TOP

“กรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่” Bangkok Learning City พัฒนาเมืองสู่สังคมแห่งการเรียนรู้อย่างยั่งยืน ยกระดับการศึกษา พัฒนาฝีมือแรงงาน

กรุงเทพมหานคร (กทม.) มีวิสัยทัศน์ในการสร้างกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้สำหรับทุกคนอย่างเป็นรูปธรรมมาโดยตลอด มุ่งเน้นดูแลตั้งแต่เด็กปฐมวัย การพัฒนาการศึกษาภาคบังคับสำหรับเด็กวัยเรียน ไปจนถึงการพัฒนาทักษะอาชีพสำหรับวัยรุ่น วัยทำงาน ไปจนถึงวัยสูงอายุ และในปีนี้ กรุงเทพฯ ยังได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ของ UNESCO (UNESCO Global Network of Learning Cities-GNLC) ในงาน Bangkok Read & Learn Festival ที่จัดขึ้นเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา 

 

เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคนไม่มีทางจะเกิดขึ้นได้ ถ้าเราไม่เรียนรู้ที่จะปรับตัวและพัฒนา เพราะฉะนั้นหัวใจสำคัญคือพวกเราทุกคนในกรุงเทพฯ ต้องร่วมมือกัน สำหรับนโยบาย Learning for Life, Opportunities for All เมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับทุกคน ในวิสัยทัศน์ของ กทม. นั้น เกี่ยวข้องกับหลายมิติ เช่น การดูแลเด็กปฐมวัย การศึกษาภาคบังคับ การพัฒนาทักษะอาชีพ การเรียนรู้ตลอดชีวิต ทุกที่ ทุกเวลา ล้วนเป็นหัวใจในการเดินหน้านโยบายนี้ นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้น เรายังคงต้องทำงานอีกยาวไกล ขอบคุณ UNESCO ภาคีเครือข่าย และผู้เกี่ยวข้อง ขอให้ร่วมกันเดินหน้าต่อไปเพื่อกรุงเทพฯ” คำกล่าวส่วนหนึ่งของ นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในงาน BKK Read & Learn Festival ณ สวนป่าเบญจกิติ 

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีเมืองที่ได้รับการประกาศเป็นสมาชิกเครือข่ายระดับโลกด้านเมืองแห่งการเรียนรู้ รวม 10 เมือง ได้แก่ เชียงราย (เป็นสมาชิกเมื่อปี 2562) เชียงใหม่ ภูเก็ต ฉะเชิงเทรา (เป็นสมาชิกเมื่อปี 2563) สุโขทัย พะเยา หาดใหญ่ (เป็นสมาชิกปี 2565) และสมาชิกล่าสุดในปี 2567 คือ กรุงเทพฯ ขอนแก่น และยะลา

 

ร่วมภาคีเครือข่ายขับเคลื่อน

5 Primary Areas 

พัฒนาเมืองสู่ Bangkok Learning City : Learning for Life, Opportunities for All

กทม. ตอบโจทย์การเรียนรู้ทุกมิติ สร้างกรุงเทพฯ สู่ Bangkok Learning City : Learning for Life, Opportunities for All เมืองแห่งการเรียนรู้ทุกที่ ทุกเวลา ตลอดชีวิต ภายใต้หลักการ Learning for Life และ Opportunities for All โดยได้หารือกับหน่วยงานสนับสนุน ภาคีเครือข่าย เพื่อเดินหน้าขับเคลื่อนเมืองร่วมกัน โดยกำหนด 5 Primary Areas ได้แก่

(1) พัฒนาการเด็กปฐมวัย (Early Childhood Development)

(2) การศึกษาภาคบังคับ (Compulsory Education)

(3) การพัฒนาทักษะอาชีพ (Vocational Skills Development)

(4) การเรียนรู้เพื่อทุกคน ทุกที่ ทุกเวลา (Lifelong learning for All, Anywhere, Anytime)

(5) การมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาเมือง (Participation of Youth and Citizens in Urban Development) 

สำหรับการพัฒนาเด็กปฐมวัย กทม. มีเป้าหมายเพิ่มการดูแลเด็กก่อนวัยเรียน (0-6 ปี) ให้มากขึ้น จากปัจจุบันมีเด็กก่อนวัยเรียนตามทะเบียนราษฎร์ในกรุงเทพฯ 284,677 คน อยู่ในความดูแลของ กทม. 83,264 คน จะเพิ่มอีก 20,000 คน ผ่านชั้นเรียนอนุบาลโรงเรียนสังกัด กทม. 429 แห่ง ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียน 271 แห่ง สถานรับเลี้ยงเด็กกลางวัน 12 แห่ง และศูนย์เด็กเล็กน่าอยู่คู่นมแม่ 8 แห่ง 

ในส่วนการศึกษาภาคบังคับได้พัฒนาจากห้องเรียนแบบเก่าเป็นห้องเรียนดิจิทัล (Digital Classroom) ที่ทันสมัย ตอบโจทย์ผู้เรียน มีความสนุกสนาน กระตุ้นการพัฒนาทางด้านวิชาการ และความคิดสร้างสรรค์ให้แก่เด็ก ๆ รวมทั้งยกระดับคุณภาพการศึกษาผ่านการจัดการศึกษาแบบ Active และ PBL เช่น Unplug Coding, Blockly, Scratch, Data Science, AI, Robotics และหลักสูตรฐานสมรรถนะที่เน้นการจัดการตนเอง การสื่อสาร การทำงานเป็นทีม การคิดขั้นสูง การเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง และการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน 

 

ส่วนการพัฒนาทักษะอาชีพ กทม. ดูแลทั้งด้านการ Reskill คือการเปิดให้เรียนรู้ทักษะอาชีพใหม่ที่แตกต่างเพื่อไปสร้างอาชีพใหม่ได้ ด้านการ Upskill ก็ได้เปิดการเรียนรู้เพื่อเพิ่มทักษะในการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมไปถึง New Skill อันเป็นการเรียนรู้เพื่อสร้างอาชีพให้เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน 

สุดท้ายที่สำคัญ คือ การส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ทุกที่ ทุกเวลา (Lifelong learning for All, Anywhere, Anytime) ซึ่งไม่ได้จำกัดการเรียนรู้แค่เพียงเด็กวัยเรียนภายในห้องเรียนเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นได้ทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็นศูนย์เยาวชน ศูนย์นันทนาการ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ห้องสมุด บ้านหนังสือ พิพิธภัณฑ์ แกลเลอรี สวนสาธารณะ และภายในชุมชน โดยขณะนี้ กทม. มีการนำร่องในพื้นที่เขตคลองเตย เขตปทุมวัน และเขตพระนคร ซึ่งได้รับความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ และภาคประชาสังคม ในการผลักดันให้เกิดกิจกรรมและการพัฒนาต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรม

 

มุ่งพัฒนาโรงเรียนปฐมวัยให้พร้อมทุกด้าน

ปีนี้เป็นปีการศึกษาแรกที่ กทม. ขยายการรับเด็กอนุบาลตั้งแต่อายุ 3 ขวบ เพื่อเดินหน้านโยบายด้านการศึกษาที่เน้นย้ำช่วงปฐมวัย เพราะเป็นหัวใจสำคัญของการเข้าสู่ระบบการศึกษา โดยหากสามารถจัดการเรียนการสอนในระดับปฐมวัยได้ดี ให้เด็กมีโอกาสแลกเปลี่ยนจินตนาการ ได้ลองฝึกทำ ได้สนุกสนานกับสิ่งใหม่ ๆ ร่วมกับการได้รับโภชนาการที่ดี จะทำให้เด็กมีร่างกายแข็งแรงและพร้อมข้ามไปสู่ระดับประถมศึกษา ในปี 2567 กทม. จึงออกแบบโรงเรียนปฐมวัยต้นแบบ ณ โรงเรียนวิชากร เขตดินแดง เพื่อเตรียมความพร้อมและส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการทั้งร่างกาย จิตใจ และสังคม ถือเป็นอีกความตั้งใจหนึ่งของ กทม. ในการร่วมสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพสำหรับเมืองและประเทศต่อไป 

 

ยกระดับการพัฒนาเด็กปฐมวัยรอบด้าน

สู่พื้นฐานพลเมืองคุณภาพ

จากการประชุมคณะอนุกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กเล็กปฐมวัยระดับจังหวัดในกรุงเทพฯ กทม. เดินหน้านโยบายที่สอดคล้องแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2564 – 2570 ที่เชื่อมโยงกับแผนปฏิบัติงานด้านเด็กปฐมวัยของหน่วยงานในพื้นที่กรุงเทพฯ ประกอบด้วย นโยบายด้านเด็กปฐมวัย 3 ด้าน ภายใต้วิสัยทัศน์ “เด็กปฐมวัยทุกคนได้รับการพัฒนาอย่างรอบด้านเต็มศักยภาพ เป็นพื้นฐานของความเป็นพลเมืองคุณภาพ” 

(1) เด็กปฐมวัยทุกคนต้องได้รับการพัฒนารอบด้านอย่างมีคุณภาพเต็มศักยภาพ

(2) การพัฒนาเด็กตามข้อ (1) ต้องจัดให้เป็นระบบและมีความสัมพันธ์ระหว่างกัน บูรณาการที่ชัดเจนระหว่างหน่วยงานราชการและไม่ใช่ราชการ ระหว่างวิชาชีพที่สัมพันธ์กับการพัฒนาเด็กปฐมวัย และระหว่างระดับต่าง ๆ ของการบริหารราชการแผ่นดินจากระดับชาติ ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ตามลำดับ

(3) รัฐและทุกภาคส่วนต้องร่วมกันระดมทรัพยากรให้เพียงพอต่อการพัฒนาเด็กปฐมวัย

 

 

4 นโยบายพัฒนา

“โรงเรียน-ครู-หลักสูตร-ผู้ปกครอง”

ที่ผ่านมา กทม. ให้ความสำคัญและเดินหน้านโยบายด้านการศึกษา จัดสรรงบประมาณมาพัฒนาโรงเรียน ครู หลักสูตรการเรียนการสอน และปรับปรุงกระบวนการต่าง ๆ ที่เชื่อว่าการพัฒนาเมืองสู่โลกยุคใหม่นั้น Learning สำคัญกว่า Education เนื่องจาก Learning คือ การเรียนรู้ด้วยตัวเอง เรียนในสิ่งที่อยากเรียน แต่ Education คือ การเรียนรู้จากสิ่งที่ถูกเตรียมไว้ให้ ซึ่งเป็นหลักสูตรพื้นฐานที่จำเป็น แต่เนื่องจากการใช้ชีวิตในโลกอนาคต เด็กต้องอยู่ได้ในโลกที่ต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง หน้าที่ของ กทม. จึงต้องสร้างห้องเรียนให้เกิดการ Learning มากขึ้น เพื่อให้เด็กนำไปขยายผลต่อยอดได้ 

สำหรับ 4 นโยบายด้านพัฒนาการศึกษา ได้แก่

▪️ เดินหน้าพัฒนาด้านกายภาพและโรงเรียน เช่น ห้องคอมพิวเตอร์ ห้องเรียน ลานกีฬา ห้องน้ำ ต้องดีมีความพร้อม 

▪️ พัฒนาศักยภาพของ “ครู” ที่ผ่านมา ครูต้องเสียเวลาทำงานด้านเอกสารหรือทำเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับการเรียนของนักเรียน กทม. จึงมีนโยบาย “คืนครูให้กับนักเรียน” โดยให้มีเจ้าหน้าที่ธุรการมาช่วย และปรับเรื่องวิทยฐานะให้ง่ายขึ้นสำหรับครู

▪️ พัฒนาหลักสูตรให้ทุกโรงเรียนมีคุณภาพใกล้เคียงกัน เพื่อให้เด็กอยากเรียนใกล้บ้าน ไม่ต้องแข่งขันเข้าเรียนโรงเรียนดัง แก้ปัญหาสังคมในมิติอื่น ๆ เช่น เด็กมีเวลาอยู่กับพ่อแม่มากขึ้น ลดปัญหาการจราจร ฯลฯ

▪️ พัฒนาผู้ปกครองให้เป็นส่วนหนึ่งในระบบการเรียนรู้ของเด็ก สร้างกิจกรรมให้ผู้ปกครองมีเวลาอยู่กับเด็กมากขึ้น

 

เพิ่มโอกาสตลาดแรงงาน ฝึกอาชีพคนเมือง

กทม. พัฒนาคนเพื่อนำไปสู่การพัฒนาเมือง ผ่านโรงเรียนฝึกอาชีพกรุงเทพมหานคร เพื่อฝึกอาชีพให้คนเมือง ส่งเสริมให้มีความรู้ ความสามารถ และมีทักษะในการประกอบอาชีพ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในนโยบายหลักของ กทม. ด้านการส่งเสริมและช่วยเหลือประชาชนให้มีโอกาสในการสร้างรายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 

โรงเรียนฝึกอาชีพของ กทม. จึงเป็นอีกแหล่งเรียนรู้ สร้างทักษะ สร้างอาชีพ สร้างรายได้แก่ประชาชน และที่สำคัญ เมื่อเรียนจบมีใบประกาศรับรองการฝึกอาชีพเพื่อใช้ในการสมัครงานหรือการประกอบธุรกิจส่วนตัวได้ ปัจจุบัน โรงเรียนฝึกอาชีพ กทม. มีอยู่ 10 แห่ง ที่มีการเปิดสอนหลักสูตรมากกว่า 200 หลักสูตร ครอบคลุม 6 สาขาวิชา ให้ได้เลือกเรียนตามความชอบ ความถนัด และความเหมาะสมของแต่ละบุคคล โดยทั้ง 6 หลักสูตร ได้แก่

(1) หลักสูตรอุตสาหกรรม

(2) หลักสูตรพาณิชยกรรม

(3) หลักสูตรคหกรรม

(4) หลักสูตรศิลปกรรม

(5) หลักสูตรอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

(6) หลักสูตรเทคโนโลยีสารสนเทศ

การรับสมัครของโรงเรียนฝึกอาชีพ กทม. สามารถสมัครได้ที่โรงเรียนฝึกอาชีพแต่ละแห่ง โดยใช้เพียงบัตรประจำตัวประชาชน หรือสมัครออนไลน์ก็ได้ที่ http://www.bmatraining.ac.th/ มีค่าใช้จ่ายในการสมัคร 105 บาท ทุกหลักสูตร (ยกเว้นหลักสูตรคอมพิวเตอร์ ซ่อมคอมพิวเตอร์ นวดสปา และนวดไทย ค่าสมัคร 305 บาท)  มีการเรียนการสอนทั้งหมด 3 ภาคเรียนต่อปี

▪️ ภาคเรียนที่ 1 รับสมัครเดือนเมษายน เปิดเรียนช่วงเดือนพฤษภาคม

▪️ ภาคเรียนที่ 2 รับสมัครเดือนสิงหาคม เปิดเรียนช่วงเดือนกันยายน

▪️ ภาคเรียนที่ 3 รับสมัครเดือนพฤศจิกายน เปิดเรียนช่วงเดือนธันวาคม

 

🌐 ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.bmatraining.ac.th

☎️ หรือกลุ่มงานการศึกษาอาชีพ สำนักงานการส่งเสริมอาชีพ สำนักพัฒนาสังคม โทร. 0 2248 6190

นอกจากนี้ กทม. เร่งพัฒนาศูนย์ฝึกอาชีพ 5 แห่ง และโรงเรียนฝึกอาชีพ กทม. ทั้ง 10 แห่ง ในด้านกายภาพและภูมิทัศน์ โดยในปี 2567 มีแผนการปรับปรุงโรงเรียนฝึกอาชีพ กทม. 3 แห่ง ได้แก่ รงเรียนฝึกอาชีพ กทม. (ดินแดง 1) เขตดินแดง, โรงเรียนฝึกอาชีพ กทม. (หลวงพ่อทวีศักดิ์ฯ) เขตหนองแขม และโรงเรียนฝึกอาชีพ กทม. (ประเวศ) เขตประเวศ 

 

ส่วนปี 2568  กำหนดแผนปรับปรุงโรงเรียนฝึกอาชีพ กทม. (หนองจอก) และโรงเรียนฝึกอาชีพ กทม. (ดินแดง 2) พร้อมทั้งจัดแข่งขันทักษะฝีมือในหมวดวิชาช่างต่าง ๆ จัดโครงการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานเพื่อยกระดับมาตรฐานอาชีพ รวมถึงสนับสนุนให้นักเรียนฝึกอาชีพในหลักสูตรต่าง ๆ อาทิ การตัดขนสุนัขและการตัดผม ได้เข้าร่วมการแข่งขันทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ ขณะเดียวกัน โรงเรียนฝึกอาชีพ กทม. ทั้ง 10 แห่ง ได้เผยแพร่ผลงานของนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาด้วยการจัดงานวิชาการประจำปีของแต่ละโรงเรียน เพื่อสร้างช่องทางประชาสัมพันธ์ผลงานของนักเรียนให้ผู้ที่สนใจได้เข้าชมผลงาน และเป็นการต่อยอดด้านอาชีพให้แก่นักเรียนที่สำเร็จการศึกษาอีกทางหนึ่ง

 

สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ แก่คนพิการ

กทม. มีนโยบายในการสร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ และพัฒนาคุณภาพชีวิตแก่คนพิการให้สามารถพึ่งพาตนเอง ด้วยการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมทักษะอาชีพสำหรับคนพิการกรุงเทพมหานคร จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนฝึกอาชีพกรุงเทพมหานคร (หนองจอก) และโรงเรียนฝึกอาชีพกรุงเทพมหานคร (อาทร สังขะวัฒนะ) เพิ่มความรู้ด้านทักษะอาชีพได้อย่างทั่วถึง ให้คนพิการได้รับความรู้ในการประกอบอาชีพ เป็นการเพิ่มรายได้ และพัฒนาคุณภาพชีวิต ด้วยการเรียนการสอน 5 หลักสูตร ได้แก่

(1) หลักสูตรการผลิตเห็ดเพื่อการค้า

(2) หลักสูตรการออกแบบเว็บไซต์

(3) หลักสูตรคอมพิวเตอร์เบื้องต้น

(4) หลักสูตรเครื่องดื่มตามสมัยนิยม (บาริสตาเบื้องต้น)

(5) หลักสูตรการเพาะต้นอ่อนพืชออร์แกนิก

 

พัฒนาย่านสร้างสรรค์กรุงเทพฯ สู่เมืองเศรษฐกิจ

การพัฒนาย่านสร้างสรรค์ในกรุงเทพฯ เป็นโครงการหนึ่งในนโยบายของ กทม. ในการดึงอัตลักษณ์ สร้างเศรษฐกิจ 50 ย่านทั่วกรุงเทพฯ ตามบริบทของพื้นที่ ทั้งกายภาพ ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ สังคม วิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และความชำนาญเฉพาะด้าน มาเป็นตัวเชื่อมให้เกิดการมีส่วนร่วมและความรู้สึกเป็นเจ้าของของคนในชุมชน อันเป็นปัจจัยสำคัญในการต่อยอดความสำเร็จในการพัฒนาสังคมและชุมชนที่ยั่งยืน

สำหรับปี 2567 กทม. ดำเนินโครงการย่านสร้างสรรค์แล้ว 30 ย่าน ดังนี้ 1. ย่านคลองสาน เขตคลองสาน 2. ย่านกะดีจีน เขตธนบุรี 3. ย่านตลาดพลู เขตธนบุรี 4. ย่านวังเดิม เขตบางกอกใหญ่ 5. ย่านนางเลิ้ง เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย 6. ย่านตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ 7. ย่านตลาดริมคลองเจริญกรุง 103 เขตบางคอแหลม 8. ย่านชุมชนพูนบำเพ็ญ เขตภาษีเจริญ 9. ย่านบางลำพู เขตพระนคร 10. ย่านถนนสายไม้บางโพ เขตบางซื่อ 11. ย่านคลองประเวศบุรีรมย์ เขตประเวศ 12. ย่านตลาดเก่า หัวตะเข้ เขตลาดกระบัง 13. ย่านคลองลำไทร เขตหนองจอก 14. ย่านเจริญรัถ เขตคลองสาน 15. ย่านบางขุนศรี เขตบางกอกน้อย 16. ย่านบางอ้อและบางพลัด เขตบางพลัด 17. ย่านค้าไม้ หลังวัดสระเกศ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย 18. ย่านทรงวาด เขตสัมพันธวงศ์ 19. ย่านสะพานปลากรุงเทพ เขตสาทร 20. ย่านรักษ์ทะเล เขตบางขุนเทียน 21. ย่านอารีย์ เขตพญาไท 22. ย่านบ้านครัว เขตราชเทวี 23. ย่านปากคลองตลาด เขตพระนคร 24. ย่าน Little India Bangkok เขตพระนคร 25. ย่านร้านหนังสือพระนคร เขตพระนคร 26. ย่านสรงประภา เขตดอนเมือง 27. ย่านลาซาล เขตบางนา 28. ย่านหัวลำโพง เขตปทุมวัน 29. ย่านเกาะแก้วแฟชั่นสตรีท เขตสายไหม และ 30. ย่านตลาดน้ำสะพานสูง เขตสะพานสูง

สำหรับการดำเนินงาน กทม. ร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและกลุ่มภาคีเครือข่าย ภาคประชาชน ประชาสังคม มหาวิทยาลัย หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ซึ่งโครงการพัฒนาย่านสร้างสรรค์กระตุ้นเศรษฐกิจ มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดอัตลักษณ์ของย่านที่ชัดเจน สร้างการจดจำให้นักท่องเที่ยวและผู้มาเยือน เป็นย่านสร้างสรรค์ต้นแบบ สามารถขยายผลไปสู่การจัดย่านสร้างสรรค์ในพื้นที่อื่น ๆ รวมถึงส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน เช่น การจัดการท่องเที่ยววิถีชุมชน ตลาดนัดวัฒนธรรม ถนนคนเดิน เพื่อให้ชุมชนได้ตระหนักว่า การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ต้องเริ่มต้นและขับเคลื่อนโดยประชาชนซึ่งเป็นส่วนสำคัญ ในการสร้างความร่วมมือและการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ เพื่อช่วยกันขับเคลื่อนย่านสร้างสรรค์ให้เกิดความยั่งยืนต่อไป

 

คลิกอ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ eBook กทม.สาร 

👇

https://links.bookkurry.com/bkk_news_issue_293

 

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด