‘กรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่’ สร้างเมืองสีเขียว สิ่งแวดล้อมดี คนกรุงเทพฯ ปลอดภัยดี
กรุงเทพมหานคร (กทม.) ขับเคลื่อนนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมดี ภายใต้นโยบาย 9 ด้าน 9 ดี 28 ประเด็นพัฒนาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยมีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรมในการทำงาน เพื่อพัฒนากรุงเทพฯ ทั้งเรื่องการเพิ่มพื้นที่สีเขียวที่มีโครงการสำคัญ อาทิ โครงการปลูกต้นไม้ล้านต้น สวน 15 นาที รวมไปถึง การบริหารจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง ผ่านโครงการ ไม่เทรวม และ การเตรียมแผนรับมือ PM2.5 ด้วยการเฝ้าระวังติดตามการลดหรือกำจัดสาเหตุฝุ่นตั้งแต่ต้นตอ เช่น ควันดำจากรถยนต์ การจราจร โรงงาน การเผาในที่โล่ง รวมถึงการป้องกันสุขภาพประชาชน วันนี้ กทม. เร่งเดินหน้าทุกนโยบายเพื่อสร้างเมืองสีเขียวให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน
ดูแลอากาศกรุงเทพฯ
ลุยมาตรการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างเต็มที่
กทม. ทำงานอย่างเต็มที่ในการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน และผลกระทบทางเศรษฐกิจ โดยเดินหน้ามาตรการลดฝุ่น เช่น การลดควันดำด้วยการกำจัดต้นตอฝุ่น ลงพื้นที่ตรวจสถานประกอบการ สถานที่ก่อสร้าง สถานตรวจสภาพรถเอกชน (ตรอ.) ในกรุงเทพฯ หากพบจุดบกพร่องจะสั่งระงับบริการ 7 วัน เพื่อแก้ไข
นอกจากนี้ กทม. มีหนังสือสั่งการถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มความเข้มงวด และดำเนินมาตรการตามแผนการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯ เช่น เข้มงวดตรวจวัดควันดำจากรถทุกประเภท ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามแผนที่กำหนด ประสานสถานีตำรวจท้องที่อำนวยการจราจร และกวดขันห้ามจอดรถบนถนนสายหลัก สายรองตลอดเวลา พร้อมกับขอความร่วมมือทำงานหรือปฏิบัติงานแบบ Work from Home เพื่อให้ใช้รถเท่าที่จำเป็น ไม่ขับ…ช่วยดับเครื่อง ควบคุมสถานประกอบกิจการในพื้นที่ ไม่ให้ปล่อยมลพิษทางอากาศเกินค่ามาตราฐานที่กฎหมายกำหนด ขอความร่วมมือผู้ประกอบการทำ Big Cleaning บริเวณสถานที่ก่อสร้างและแพลนท์ปูน รวมถึงงดจัดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองทุกประเภท เข้มงวดตรวจตราควบคุมไม่ให้มีการเผาขยะในที่โล่ง เพิ่มความถี่ในการล้างและดุดฝุ่นถนน ฉีดล้างต้นไม้ ใบไม้ และทำความสะอาดป้ายรถเมล์อย่างต่อเนื่อง
ในด้านการประชาสัมพันธ์ กทม. รณรงค์ให้ประชาชนบำรุงรักษาเครื่องยนต์ และลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว แจ้งเตือนให้ติดตามสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ผ่านช่องทางแอปพลิเคชันและเว็บไซต์ AirBKK ตลอดจนขอความร่วมมือจากสื่อมวลชนในการเผยแพร่การพยากรณ์สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ด้วย เพื่อแจ้งเตือนให้ประชาชนป้องกันตนเอง รวมถึงให้ความรู้พร้อมแนะนำวิธีดูแลสุขภาพอนามัยจากฝุ่นละออง PM2.5 ออกหน่วยบริการสาธารณสุขและหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ เปิดคลีนิกมลพิษทางอากาศ ณ โรงพยาบาลสังกัด กทม. 8 แห่ง พร้อมกับดำเนินการตามมาตรการลดฝุ่นละออง PM2.5 ในโรงเรียนอย่างเคร่งครัด เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อสุขภาพของนักเรียน
แคมเปญ “รถคันนี้#ลดฝุ่น”
เพราะสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 มีผลกระทบต่อชีวิตประจำวันและสุขภาพของคนกรุงเทพฯ หนึ่งในนโยบายสำคัญ คือการเชิญชวนให้ประชาชนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลดการปล่อย PM2.5 จากรถยนต์ เป็นการร่วมมือกันระหว่าง กทม. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงคมนาคม กระทรวงพลังงาน และภาคีเครือข่ายด้วยการรณรงค์ให้ใช้น้ำมันยูโร 5 ตั้งแต่ต้นปี 2567 โดยจะเห็นผลชัดเจนในระยะยาว รวมไปถึงการหมั่นดูแลบำรุงรักษาเครื่องยนต์ ตรวจสอบสภาพรถยนต์ เปลี่ยนไส้กรอง เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องตามระยะเวลา นอกจากนี้ ยังมีโปรโมชันส่วนลดในการดูแลบำรุงรักษาเครื่องยนต์สูงสุดถึง 55% โดย กทม. ตั้งเป้ารถร่วมแคมเปญ “รถคันนี้#ลดฝุ่น” จำนวน 300,000 คัน เพื่อให้ลดปริมาณฝุ่น PM2.5 ได้ถึง 15%
นอกจากนี้ กทม. ยังจับมือภาคเอกชน ได้แก่ เซ็นทรัลพัฒนา เดอะมอลล์ กรุ๊ป โลตัส และ BTS ต่อยอดแคมเปญ “”รถคันนี้#ลดฝุ่น” ด้วยการนำใบเสร็จการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องและไส้กรอง ไปแสดงเพื่อแลกรับสิทธิ์จอดรถฟรี รับคูปองแลกสินค้า รับของสมนาคุณต่าง ๆ อาทิ กระเป๋า Shopping Bag รวมไปถึงบัตรกำนัลจากบีทีเอส กรุ๊ปฯ สำหรับการใช้จ่ายในระบบรถไฟฟ้า BTS หรือร้านค้าต่าง ๆ ที่สามารถใช้จ่ายผ่านบัตรแรบบิท เป็นต้น
เปิดคลีนิกมลพิษทางอากาศ สร้างห้องเรียนปลอดฝุ่น
ด้านสุขภาพของประชาชน กทม. เปิดคลีนิกมลพิษทางอากาศในโรงพยาบาลสังกัด กทม. 8 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลตากสิน โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ชุตินธโร อุทิศ โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ โรงพยาบาลนคราภิบาล โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ และโรงพยาบาลสิรินธร รวมถึงส่งเสริมให้มีห้องเรียนปลอดฝุ่นในโรงเรียนสังกัด กทม. ปัจจุบันดำเนินการแล้ว 61 โรงเรียน
เร่งพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ
กทม. ให้ความสำคัญกับระบบขนส่งสาธารณะมากกว่าการใช้รถยนต์ส่วนตัว ด้วยการจัดรถประจำทาง (Feeder) เชื่อมโยงในระดับเส้นเลือดฝอย เพื่อขนส่งประชาชนสู่ระบบขนส่งสาธารณะสายหลักที่เป็นเส้นเลือดใหญ่ โดยเฉพาะบริเวณชานเมือง เนื่องจากในปัจจุบันนี้ ประชาชนพักอาศัยย่านชานเมืองมากขึ้น พร้อมกับบุกเบิกเส้นทางใหม่ ๆ ที่ประชาชนอาศัยอยู่หนาแน่น แต่ยังขาดระบบขนส่งสาธารณะด้วยการเข้าไปนำร่องเส้นทางรถประจำทางหรือรถ Feeder ซึ่งหากเส้นทางดังกล่าวได้ผลตอบรับดีมีผู้ใช้บริการมาก ก็จะส่งต่อให้ผู้ประกอบการเอกชนที่สนใจดำเนินการต่อไป รวมถึงการสำรวจถนนที่สามารถจัดสร้าง Bus Lane เพิ่มขึ้น พร้อมไปกับการเพิ่มความถี่และปรับปรุงคุณภาพของรถ BRT (Bus Rapid Transit) ก็จะสามารถขยายเส้นทางไปสู่ถนนสาทรใต้ในอนาคต
สวน 15 นาที เพื่อคนกรุงเทพฯ ทุกเขต
กทม. มีเป้าหมายเพิ่ม “สวน 15 นาที” ปีละอย่างน้อย 30 สวน เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงสวนสาธารณะได้ภายใน 15 นาที หรือจากชุมชนประมาณ 800 เมตร โดยเน้นการเข้าถึงสวนได้ง่าย รวดเร็ว เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน โดยปัจจุบันมีที่ดินเปลี่ยนเป็นสวน 15 นาที ได้ 107 แห่ง เปิดให้บริการแล้ว 50 แห่ง และในปี 2569 กทม. กำหนดเป้าหมายให้มีสวน 15 นาที เพิ่มขึ้น จำนวน 500 แห่ง
ในปีนี้ กทม. ยังวางแผนการดำเนินงาน Park Coaching ภายใต้โครงการอบรมพัฒนาศักยภาพบุคลากรเพื่อการพัฒนาสวน 15 นาที ให้แก่เจ้าหน้าที่ในสังกัดสำนักเขต 50 เขต จำนวน 3 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายโยธา ฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม ฝ่ายรักษาความสะอาด และสวนสาธารณะ เพื่อเพิ่มทักษะให้เจ้าหน้าที่เขตมีความรู้ ความเข้าใจ มีทักษะที่จำเป็นในการพัฒนาสวน 15 นาที อีกทั้ง กทม. มีแนวคิดในการพัฒนาสวน 15 นาที ให้เป็นสวนอัตลักษณ์ประจำเขต อาทิ สวนสุนัข สวนกินได้ สวนที่มีองค์ประกอบจากวัสดุเหลือใช้ เพื่อแสดงอัตลักษณ์ประจำท้องถิ่นอย่างมีคุณค่าและยั่งยืนต่อไป สำหรับนโยบายการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ ยังมีโครงการสำคัญคือ “โครงการปลูกต้นไม้ล้านต้น” ที่มีจำนวนการปลูกต้นไม้ในโครงการนี้ไปแล้วกว่า 8 แสนต้น จากยอดจองปลูกต้นไม้จำนวนกว่า 1.6 ล้านต้น (ข้อมูล: tree.bangkok.go.th ณ วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567)
นโยบาย “ไม่เทรวม” ทำให้ปริมาณขยะปี 2566 ลดลง
สำหรับการจัดเก็บขยะในกรุงเทพฯ หลังจาก กทม. เปิดตัวนโยบาย “ไม่เทรวม” รณรงค์ให้ประชาชนคัดแยกขยะก่อนทิ้ง โดยมีโครงการนำร่องใน 3 เขตแรก คือ เขตปทุมวัน เขตพญาไท และเขตหนองแขม เพื่อจัดการแยกขยะตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ต้นน้ำคือ ประชาชน กลางน้ำคือ กทม. และปลายน้ำคือ การจัดการขยะที่แยกมาอย่างเป็นระบบ ซึ่งได้ผลลัพธ์ที่ดีมาก ทำให้ปริมาณขยะปี 2566 ที่ผ่านมาลดลงจากปี 2565 เฉลี่ย 204 ตัน/วัน ลดค่าใช้จ่ายเป็นเงิน 387,600 บาท/วัน หรือ 74,460 ตัน/ปี คิดเป็นเงิน 141,474,000 บาท/ปี จึงได้สั่งการทั้ง 50 เขต เดินหน้าต่อเนื่อง เก็บขยะแยกประเภททุกเส้นทางเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนในระบบการจัดเก็บขยะแบบแยกประเภทของ กทม.
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ยังได้กำหนดนโยบาย “สิ่งแวดล้อมดี” ในอีก 3 ปีข้างหน้า ซึ่งขับเคลื่อนสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Cabon Neutrality) ต้องปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้น มีสวน 15 นาที รวมแล้ว 500 แห่ง คัดแยกขยะต้นทาง 3,000 ตัน/วัน ระบบติดตามแจ้งเตือนฝุ่นระดับแขวง 1,000 จุด ร่วมกับรัฐบาลออกข้อบังคับ Low Emission Zone ให้รถทุกคันที่เข้ากรุงเทพฯ จ่ายค่าธรรมเนียมมลพิษทางอากาศ
เรื่องโดย: กองบรรณาธิการ Bangkok news
คลิกอ่าน Bangkok News (กทม.สาร) ฉบับ 289