศรษฐกิจให้กลับคืนมา กทม. ตั้งเป้าหมายอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม โดยร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดตั้งคณะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อผลักดันการดำเนินงานในด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวกรุงเทพฯ โดย นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เคยกล่าวว่า “กทม. ไม่เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยว เป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวก ดูแลเรื่องโครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภค แต่ ททท. จะเข้าใจตลาดและวิธีปฏิบัติมากกว่า ดังนั้น หลายนโยบายของ กทม. สอดคล้องกับนโยบายของ ททท. เช่น การสร้างอัตลักษณ์ของย่าน 50 อัตลักษณ์ เพื่อสร้างคุณค่าทางวัฒนธรรม โดย กทม.ได้เสนอ 12 เทศกาล 12 เดือน (ใน 1 เดือนอาจมีมากกว่า 1 เทศกาลก็ได้) เช่น เทศกาลแข่งเรือยาว เทศกาลดอกไม้ เทศกาลหนังกลางแปลง เทศกาลงานคราฟต์ ฯลฯ ขณะที่ ททท. มีการจัดงานหลายงาน เช่น งานวิ่ง อะเมซิ่งไทยแลนด์ ซึ่งมีส่วนส่งเสริมและสนับสนุน กทม. ได้อย่างสอดคล้องและเป็นรูปธรรม เช่น การผลักดันการท่องเที่ยวในคลองในบรรยากาศเวนิสตะวันออก โดยเลือกคลองที่เหมาะสมแล้วพัฒนาสู่กิจกรรมดังกล่าว เพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวและเสริมสร้างอัตลักษณ์ของกรุงเทพฯ”
นอกจากนี้ กทม. มีแผนพัฒนาตลาดนัดจตุจักรเป็นตลาดนัดระดับโลก รวมไปถึงการขยายการท่องเที่ยวทางน้ำ จากคลองมหานาคไปคลองแสนแสบ และมีนโยบายปรับปรุงทางเดินริมคลอง คุณภาพน้ำ พัฒนาเส้นทางคลองให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวและมีรูปแบบที่ตอบโจทย์นักท่องเที่ยว
ปลุก 9 ย่านพื้นที่เศรษฐกิจกรุงเทพฯ เพิ่มศักยภาพสู่เมืองสร้างสรรค์โลก
กรุงเทพฯ ทุกย่านมีอัตลักษณ์ในตัวเอง โดยเฉพาะชุมชนเก่าที่ซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางความเจริญของเมืองที่ภาครัฐต้องกระตุ้นให้เศรษฐกิจหมุนเวียน หล่อเลี้ยงตัวเองได้อย่างยั่งยืนผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 กทม. ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา องค์กรระหว่างประเทศ และภาคีเครือข่ายย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ จัดเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2566 หรือ Bangkok Design Week 2023 (BKKDW2023) โดยนำเสนอย่านสำคัญ 9 ย่าน 9 วัน (4-12 กุมภาพันธ์ 2566) เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และสนับสนุนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ให้เดินหน้าต่อไปได้
ส่งเสริม Street Food และย่านสร้างสรรค์ในกรุงเทพฯ
แนวทางการส่งเสริม Street Food และย่านสร้างสรรค์ในกรุงเทพฯ นั้น กทม. มีแนวทางการพิจารณาจัดสรรพื้นที่จัดตลาดนัดชุมชนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ มีทั้งที่จัดโดย กทม. เอง และ กทม. ร่วมกับเอกชน รวมถึงการจัดกิจกรรมถนนคนเดินบริเวณถนนสายหลัก ถนนสายรอง และในตรอกซอยที่เหมาะสม หรือพื้นที่ที่แต่ละสำนักงานเขตพิจารณา ทั้งนี้ ต้องไม่กระทบต่อการสัญจรของประชาชนและการจราจร
ดึงศักยภาพ Street Food กระตุ้นเศรษฐกิจท่องเที่ยว
นิตยสาร Time Out ได้มีการจัด 33 อันดับถนนที่ดีที่สุดในโลก จากการสัมภาษณ์ผู้คนทั่วโลกกว่า 20,000 คน โดยอ้างอิงจากถนนสายชั้นนำของโลกที่โดดเด่นด้านอาหาร ความสนุกสนาน วัฒนธรรม และชุมชน ซึ่งถนนเยาวราชติดลำดับที่ 8 สะท้อนให้เห็นว่า ถนนในกรุงเทพฯ มีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นย่านค้าขายหรือ Street Food ให้ประชาชนได้ค้าขายให้คนทั่วไปและนักท่องเที่ยวได้จับจ่ายใช้สอย ปัจจุบัน กทม. มีจำนวนจุดผ่อนผันสำหรับหาบเร่แผงลอยทั้งหมด 95 จุด ดำเนินการแล้วเสร็จ 55 จุด กำลังดำเนินการ 31 จุด ขอทบทวน 9 จุด และนอกจุดผ่อนผันทั้งหมด 618 จุด อีกทั้งยังมีการสำรวจนอกจุดผ่อนผัน 50 เขต จำนวนผู้ค้า 13,964 ราย ซึ่ง กทม. อยู่ระหว่างจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยให้ผู้ค้าและผู้ใช้ทางเท้าใช้ประโยชน์ร่วมกันได้
ทั้งนี้ ผู้ค้าต้องมีส่วนในการพัฒนาพื้นที่ร่วมกับ กทม. ให้ประทับใจนักท่องเที่ยวและทำให้ Street Food ของกรุงเทพฯ มีความยั่งยืนและอยู่ร่วมกันได้ระหว่างประชาชนที่ใช้ทางเท้ากับผู้ค้าบนทางเท้า นอกจากนี้ ยังมีการสำรวจพื้นที่ 125 จุด เพื่อพัฒนาเป็น
ศูนย์อาหาร (Hawker Center) มีการจัดแบ่งพื้นที่ร่มกันแดดฝนมีจุดคัดแยกขยะและพื้นที่ซักล้าง พร้อมจัดให้มีพื้นที่ส่วนกลางในการจัดกิจกรรม โดยมีพื้นที่นำร่อง Hawker Center 2 จุด ได้แก่ เขตมีนบุรี และสวนลุมพินีประตู 5 ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ
สร้างเศรษฐกิจดิจิทัล ช่วยผู้ประกอบการก้าวผ่านช่วงวิกฤต
นโยบายเศรษฐกิจดีของ กทม. ขับเคลื่อนผ่าน Digital Experience Economy เพื่อช่วยผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบให้สามารถกลับมามียอดขายและเติบโตหลังวิกฤตโควิด 19 โดย กทม. ช่วยสนับสนุนให้เกิดการสร้างเศรษฐกิจและการค้าผ่านการสร้างประสบการณ์ดิจิทัลให้กับลูกค้า เช่น การเพิ่มยอดขายด้วยการสอนเวิร์กช็อปออนไลน์ การผลิตดิจิทัลคอนเทนต์ ช่วยโปรโมตกิจกรรมผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น การโฆษณาออนไลน์ ในรูปแบบ Soft Power อาทิ ละครซีรีส์ ภาพยนตร์ ดนตรี โดยการสอนนี้จะเป็นการสร้าง Digital Experience Economy ให้กับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เป็นต้น โดย กทม. ช่วยเหลือผู้ประกอบการตั้งแต่การออกแบบกิจกรรมไปจนถึงการประสานงานกับเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการพัฒนาเนื้อหาออนไลน์ และการจัดส่งสินค้า
พร้อมร่วมมือเอกชนผลักดันอุตสาหกรรมไมซ์
ข่าวดีสำหรับประเทศไทยอีกครั้ง คือ “กรุงเทพฯ” ได้รับรางวัลจาก Global Destination Sustainability Index (GDSIndex) ในหมวด Most Improved Award 2022 ในฐานะเมืองที่มีคะแนนปรับปรุงการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอุตสาหกรรมไมซ์และท่องเที่ยว เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากปีก่อนหน้ามากที่สุด (73.66%) โดยประกาศรางวัลดังกล่าวในงาน ICCA Annual Congress 2022 ซึ่งเป็นงานประชุมประจำปีของสมาคมอุตสาหกรรมการประชุมนานาชาติหรือ International Congress and Convention Association ณ เมืองคราโดว ประเทศโปแลนด์
ดังนั้น การพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ (MICE : Meetings, Incentives Travel, Conventions, Exhibitions) อันเป็นบทบาทสำคัญของภาคเอกชน เพราะเป็นเจ้าของศูนย์ประชุม รวมถึงโรงแรมต่าง ๆ ซึ่ง กทม. พร้อมร่วมมือกับภาคเอกชนอย่างเข้มแข็ง โดยหน้าที่หลักของ กทม. คือการพัฒนาโครงสร้างโดยรอบให้ปลอดภัย อาทิ สวนสาธารณะ การเดินทาง ถนน รวมทั้งพัฒนาสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น เพื่อส่งเสริมให้อุตสาหกรรมไมซ์จัดในกรุงเทพฯ มากขึ้น ส่วนภาคเอกชนดำเนินการด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น สถานที่ประชุม โรงแรม ความร่วมมือกันจากทุกภาคส่วนได้นำไปสู่ความพร้อมสำหรับอุตสาหกรรมไมซ์ รวมถึงงานประชุมระดับโลกอื่น ๆ ที่เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจกรุงเทพฯ
“จะเห็นได้ว่า กทม. มีทั้งงานอีเวนต์ที่กระตุ้นเศรษฐกิจและงานด้านโครงสร้างพื้นฐาน เป็นงานที่ต้องพัฒนาคู่ขนานกัน โดยสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว (สวท.) จะเป็นหน่วยงานสำคัญในการสร้าง Soft Power ให้เข้มแข็งขึ้นรวมถึงสร้างเศรษฐกิจเมืองให้ยั่งยืนได้” นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวไว้ในกิจกรรมผู้ว่าฯ สัญจร สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว
เดินหน้าต่อเนื่อง 12 เทศกาลตลอดปี
มกราคม – เทศกาลดนตรีในสวน
กุมภาพันธ์ – เทศกาลออกแบบและงานคราฟต์ ( 9 ย่าน 12 เขต)
มีนาคม – เทศกาลการอ่านและการเรียนรู้
เมษายน – เทศกาลไทยไทย
พฤษภาคม – เทศกาลอาหาร
มิถุนายน – เทศกาล Pride Month
กรกฎาคม – เทศกาลเด็กและเยาวชน
สิงหาคม – เทศกาลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
กันยายน – เทศกาล E-Sport
ตุลาคม – เทศกาลภาพยนตร์กรุงเทพกลางแปลง
พฤศจิกายน – เทศกาลศิลปะสร้างสรรค์
ธันวาคม – เทศกาลแสงสี
หมายเหตุ : แผนการจัดกิจกรรมเทศกาลอาจมีเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม
________________________________________
เรื่องโดย: กองบรรณาธิการ Bangkok News (กทม.สาร)
ที่มา: Bangkok News (กทม.สาร) ฉบับ 285
คลิกอ่านฉบับเต็มของ Bangkok News (กทม.สาร) ฉบับ 285 ได้ ที่นี่