“กรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่ น่าเที่ยว” เศรษฐกิจดี สร้างงาน สร้างโอกาสเพื่อทุกคน
กรุงเทพฯ เป็นหนึ่งเมืองหลักที่มีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย กรุงเทพมหานคร (กทม.) จึงต้องวางแผนทุกนโยบายสู่การพัฒนาเมืองเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน รวมไปถึงนโยบายสร้างเศรษฐกิจดี ให้กรุงเทพฯ น่าท่องเที่ยวทั้งกับคนไทยและต่างชาติ รวมถึงสอดคล้องกับนโยบายของประเทศไปพร้อมกัน ซึ่งทุกโครงการต้องทันกระแสโลก เสริมศักยภาพด้านเศรษฐกิจ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ต่อไป
-||-
พัฒนาย่านสร้างสรรค์ กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน
กทม. จัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ระดับย่าน มีนโยบายในการพัฒนากรุงเทพฯ และส่งเสริมพื้นที่ในระดับย่านให้มีศักยภาพเป็นย่านเศรษฐกิจที่มีคุณภาพและยั่งยืน เป้าหมายในการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ระดับย่านในปี 2566–2567 คือ ย่านในเขตเมืองเก่าที่ให้ความสำคัญกับคลอง 3 สาย ได้แก่ คลองบางลำพู–โอ่งอ่าง และคลองคูเมืองเดิม ที่จะสามารถเชื่อมโยงย่านทั้งหลายที่ไม่ใช่แค่เรื่องกายภาพเท่านั้น แต่ยังเอื้อประโยชน์ต่อประชาชนที่อาศัยริมคลองและชุมชนริมคลองอีกด้วย รวมไปถึงคลองผดุงกรุงเกษม ก็มีโครงการทำทางเดินเท้าเชื่อมต่อไปยังย่านอื่น ๆ ต่อไปด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ กทม. ยังได้ส่งเสริมและดึงอัตลักษณ์สร้างเศรษฐกิจ 50 ย่านทั่วกรุงเทพฯ เพื่อช่วยกระตุ้นให้เกิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในชุมชน คนในท้องถิ่น เห็นถึงคุณค่าของอัตลักษณ์ในพื้นที่ซึ่งจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มอย่างยั่งยืน โดยการพัฒนาเมืองต้องขับเคลื่อนด้วยแรงสนับสนุนจากประชาชนคนกรุงเทพฯ ที่ถือเป็นกลไกสำคัญในการเชื่อมต่อวัฒนธรรมและสร้างอัตลักษณ์ของชุมชนได้อย่างยั่งยืน ทำให้คนเมืองกรุงได้เปิดมุมมองใหม่ ๆ ได้สัมผัสประสบการณ์สร้างสรรค์ดี ๆ จากการสนับสนุนและส่งเสริมของ กทม. นั่นเอง
-||-
เปิดพื้นที่ BKK Market
ถนนคนเดิน ตลาดนัดชุมชน และตลาดนัดเขต
อีกนโยบายด้านเศรษฐกิจดีในปีนี้ คือการจัดตลาดนัดชุมชนและตลาดนัดเขต ซึ่ง กทม. ได้ เปิดตลาดนัดชุมชนที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ดินแดง) และที่โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ ทุกสัปดาห์สุดท้ายของเดือน อีกทั้งยังจัดตลาดนัด “Farmer Market ในสวน” ที่สวนลุมพินี สวนจตุจักร และสวนเฉลิมพระเกียรติฯ ลาดกระบัง ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 06.00 – 11.00 น. เพื่อส่งเสริมเกษตรกรด้วยการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายผลผลิต
การขับเคลื่อนโครงการตลาดนัดชุมชน ยังดำเนินการอย่างต่อเนื่องด้วยการขยายพื้นที่ไปยังโรงเรียนฝึกอาชีพกรุงเทพมหานครดินแดง 1 และดินแดง 2 โดยจัด ตลาดนัด “สพส. ชวนชอปอาหารอร่อย ของดี 50 เขต” ทุกวันจันทร์ เวลา 07.00 – 13.00 น. เพื่อให้ชาวชุมชนในเขตดินแดง รวมถึงหน่วยงานต่าง ๆ ในบริเวณนั้นได้มาจับจ่ายซื้อของ ซึ่งมีทั้งอาหารอร่อย ผัก ผลไม้ เสื้อผ้า ผลิตภัณฑ์ชุมชน ผลิตภัณฑ์กรุงเทพมหานคร (Bangkok Brand) ของดี 50 เขต จากกว่า 30 ร้านค้า และเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ยังจัดกิจกรรม “ชอป ชิม อิ่ม เพลิน ถนนคนเดินดินแดง” ตั้งแต่เวลา 17.00 – 22.00 น. ซึ่งถนนเส้นนี้ไม่เคยมีกิจกรรมเช่นนี้มาก่อน จึงเป็นการสร้างบรรยากาศใหม่ ๆ ที่สะท้อนถึงความตั้งใจในการกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน เพราะประชาชนได้อุดหนุนสินค้าในพื้นที่ ได้ซื้อของดีราคาถูก และส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่มีรายได้จากการขายสินค้าด้วย
ปี 2567 นี้ กทม. ยังได้เปิดมิติใหม่ร่วมมือกับ Thaimarket เปิดช่องทางออนไลน์ให้ประชาชนสามารถจองพื้นที่ค้าขายในตลาดของ กทม. ทั้ง 12 แห่ง ได้แก่ ตลาดประชานิเวศน์ ตลาดบางกะปิ ตลาดหนองจอก ตลาดราษฎร์บูรณะ ตลาดรัชดาภิเษก ตลาดสิงหา ตลาดพระเครื่องวงเวียนเล็ก ตลาดธนบุรี ตลาดเทวราช ตลาดบางแคภิรมย์ ตลาดนัดจตุจักร และตลาดนัดมีนบุรี ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ได้อย่างรวดเร็ว โปร่งใส ไร้คนกลาง
-||-
กิจกรรมสร้างสรรค์เพิ่มชีวิตชีวาให้คนกรุงเทพฯ
จากแนวทาง “สร้างเมืองมีชีวิต ให้ทุกคนมาใช้ชีวิต” ทำให้เกิดกิจกรรมต่าง ๆ ได้แก่ ดนตรีในสวน หนังสือในสวน บอร์ดเกมในสวน ธรรมะในสวน โดยเฉพาะกิจกรรมดนตรีในสวน ซึ่ง กทม. จัดขึ้นทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เป็นความสำเร็จที่ได้เสียงตอบรับจากคนกรุงเทพฯ ด้วยจำนวนผู้เข้าร่วมงานมากมายทุกครั้ง และยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งเสริมให้เกิดการใช้จ่าย และส่งเสริมการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวไทยและต่างประเทศ ขณะเดียวกัน เด็ก เยาวชน ประชาชน และนักดนตรีมีพื้นที่แสดงออกอย่างสร้างสรรค์ มีโอกาสแสดงศักยภาพของตนเอง สามารถต่อยอดด้านอาชีพ ทำให้เกิด Soft Power ด้านการแสดงของกรุงเทพฯ และยังสร้างความบันเทิงที่เปิดกว้างให้ประชาชนรับชมอย่างทั่วถึง โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด
นอกจากนี้ ตามนโยบายของ กทม. ในการจัดเทศกาลพิเศษต่าง ๆ “กรุงเทพกลางแปลง” อันเป็นความร่วมมือระหว่าง กทม. สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) และสมาคมหนังกลางแปลง กิจกรรมนี้ได้สร้างปรากฏการณ์หนังกลางแปลงที่นอกจากสร้างความสุขให้คนเมืองแล้ว ยังเป็นความหวังในการใช้พลังของ Soft Power ผสานรวมกับแผนยุทธศาสตร์และการดำเนินงานที่ช่วยสร้างชื่อเสียงให้กรุงเทพฯ และสร้างแรงดึงดูดด้านการท่องเที่ยวให้กลับมาเป็นเมืองท่องเที่ยวอันดับหนึ่งของโลกอีกครั้ง
รวมไปถึงช่วงต้นปี 2567 กทม. ได้ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน สถาบันการศึกษา องค์กรระหว่างประเทศ และภาคีเครือข่ายย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ นำเสนอกิจกรรมออกแบบและสร้างสรรค์กว่า 500 กิจกรรม อาทิ นิทรรศการ เวทีเสวนา กิจกรรมเวิร์กช็อป การแสดง เส้นทางการท่องเที่ยว ตลาด และกิจกรรมจากนักออกแบบและธุรกิจสร้างสรรค์กว่า 200 ราย ในเทศกาลออกแบบกรุงเทพ 2567 (Bangkok Design Week 2024) เป็นอีกกิจกรรมที่สร้างสีสันและประสบการณ์ที่สนุกสนานและน่าจดจำให้กับชาวเมืองและนักท่องเที่ยว ทั้งไทยและต่างชาติจากทั่วโลกได้เดินทางมาสัมผัสความสุขนี้
-||-
ฝึกอาชีพ พัฒนาทักษะ Reskill และ Upskill
ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน
กทม. มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาทักษะอาชีพของประชาชนผ่านศูนย์ฝึกอาชีพกรุงเทพมหานคร 17 แห่ง เน้นหลักสูตรการประกอบอาชีพ (เช่น ตัดผม ทำอาหาร เย็บผ้า) ซึ่งเป็นหลักสูตรดั้งเดิมและได้รับความนิยมจากประชาชน นอกจากนี้ ในโรงเรียนฝึกอาชีพกรุงเทพมหานคร 10 แห่ง มีการเปิดสอนมากกว่า 200 หลักสูตร ด้วยเนื้อหาที่หลากหลายแตกต่างกันไปแต่ละโรงเรียน เช่น งานช่าง ช่างรถยนต์ ช่างเครื่องไฟฟ้า ช่างระบบในอาคาร งานคหกรรม อาหารไทย อาหารนานาชาติ ภาษาเกาหลี จีน ญี่ปุ่น เป็นต้น
แต่ด้วยความต้องการของภาคธุรกิจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ กทม. นำมาออกแบบหลักสูตรเพื่อให้นักเรียนที่ผ่านการอบรมมีงานทำ และรายได้ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน รวมถึงเพิ่มโอกาสให้นักเรียนมีงานทำหลังจบหลักสูตรแล้ว เช่น โครงการฝึกอบรมวิชาชีพแม่บ้านการโรงแรม เพื่อรองรับการฟื้นตัวธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยว เป็นหนึ่งในโครงการที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน หลักสูตรพนักงานขับรถยนต์สามล้อไฟฟ้าในสำนักงานและบริการสาธารณะ ซึ่งผู้ผ่านการฝึกอบรมจะมีโอกาสได้รับคัดเลือกเข้าทำงานกับบริษัท มูฟมี ฮีโร่ จำกัด เป็นต้น โดย กทม. ติดตามประสิทธิภาพการทำงานของนักเรียนที่จบการศึกษา เพื่อนำมาปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรอย่างต่อเนื่อง
ยังมีอีกหลายหลักสูตรที่เปิดสอนตามความสนใจของประชาชน เช่น หลักสูตรโซลาร์เซลล์ หรือการใช้พลังงานทดแทนจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม หลักสูตรอินเทอร์เน็ตสำหรับ e-Commerce และหลักสูตรที่จะพัฒนาร่วมกับสถาบันการศึกษา ภาครัฐ และภาคเอกชน มากกว่า 40 หลักสูตร เช่น ช่างซ่อมอากาศยานไร้คนขับ (Drone) หลักสูตรดัดแปลงรถจักรยานยนต์ให้เป็นรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า หลักสูตรยอดนักขายออนไลน์ฉบับกระเป๋า เป็นต้น รวมถึงวางแผนพัฒนาหลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุ หลักสูตรการคำนวณและจัดการภาษีเพิ่มเติม หลักสูตรการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ฯลฯ เพื่อให้ประชาชนมีทักษะใหม่ ๆ ที่ตอบสนองความต้องการของตลาดเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในการจัดทำหลักสูตรต่าง ๆ จำเป็นต้องสำรวจความต้องการของผู้เรียนและตลาดแรงงานเป็นระยะ ๆ ซึ่ง กทม. ได้ร่วมกับสถาบันการศึกษา ภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อวางแผนพัฒนาหลักสูตรต่อไป
-||-
ผลักดัน Soft Power กระตุ้นเศรษฐกิจกรุงเทพฯ
สืบเนื่องจากนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งขับเคลื่อนและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของประเทศ ผ่านต้นทุนทางวัฒนธรรมหรือ Soft Power อย่างสร้างสรรค์ อันถือเป็นกลยุทธ์สำคัญที่จะช่วยส่งเสริมให้เกิดความเชื่อมั่น และกระตุ้นการเดินทางของนักท่องเที่ยว รวมถึงพัฒนาศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดโลก
สำหรับ กทม. ได้เดินหน้านโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของกรุงเทพฯ ที่มุ่งเน้นพัฒนากรุงเทพฯ ให้เป็นพื้นที่แห่งการสร้างโอกาส สร้างรายได้ ขยายศักยภาพของเศรษฐกิจเมือง โดยครอบคลุมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของประเทศไทยทั้ง 15 สาขา ได้แก่ งานฝีมือและหัตถกรรม ดนตรี ศิลปะการแสดง ทัศนศิลป์ ภาพยนตร์ การแพร่ภาพและกระจายเสียง การพิมพ์ ซอฟต์แวร์ การโฆษณา การออกแบบ ด้านสถาปัตยกรรม แฟชั่น อาหารไทย การแพทย์แผนไทย และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และยังร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดเทศกาลท่องเที่ยวให้กรุงเทพฯ น่าเที่ยวตลอดปี พร้อมต่อยอดกิจกรรมของ กทม. เพื่อเป้าหมายในการยกระดับงานเทศกาลประเพณี (Festival) จากระดับประเทศสู่ระดับโลก เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวทั้งของชาวไทยและชาวต่างชาติ
นอกจากนี้ กทม. ยังกำหนดนโยบายว่าด้วยเมืองแห่งการสร้างสรรค์และวัฒนธรรมผ่าน โครงการ Colorful Bangkok โดยใช้ศิลปวัฒนธรรมเป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนมุมมองการท่องเที่ยวอย่างสร้างสรรค์ ทำให้เกิดความคึกคัก มีชีวิตชีวา กระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งส่งเสริมภาพลักษณ์และสะท้อนความพร้อมของกรุงเทพฯ ในการต้อนรับนักท่องเที่ยวทั่วโลก โดยโครงการ Colorful Bangkok มุ่งนำเสนออัตลักษณ์ความเป็นไทย ส่งเสริมและเพิ่มมูลค่าแก่ต้นทุนทางวัฒนธรรมอย่างเป็นรูปธรรม
-||-
งานลอยกระทงดิจิทัล
กทม. คว้ารางวัล Asia Pinnacle Awards
สาขา Best Eco – Friendly Festival
“งานลอยกระทงดิจิทัล กทม. หรือ Bangkok Digital Loy Krathong Festival” จัดขึ้นในกรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก ณ คลองโอ่งอ่าง เขตพระนคร และเขตสัมพันธวงศ์ ได้รับคัดเลือกให้รับรางวัล Asia Pinnacle Awards สาขา Best Eco – Friendly Festival จากสมาคม IFEA (ASIA) หรือสมาคม The International Festivals and Events Association (สมาคมการจัดงานอีเวนต์และเทศกาลนานาชาติ) ซึ่งเป็นสมาคมที่ไม่แสวงหาผลกำไร ปัจจุบันมีสมาชิกจากทั่วโลกประมาณ 38 ประเทศ แบ่งเป็น 7 ภูมิภาค คือ แอฟริกา เอเชีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ยุโรป ลาตินอเมริกา ตะวันออกกลาง และอเมริกาเหนือ
เกณฑ์ที่ได้รับการคัดเลือก ประกอบด้วย
1. งานที่เป็นงานดั้งเดิม (Traditional)
2. งานที่ใช้นวัตกรรม (Innovation) มาลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม
โดย กทม. ได้แสดงจุดยืนในการผลักดันเรื่องความยั่งยืน (Sustainability) ตอบโจทย์โลกและคนรุ่นใหม่
_______________________________
เรื่องโดย: กองบรรณาธิการ Bangkok news
อ่านบทความอื่น ๆ เพิ่มเติมที่ กทม.สาร ฉบับที่ 290
ได้ที่ https://links.bookkurry.com/bkk_news_issue_290
หรือสแกน QR Code เพื่ออ่าน