“กรุงเทพฯ เมืองสุขภาพดี” ยกระดับชีวิตและสุขภาพคนกรุงเทพฯ
“ที่ผ่านมากรุงเทพมหานคร (กทม.) มักจะพูดแต่เรื่องรถติด น้ำท่วม ขยะ แต่จริง ๆ สิ่งที่เป็นปัญหาพื้นฐานของคนกรุงเทพฯ คือเรื่องการศึกษาและสาธารณสุข อันเป็นปัจจัยของความเหลื่อมล้ำของสังคมเมือง ซึ่งที่ผ่านมา งบประมาณไม่ได้ถูกนำไปใช้กับด้านสาธารณสุขมากนัก ทั้งที่ปี ๆ หนึ่งนั้น กทม. มีงบประมาณราว ๆ 80,000 ล้านบาท แต่กลับนำไปใช้ในเรื่องอื่น ๆ อาทิ การจัดการขยะ 10,000 ล้านบาท ในขณะที่งบประมาณสาธารณสุขมีเพียง 7,000 ล้านบาท คิดเป็น 8.8% ของงบประมาณทั้งหมดเท่านั้น ซึ่งยังไม่รวมกับเงินอุดหนุนของ สปสช. ที่ต้องเร่งให้มีการส่งเสริมสุขภาพให้กับชุมชน และเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขมากกว่านี้ ทำให้สาธารณสุขปฐมภูมิของเราเข้มแข็ง ไปพร้อม ๆ กับการพัฒนาสุขภาวะเมืองที่น่าอยู่อย่างยั่งยืน”
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเน้นย้ำความสำคัญของการพัฒนาสุขภาพของคนกรุงเทพฯ พร้อมการวางยุทธศาสตร์ของนโยบายด้านสุขภาพดี ที่ดำเนินการและพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมในการยกระดับบริการที่เชื่อมโยงไร้รอยต่อ ตั้งแต่ระดับเส้นเลือดฝอยให้เข้มแข็ง เพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพที่หลากหลายช่องทาง พัฒนาศักยภาพศูนย์บริการสาธารณสุข เพิ่มจำนวนศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ และศูนย์เวชศาสตร์เขตเมืองให้ครอบคลุม ภายใต้นวัตกรรมทางการพยาบาลและเทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมถึงส่งเสริมกิจกรรมรักษาสุขภาพประชาชนในทุกกลุ่ม เพื่อลดภาวะความเจ็บป่วยและสร้างสุขภาพดีทั้งร่างกาย จิตใจ และสังคม
กทม. เดินหน้าแผนขับเคลื่อน
“เมืองสุขภาพดี” เพื่อคนกรุงเทพฯ
นโยบายด้านสุขภาพดี เป็น 1 ในนโยบาย 9 ด้าน 9 ดีที่ กทม. ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้ประชาชนทุกระดับ ทุกกลุ่มมีโอกาสเข้าถึงบริการตั้งแต่ในระดับเส้นเลือดฝอย โดยมุ่งเน้นสนับสนุนและพัฒนากิจกรรมส่งเสริมสุขภาพชุมชนทุกกลุ่ม ยกระดับระบบสุขภาพปฐมภูมิและเครือข่ายสาธารณสุข เพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงการรักษาที่เชื่อมโยงไร้รอยต่อ และพัฒนานวัตกรรมการรักษาพยาบาล ผ่านการจัดระบบสาธารณสุขในพื้นที่กรุงเทพฯ ในรูปแบบเขตสุขภาพกรุงเทพมหานคร (Bangkok Health Zoning) 7 พื้นที่โซน เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนงานด้านสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น มุ่งเน้นพัฒนาบริการสาธารณสุขให้เข้าถึงง่าย การส่งเสริมสุขภาพคนเมือง และนำเทคโนโลยีสุขภาพเข้ามาประยุกต์ใช้เชื่อมต่อเครือข่ายระดับชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุข ชุมชน คลินิกชุมชนอบอุ่น ศูนย์บริการสาธารณสุข ไปจนถึงระดับโรงพยาบาลที่ให้บริการเฉพาะทาง เพื่อให้สามารถจัดสรรทรัพยากรเป็นระบบและตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน โดยเน้นการบูรณาการความร่วมมือในการดูแลรักษาผู้ป่วยแบบไร้รอยต่อ พัฒนารูปแบบการบูรณาการดูแลรักษา และเพิ่มช่องทางการบริการให้เข้าถึงง่ายผ่านการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ โดยแบ่งเป็น 4 ประเด็นการพัฒนา ได้แก่
⏺ สนับสนุนและพัฒนากิจกรรมส่งเสริมสุขภาพชุมชนทุกกลุ่ม
⏺ ยกระดับระบบสุขภาพปฐมภูมิและเครือข่ายสาธารณสุข
⏺ เพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่เชื่อมโยง ไร้รอยต่อ
⏺ พัฒนานวัตกรรมการรักษาพยาบาล
สำหรับทิศทางการขับเคลื่อนทั้ง 4 ประเด็นภายใต้นโยบาย “สุขภาพดี” รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดแผนการเดินหน้ายกระดับด้านสาธารณสุขเพื่อคนกรุงเทพฯ สุขภาพดีทั้งเมืองของ กทม. ในภาพรวมของการทำงานไว้ว่า “กทม. กำหนดแผนงานและโครงการสำคัญ ๆ ได้แก่ การพัฒนาบริการสุขภาพปฐมภูมิ ด้วยการเพิ่มการเข้าถึงบริการ เพิ่มหน่วยบริการด้านสาธารณสุข พัฒนาคุณภาพและศักยภาพการให้บริการ พร้อมกับเร่งพัฒนาเครือข่ายและเขตสุขภาพกรุงเทพมหานคร (Bangkok Health Zoning) ที่มีส่วนร่วมจากภาคประชาชน องค์กรเอกชน ในการดูแลสุขภาพ และเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพอย่างเป็นระบบ”
Bangkok Health Zoning หรือเขตสุขภาพกรุงเทพมหานคร เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาสาธารณสุขของ กทม. เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการเครือข่ายในพื้นที่โซนสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้ง่าย ถึงระดับเส้นเลือดฝอย อาทิ การปรึกษาปัญหาสุขภาพผ่านศูนย์สนับสนุนบริการสุขภาพเวชศาสตร์เขตเมือง (Urban Medicine Service Center: UMSC) ที่เปิดบริการแล้วในทุกโรงพยาบาล การพัฒนาเทคโนโลยีสุขภาพเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการอย่างไร้รอยต่อ เช่น บริการหมอถึงบ้านผ่านระบบ Telemedicine, การรับส่งต่อผู้ป่วยผ่านระบบ e-Referral ศูนย์เทคโนโลยีสุขภาพดี (Health Tech) ตลอดจนพัฒนาบริการการแพทย์ฉุกเฉินผ่านเครือข่ายบริการที่มีประสิทธิภาพ โดยเปิด บริการมอเตอร์ไซค์กู้ชีพฉุกเฉิน (Motorlance) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงผู้ป่วยได้รวดเร็วในพื้นที่แออัด หรือการจราจรติดขัด การพัฒนาประสิทธิภาพศูนย์ประสานและสั่งการ และ ยกระดับศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ (Excellent Center) สาขาโรคต่าง ๆ ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
อีกสิ่งหนึ่งที่ กทม. ให้ความสำคัญคือเรื่องข้อมูลและการเชื่อมโยงข้อมูลทั้งภายในและหน่วยงานในเครือข่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพ (Personal Health Record: PHR) และการเบิกจ่ายของหน่วยบริการทุกระดับในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผ่านระบบ Health Link เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการอย่างไร้รอยต่อ ลดความซ้ำซ้อนในการรักษา และจ่ายยาระหว่างหน่วยบริการ เพิ่มประสิทธิภาพการรักษา ยกระดับการบริการสุขภาพประชาชนตามนโยบายบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ โดยนำร่องเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพที่ Bangkok Health Zoning 3 (กรุงเทพใต้) ได้แก่ โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์, โรงพยาบาลเลิดสิน, โรงพยาบาลจุฬาภรณ์, ศูนย์บริการสาธารณสุข 17 แห่ง, คลินิกชุมชนอบอุ่น และร้านยา ที่ผ่านการรับรองจากสภาเภสัชกรรมและขึ้นทะเบียนกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ครอบคลุมพื้นที่ 10 เขต ได้แก่ ปทุมวัน สาทร บางรัก วัฒนา คลองเตย พระโขนง ยานนาวา ทุ่งครุ บางคอแหลม และราษฎร์บูรณะ โดยจะขยายผลต่อให้ครบทั้ง 7 โซนสุขภาพต่อไป เพื่อยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุขให้เข้าถึงง่าย กระจายทั่วกรุงเทพฯ
กทม. ยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุขให้เข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้ง่ายขึ้น โดยกระจายศูนย์บริการสาธารณสุขครอบคลุมครบ 50 เขต ขยายบริการนอกเวลาราชการเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการ ลดการส่งต่อผู้ป่วยที่ไม่จำเป็นโดยเพิ่มศักยภาพเป็นศูนย์บริการสาธารณสุขพลัส ให้มีเตียงสังเกตอาการ ดำเนินการไปแล้ว 11 แห่ง และเพิ่มบริการเบิกจ่ายตรง (กรมบัญชีกลาง) พร้อมกับการยกระดับคลินิกกายภาพบำบัดในศูนย์บริการสาธารณสุขเป็นศูนย์ส่งเสริมและฟื้นฟูสุขภาพ รวมไปถึงบริการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคที่ได้การตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างดีใน “โครงการตรวจสุขภาพล้านคน” และ “บริการเชิงรุกของหน่วยแพทย์และสาธารณสุขเคลื่อนที่”
นอกจากนี้ กทม. กำลังเร่ง ยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุขสาขาให้เป็น “ศูนย์แพทย์ชุมชนเมือง” ให้บริการตรวจรักษาโรคทั่วไป โดยในปี 2566 เปิดให้บริการแล้ว 6 แห่ง ส่วนปี 2567 นี้ มีแผนเปิดให้บริการอีก 6 แห่ง ดำเนินการไปแล้ว 4 แห่ง สำหรับปี 2568 เตรียมแผนการดำเนินงานเปิดเพิ่มอีก 6 แห่ง ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพคลินิกพิเศษในกลุ่มศูนย์บริการสาธารณสุข ให้เป็นเครือข่ายคลินิกรับส่งต่อเพื่อเพิ่มศักยภาพศูนย์บริการสาธารณสุข สามารถบริการรับ-ส่งต่อผู้ป่วย ให้บริการปรึกษาระหว่างแพทย์ผ่านระบบ Tele-consult ภายในกลุ่มศูนย์บริการสาธารณสุข เพื่อลดการส่งต่อผู้ป่วยไปโรงพยาบาล โดยมีคลินิกพิเศษเปิดให้บริการแล้ว 22 แห่ง มีผู้รับบริการรวม 8,128 คน
อีกทั้งเพิ่มหน่วยบริการสุขภาพ กำหนดเป้าหมายจัดหาหน่วยนวัตกรรม 7 ประเภทในกรุงเทพฯ รวม 3,000 แห่ง มีทั้งคลินิกเวชกรรม คลินิกทันตกรรม คลินิกกายภาพบำบัด คลินิกพยาบาลและการผดุงครรภ์ คลินิกการแพทย์แผนไทย คลินิกเทคนิคการแพทย์ และร้านเภสัชกรรม เพื่อให้บริการสาธารณสุขวิถีใหม่ ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนวิธีการให้บริการที่อำนวยความสะดวกให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาพยาบาลง่ายขึ้น ตลอดจนพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศบูรณาการข้อมูลเพื่อพัฒนาระบบส่งต่อผู้ป่วยระหว่างศูนย์บริการสาธารณสุขและโรงพยาบาลของ กทม. ผ่านระบบ e-Referral โดยการเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลผู้ป่วยระหว่างศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง กับโรงพยาบาลสังกัด กทม. ทั้ง 12 แห่ง ซึ่งสามารถลดระยะเวลาการรอคอยของผู้ป่วย ทำให้ทราบวันนัดหมายกับแพทย์ที่โรงพยาบาลปลายทางได้ภายใน 30 นาที
ส่งเสริมสุขภาพประชาชนทุกกลุ่ม
LGBTQI+
เพราะเล็งเห็นความสำคัญเรื่องสุขภาวะของประชาชนชาวกรุงเทพฯ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งการให้บริการทางการแพทย์ในกลุ่มนี้ ต้องมีความรู้และทักษะการให้คำปรึกษาเป็นอย่างมาก ที่ผ่านมา ในกรุงเทพฯ ยังมีความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพหลายประการ อีกทั้งมีความเสี่ยงในเรื่องสุขภาพ เช่น การซื้อฮอร์โมนกินเอง มีการตีตราและเลือกปฏิบัติ ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุข จึงได้ดำเนินงานตามนโยบายที่มีทั้งการเปิดคลินิกแบบครบวงจรในกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQI+) ภายใต้ชื่อคลินิกสุขภาพเพศหลากหลาย BKK Pride Clinic ที่ให้บริการปรึกษาและรักษาปัญหาสุขภาพทั้งด้านสุขภาพจิต ฮอร์โมน โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การผ่าตัดและศัลยกรรม โดยปี 2565 เปิดนำร่อง 5 แห่ง และขยายเพิ่มขึ้นปัจจุบันคลินิกสุขภาพเพศหลากหลาย (BKK Pride Clinic) ได้เปิดให้บริการ ในโรงพยาบาล 11 แห่ง ศูนย์บริการสาธารณสุข 20 แห่ง รวมเป็น 31 แห่งทั่วกรุงเทพฯ มีประชาชนผู้เข้าใช้บริการเฉพาะในปี 2567 มีจำนวนถึง 4,572 ราย (ข้อมูล ณ เดือนเมษายน 2567)
คนพิการ
ถือว่าเป็นกลุ่มเปราะบางทางสังคมที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลและพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างทั่วถึง กทม. จึงได้จัด บริการศูนย์บริการคนพิการแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service for Persons with Disabilities) ในโรงพยาบาลสังกัด กทม. 12 แห่ง โดยให้บริการตรวจประเมินและออกเอกสารรับรองความพิการ รับคำขอและออกบัตรประจำตัวคนพิการ บริการยื่นคำขอขึ้นทะเบียนรับเงินเบี้ยความพิการ พร้อมให้บริการด้านสุขภาพ การตรวจรักษา การฟื้นฟูสมรรถภาพ และจัดหาอุปกรณ์ช่วยเหลือคนพิการ รวมถึงให้คำปรึกษาเรื่องสิทธิและสวัสดิการ ประสานส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เช่น เงินสงเคราะห์ การปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย อาชีพ เป็นต้น โดยสามารถเข้ารับบริการ ณ โรงพยาบาล หรือนัดหมายผ่าน BFC ของแต่ละโรงพยาบาล อีกทั้งจัดบริการเชิงรุกจากการเยี่ยมบ้านผู้ป่วย ผู้พิการในชุมชน ของศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักอนามัย ซึ่งจะช่วยให้ผู้พิการสามารถเข้าถึงสิทธิสวัสดิการ ครอบคลุมทั่วถึง เท่าเทียมและสะดวกรวดเร็วขึ้น ทั้งนี้มีผู้มารับบริการออกบัตรประจำตัวคนพิการ ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2565-มิถุนายน 2567 จำนวนทั้งสิ้น 14,779 ราย และคนพิการมารับบริการยื่นคำขอขึ้นทะเบียนรับเงินเบี้ยความพิการ ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565-มิถุนายน 2567 จำนวน 2,090 ราย
ขณะเดียวกัน กทม. ได้จัดรถบริการรับ-ส่งโรงพยาบาล สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุที่ใช้รถวีลแชร์มารับบริการในโรงพยาบาลสังกัด กทม.ทั้ง 11 แห่ง เพื่ออำนวยความสะดวกในการมารับบริการ ลดค่าใช้จ่ายและลดปัญหาอุปสรรคในการเดินทาง ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขได้อย่างเท่าเทียม ซึ่งผู้รับบริการสามารถติดต่อจองรถรับ-ส่งคนพิการและผู้สูงอายุ กับเจ้าหน้าที่โดยตรงได้ทางโทรศัพท์ไปยังศูนย์ข้อมูล (UMSC) นอกจากนี้ ยังสามารถจองผ่านช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ ได้แก่ ไลน์แอดโรงพยาบาล หรือระบบ Easy Chat ทางแอปพลิเคชัน หมอ กทม. โดยโครงการนี้ได้ดำเนินการตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ปัจจุบันมียอดขอจองการใช้รถ จำนวน 1,232 ราย และให้บริการแล้วกว่า 1,000 ราย
ผู้สูงอายุ
ด้วยวันนี้ กรุงเทพฯ กลายเป็น “สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์” จากข้อมูลในปี 2566 พบว่า ในกรุงเทพฯ มีผู้สูงอายุในสัดส่วนสูงถึง 22.94% การส่งเสริมสุขภาพและการดูแลแบบองค์รวมกับกลุ่มก่อนวัยผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้สูงอายุ จึงเป็นสิ่งที่ กทม. ให้ความสำคัญผ่านกิจกรรมหรือโครงการต่าง ๆ อาทิ การเพิ่มสมาชิกชมรมผู้สูงอายุ ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 33,000 คน รวมถึงเปิดบริการคลินิกผู้สูงอายุครบวงจร จำนวน 81 แห่ง ให้บริการไปแล้วกว่า 52,000 คน และขยายเพิ่มเป็น 96 แห่งในปี 2567 พร้อมกับออกหน่วยเคลื่อนที่เชิงรุกตรวจถึงชุมชนด้วย Mobile Medical Unit รถตรวจสุขภาพเคลื่อนที่ การติดตามเยี่ยมบ้าน พัฒนาศักยภาพอาสาสมัครสาธารณสุข และผู้ดูแล Care Giver อย่างต่อเนื่อง การสนับสนุนผ้าอ้อมผู้ใหญ่สำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง จัดตั้งศูนย์เวชศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและดูแลประคับประคองในโรงพยาบาลสังกัด กทม. 6 แห่ง เพื่อให้ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่ต้องรับการฟื้นฟู และผู้ป่วยที่ต้องได้รับการดูแลแบบประคับประคอง ได้รับการดูแลรักษาต่อเนื่องอย่างเหมาะสมโดยทีมสหวิชาชีพ ลดภาวะบกพร่องการทำกิจวัตรประจำวัน ลดภาวะพึ่งพิง และเพิ่มคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้สูงอายุในระยะยาว รวมถึงการดูแลแบบประคับประคองที่เน้นการดูแลคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัวในระยะท้ายของชีวิต โดยบริการทั้งแบบ OPD และ IPD
สัตว์จร
ไม่ใช่เพียงแค่การดูแลประชาชน กทม. ยังให้ความสำคัญการจัดการประชากรสุนัขและแมวในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งระบบ ประกอบด้วย ต้นน้ำ ได้แก่ การขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยง การประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจและการปรับปรุง (ร่าง) ข้อบัญญัติฯ ซึ่งจะเป็นการป้องกันการปล่อยทิ้งสัตว์มีเจ้าของเป็นสัตว์จร, กลางน้ำ ได้แก่ การผ่าตัดทำหมันและฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า การแก้ไขปัญหาสุนัขและแมวจากเรื่องร้องเรียนในพื้นที่ ซึ่งเป็นการควบคุมการเพิ่มจำนวนและป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า, ปลายน้ำ ได้แก่ การบริหารจัดการสถานพักพิงและการอุปการะสัตว์จากศูนย์ควบคุมสุนัข (ประเวศ) เป็นการหาบ้านใหม่ให้สัตว์จรลดจำนวนสุนัขในศูนย์ฯ
ปัจจุบัน กทม. จัดหน่วยสัตวแพทย์ให้บริการจดทะเบียนสุนัขหมุนเวียนทั้ง 50 เขตและคลินิกสัตวแพทย์กรุงเทพมหานคร 8 แห่ง จัดระเบียบสัตว์จรผ่านการจัดการอย่างเป็นระบบร่วมกับภาคีเครือข่าย เช่น มูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย มูลนิธิรักษ์แมว มูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม กรมปศุสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยต่างๆ โดยในปีงบประมาณ 2566 กทม. ได้ทำหมันสุนัขและแมว รวมทั้งสิ้น 26,230 ตัว ฉีดวัคซีนป้องโรคพิษสุนัขบ้า รวมทั้งสิ้น 171,697 ตัว และในปีงบประมาณ 2567 ตั้งเป้าหมายทำหมันและ/หรือฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าร่วมกับเครือข่าย 200,000 ตัว แบ่งเป็นทำหมัน 35,000 ตัว ฉีดวัคซีน 165,000 ตัว เพื่อควบคุมการเพิ่มประชากรสัตว์พาหะนำโรคพิษสุนัขบ้า
ขณะเดียวกัน กทม. มี ศูนย์ที่ดูแลสุนัขและแมวจรจัด 2 แห่ง คือ ศูนย์ควบคุมสุนัขกรุงเทพมหานคร (ประเวศ) ซึ่งมิใช่แค่ศูนย์สัตว์จร แต่เป็นเหมือนบ้านน้องหมาน้องแมวชั่วคราว เพื่อหาครอบครัวสุดท้ายให้กับน้อง ๆ โดยศูนย์แห่งนี้สามารถรองรับได้ไม่เกิน 1,000 ตัว และศูนย์พักพิงสุนัข อุทัยธานี ซึ่งเป็นศูนย์ขนาดใหญ่รองรับหมาจรจัดได้ไม่เกิน 6,000 ตัว ปัจจุบันดูแลหมาจรประมาณ 2,000 ตัว ทั้งนี้ หากผู้ที่สนใจที่จะเลี้ยงสุนัขและแมว เปลี่ยนน้องสี่ขาที่ “รักร้าง” เป็น “รักคืนเรือน” สามารถขออุปการะได้ที่ศูนย์ควบคุมสุนัขกรุงเทพมหานคร (ประเวศ) ได้ ซึ่งเป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยลดจำนวนสัตว์จรในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยปัจจุบันมีผู้มารับน้องหมาไปอุปการะแล้ว 78 ตัว และน้องแมว 56 ตัว รวมจำนวนน้องหมาแมวที่มีบ้านใหม่แล้ว 134 ตัวโดยความร่วมมือจากภาคีเครือข่าย เช่น องค์กร SOS Animal Thailand ชมรมรักษ์สัตว์โอซีดี และสมาคมสงเคราะห์สัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์
ตรวจสุขภาพฟรี 1 ล้านคน
“การตรวจสุขภาพประจำปี” เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการป้องกันโรค เป็นสิทธิที่ประชาชนควรได้รับและเข้าถึงได้ง่าย เพื่อได้ทราบสถานะสุขภาพของตนเองและดูแลได้ถูกต้อง กทม. ได้ดำเนินนโยบายตรวจสุขภาพประชาชนทุกกลุ่มวัย เพื่อส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เพื่อให้ประชาชนและบุคลากร กทม. เข้าถึงบริการสุขภาพทั้งเชิงรับ ณ หน่วยบริการที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง โรงพยาบาล 12 แห่งสังกัด กทม. และเชิงรุกในพื้นที่ต่าง ๆ ในชุมชน โรงเรียน และห้างสรรพสินค้า โดยได้ดำเนินโครงการตรวจสุขภาพ 1,000,000 คน ตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2566 เป็นต้นมา ด้วยรายการตรวจสุขภาพครบตามอายุ-ความเสี่ยง ได้แก่ ประเมินน้ำหนัก ดัชนีมวลกาย ดูภาวะโภชนาการ วัดความดันโลหิต ประเมินความเสี่ยงเบาหวานและเจาะวัดค่าน้ำตาลในเลือด ประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ประเมินความเครียดและซึมเศร้า ประเมินการเจริญเติบโตและพัฒนาการในเด็ก ประเมินความจำ การทรงตัว กล้ามเนื้อและกระดูกในผู้สูงอายุ เอกซเรย์ปอด ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ วัดสายตาและตรวจจอประสาทตา ซึ่งดำเนินการตรวจคัดกรองสุขภาพไปแล้วกว่า 370,000 ราย เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ เกิดความตระหนักในการดูแลสุขภาพ ประชาชนสามารถเข้าถึงการตรวจคัดกรองสุขภาพเบื้องต้นซึ่งนำไปสู่การป้องกัน ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรค อีกทั้งคืนข้อมูลการตรวจสุขภาพให้แก่ประชาชนผ่านสมุดบันทึกสุขภาพดิจิทัล (Digital Health Book) ใน แอปพลิเคชัน หมอกทม. เพื่อสร้างความตระหนักในการดูแลตนเอง เพื่อให้มีสุขภาพแข็งแรง และมีสุขภาพอนามัยที่ดี
นอกจากนี้ ได้มีการปรับเปลี่ยนโปรแกรมการตรวจสุขภาพในรูปแบบใหม่ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2567 เป็นต้นไป โดยเพิ่มการตรวจประเมินการทำงานของไต ตับ ตรวจความเข้มข้นของเลือด และเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพเพิ่มเติมในส่วนพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ส่งผลต่อสุขภาพ เช่น สภาพแวดล้อมของที่อยู่อาศัย รูปแบบการเดินทางไปสถานที่ทำงาน การใช้บริการสถานพยาบาล เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความเสี่ยงต่อสุขภาพกับพื้นที่อยู่อาศัย ซึ่งจากข้อมูลภาวะสุขภาพของประชาชนในกรุงเทพฯ พบว่า 3 โรคคนเมืองที่สำคัญ ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และภาวะน้ำหนักเกิน โดยพบว่าประชาชนเป็นโรคความดันโลหิตสูง จำนวน 72,929 ราย (รายใหม่ 3,101 ราย) โรคเบาหวาน 39,757 ราย (รายใหม่ 2,134 ราย) และมีภาวะน้ำหนักเกิน 2,214 ราย
นอกจากนี้ ได้มีการคัดกรองด้านสุขภาพจิตและความเครียดในกลุ่มอายุ 15 – 60 ปีขึ้นไป โดยตรวจคัดกรองประเมินความเครียดและภาวะซึมเศร้าไปแล้วกว่า 370,000 คน ประชาชนส่วนใหญ่มีระดับความเครียดน้อย ร้อยละ 91.77 รองลงมาเครียดปานกลาง ร้อยละ 6.21 เครียดมาก ร้อยละ 1.08 และเครียดมากที่สุด ร้อยละ 0.94 ประชาชนมีความเสี่ยงภาวะซึมเศร้า ร้อยละ 6.18 เป็นต้น ซึ่งผลการวิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพของประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ จะนำไปสู่การวางแผนส่งเสริมสุขภาพให้เหมาะสมกับทุกกลุ่มวัย และยกระดับศักยภาพการเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึงและตอบโจทย์กับบริบทของเมือง อีกทั้งเชื่อมโยงกับข้อมูลสุขภาวะ ช่วยให้ กทม. ทำนโยบายและดำเนินมาตรการส่งเสริมสุขภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านต่าง ๆ ให้คนเมืองได้อีกด้วย
ทั้งนี้ ประชาชนทุกคนสามารถเข้ามาตรวจสุขภาพประจำปีได้ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงเดือนกันยายน 2567 สามารถตรวจสอบสถานที่ตรวจสุขภาพผ่านทาง https://healthmap.bangkok.go.th/ หรือ ศูนย์ UMSC ของทุกโรงพยาบาลในสังกัด กทม.
มุ่งพัฒนานวัตกรรมการรักษาพยาบาล
ในปี 2566 กทม. เพิ่มจำนวน Excellent Center (ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์) คือ ศูนย์โรคระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลสิรินธร พร้อมกันนี้ ยังได้ยกระดับศูนย์เวชศาสตร์เขตเมือง ดังนี้
⏺ ศูนย์โรคหัวใจ 3 แห่ง ณ โรงพยาบาลตากสิน โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ และโรงพยาบาลสิรินธร ซึ่งในปี 2567 วางแผนยกระดับเป็นศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ (Excellent Center) จำนวน 2 ศูนย์ คือ โรงพยาบาลตากสินและโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์
⏺ ศูนย์ Intermediate Care (IMC) 3 แห่ง ณ โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ และโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน
⏺ ศูนย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ 3 แห่ง ณ โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ และโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน
⏺ ศูนย์โรคสมองและหลอดเลือด ณ โรงพยาบาลสิรินธร
⏺ ศูนย์โรคไต ณ โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ฯ
⏺ ศูนย์โรคติดเชื้อและโรคอุบัติใหม่ 2 แห่ง ณ โรงพยาบาลสิรินธรและโรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ฯ
นอกจากนี้ กทม. วางแผนเปิดศูนย์เวชศาสตร์เขตเมืองโรคไม่ติดต่อ ที่โรงพยาบาลในสังกัด กทม. ทุกแห่ง
เปิดศูนย์ Health Tech ตรวจสุขภาพด้วยระบบดิจิทัล
สำหรับ ศูนย์เทคโนโลยีสุขภาพดี (Health Tech) คลินิกรูปแบบใหม่ที่ให้บริการตรวจสุขภาพพื้นฐานและตรวจเชิงรักษาแบบปฐมภูมิด้วยระบบดิจิทัล เป็นอีกรูปแบบหนึ่งในการให้บริการสุขภาพ เป็นการเพิ่มเครือข่ายหน่วยบริการใกล้บ้านและชุมชนผ่านเทคโนโลยี ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงง่าย ทั่วถึง และครอบคลุมแบบองค์รวม ตั้งแต่การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การดูแลรักษา ฟื้นฟูและดูแลต่อเนื่องอย่างเป็นระบบ รวดเร็ว สะดวกสบายใกล้บ้าน สามารถปรึกษาแพทย์ทางไกล ทราบผลได้อย่างรวดเร็ว ผ่าน Mobile Application โดยไม่ต้องไปโรงพยาบาล ปัจจุบัน เปิดให้บริการศูนย์ Health Tech ไปแล้ว 6 แห่ง ได้แก่ Health Tech Touch Building โดยโรงพยาบาลกลาง อาคารทัช, ตลาดธนบุรี สนามหลวง 2, ตลาดสิริเศรษฐนนท์ (ตลาดบางแค), วิคตอเรียการ์เด้นส์, สำนักงานเขตหนองแขม และซีคอน บางแค
นโยบายดูแล ช่วยเหลือ ผู้ป่วยฉุกเฉินเร่งด่วน
สำหรับการให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินของ กทม. นั้น ศูนย์เอราวัณ ได้แบ่งพื้นที่ดูแลและให้บริการเป็น 11 โซน โดยร่วมมือกับโรงพยาบาลนอกสังกัด กลุ่มอาสาสมัคร มีแม่ข่ายรับผิดชอบแต่ละโซน ในการให้บริการรถพยาบาลรับ-ส่งผู้ป่วยกรณีเหตุฉุกเฉินในพื้นที่ กทม. ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์เอราวัณ มีการแบ่งพื้นที่รับผิดชอบและหน่วยงานร่วมดูแลพื้นที่ 15 หน่วย อันเนื่องมาจากสภาพสังคมเมืองในกรุงเทพฯ ที่มีประชากรอาศัยหนาแน่น มีปัญหาการจราจรที่ติดขัดในชั่วโมงเร่งด่วน บางพื้นที่มีสภาพเป็นตรอก ซอยคับแคบ หากเกิดเหตุฉุกเฉินต้องช่วยเหลือผู้ป่วยจะใช้เวลานาน จึงสามารถเข้าถึงที่หมาย และบางครั้งไม่สามารถให้การรักษาพยาบาลได้ทันท่วงที
จึงได้เกิดการจัดบริการรถจักรยานยนต์ฉุกเฉินทางการแพทย์ (Motorlance) ในรูปแบบการให้บริการ 3 ลักษณะ ได้แก่ บริการทางการพยาบาล บริการดูแลผู้ป่วยอย่างเร่งด่วน และบริการผู้ป่วยฉุกเฉิน โดยทำงานร่วมกับศูนย์สนับสนุนบริการสุขภาพเวชศาสตร์เขตเมือง (UMSC) และ 1669 ในระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน โดยเข้าไปตรวจสอบเหตุ คัดกรอง ประเมินอาการ ดูแลผู้ป่วย ทำหัตถการที่บ้าน รวมถึงประเมินผู้ป่วยฉุกเฉินหรือบาดเจ็บ ให้การช่วยเหลือเบื้องต้นก่อนที่รถบริการการแพทย์ฉุกเฉินจะมาถึง เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการในสถานการณ์ฉุกเฉินเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถเข้าถึงผู้ป่วยกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน ผู้ป่วยติดเตียงหรือผู้พิการได้ในเวลาที่รวดเร็วขึ้น โดย กทม. มีรถ Motorlance ให้บริการจำนวน 50 คัน ให้บริการประชาชนไปแล้วกว่า 3,800 ครั้ง
กทม. เปิด 4 โรงพยาบาลใหม่
ขยายและครอบคลุมบริการด้านสาธารณสุข
ปัจจุบัน กทม. มีโรงพยาบาลในสังกัด จำนวน 11 แห่ง แต่ในหลายพื้นที่ยังไม่มีโรงพยาบาลของรัฐ ทำให้ประชาชนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชน หรือบางพื้นที่ไม่มีทั้งโรงพยาบาลของรัฐและเอกชน รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงการพัฒนาเพื่อขยายการบริการด้านสาธารณสุขของ กทม. ให้ครอบคลุม ด้วยการเปิด 4 โรงพยาบาลใหม่ ไว้ว่า
“ในพื้นที่เขตทุ่งครุมีการขยายตัวของประชาชนเพิ่มสูงขึ้น แต่ไม่มีโรงพยาบาลไม่ว่าจะของรัฐหรือเอกชน จึงต้องเพิ่มบริการสาธารณะที่หน่วยงานของรัฐจัดให้ โดยเฉพาะบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข เช่นเดียวกับเขตภาษีเจริญไม่มีโรงพยาบาลของรัฐเช่นกัน ทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงบริการด้านการแพทย์และการสาธารณสุขได้สะดวก นอกจากนี้ ยังพบด้วยว่า กลุ่มเขตกรุงเทพเหนือ (จตุจักร บางซื่อ ลาดพร้าว หลักสี่ ดอนเมือง สายไหม และบางเขน) ขาดโรงพยาบาลสังกัด กทม. จึงได้สร้างโรงพยาบาลแห่งใหม่ให้ครอบคลุมพื้นที่ดังกล่าว”
โครงการสร้าง 4 โรงพยาบาลแห่งใหม่สังกัด กทม. ได้แก่ โรงพยาบาลพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) วัดปากน้ำ (กรุงธนใต้) เปิดให้บริการผู้ป่วยนอกแล้ว ส่วนโครงการก่อสร้างโรงพยาบาลในเขตสายไหม ขนาด 120 เตียง โครงการก่อสร้างโรงพยาบาลในเขตดอนเมือง ขนาด 200 เตียง และโครงการก่อสร้างโรงพยาบาลในเขตทุ่งครุ ขนาด 60 เตียง อยู่ระหว่างการออกแบบและเสนอของบประมาณในการก่อสร้าง ซึ่งหากแล้วเสร็จสมบูรณ์ประชาชนจะได้รับบริการทางการแพทย์ ทั้งด้านการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค รักษาพยาบาล และฟื้นฟูสุขภาพอย่างมีประสิทธิภาพครอบคลุมพื้นที่
ผนึกกำลังภาคีเครือข่าย
สร้างสุขภาวะให้กรุงเทพฯ น่าอยู่
“เมือง” เปลี่ยนได้เพราะ “คุณ” การพัฒนากรุงเทพฯ จึงไม่ใช่แค่หน้าที่ของ กทม. เพียงภาคส่วนเดียว แต่เป็นหน้าที่ของทุกคน เช่นเดียวกับพลังภาคีเครือข่ายที่มีทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน ได้ให้การสนับสนุนและทำงานร่วมกับ กทม. มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเร่งเดินหน้ายกระดับชีวิตคนเมือง ให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน ครอบคลุม 50 เขต อาทิ การพัฒนาแผนบูรณาการสร้างเสริมสุขภาวะคนเมืองในพื้นที่กรุงเทพฯ ระยะ 5 ปี (ปี 2566-2570) เป็นแผน 5 ปี มุ่งเน้นบูรณาการสร้างเสริมสุขภาพเชื่อมโยงการดำเนินงานระหว่างกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ กทม. ใน 5 ระบบ ได้แก่ ระบบการจัดการข้อมูลกลาง ระบบสนับสนุนพื้นที่การทำงานร่วมกัน ระบบการสื่อสารสาธารณะ ระบบการติดตามประเมินผลเพื่อการพัฒนา และระบบการจัดการเรียนรู้ภาคีเครือข่าย
เช่นเดียวกับการร่วมมือระหว่าง กทม. กับสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) หรือ BDI ในโครงการจัดทำระบบดิจิทัลและเทคโนโลยีเพื่อเชื่อมโยงสุขภาพทั่วประเทศ (Health Information Exchange: Health Link) อาทิ ข้อมูลการรักษา การแพ้ยา การทำหัตถการของผู้ป่วย โดยเริ่มดำเนินการในพื้นที่นำร่องเมื่อเดือนพฤษภาคม 2567 และขยายผลต่อให้ครบทั้ง 7 โซนสุขภาพต่อไป
นอกจากนี้ กทม. ดำเนินโครงการที่บูรณาการร่วมกับหน่วยงาน และองค์กรด้านการดูแลรักษา และอำนวยความสะดวกในการใช้สิทธิรักษาพยาบาลของประชาชนกลุ่มเปราะบาง เช่น มูลนิธิช่วยการสาธารณสุขชุมชนในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์, มูลนิธิส่งเสริมและสนับสนุนกิจการสำนักอนามัย, มูลนิธิเขมไชย รสานนท์, กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ, กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.), มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนานโยบาย กรมกิจการเด็ก และเยาวชน, กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.), กองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน, กรมการขนส่งทางบก, สโมสรโรตารี, กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ, กรมสุขภาพจิต, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กระทรวงกลาโหม และหน่วยงานภาคเอกชน เช่น มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย มูลนิธิอิสรชน มูลนิธิกระจกเงา เป็นต้น
“ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา กทม. รุก รับ และปรับตัวเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนนโยบาย “สุขภาพดี” อย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม โดยเปิดพื้นที่ให้กับภาคีเครือข่ายเข้ามาร่วมในการพัฒนางานสาธารณสุขผ่านกลไกบริหารจัดการรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตและมีสุขภาพดี แม้เกิดการเจ็บป่วยก็ได้รับบริการสะดวกมากขึ้นทั้งในและนอกเวลาราชการ เพื่อตอบโจทย์กับความเป็นเมือง ประชาชนทุกช่วงวัยและทุกกลุ่มได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องและมีคุณภาพ ปลอดภัย ท้ายที่สุดเพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการสุขภาพในระยะยาวได้” รองผู้ว่าทวิดาฯ กล่าวทิ้งท้าย
__________________________________
เรื่องโดย: กองบรรณาธิการ Bangkok news
อ่านบทความอื่น ๆ เพิ่มเติมที่ ฺBangkok News (กทม.สาร) ฉบับที่ 292
ได้ที่ 👉 https://links.bookkurry.com/bkk_news_issue_292
หรือสแกน QR CODE เพื่ออ่าน