กรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่ Smart City เดินทางดีและปลอดภัย
นโยบายกรุงเทพมหานคร (กทม.) พัฒนาเมืองด้านเดินทางดี มุ่งหวังในการเชื่อมต่อเส้นทางการสัญจรด้วยเท้า เพื่อลดปัญหาในกรุงเทพฯ ปรับปรุงทางเดินที่ทรุดโทรม สร้างทางเดินที่ปลอดภัยและเป็นมิตรส่งเสริมสุขภาพ และเศรษฐกิจสองข้างทางให้คึกคักแต่มีระเบียบ โดย นโยบาย “เดินทางดี” ของ กทม. เน้นการใช้ ระบบการจัดการจราจรอัจฉริยะ (ITMS) เพื่อบรรเทาปัญหาจราจรทั้งโครงข่าย พัฒนารถสาธารณะทั้งระบบ เพิ่มรถสายหลักและสายรอง (Trunk and Feeder) และสร้างจุดเชื่อมต่อการเดินทาง (Hub) พัฒนาจุดจอดจักรยานที่ปลอดภัยและมีคุณภาพ ในจุดเชื่อมต่อการเดินทางรวมไปถึงกรุงเทพฯ เดินได้เดินดี ด้วยการพัฒนาทางเดินเท้าคุณภาพ ระยะทาง 1,000 กิโลเมตร
ภาพรวมเดินทางดีของคนกรุงเทพฯ ในปี 2566
ปัจจุบัน กทม. ดำเนินการปรับปรุงทางเท้าไปแล้ว 222.47 กิโลเมตร ประเภทคอนกรีตเสริมเหล็กตามมาตรฐานทางเท้าใหม่ และได้ยุบ รวม ย้าย ผู้ค้านอกจุดผ่อนผัน คืนทางเท้าให้ประชาชนจำนวน 140 จุด พร้อมกับติดตั้งจุดจอดจักรยาน จำนวน 100 จุด รวม 900 คัน คืนผิวจราจรจากโครงการก่อสร้างไปแล้ว 8 แห่ง และได้ติดตั้งกล้อง CCTV กวดขันวินัยจราจรรวม 30 จุด จับผู้กระทำผิดแล้ว 400 กว่าราย พร้อมจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจช่วยอำนวยการจราจร 890 จุดทุกวัน และพัฒนา BMA Feeder นำร่อง 4 เส้นทาง ในส่วนของท่อระบายน้ำ กทม. ลอกท่อไปแล้ว 7,115.40 กิโลเมตร และลอกคลองเปิดทางน้ำไหลรวมทั้งสิ้น 2,948 กิโลเมตร นอกจากนี้ ยังได้ปรับปรุงทางเดินเลียบคลองแสนแสบเพื่อให้ทุกคนเข้าถึงได้ตามหลัก Universal Design
ทางเท้ามาตรฐานใหม่
ก้าวแรกสู่…เมืองเดินได้ เดินดี
กทม. มุ่งมั่นพัฒนาทางเท้ามาตรฐานใหม่ ส่งเสริมการเดินทางให้ดียิ่งขึ้น เป็นมิตรกับทุกคน โดยการปรับลดระดับคันหินลง ลดการเปลี่ยนแปลงระดับทางเท้าให้ประชาชนสัญจรได้อย่างต่อเนื่องในทางราบ พร้อมกับลดความยาวทางลาดของทางเท้า เพื่อลดผลกระทบของประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ ปรับรูปแบบทางลาดของทางเท้าให้เป็นไปตามหลัก Universal Design ให้มีความเหมาะสมต่อการใช้งานของคนพิการ ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางเท้าให้เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ลดการทรุดตัว และเพิ่มความแข็งแรงของทางเท้า เปลี่ยนรูปแบบกระเบื้องเป็นกระเบื้องซีเมนต์ปูพื้น หรือแอสฟัลต์คอนกรีตพิมพ์ลายบดอัดแน่น เพื่อเพิ่มความสวยงามและความคงทน
ปรับรูปแบบช่องรับน้ำเป็นแนวนอนในการระบายน้ำในงาน BMA EXPO 2023 (นิทรรศการกรุงเทพมหานคร 2566) กทม. ได้จำลองทางเท้าแห่งอนาคตของคนกรุงเทพฯ ให้เห็นเป็นรูปธรรมด้วย ว่าเป็นทางเท้าที่มีทางเชื่อมอยู่ในระนาบเดียวกัน สะดวกปลอดภัยสำหรับผู้ใช้วีลแชร์ และจะมีการสร้างระบบล็อกจักรยานให้อยู่ในป้ายสำหรับจอด
คืบหน้า BKK Trail เส้นทางวิ่งดี
นอกจากนี้ แผนพัฒนาทางเท้ามาตรฐานใหม่ยังสนับสนุนในการออกกำลังกายสไตล์คนกรุง นั่นคือ “เดินก็ดี วิ่งก็ได้” โดยพัฒนา Bangkok Trail (BKK Trail) เส้นทางการวิ่ง เส้นทางออกกำลังกาย และเส้นทางท่องเที่ยวใหม่ ๆ ในพื้นที่ เพื่อความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน ก่อนหน้านี้ โครงการ BKK Trail นำร่องใน 4 เส้นทาง และสำรวจเสร็จสิ้นแล้ว 2 เส้นทาง สู่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้รองรับหลาย ๆ กิจกรรม เพื่อให้เมืองตอบโจทย์กับคนทุกกลุ่ม รวมถึงพัฒนาการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับย่านสำหรับ 2 เส้นทาง ที่ถูกพัฒนาเพื่อการวิ่งเทรลในกรุงเทพฯ ความยาวเส้นทางละประมาณ 10 กิโลเมตร ได้แก่
เส้นทางที่ 1 อยู่ในพื้นที่ Old Town (ย่านราชดำเนิน เจริญกรงุ ผดุงกรุงเกษม) ได้แก่ สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำ โพง), คลองผดุงกรุงเกษม, ยศเส, โบ๊เบ๊-มหานาค, องค์การสหประชาชาติ (United Nations), เวทีมวยราชดำเนิน, ป้อมมหากาฬ, ประตูผี, เสาชิงช้า, อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย, หอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร, สนามหลวง, ศาลหลักเมือง, วัดพระแก้ว, ศาลาเฉลิมกรุง, สามยอด, วัดมังกรกมลาวาส และเยาวราช
เส้นทางที่ 2 Downtown (ย่านสยาม บรรทัดทอง บางรัก สีลม สาทร ราชประสงค์) ได้แก่ สยามสแควร์, หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร, สนามกีฬาแห่งชาติ, อุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ศาลแรงงาน, โรงเรียนสตรีมหาพฤฒาราม, อาคารไปรษณีย์กลาง, โรงเรียนอัสสัมชัญ, ตลาดบางรัก, โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน, อาคารมหานคร, ถนนพัฒน์พงศ์, สวนลุมพินี, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์, ราชกรีฑาสโมสร, โรงพยาบาลตำรวจ และเซ็นทรัลเวิลด์ โดยในอนาคตจะพัฒนากระจายให้ครบทั้ง 50 เขตต่อไป
สร้างย่านจักรยานเดินทางให้ทั่วด้วยการปั่น
กทม. ได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อสนับสนุนการเดินทางที่ไม่ใช้เครื่องยนต์ในเขตเมือง โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาทางจักรยานในพื้นที่ถนนสายใหม่ ส่งเสริมการใช้จักรยานในชุมชน เพื่อการเดินทางระยะสั้น และเดินทางไปยังจุดเชื่อมต่อขนส่งมวลชน พร้อมสร้างมาตรฐานและมาตรการคุ้มครองความปลอดภัยให้ผู้ใช้จักรยานในเขตเมือง โดยมีการปรับปรุงเส้นทางจักรยานให้สอดรับกับความต้องการของผู้ใช้จักรยาน และสอดคล้องกับการท่องเที่ยวย่านต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ
เพิ่มประสิทธิภาพการเดินรถ BRT
เชื่อมต่อการเดินทางแบบไร้รอยต่อด้วย BMA Feeder
แผนการปรับปรุงการเดิน รถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ (Bus Rapid Transit : BRT) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเชื่อมต่อการเดินทางนั้น กทม. กำลังพิจารณาทบทวนแนวทางการเดินรถ BRT ใหม่ โดยยังคงให้บริการในรูปแบบเดิมไปก่อนอีก 1 ปี และจะเปลี่ยนมาใช้รถพลังงานไฟฟ้า (EV) ที่มีชานพักต่ำตามมาตรฐานการเดินรถสากล ร่วมกับการใช้เทคโนโลยีใหม่มาบริหารจัดการ เพื่อลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการแก่ผู้โดยสาร ทำให้ทราบเวลาขึ้น–ลงรถได้ และหากมีช่วงเวลาใดที่ผู้โดยสารหนาแน่น ระบบจะเพิ่มการปล่อยรถออกมาให้มากขึ้น รวมถึงเพิ่มจุดจอดรถรับ-ส่ง อีก 2 จุด
ส่วนระบบขนส่งมวลชนของ กทม. ยังมี รถ BMA Feeder หรือรถโดยสารให้บริการประชาชนอีกช่องทางหนึ่ง โดยเส้นทางแรกเน้นวิ่งตามแนวรถไฟฟ้าบีทีเอส เริ่มต้นที่สถานีสนามเป้า ไปสิ้นสุดที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง มีผู้โดยสารเฉลี่ยวันละ 500 คน เส้นทางที่สองวิ่งจากเคหะร่มเกล้า ไปแอร์พอร์ตเรลลิงก์ เขตลาดกระบัง มีผู้โดยสารประมาณพันคนต่อวัน ซึ่งประชาชนต้องการให้เพิ่มเที่ยวรถ ทั้งนี้ ได้ปรับเปลี่ยนการให้บริการเพิ่มเติม โดยนำรถไปบริการที่ตลาดน้ำตลิ่งชันในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งมีประชาชนใช้บริการเป็นจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม รถ BMA Feeder ยังให้บริการฟรีทุกเส้นทาง และในอนาคต กทม. จะเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาเดินรถและเก็บค่าโดยสารในราคาถูก ซึ่งจะทำให้ขยายเส้นทางการให้บริการได้มากขึ้น สำหรับโครงการพัฒนาระบบการเดินเรือในคลองผดุงกรุงเกษมระยะที่ 2 ซึ่งเปิดให้บริการอีกครั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2566 ครอบคลุมพื้นที่ 4 เขต ได้แก่ เขตพระนคร เขตดุสิต เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และเขตปทุมวัน รวมระยะทาง 5 กิโลเมตร ตามเส้นทางเดิมจากท่าเรือสถานีรถไฟหัวลำโพง ไปยังท่าเรือ ตลาดเทวราช โดยเส้นทางเดินเรือคลองผดุงกรุงเกษม สามารถเชื่อมต่อระบบขนส่งอื่นได้ 4 จุด ดังนี้
จุดที่ 1 เชื่อมต่อเรือด่วนเจ้าพระยา ที่ท่าเรือตลาดเทวราช
จุดที่ 2 เชื่อมต่อเรือคลองแสนแสบ ที่ท่าเรือกระทรวงพลังงาน
จุดที่ 3 เชื่อมต่อรถไฟฟ้าชานเมือง ที่ท่าเรือ สถานีรถไฟหัวลำโพง
จุดที่ 4 เชื่อมต่อรถไฟฟ้าใต้ดิน (MRT) ที่ท่าเรือสถานีรถไฟหัวลำโพง
เป้าหมายกรุงเทพฯ สู่ Smart City เดินทางดี
กทม. ให้ความสำคัญในการอนุรักษ์ ปรับปรุง ฟื้นฟู และพัฒนาเมือง เพื่อส่งเสริมทั้งด้านความปลอดภัย สุขลักษณะของประชาชน สวัสดิภาพของสังคม รวมถึงส่งเสริมและเผยแพร่ความรู้ให้ประชาชน พร้อมกับสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในการทำงาน นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงการไปสู่เป้าหมาย กรุงเทพฯ Smart City ในงาน BMA EXPO 2023 (นิทรรศการกรุงเทพมหานคร 2566) ไว้ว่า “Smart City หมายถึงการนำข้อมูลและเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของเมือง และการเดินทางดีต้องเริ่มต้นตั้งแต่ออกจากบ้าน ทางเท้าดี มีจักรยานบริการ มี Feeder ที่เชื่อมต่อส่งคนเข้าระบบขนส่งสาธารณะหลัก เป็นการเชื่อมต่อการเดินทางแบบ Seamless ให้รู้สึกเหมือนไร้รอยต่อ นอกจากนี้ ต้องเน้นเรื่องการเดินทางใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น ซึ่งจะช่วยทำให้คุณภาพอากาศดีขึ้นด้วย”
ในส่วนของโครงการจัดระเบียบสายสื่อสาร กทม. ได้ทำความเข้าใจกับประชาชนให้เห็นถึงความแตกต่างในเรื่องการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน กับการบริหารจัดการเรื่องการจัดระเบียบสายสื่อสาร สำหรับการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินนั้น ดำเนินการโดยการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ที่ต้องใช้งบประมาณสูง กำหนดเป้าหมายไว้ 230 กิโลเมตร ภายในปี 2570 ซึ่ง กฟน. จะจัดทำก่อน ระหว่างนั้นจะเป็นการนำสายสื่อสารลงใต้ดินตามไปด้วย โดย กทม. ประสานความร่วมมือกับ กสทช. ในการจัดระเบียบสายสื่อสาร
ด้านโครงการแสงสว่างทั่วกรุงเทพฯ กทม. ทำการเปลี่ยนหลอดไฟฟ้าแสงสว่างใหม่เป็นหลอด LED พร้อมเชื่อมต่อระบบ IoT เป็น Smart Lighting สามารถควบคุมสั่งการเพิ่ม-ลดความสว่างผ่านระบบได้ ตรวจสอบหลอดไฟที่ดับ และในอนาคตกำลังพัฒนา เสาอัจฉริยะ (Smart Pole) ส่งข้อมูลจากระบบเซนเซอร์ต่าง ๆ ได้จากเสานี้ เช่น ค่าฝุ่น PM2.5 เรดาร์ตรวจสอบรถและคนที่ผ่านไปมา รวมไปถึงระดับน้ำท่วมบนถนน กทม. ได้วางแผนจัดทำเสาอัจฉริยะ จำนวน 5,000 เสา ภายในปี 2567
ความปลอดภัยด้วยระบบควบคุมน้ำหนักรถ
ขึ้นสะพาน ระบบไฟจราจรอัจฉริยะ
กทม. กำลังจัดทำระบบควบคุมน้ำหนักรถที่ขึ้นสะพาน สามารถตรวจสอบว่า รถคันไหนบรรทุกน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดให้ไม่เกิน 25 ตัน โดยต่อไปจะติดตั้งให้กระจายทั่วกรุงเทพฯ เพื่อควบคุมไม่ให้รถที่บรรทุกน้ำหนักเกินเข้ามาใช้เส้นทางในกรุงเทพฯ ที่ทำให้เกิดอันตรายและทำความเสียหายต่อโครงสร้างถนนและสะพาน โดย กทม. ได้ประสานกับกรมการขนส่งทางบกและตำรวจ ในการออกใบสั่งและงดการต่อทะเบียนให้กับผู้ที่ฝ่าฝืน
สำหรับด้านการจราจร เดินหน้าจัดทำระบบควบคุมสัญญาณไฟ จากเดิมที่การตั้งเวลาไม่สอดคล้องกับปริมาณรถที่แท้จริง ซึ่งอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลเพื่อปรับอัลกอริทึม (Algorithm) หรือกระบวนการแก้ปัญหาในขั้นตอนต่าง ๆ ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จะช่วยให้การปล่อยสัญญาณไฟสัมพันธ์กับปริมาณรถที่แท้จริง ส่วนไฟจราจรอัจฉริยะตรงจุดทางข้ามเดิม จะมีเวลาบอกนับถอยหลัง แต่ต่อไปจะติดตั้งเซนเซอร์เพิ่ม เช่น กรณีมีวีลแชร์หรือคนข้ามค้างอยู่ ก็จะมีสัญญาณแจ้งเตือนและปรับสัญญาณไฟจราจรให้เหมาะสม เพิ่มความปลอดภัยตรงทางข้ามยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ เพื่อการเดินทางดี คล่องตัวยิ่งขึ้นของคนกรุงเทพฯ กทม. ได้ประสานความร่วมมือกับกรมการขนส่งทางบก ให้แบ่งปันข้อมูลระหว่างผู้ให้บริการสองรายคือ ข้อมูล Via Bus ให้สามารถเชื่อมต่อกับ ระบบ Thai Smile Bus ซึ่งเป็นของเอกชน โดยมีการปรับมาตรฐานการส่งข้อมูลจากตัวรถ จากเดิม 1 นาที ให้ถี่ขึ้นเป็นทุก 15 วินาที เพื่อความแม่นยำ ส่วนป้ายรถโดยสารประจำทางอัจฉริยะที่มีอยู่ในปัจจุบัน มีการแจ้งข้อมูลรถโดยสารประจำทางแบบ Real Time และมี Free WiFi ทั้งนี้ภายในปี 2567 จะเพิ่มป้ายรถโดยสารประจำทางอัจฉริยะอีก 100 ป้าย (จากเดิมมี 250 ป้าย) กระจายทั่วกรุงเทพฯ มากขึ้น และขยายเพิ่มขึ้นต่อไปในอนาคต
อย่างไรก็ตาม การผลักดันให้กรุงเทพฯ เป็น Smart City ยังคงมีปัญหาในการบูรณาการระหว่างหน่วยงาน อาทิ มีกล้องวงจรปิดจำนวนมาก แต่ยังไม่สามารถใช้ประโยชน์ในสถานการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ ได้เท่าที่ควร การจัดเก็บข้อมูลยังกระจัดกระจาย ยากต่อการนำมาวิเคราะห์หรือปรับใช้
กับการวางแผนการทำงาน แต่บุคลากรของ กทม. ทุกภาคส่วนกำลังร่วมมือกันแก้ไขปัญหาอย่างเต็มความสามารถ ในอนาคตอันใกล้นี้ก็จะสามารถผลักดัน และเชื่อมโยงนโยบายกับแผนงานทุกโครงการอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
________________________________________________
เรื่องโดย: กองบรรณาธิการ Bangkok News (กทม.สาร)
ที่มา: Bangkok News (กทม.สาร) ฉบับ 288
คลิกอ่านฉบับเต็มของ Bangkok News (กทม.สาร) ฉบับ 288 ได้ ที่นี่