“กรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่” เดินทางดี ปลอดภัยดี คุณภาพชีวิตดี
นโยบายของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ด้าน “เดินทางดีและปลอดภัยดี” เดินหน้าสอดคล้องไปกับนโยบายบริหารจัดการดีและสิ่งแวดล้อมดีอย่างต่อเนื่อง ทั้งยุทธศาสตร์การพัฒนากรุงเทพฯ เชื่อมโยงการขนส่งรูปแบบต่าง ๆ ทั้งเส้นทางคลอง ระบบราง และโครงข่ายถนน พัฒนาระบบขนส่งชานเมืองเชื่อมกับระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่กลางเมือง รวมไปถึงการปรับปรุงกายภาพของเมืองให้เป็น “เมืองเดินได้-เมืองเดินดี” ที่กลายเป็นอีกเป้าหมายของการพัฒนาเมืองที่นอกจากประชาชนจะสัญจรอย่างปลอดภัยแล้ว ยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในย่านต่าง ๆ ควบคู่ไปกับการประหยัดพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อมให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคนด้วยคุณภาพชีวิตที่ดี
“เมืองเดินได้-เมืองเดินดี”
ปรับปรุงและคืนพื้นที่ทางเท้าให้ประชาชน
สำหรับการเดินทางในเมืองนั้น ระบบเส้นเลือดฝอยที่สำคัญมาก คือ “การเดิน” นอกจากเป็นการสัญจรที่มีต้นทุนน้อยที่สุดแล้ว ยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ช่วยรักษาสุขภาพ และส่งเสริมการเข้าถึงพื้นที่ต่าง ๆ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ นับเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของคนเมืองที่สำคัญเช่นเดียวกับพื้นที่สาธารณะ พื้นที่สีเขียว อากาศสะอาด ฯลฯ
นโยบาย “เมืองเดินได้-เมืองเดินดี” กทม. ร่วมขับเคลื่อนพร้อมกับภาคีเครือข่ายหลายองค์กร ทั้งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฯลฯ โดยส่งเสริมการเดินเท้า กระตุ้นเศรษฐกิจรายทาง และสุขภาพคนเมือง
นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงการพัฒนาให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองเดินได้-เมืองเดินดี ใน งาน Goodwalk Forum Thailand 2023 ก้าวสู่ทศวรรษแห่งการพัฒนาเมืองด้วยยุทธศาสตร์เมืองเดินได้-เมืองเดินดี ว่า
“ตรอก ซอก ซอย ทำทางเท้าไม่ได้เพราะพื้นที่เล็กมาก กทม. จึงใช้วิธีการแบ่งสีช่องทางเดินให้ชัดเจนเพื่อให้เดินได้สะดวกขึ้น ส่วนชุมชนต่าง ๆ มีการปรับปรุงทั้งทางเท้า แสงสว่าง รวมไปถึงการจัดหาพื้นที่ค้าขายเพื่อจัดระเบียบหาบเร่ แผงลอย และสิ่งกีดขวางทางเท้าให้เรียบร้อย อีกทั้งยังสามารถใช้พื้นที่เพื่อนันทนาการได้ด้วย เช่น พื้นที่ริมคลองผดุงกรุงเกษม ส่วนการกวดขันการขับขี่บนทางเท้า กทม. จัดหากล้อง CCTV มาติดตั้งเพื่อติดตามดำเนินคดี และขอความร่วมมือจากบริษัทขนส่งต่าง ๆ ที่ใช้รถจักรยานยนต์ในการขนส่ง ไม่ให้ขับขี่บนทางเท้า”
นอกจากนี้ กทม. ได้ปรับปรุงและส่งเสริมทางเดินให้เข้าถึงชุมชนในหลายโครงการ เช่น การสร้างสะพานข้ามคลองบางกอกใหญ่เชื่อมต่อวัดกัลยาณมิตรถึงชุมชนกุฎีจีน ส่วนอีกสะพาน คือ สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาจากคลองสานไปย่านสี่พระยา ย่านทรงวาด ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน อีกทั้งยังได้ปรับปรุงทางเท้าบริเวณราชประสงค์ ปรับปรุงภูมิทัศน์สะพานเขียวและเชื่อมต่อจากสวนลุมพินีไปยังสวนเบญจกิติให้ประชาชนสามารถสัญจรได้สะดวกยิ่งขึ้น และอีกโครงการสำคัญที่กำลังวางแผนพัฒนา คือ โครงการ Skywalk จากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิถึงสะพานพระราม 6 โดยคาดว่าจะสร้างแล้วเสร็จในปี 2569
เปิดเส้นทางวิ่งใหม่ BKK Trail
12 เส้นทาง 120 กิโลเมตร
BKK Trail คือ นโยบายพัฒนาทางเท้าให้สามารถเดินได้เดินดี วิ่งได้ ปลอดภัย ส่งเสริมการเข้าถึงพื้นที่ต่าง ๆ ปัจจุบัน กทม. พัฒนาเส้นทางวิ่งในเมืองแล้ว 12 เส้นทาง รวมระยะทาง 120 กิโลเมตร มุ่งเน้นการซ่อมแซมทางเท้าให้เรียบโล่ง ปลอดภัย พร้อมพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกโดยรอบ เช่น ห้องน้ำ แสงสว่าง จุดจอดรถ และสัญญาณไฟต่าง ๆ รวมทั้งประสานร้านค้าท้องถิ่นเพื่อรองรับนักวิ่งและนักเดินในทุกวัน
เส้นทางวิ่ง BKK Trail ทั้ง 12 เส้นทาง มีดังนี้
Route 001 ตามรอยพระนคร ระยะทาง 10 กิโลเมตร, Route 002 เดินดีวิถีคนเมือง ระยะทาง 10.90 กิโลเมตร, Route 006 ลัดเลาะเจ้าพระยา ระยะทาง 9.27 กิโลเมตร, Route 008 สองฝั่งนครา ระยะทาง 7.84 กิโลเมตร, Route 011 สาทรมหานครระฟ้า ระยะทาง 10 กิโลเมตร, Route 012 ตะลอนราชเทวี ระยะทาง 10.40 กิโลเมตร, Route 013 จากอนุฯ สู่จตุจักร ระยะทาง 10.80 กิโลเมตร, Route 021 ป่าดงพงเกษตร ระยะทาง 10.26 กิโลเมตร, Route 023 เยือนถิ่นนักบิน ระยะทาง 10.36 กิโลเมตร, Route 024 สวรรค์นักชอป ระยะทาง 9.68 กิโลเมตร, Route 025 พระราม 9 ระยะทาง 11.30 กิโลเมตร, Route 026 เทพรักษ์ ระยะทาง 9.45 กิโลเมตร นักวิ่ง-นักเดินออกกำลังกายที่ใช้เส้นทางแล้ว สามารถสะท้อนปัญหาและเสนอแนะความคิดเห็นได้ที่ Line: @Traffyfondue
สำหรับการวิ่งในเมืองถือเป็นมิติใหม่ในการสำรวจและพัฒนาเมือง ผ่านกิจกรรมที่ทุกคนทำในชีวิตประจำวัน เป็นการออกกำลังกายที่สะดวก ประหยัด ช่วยให้คุ้นเคยกับพื้นที่ชุมชนและร้านค้าโดยรอบ รวมทั้งเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่นด้วย
กรุงเทพฯ “เมืองเดินได้ ปั่นดี”
กทม. มีความมุ่งหวังพัฒนาให้กรุงเทพฯ เป็น “เมืองเดินได้ ปั่นดี” โดยนโยบายที่กำลังดำเนินการอยู่คือ Bike Sharing ภายใต้แนวคิด First and Last Mile เดินทางดีตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงปลายทาง เพื่อส่งเสริมการใช้จักรยาน ซึ่ง กทม. ได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายเพื่อการพัฒนากรุงเทพฯ ให้เป็น “เมืองเดินได้ ปั่นดี” อาทิ ความร่วมมือจากกระทรวงการจัดการโครงสร้างพื้นฐานและน้ำแห่งเนเธอร์แลนด์ ภายใต้โครงการ Alliance for Cycling and Walking Towards International Vitality and Empowerment ที่นำความรู้เกี่ยวกับเนเธอร์แลนด์ในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน พฤติกรรม และโครงสร้างองค์กรของชุมชนนักปั่นมาประยุกต์ใช้ในกรุงเทพฯ เป็นต้น
ปี 2567 กรุงเทพฯ ต้องสว่าง
ตั้งเป้าติดตั้งหลอดไฟ 60,000 ดวง
“กรุงเทพฯ ต้องสว่าง” เป็นเรื่องที่ กทม. ให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น ๆ ในปี 2566 ซึ่งเป็นปีแรกที่ กทม. ดำเนินการเปลี่ยนหลอดไฟ LED (มีความสว่างขึ้น ประหยัดพลังงาน) ไปแล้ว 25,000 ดวง แบ่งเป็นติดตั้งในถนนสายหลัก 5,000 ดวง และติดตั้งในตรอก ซอก ซอย อีก 20,000 ดวง สำหรับเป้าหมายในปี 2567 ตั้งเป้าไว้ที่ 60,000 ดวง โดยจำนวน 20,000 ดวง ติดตั้งในถนนสายหลัก มีระบบการติดตามการทำงานของหลอดไฟ (IoT) ที่สามารถควบคุมการเปิด-ปิดไฟ และตรวจสอบจุดที่หลอดไฟดับได้ ส่วนอีก 40,000 ดวง จะติดตั้งในตรอก ซอก ซอย โดยได้ดำเนินการติดตั้งไปแล้วกว่า 10,000 ดวง ปี 2567 นี้ กรุงเทพฯ สว่างกว่าเดิมแน่นอน ทั้งนี้ หากประชาชนพบจุดที่ไฟฟ้าดับ สามารถแจ้งผ่านแพลตฟอร์ม Traffy Fondue เพื่อให้ กทม. เร่งแก้ไขได้ทันที
รุดหน้าจัดระเบียบสายสื่อสาร
เนื่องจากการจัดระเบียบสายสื่อสาร ไม่อยู่ในความรับผิดชอบของ กทม. โดยตรง แต่เป็นของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จึงต้องมีการดำเนินการที่สอดคล้องกัน คือการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินก่อน โดยการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ซึ่งมีแผนงานอย่างต่อเนื่องไปจนถึง 2572 นอกจากนี้ ยังร่วมมือกับผู้ประกอบการโทรคมนาคมและภาคีเครือข่าย เดินหน้าจัดระเบียบปัญหาสายสื่อสาร โดยปี 2567 นี้ กทม. จะมีความชัดเจนเรื่องเส้นทางที่จะนำสายสื่อสารลงใต้ดินและจัดระเบียบสายสื่อสาร สำหรับโครงการสายสื่อสารมี 2 ลักษณะ คือ การนำสายสื่อสารลงใต้ดินกับแผนการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินของ กฟน. ที่มีโครงการถึงปี 2572 ฉะนั้น ในบางเส้นทางที่ กฟน. ยังไม่นำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน กทม. สามารถนำสายสื่อสารลงใต้ดินได้ก่อน เพื่อให้การปรับปรุงทางเท้าทำได้เร็วขึ้น
ทั้งนี้ ปี 2567 กทม. พร้อมด้วย กฟน. และหน่วยงานภาคีเครือข่ายมีแผนนำสายสื่อสารลงใต้ดิน 29 เส้นทาง ระยะทางรวม 61 กิโลเมตร ประกอบด้วย พื้นที่บางช่วงของถนนสายสำคัญ เช่น ถนนอโศกมนตรี ถนนศรีอยุธยา ถนนพระราม 4 และถนนจรัญสนิทวงศ์ เป็นต้น อีกทั้งมีการร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดระเบียบสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้าให้เป็นระเบียบเรียบร้อย รวมระยะทาง 570 กิโลเมตร สำหรับแผนงานของปี 2568 มีเป้าหมายจัดระเบียบสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้า รวมระยะทาง 800 กิโลเมตร
ผังเมืองใหม่กรุงเทพฯ มุ่งประโยชน์สาธารณะ
ประชาชนกำลังให้ความสนใจเรื่องการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) เพราะวิถีชีวิตเปลี่ยนแปลงและความหนาแน่นของประชากรในกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้น จึงต้องพัฒนาและปรับปรุงเพื่อให้เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน มีพื้นที่สีเขียว ไม่มีสิ่งกีดขวางทางเท้า จัดการพื้นที่ให้เป็นระเบียบ ฯลฯ
สำหรับผังเมืองใหม่ ออกแบบโดยมุ่งเน้นประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ
ขณะนี้ กทม. อยู่ระหว่างดำเนินการในขั้นตอนรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทุกภาคส่วน ผ่าน 3 ช่องทางหลัก ได้แก่
▶️ เว็บไซต์สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร (https://cpudapp.bangkok.go.th/cityplandraft4)
▶️ ยื่นหนังสือด้วยตนเอง ณ สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร
▶️ ส่งหนังสือทางไปรษณีย์ไปยังสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร เลขที่ 45 ถนนมิตรไมตรี เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร 10400
เพื่อให้การรับฟังความคิดเห็นเป็นไปอย่างทั่วถึงและประชาชนได้มีระยะเวลาพิจารณา “การวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4)” อย่างรอบด้าน รวมถึงศึกษาผลกระทบที่ประชาชนจะได้รับ กทม. จึงได้ขยายเวลาการแสดงความคิดเห็นไปจนถึงวันที่ 30 สิงหาคม 2567
__________________________________
เรื่องโดย: กองบรรณาธิการ Bangkok news
อ่านบทความอื่น ๆ เพิ่มเติมที่ กทม.สาร ฉบับที่ 291
ได้ที่ https://links.bookkurry.com/bkk_news_issue_291
หรือสแกน QR CODE เพื่ออ่าน