TOP

กทม. สร้างระบบสัญจรเพื่อผู้พิการ เพื่อกรุงเทพฯ น่าอยู่สำหรับทุกคน

กรุงเทพมหานคร (กทม.) บูรณาการสวัสดิการด้านต่าง ๆ เพื่อคนพิการ ทั้งส่งเสริมการศึกษาตามกฎหมาย ส่งเสริมอาชีพเพื่อสร้างรายได้ พร้อมกับยกระดับการเดินทางให้สะดวกกับคนพิการ โดยเฉพาะผู้ใช้วีลแชร์ ด้วยการปรับปรุงเส้นทางสัญจรให้ปลอดภัย ไม่เสี่ยงอันตราย รวมทั้งมีค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม เพื่อให้ใช้ชีวิตได้เท่าเทียมกับคนปกติ สร้างเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน

ระบบสัญจรเพื่อผู้พิการ ขับเคลื่อนเมืองเพื่อทุกคน ตามนโยบายโครงสร้างดีและเดินทางดี จำเป็นต้องมีต้นแบบที่ดีเป็นรูปธรรม เช่น จัดหารถเพื่อรับส่งคนพิการและผู้สูงอายุที่ไม่สามารถเดินทางได้สะดวก ปรับทางเท้าให้ผู้ใช้วีลแชร์สามารถใช้งานได้ และจัดทำทางม้าลายสำหรับคนพิการทางสายตา เป็นต้น

 

สัญจรสะดวกเพื่อทุกคน

กทม. ได้ปรับปรุงทางสัญจรให้เหมาะกับการใช้งานของทุกคน ทางเท้าโล่ง สะอาด เป็นระเบียบ ตามแบบมาตรฐานสำหรับทางเท้าใหม่ โดยลดระดับคันหินราวตื้นให้สูง 10 เมตร ปรับระดับทางเข้าออกอาคารให้สัญจรได้ต่อเนื่องไม่สะดุด และเพิ่มความแข็งแรงทางเท้ามากขึ้น รวมถึงปรับ Slope ทางเชื่อม ทางลาดตามมาตรฐานสากล มีการอำนวยความสะดวกให้คนตาบอดเดินทางผ่านแผ่นเตือนและแผ่นนำทาง ปรับปรุงฝาท่อระบายน้ำให้เสมอผิวทางเท้า เพื่อให้เดินสะดวกขึ้น โดยมีต้นแบบการปรับปรุงภูมิทัศน์ทางเท้าที่ถนนพระรามที่ 1 และเตรียมปรับปรุงภูมิทัศน์ย่านสุขุมวิท และอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิต่อไป 

ในขณะที่การก่อสร้างทางเดินลอยฟ้าย่านบางกะปิ บริเวณคลองแสนแสบ เป็นจุดเชื่อมต่อท่าเรือใกล้เคียง อย่าง ท่าเรือบางกะปิ และท่าเรือวัดศรีบุญเรือง เพื่อความสะดวกในการเดินเท้า พัฒนาพื้นที่เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสายสีส้ม สู่ท่าเรือคลองแสนแสบ ซึ่งผู้ใช้วีลแชร์ใช้งานได้ ส่วนอุโมงค์ทางลอดถนนมหาราช และถนนหน้าพระลาน ที่เปิดใช้งานบางส่วน มีลิฟต์สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุด้วย

 

การออกแบบเมืองตามหลักอารยสถาปัตย์

นอกจากนี้ กทม. กำหนดแผน Universal Design รอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ครอบคลุมพื้นที่เขตพญาไทและราชเทวี เนื่องจากเป็นบริเวณที่มีคนพิการสัญจรจำนวนมาก มีโรงพยาบาลขนาดใหญ่หลายแห่ง เพื่อขยายการเข้าถึงสิทธิและอำนวยความสะดวกแก่คนพิการในกรุงเทพฯ จึงมีแผนสร้างทางเดินลอยฟ้าเชื่อมต่อโรงพยาบาลรอบอนุสาวรีย์ชัยฯ พร้อมติดตั้งสิ่งอำนวยความสะดวกและกำจัดสิ่งกีดขวางสำหรับคนพิการตลอดทาง เพื่อให้การเดินทางไปโรงพยาบาล สะดวกรวดเร็ว และปลอดภัย คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2567

 

BANGKOK For ALL เพื่อคนพิการ

กทม. ต้องการสร้างชุมชนคนพิการในรูปแบบแอปพลิเคชัน เพื่อรวบรวมข้อมูลและความต้องการของคนพิการกลุ่มต่าง ๆ ทำให้การสนับสนุนงบประมาณหรือความช่วยเหลือจาก กทม.ทำได้ตรงจุดมากขึ้น คนพิการเข้าถึงสิทธิตามกฎหมาย รวมทั้งการจำแนกคนพิการด้านต่าง ๆ เช่น สถานภาพ ความพิการ ที่อยู่อาศัย นอกจากนี้ กทม. ได้เชื่อมโยงข้อมูลกับผู้ประกอบการที่ต้องการสนับสนุนคนพิการ

หากคนพิการลงทะเบียนกับ แอปฯ BANGKOK For ALL จะได้รับสิทธิพิเศษจากผู้ประกอบการสินค้า และบริการที่ กทม. ตกลงทำความร่วมมือไว้ มอบสิทธิ์ให้คนพิการหลากหลายมากขึ้น ลดค่าใช้จ่ายของคนพิการและครอบครัว ปัจจุบันมีคนพิการในระบบเกือบ 100,000 คน และมีคนพิการแฝงเกือบ 1,000,000 คน การเปิดให้ลงทะเบียนจะทำให้ทราบจำนวนของการช่วยเหลือได้มากขึ้น เพื่อไม่ให้คนพิการคนใดเสียสิทธิไป

 

กทม. บรรจุข้าราชการและจ้างงานคนพิการ

กทม. เป็นผู้นำในการจ้างงานคนพิการ มุ่งเน้นการฝึกอาชีพสู่การมีงานทำและการประกอบอาชีพที่ยั่งยืน เช่น จ้างงานคนพิการใน 50 สำนักงานเขต และในหน่วยงานของ กทม. โดยมีการเปิดรับสมัครเข้าทำงานเพิ่มถึง 600 อัตรา ทั้งตำแหน่งข้าราชการและลูกจ้าง แต่พบว่า ยังมีคนพิการสมัครเข้าทำงานไม่เต็มจำนวน เนื่องจากติดปัญหาด่วนการเดินทางซึ่งมีข้อจำกัด จึงพยายามปรับเปลี่ยนรูปแบบงานให้เหมาะสมกับคนพิการมากขึ้น โดยลดการเดินทาง สามารถทำงานที่บ้านได้ จ้างอาสาสมัครเทคโนโลยี ส่งเสริมการแสดงดนตรีหรือศิลปะในพื้นที่สาธารณะ และจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมทักษะทางอาชีพสำหรับคนพิการ

กทม. จะเปลี่ยนการดูแลคนพิการรูปแบบใหม่ โดยสนับสนุนแบบสงเคราะห์น้อยลง และสนับสนุนให้คนพิการอยู่ได้ด้วยตัวเองมากขึ้น ผ่านเครือข่ายคนพิการ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการสนับสนุนซึ่งกันและกัน ทั้งนี้ อยากให้คนพิการลงทะเบียนในระบบมากขึ้น เพื่อสิทธิของคนพิการเอง

________________________________________

 

เรื่องโดย: กองบรรณาธิการ Bangkok News (กทม.สาร) 

ที่มา: Bangkok News (กทม.สาร) ฉบับ 286

คลิกอ่านฉบับเต็มของ Bangkok News (กทม.สาร) ฉบับ 286 ได้ ที่นี่

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด