TOP

Bangkok City for All #กรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน กทม. ขับเคลื่อนทุกนโยบาย เพื่อชีวิตดี ๆ ของคนเมืองหลวง

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แสดงจุดยืนในการออกแบบเมืองโดยไม่ทิ้งทุกคน รวมถึงคนพิการในสังคมของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ว่า “คนพิการอาจมีข้อจำกัดทางด้านร่างกายแต่ศักยภาพไม่ได้แตกต่างจากคนทั่วไป ซึ่งพวกเขาต้องการใช้ชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีและเท่าเทียมกับคนอื่น จึงเชื่อมั่นว่า จะทำให้ทุกคนที่อยู่ในเมืองนี้มีความสุข พร้อมย้ำถึงการทำให้คนพิการสามารถใช้ชีวิตอยู่ในเมืองได้โดยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น กรุงเทพฯ จะต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่ทุกคนเข้าถึงได้ทั้งเรื่องการเดินทาง การใช้ชีวิต การจ้างงาน สุขภาพ และการส่งเสริมการศึกษา” การจะให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน การออกแบบเมืองต้องเอื้อต่อการใช้ชีวิตสำหรับคนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มคนพิการและกลุ่มเปราะบาง ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนและเท่าเทียมกัน

 

ขับเคลื่อนระบบบริการสาธารณสุข นำร่อง 3 กลุ่มประชากร

การเข้าถึงระบบบริการสาธารณสุข เป็นหนึ่งความเหลื่อมล้ำในกรุงเทพฯ ที่ต้องได้รับการแก้ไขโดยด่วน จากนโยบายของ กทม. ที่มุ่งขับเคลื่อนในระดับชุมชน เน้นไปที่ บริการปฐมภูมิ ทั้งการส่งเสริมป้องกันและการดูแลรักษา หน้าที่ของ กทม. จะต้องกระจายระบบสาธารณสุขลงไปสู่ชุมชนให้มากที่สุด ด้วยการใช้กลไกศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) ทั้ง 69 แห่ง ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการพื้นที่ในการดูแลสุขภาพประชาชน บริหารทรัพยากรในพื้นที่โดยบูรณาการการทำงานกับหน่วยงาน และภาคีเครือข่ายต่าง ๆ เช่น อาสาสมัครสาธารณสุข กทม. (อสส.) คลินิกชุมชนอบอุ่น ฯลฯ รวมถึงเชื่อมต่อไปยังโรงพยาบาลแม่ข่ายเพื่อให้เกิดภาพรวมของระบบสุขภาพที่สมบูรณ์

ปัจจุบัน กทม. ร่วมมือกับสองภาคีเครือข่ายหลักคือ คณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขตพื้นที่ (อปสข.) เขต 13 กทม. และ สปสช. ขับเคลื่อนระบบบริการสาธารณสุข ในกรุงเทพฯ ผลักดันให้ ศบส. เพิ่มศักยภาพเป็นผู้จัดการระบบสุขภาพในเขตพื้นที่ ดูแลประชาชน โดยเตรียมจัดบริการนำร่องดูแล 3 กลุ่มประชากร ได้แก่ เด็กมีปัญหาทางสายตา ผู้สูงอายุ และประชากรแฝง เด็กนักเรียนที่มีปัญหาทางสายตา จะได้รับแว่นตาครบทุกโรงเรียน เป้าหมาย 20,000 คน สำหรับการดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง วางเป้าหมาย 20,000 คน และประชากรแฝง (ประชาชนต่างจังหวัดที่มาทำงานและอาศัยในกรุงเทพฯ) จำนวนประมาณ 7 แสนคน ให้มีสถานพยาบาลประจำในกรุงเทพฯ และใกล้ที่พักอาศัยในปัจจุบัน เพื่อได้รับการดูแลในระบบสุขภาพ

 

ชมรมผู้สูงอายุสร้างสุขภาพกาย ส่งเสริมสุขภาพใจ

เพราะกรุงเทพฯ เข้าสู่การเป็นเมืองผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แล้ว โดยมีผู้สูงอายุที่อายุเกินกว่า 60 ปี มากกว่า 20% และในเขตกรุงเทพฯ ชั้นใน อาทิ เขตสัมพันธวงศ์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย มีจำนวนผู้สูงอายุสูงกว่า 30% ดังนั้น กทม. จึงมีนโยบายผลักดันให้มีชมรมผู้สูงอายุ ในทุกเขต เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุให้มีชีวิตปกติ มีสังคม มีกิจกรรมที่ได้มาเจอกันมีการแบ่งปันประสบการณ์ซึ่งกันและกัน วันนี้ กทม. มีเป้าหมายเน้นการจัดกิจกรรมและการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุผ่าน “ชมรมผู้สูงอายุ” โดยสำนักอนามัยและสำนักงานเขต 50 เขต ช่วยส่งเสริมและผลักดันการจัดกิจกรรม และสนับสนุนชมรมผู้สูงอายุ รวมทั้งสามารถใช้งบประมาณจากกองทุนสุขภาพเขตได้ด้วย เพื่อให้การทำงานคล่องตัวขึ้น อีกทั้ง กทม. อยู่ระหว่างหารือกับภาคีเครือข่ายอย่าง สปสช. ในการปรับปรุงระเบียบ กฎเกณฑ์ และวิธีการในการดำเนินงานให้สะดวกขึ้น

 

พัฒนาคลินิกสุขภาพเพศหลากหลาย

(Pilot LGBTQ+ Clinic)

เพราะเรื่องสุขภาพเป็นเรื่องของทุกคน ที่ต้องการการเอาใจใส่ดูแลด้วยความเข้าใจ และต้องเข้าถึงง่าย เป็นมิตร ได้รับข้อมูลคำแนะนำและบริการที่เฉพาะทางแตกต่างกันไป โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศหรือ LGBTQ+ กทม. จึงมีนโยบายนำร่องพัฒนาคลินิกสุขภาพเพศหลากหลาย บริการให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพ ตรวจรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ตรวจระดับฮอร์โมนเพศหญิงและเพศชาย ตรวจการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี ตรวจค่าการทำงานของไต ตรวจสุขภาพช่องคลอดด้วย Pap Smear และบริการยา PrEP และ PEP ในกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ สำหรับคลินิกสุขภาพเพศหลากหลายของ กทม. มี 5 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลกลาง, โรงพยาบาลตากสิน, โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์, โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ และโรงพยาบาลสิรินธร โดยจะเปิดให้ครบทั้ง 11 โรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร ส่วนศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. มีแผนจะเปิดให้บริการ 16 แห่ง ตอนนี้เปิดไปแล้ว 6 แห่ง ได้แก่ ศูนย์บริการสาธารณสุข 3 บางซื่อ, ศูนย์บริการสาธารณสุข 21, วัดธาตุทอง ศูนย์บริการสาธารณสุข 25 ห้วยขวาง ศูนย์บริการสาธารณสุข 28 กรุงธนบุรี ศูนย์บริการสาธารณสุข 43 มีนบุรี และศูนย์บริการสาธารณสุข 48 นาควัชระอุทิศ

 

ผลักดัน 5 นโยบาย

เพื่อคนพิการในกรุงเทพฯ มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น

คณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายด้านคนพิการของ กทม. เดินหน้าทำงานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้แก่ ด้านสุขภาพดี เรียนดี เศรษฐกิจดี เดินทางดี และบริหารจัดการดี “สุขภาพดี” ดำเนินการพัฒนาระบบริการสุขภาวะให้คนพิการ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ มีความรอบรู้ด้านสุขภาพและเข้าถึงบริการสาธารณสุข สำหรับ “เรียนดี” มีนโยบายคือ เรียนร่วมกับเรียนรวมโดย “เรียนร่วม” คือนำเด็กพิการไปรวมกันไว้ในโรงเรียนเดียวกับเด็กปกติ แต่ “เรียนรวม” คือนำเด็กพิการไปเรียนในห้องเรียนเดียวกับเด็กปกติ สำหรับครูผู้ดูแลนักเรียนพิการ กทม. เร่งให้ครูทุกคนในโรงเรียนร่วมของ กทม. เป็นครูการศึกษาพิเศษด้วย และสองต้องมีพี่เลี้ยงคนพิการ โดย กทม. อยู่ระหว่างคำนวณอัตราส่วนที่เหมาะสมระหว่างพี่เลี้ยงกับเด็กนักเรียนพิการ รวมถึงการจ้างเป็นลูกจ้างของ กทม. อีกทั้งกำลังดำเนินการจัดอบรมครูการศึกษาพิเศษที่จะทำให้ได้ครูการศึกษาพิเศษเพิ่มขึ้น สำหรับนักเรียนในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ส่วน “เศรษฐกิจดี” เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้มีการจ้างงานคนพิการในองค์กร 1% ของบุคลากร สำหรับหน่วยงานของ กทม. 1% คือ 600 กว่าคน ตอนนี้ กทม. มีการจ้างงานคนพิการแล้วกว่า 300 คน โดยแก้ปัญหาคนพิการเดินทางไปทำงานไม่สะดวก โดยให้คนพิการได้ทำงานบางประเภทแบบ
Work from Home

นอกจากนี้ ยังมี ระบบ Live Chat Agent เพื่อให้คนพิการได้ทำงานในรูปแบบคล้าย Customer Service ซึ่ง กทม. มีทั้งหมด 17 สำนักและ 50 สำนักงานเขต ซึ่งแต่ละหน่วยงานมีช่องทางการสื่อสารของตนเอง สำหรับ Live Chat Agent จะนำทุกช่องทางมารวมกันในระบบเดียว หากมีการฝึกอบรมคนพิการให้ตอบคำถามประชาชนผ่านระบบแชต ก็จะสามารถจ้างงานคนพิการให้มีงานทำได้จำนวนมาก อีกทั้งต่อยอดทักษะพิเศษของคนพิการบางคนไปสู่การเขียน Code หรือนักพัฒนาซอฟต์แวร์ได้ “เดินทางดี” กทม. มีนโยบายปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกในด้านการเดินทางของคนพิการ ให้เป็น Universal Design โดยเริ่มพื้นที่นำร่องบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เนื่องจากเป็นบริเวณที่มีคนพิการเดินทางไปโรงพยาบาลจำนวนมาก โดยกำหนดให้แล้วเสร็จภายในปี 2567

 

พัฒนาระบบ LINE Official BANGKOK For ALL

เชื่อมต่อฐานข้อมูลและสวัสดิการเพื่อคนพิการ

กทม. เดินหน้าพัฒนาระบบข้อมูลคนพิการ เพื่อให้เข้าถึงสิทธิและพัฒนาคุณภาพชีวิต และสร้างชุมชนคนพิการ สำหรับ LINE OA ดังกล่าว จะมีการเชื่อมต่อ แอปพลิเคชัน ‘หมอ กทม.’ การจองคิวโรงพยาบาล การสมัครงานกับ กทม. โดยได้ตั้งเป้าให้มีผู้ใช้บริการ 4,000 คน ภายในปี 2566 นี้

 

 

ส่งมอบ LINE Chatbot เมืองใจดี แก่ กทม.

เนื่องจากประเทศไทยยังขาดเครื่องมือและฐานข้อมูลที่ช่วยพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ เช่น รถโดยสารสาธารณะ การออกแบบทางเท้า รวมถึงการพัฒนาระบบและสัญญาณจราจร ที่ยังไม่เอื้อต่อการใช้ชีวิตของคนกลุ่มนี้ จึงเป็นที่มาของการพัฒนานวัตกรรม LINE Chatbot เมืองใจดี ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดทำขึ้นเพื่อเป็นแหล่งจัดเก็บข้อมูล ค้นหาสิ่งอำนวยความสะดวกและนำมาวิเคราะห์เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้ดีขึ้น และได้ส่งมอบ “LINE Chatbot เมืองใจดี” แก่ กทม. เพื่อนำไปต่อยอดใช้งานเพื่อผู้พิการและผู้สูงอายุ

 

LINE Chatbot จะช่วยออกแบบและทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน เพราะในแอปพลิเคชันจะจัดเก็บข้อมูลจากผู้ใช้งานตามจุดต่าง ๆ ปัจจุบันมีฐานข้อมูล 4,997 จุด โดยเตรียมขยายการเชื่อมต่อไปยังระบบขนส่งสาธารณะ เป็น ส่วนหนึ่งในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการอย่างยั่งยืน

 

________________________________________

 

เรื่องโดย: กองบรรณาธิการ Bangkok News (กทม.สาร) 

ที่มา: Bangkok News (กทม.สาร) ฉบับ 286

คลิกอ่านฉบับเต็มของ Bangkok News (กทม.สาร) ฉบับ 286 ได้ ที่นี่

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด