เปิดแผนรับมือ “น้ำฝน-น้ำเหนือ-น้ำหนุน” ป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ กับ ‘นายวิศณุ ทรัพย์สมพล’ รองผู้ว่าฯ กทม.
ทุกปีก่อนเข้าสู่หน้าฝน กรุงเทพมหานคร (กทม.) เตรียมความพร้อมรับมือแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพฯ อย่างจริงจัง เพื่อให้ปัญหาน้ำท่วมสร้างความเดือดร้อนต่อการใช้ชีวิตของประชาชนน้อยที่สุด มาถึงปีนี้ คนกรุงเทพฯ ยังต้องการคำยืนยันจาก กทม. อีกครั้งว่า “วางแผนรับมือน้ำท่วมอย่างไร”
วันนี้ นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มาเปิดแผนป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ ที่มีสาเหตุจากน้ำฝน น้ำเหนือ และน้ำหนุน จากการถอดบทเรียนน้ำท่วมปี 2565 และปี 2566 ที่อยากให้คนกรุงเทพฯ เชื่อมั่นว่า ปัญหาความเดือดร้อนจากน้ำท่วมขังในหน้าฝนปี 2567 นี้มีตัวเลขลดลงจากปีที่แล้ว รวมถึงจุดเสี่ยงน้ำท่วมปีนี้ต้องลดลงเช่นกัน
ถอดบทเรียนปัญหาน้ำท่วมปี 2565
กำหนดแผนรับมือ “น้ำฝน-น้ำเหนือ-น้ำหนุน”
“สองปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2565 กทม. ถอดบทเรียนจากปัญหาน้ำท่วมในปีนั้นที่ฝนตกหนักมาก ปริมาณน้ำฝนสะสมสูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติ โดยค่าปกติประมาณ 200-300 มิลลิเมตร แต่ปีนั้นสูงกว่าปกติ ทำให้น้ำท่วมขังหลายจุด ซึ่งผมมองเห็นข้อดีว่า เป็นแนวทางให้เราถอดบทเรียนจากปีนั้น รวมไปถึงการทำงานของ แพลตฟอร์ม Traffy Fondue ที่ประชาชนร้องเรียนเรื่องน้ำท่วม ซึ่งใน Traffy Fondue ระบุตำแหน่งจุดเกิดเหตุที่สามารถนำมาลงแผนที่และเราแก้ไขได้ทั้งหมด โดยการถอดบทเรียนนี้ ทีมงานต้องมาร่วมกันวิเคราะห์ว่า ปี 2565 จุดน้ำท่วมมีตรงไหนบ้างที่รับเรื่องร้องเรียน รวมถึงที่สำนักงานเขตรายงานมาด้วย เราจึงเห็นภาพรวมของจุดเสี่ยงน้ำท่วมทั้งหมดที่เกิดจากน้ำฝน” รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวอธิบายแนวทางจากการถอดบทเรียนน้ำท่วม กทม. ที่ไม่เพียงแค่สาเหตุจากน้ำฝน แต่ยังรวมถึงแผนรับมือ “น้ำเหนือ” และ “น้ำหนุน” ที่จะเริ่มหลากเข้าสู่พื้นที่กรุงเทพฯ ประมาณเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ของทุกปี
หลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 กทม. ได้ทำการเสริมความสูงกำแพงกั้นน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา 50 เซนติเมตร ทำให้แนวคันกั้นน้ำมีระดับความสูง +2.80 ถึง +3.50 เมตร เทียบกับระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก.) และเร่งสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมริมน้ำ ส่วนที่เป็นจุดเสี่ยงและเป็นจุดฟันหลอให้ครบถ้วนโดยเร็ว สำหรับจุดเสี่ยงน้ำท่วมจากปัญหาน้ำเหนือและน้ำหนุน ที่ได้จากการถอดบทเรียนสถานการณ์น้ำท่วมปี 2565 มีจำนวน 120 จุด ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ 26 จุด และอยู่ระหว่างดำเนินการแก้ไขในปี 2567 จำนวน 50 จุด ส่วนอีก 44 จุดจะดำเนินการให้แล้วเสร็จในปี 2568-2570 สำหรับจุดที่เป็นฟันหลอที่เรารู้แล้วว่าเป็นจุดอ่อนตรงไหนบ้าง ได้เตรียมกระสอบทรายและเตรียมความพร้อมไว้แล้วเช่นกัน
แก้ไขเส้นเลือดฝอย ป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ
“อุโมงค์ระบายน้ำ” เป็นหนึ่งตัวช่วยที่ถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ในการลดปริมาณน้ำท่วม ทว่าจากการถอดบทเรียนปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ ดูเหมือนว่าเส้นเลือดฝอย จำนวน 737 จุด สามารถช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ ได้อย่างเห็นผลชัดเจนในการบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชน “จุดเส้นเลือดฝอยคืออะไร ก็คือว่า น้ำจากริมถนนจะไหลลงท่อระบายน้ำอย่างไร จากท่อระบายน้ำลงคูคลองอย่างไร และจากคูคลองไหลลงแม่น้ำเจ้าพระยาได้อย่างไร ต้องอธิบายก่อนว่า ระบบระบายน้ำทั้งหมดของ กทม. ระบายน้ำลงแม่น้ำเจ้าพระยาครับ เพราะฉะนั้นหลักการคือทำอย่างไรให้น้ำฝนที่ตกมาระบายลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาให้เร็วที่สุด การระบายน้ำเริ่มต้นจากน้ำฝนที่ตกลงบนถนนแล้วไหลลงท่อ ซึ่ง กทม. พบปัญหาหลายอย่างที่ผ่านมา อาทิ เวลาฝนตกจะมีขยะไปอุดตันหน้าตะแกรง ทำให้น้ำระบายลงท่อยาก ระบายได้ช้า ฉะนั้น กทม. จึงเข้ามาเน้นที่เส้นเลือดฝอย คือ ลอกท่อให้หมด เพื่อให้น้ำไหลจากท่อลงคลองง่ายขึ้น โดยคูคลองนี้ก็จะเป็นเส้นเลือดใหญ่ครับ เพราะเป็นตัวระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่ง กทม. ก็ขุดลอกคลองด้วยเช่นกัน พวกเราทำกันเต็มที่ทั้งเส้นเลือดฝอยและเส้นเลือดใหญ่ครับ”
กทม. ได้ปรับปรุงระบบระบายน้ำ เพิ่มประสิทธิภาพระบบป้องกันน้ำท่วม ในส่วนของเส้นเลือดฝอยได้เดินหน้าทำความสะอาดลอกท่อระบายน้ำรวม 4,280 กิโลเมตร (ดำเนินการแล้วกว่า 60%) รวมถึงมีแผนขุดลอกคลองเพื่อรองรับน้ำฝนเพิ่มขึ้นในปี 2567 ความยาว 217 กิโลเมตร (ดำเนินการแล้วกว่า 60%) และเปิดทางน้ำไหล 1,310 คลอง ความยาว 1,965 กิโลเมตร (ดำเนินการแล้วกว่า 70%) นอกจากนี้ เตรียมความพร้อมของสถานีสูบน้ำ ประตูระบายน้ำ บ่อสูบน้ำ รวมทั้งติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมในพื้นที่จุดเสี่ยงและจุดเฝ้าระวัง โดยติดตั้งเซนเซอร์เครื่องสูบน้ำชนิดเครื่องยนต์ดีเซลสั่งการระยะไกล จำนวน 20 ชุด และยังเตรียมความพร้อมของอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ 4 แห่ง พร้อมกับลดระดับน้ำในคลองและแก้มลิง จำนวน 36 แห่ง เตรียมรองรับฝนตกในพื้นที่
“อุโมงค์ระบายน้ำของ กทม. ใช้งานได้จริงครับ ทำหน้าที่ช่วยระบายน้ำในคลองลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา โดยคลองหลัก ๆ มีจำนวน 4 คลอง ได้แก่ คลองเปรมประชากร คลองลาดพร้าว คลองแสนแสบ และคลองประเวศ (คลองพระโขนง) ซึ่งจากคลองลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาถือเป็นระยะทางที่ไกลนะครับ การมีอุโมงค์ระบายน้ำก็เหมือนเป็นทางด่วนที่ช่วยเร่งระบายน้ำได้เร็วขึ้นเพราะสามารถช่วยลดระดับน้ำในคลองนั่นเอง”
กทม. ก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่แล้ว 4 แห่ง และอยู่ระหว่างดำเนินการ 4 แห่ง นอกจากนี้ มีแผนการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ในอนาคตเพิ่มเติมอีก 3 แห่ง เพื่อแก้ไขปัญหาการระบายน้ำจากกรุงเทพฯ ชั้นในออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา และออกสู่ทะเลอ่าวไทย โดยช่วยบรรเทาและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังทั้งจากน้ำฝนที่ตกในพื้นที่ และน้ำหลากจากพื้นที่นอกคันป้องกัน ครอบคลุมพื้นที่สำคัญของกรุงเทพฯ ได้เกือบทั้งหมด
เปิดปฏิบัติการศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม กทม.
เตือนภัยน้ำท่วมล่วงหน้า
สำหรับศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม กรุงเทพมหานคร เป็นศูนย์ที่รวบรวมระบบสารสนเทศในการบริหารจัดการน้ำของ กทม. ด้วยการทำงานในระบบที่จัดการและควบคุมจากเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ที่เรียกว่า โปรแกรม SCADA (Supervisory Control And Data Acquisition) พร้อมการสื่อสารที่ทันสมัย ประกอบด้วย
▶️ สถานีแม่ข่ายตั้งอยู่ที่อาคารสำนักการระบายน้ำ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ดินแดง)
▶️ สถานีเครือข่ายกระจายอยู่ทั่วไปในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งมีระบบตรวจวัดข้อมูลต่าง ๆ ได้แก่ ระบบเรดาร์ตรวจอากาศ จำนวน 2 แห่ง (หนองจอก, หนองแขม), สถานีเครือข่ายระบบตรวจวัดปริมาณฝน จํานวน 130 แห่ง, สถานีเครือข่ายระบบตรวจวัดน้ำท่วมถนน จํานวน 100 แห่ง, สถานีเครือข่ายระบบตรวจวัดน้ำท่วมอุโมงค์ทางลอด จํานวน 8 แห่ง, สถานีเครือข่ายระบบตรวจวัดระดับน้ำ จํานวน 255 แห่ง (ระบบตรวจสอบการทํางานของประตูระบายน้ำ จํานวน 46 แห่ง และระบบตรวจสอบการทํางานของเครื่องสูบน้ำ จํานวน 31 แห่ง) , สถานีเครือข่ายระบบตรวจวัดอัตราการไหลของน้ำ จํานวน 30 แห่ง, ระบบตรวจวัดระดับน้ำและควบคุมเครื่องสูบน้ำ จํานวน 30 แห่ง, ระบบสั่งงานระยะไกล เครื่องสูบน้ำชนิดเครื่องยนต์ดีเซล จํานวน 20 แห่ง
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกล่าวเสริมด้านระบบการทำงานของศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วมฯ ว่า “กทม. เร่งดำเนินการให้การพยากรณ์ฝนตกของศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม กรุงเทพมหานคร มีกระบวนการทำงานที่แม่นยำขึ้น มีเรดาร์ที่รายงานสถานการณ์ปัจจุบันทุก 15 นาที โดยไม่ใช่การพยากรณ์ล่วงหน้า แต่เป็นการคำนวณตามข้อมูลว่า ทิศทางของฝนจะมาอย่างไร ตกหนักหรือไม่ แค่ไหน โดยเรดาร์มีรัศมีตรวจวัดราว ๆ 250 กิโลเมตร ครอบคลุมไปถึงราชบุรี นครนายก สามารถคาดการณ์จากเมฆก้อนใหญ่ที่กำลังเคลื่อนตามทิศทางลมเข้ากรุงเทพฯ ทำให้ศูนย์ป้องกันน้ำท่วมฯ แจ้งเตือนไปยังไลน์กลุ่มของเขตต่าง ๆ ให้เตรียมเฝ้าระวังได้ทันท่วงที ต้องยอมรับว่า ความคลาดเคลื่อนยังมีอยู่ โดยความคลาดเคลื่อนดังกล่าวมาจากบางสาเหตุ อย่างมีเมฆก่อตัวในพื้นที่ เกิดฝนฉับพลัน อันนี้เรดาร์ตรวจจับไม่ได้ จึงคาดการณ์ไม่ได้ กทม. จึงได้เร่งจัดหาเรดาร์ที่มีรัศมีตรวจวัดแนวดิ่ง แคบลงเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ”
ขณะเดียวกันตั้งแต่ปี 2566 กทม. ได้รับความร่วมมือจากญี่ปุ่น (Wealth Inc. เป็นองค์กรที่ใช้เทคโนโลยีในการติดตามและพยากรณ์สภาพอากาศ) โดยใช้ระบบ AI Nowcast สำหรับการพยากรณ์ฝนล่วงหน้าในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่มีความแม่นยำ และรู้ผลล่วงหน้า 3 ชั่วโมง เพื่อสามารถรับมือสถานการณ์ฝนตกหนัก และปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน ซึ่งเทคโนโลยีนี้ทำให้เรารู้ว่าฝนจะตกที่พื้นที่ใด ก็จะสามารถสั่งการให้เขตพื้นที่เตรียมพร้อมได้ทันท่วงที เพราะ กทม. ไม่อยากให้ฝนตกแล้วน้ำท่วมขัง น้ำรอระบายนาน ซึ่งส่งผลกระทบด้านการเดินทางอีกมากมาย ต้องมีการเตรียมการล่วงหน้า เช่น เตรียมเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ดูแลช่วยเหลือ ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนหลีกเลี่ยง และวางแผนการเดินทาง เป็นต้น
“ผมมั่นใจว่า ปีนี้ในพื้นที่กรุงเทพฯ จะสามารถดูแลการระบายน้ำได้ดีขึ้น แต่สิ่งที่ยังกังวลคือ จุดน้ำท่วมที่ได้รับเรื่องร้องเรียนเป็นพื้นที่เอกชน ผมต้องเรียนก่อนว่างบประมาณ กทม. ตามระเบียบแล้ว ไม่สามารถใช้กับพื้นที่เอกชนได้ ซึ่งปัญหาน้ำท่วมขังเยอะ ๆ ที่ร้องเรียนส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เอกชน เช่น หมู่บ้านเก่าที่ไม่มีนิติบุคคล ด้วยสภาพโครงสร้างพื้นฐานที่ท่อระบายน้ำอาจทรุดโทรม ท่อตัน ฯลฯ พอฝนตกมาหนัก ๆ น้ำไม่สามารถระบายจากท่อ ซึ่ง กทม. ทำอะไรได้ยากมากเพราะไม่ใช่พื้นที่สาธารณะ เราจึงแก้ปัญหาแบบถาวรจากต้นเหตุ คือ จัดการท่อระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพไม่ได้ กทม. ทำได้เพียงนำ Mobile Pump เข้าไปช่วยเร่งสูบน้ำ”
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครยังกล่าวทิ้งท้ายว่า การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพฯ ต้องได้ความร่วมมือจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะภาคประชาชน เนื่องจากสาเหตุสำคัญของปัญหาน้ำท่วม คือ การทิ้งขยะ “เมื่อปี 2565 เกิดปัญหาน้ำระบายช้าด้วยสาเหตุสำคัญ คือ ขยะเต็มท่อระบายน้ำ ดังนั้น ประชาชนต้องให้ความร่วมมือด้วย หนึ่ง…ไม่ทิ้งขยะบนท้องถนน สอง…อย่าวางขยะหน้าบ้านเพื่อรอรถเก็บในช่วงฝนตก เพราะหากฝนตกขยะที่กองไว้จะกระจายไหลไปอุดตันท่อระบายน้ำ ทำให้ กทม. ต้องส่งกำลังคนไปเก็บขยะหน้าตะแกรงเพื่อระบายน้ำ ฉะนั้น ง่าย ๆ เลย คือ ช่วยกันแยกขยะ เก็บขยะให้ดี วันที่ฝนตกอย่าเพิ่งนำมาวาง รอไว้ตอนที่รถขยะเข้ามาดีกว่า เช็กในพื้นที่ได้ครับว่า รถขยะเข้าเวลาไหน อันนี้เป็นความร่วมมือง่าย ๆ จริง ๆ แล้วเรื่องการแยกขยะ ใน 2 ปีที่ผ่านมาที่รณรงค์ให้ช่วยกันแยกขยะโดยการไม่เทรวม ในวันนี้เห็นภาพชัดเจนว่า พวกเราสามารถลดขยะในกรุงเทพฯ ได้อย่างเห็นผล ทั้งที่เราเห็นกิจกรรมในกรุงเทพฯ มากขึ้น นักท่องเที่ยวเข้ามาเพิ่มขึ้น แต่ปรากฏว่าขยะไม่ได้มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ”
“ผลการดำเนินการของ กทม. จะสามารถทำให้ปริมาณน้ำฝนปีนี้ระบายดีขึ้นหรือไม่ คงตอบเองไม่ได้ ต้องให้ประชาชนร้องเรียนมา แต่จากการทำงานที่ผ่านมาเทียบกับปี 2565 ประชาชนร้องเรียนปัญหาน้ำท่วมลดลงในปี 2566 และพวกเราลงพื้นที่จุดที่มีปัญหาน้ำท่วมน้อยลง ดังนั้น แนวทางการแก้ปัญหาของ กทม. มาได้ถูกทางแล้ว และตามหลักการก็คาดว่าปีนี้ กทม. จะได้รับเรื่องร้องเรียนปัญหาน้ำท่วมน้อยกว่าปีที่แล้ว”
__________________________________
เรื่องโดย: กองบรรณาธิการ Bangkok news
อ่านบทความอื่น ๆ เพิ่มเติมที่ กทม.สาร ฉบับที่ 291
ได้ที่ https://links.bookkurry.com/bkk_news_issue_291
หรือสแกน QR CODE เพื่ออ่าน