คืบหน้าห้องเรียนปลอดฝุ่น ให้เด็กเล็กก่อนวัยเรียนปลอดภัยวิกฤตฝุ่น PM 2.5
นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กล่าวถึงการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ว่า แบ่งออกเป็น 2 ด้าน คือ การลดฝุ่นและการสู้ฝุ่น โดยการลดฝุ่นต้องลดที่แหล่งกำเนิด ดังที่ กทม. เดินหน้านโยบายเชิงรุกพร้อมขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน สำหรับการสู้ฝุ่นก็ต้องมาดูแลเรื่องของสุขภาพ โดยเฉพาะช่วงค่าฝุ่นสูง ที่ส่งผลด้านสุขภาพต่อกลุ่มเปราะบางที่เป็นเด็ก ๆ ในโรงเรียน จึงเป็นที่มาของการสร้างห้องเรียนปลอดฝุ่น ที่ไม่เพียงให้เด็กตระหนักรู้ถึงที่มา อันตราย และการป้องกันฝุ่น PM 2.5 แต่ได้ปรับปรุงด้านกายภาพของห้องเรียนสำหรับเด็กอนุบาล เป็นห้องปรับอากาศและมีเครื่องฟอกอากาศอีกด้วย ปัจจุบันโรงเรียนสังกัด กทม. มีห้องเรียนปลอดฝุ่นประมาณ 750 ห้อง จากจำนวน 1,700 ห้อง คาดว่าในปี 2567 จะดำเนินการให้ครบทั้งหมด
ทำไมต้องสร้าง “ห้องเรียนปลอดฝุ่น”
ให้เด็กเล็กก่อนวัยเรียน
เนื่องจากเด็กเล็กก่อนวัยเรียน เป็นกลุ่มเปราะบางและเป็นกลุ่มเสี่ยง เพราะเป็นช่วงวัยที่ระบบทางเดินหายใจและระบบภูมิคุ้มกันยังพัฒนาไม่เต็มที่ ทำให้ฝุ่นและสิ่งแปลกปลอมเข้าถึงปอดส่วนลึกได้เร็วและง่ายกว่าผู้ใหญ่ อีกทั้งฝุ่นอยู่ในร่างกายนานกว่าด้วย กทม. จึงต้องเร่งขับเคลื่อนนโยบายพร้อมจับมือภาคีเครือข่ายส่งเสริมให้มี “ห้องเรียนปลอดฝุ่น” ในโรงเรียนสังกัด กทม. ให้ครบทุกเขตเพื่อความปลอดภัยของเด็กเล็กในทุกพื้นที่
ห้องเรียนปลอดฝุ่นไม่เพียงช่วยให้เด็ก ๆ ปลอดภัยจากฝุ่นเท่านั้น แต่ยังสร้างคุณภาพการเรียนที่ดี และปลูกฝังให้เด็กตระหนักรู้ถึงที่มาอันตรายของฝุ่น PM 2.5 และวิธีป้องกัน รวมทั้งต้องให้ความรู้แก่ครู ผู้ปกครอง และชุมชน ให้ทุกคนต่อสู้และรับมือกับฝุ่น PM 2.5 ได้ดีขึ้น
เดินหน้าสร้างห้องเรียนปลอดฝุ่นสำหรับเด็กอนุบาล
กทม. กำหนดแนวทางในการปรับปรุงห้องเรียนปลอดฝุ่น (ห้องเรียนขนาดเฉลี่ย 49-64 ตารางเมตร) ไว้ดังนี้
แนวทางที่ 1 Positive Pressure กรุช่องเป็นห้องระบบปิด ติดตั้งเครื่องเติมอากาศบริสุทธิ์ โดยร่วมกับสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และภาคีรวมพลังสู้ฝุ่น
แนวทางที่ 2 ใช้เครื่องปรับอากาศและโซลาร์เซลล์ โดยติดตั้งเครื่องปรับอากาศและเครื่องวัดอากาศ รวมถึงติดตั้งโซลาร์เซลล์และเครื่องกรองอากาศ ซึ่งสามารถติดตามปริมาณฝุ่นที่ลดได้โดยร่วมกับภาคเอกชนในรูปแบบของ CSR ดังนั้น หากเอกชนสนใจเข้าร่วมโครงการปรับปรุงห้องเรียนปลอดฝุ่นกับ กทม. สามารถติดต่อได้ที่สำนักการศึกษา โทร. 0 2437 6631 ในวันและเวลาราชการ
สำหรับการคำนวณค่าไฟกำหนดแนวทางไว้ 13 กรณี
– เปิดช่วงนอนกลางวัน 2 ชั่วโมง คิดเป็น 12.48 บาท ต่อวัน ต่อเครื่อง และ 2,995.20 บาทต่อปี ต่อเครื่อง
– เปิดช่วงวิกฤตฝุ่นครึ่งวัน 4 ชั่วโมง คิดเป็น 24.96 บาท ต่อวัน ต่อเครื่อง และ 5,990 บาท ต่อปี ต่อเครื่อง
– เปิดช่วงวิกฤตฝุ่นเต็มวัน 8 ชั่วโมง คิดเป็น 49.92 บาท ต่อวัน ต่อเครื่อง และ 11,980.80 บาทต่อปี ต่อเครื่อง
ปัจจุบัน กทม. ได้รับงบประมาณ (งบอุดหนุน) เป็นค่าการเรียนการสอนอยู่ที่ประมาณ 640 ล้านบาท ซึ่งมีวงเงินค่าไฟให้ใช้ไม่เกิน 40% แต่ปัจจุบัน กทม. ใช้แค่ประมาณ 172.24 ล้านบาท หรือประมาณ 27% ดังนั้น จึงสามารถบริหารจัดการค่าไฟไม่ให้เกินวงเงินที่ได้รับเงินอุดหนุนนี้
ธงแจ้งเตือน สร้างความตระหนักรู้ถึงปัญหา PM 2.5
มาตราฐานการรับมือคุณภาพอากาศในสถานศึกษา กทม. ดำเนินการตามแนวทางการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในโรงเรียนสังกัด กทม. ภายใต้แผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปี 2567 คือให้โรงเรียนติดตามข้อมูลคุณภาพอากาศ ทางเว็บไซต์ www.airbkk.com หรือ แอปพลิเคชัน AirBKK ในช่วงเวลา 07.00 น., 11.00 น. และ 15.00 น. และในช่วงที่นักเรียนต้องทำกิจกรรมกลางแจ้ง แล้วแจ้งเตือนผ่านกิจกรรมธงคุณภาพอากาศในโรงเรียน ได้แก่ ติดตั้งธงสีฟ้า ธงสีเขียว ธงสีเหลือง ธงสีส้ม และธงสีแดง
พร้อมกันนี้ ยังปลูกฝังด้านการศึกษาที่ทำให้เด็กเข้าใจว่าถิ่นกำเนิดของฝุ่นมาจากอะไร วันนี้สถานการณ์ฝุ่นเป็นอย่างไร และจะต้องปฏิบัติอย่างไรเพื่อเปลี่ยนและพัฒนาเมืองให้ดีขึ้นในอนาคต
เรื่องโดย: กองบรรณาธิการ Bangkok news
คลิกอ่าน Bangkok News (กทม.สาร) ฉบับ 289