TOP

กทม. เดินหน้าภารกิจ ‘กรุงเทพฯ เมืองยั่งยืนและน่าอยู่สำหรับทุกคน’

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงวิสัยทัศน์ ‘กรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน’ ตามแนวทางการพัฒนาสู่การเป็นเมืองยั่งยืนว่า “การพัฒนาเมืองให้เติบโตอย่างยั่งยืน ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ต้องมีความยั่งยืนในชีวิตของประชาชนด้วยเช่นกัน” ซึ่งปัญหาด้านคุณภาพชีวิต อาทิ ปัญหาจราจร ระบบโครงสร้าง สิ่งแวดล้อม พื้นที่สีเขียวที่จำกัด และความเหลื่อมล้ำทางสังคม เป็นโจทย์สำคัญในการแก้ไขที่ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และพัฒนาสู่ความยั่งยืนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเป้าหมายสำคัญในปี 2570 คือ ‘กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่ 1 ใน 50 อันดับแรกของโลก’

ที่ผ่านมา กรุงเทพมหานคร (กทม.) ให้ความสำคัญกับโครงการที่ประชาชนจับต้องได้ เช่น ระบบจัดการขยะ ที่ กทม. ส่งเสริมการแยกขยะในกลุ่มผู้ประกอบการที่มีขยะมาก ดังกรณีศึกษา ตลาดมหานาคที่สามารถแยกขยะเศษอาหารได้ 7.83 ตันต่อวัน สามารถส่งต่อให้สำนักงานเขตดุสิตนำไปทำปุ๋ยอินทรีย์ หรือระบบระบายน้ำที่ กทม. ได้ลอกท่อไปแล้วกว่า 4,000 กิโลเมตร ทำให้น้ำระบายเร็วขึ้น และปรับปรุงจุดเสี่ยงน้ำท่วมไปกว่า 700 จุดทั่วกรุงเทพฯ อีกทั้งยังประสานความร่วมมือกับภาคเอกชนพัฒนาศูนย์กีฬา การปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียว รวมไปถึงการดูแลกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ กทม. ที่มีอยู่จำนวนมาก ด้วยการเปิด Food Bank จำนวน 50 แห่ง ทุกสำนักงานเขต ทำให้กรุงเทพฯ เดินหน้าสู่เมืองยั่งยืนมากขึ้น

 

เพิ่มพื้นที่สีเขียวอย่างยั่งยืนให้กรุงเทพฯ

ช่วงเวลาที่ผ่านมา หากให้ยกตัวอย่างการพัฒนาอย่างยั่งยืนของ กทม. ที่เห็นได้ชัดเจน คือ การเปลี่ยนโรงงานยาสูบจากโรงงานขนาดใหญ่ใจกลางเมืองสู่สวนเบญจกิติ หนึ่งในสวนสาธารณะที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ เปรียบเสมือนปอดของคนเมืองที่ทุกคนสามารถใช้บริการได้ ซึ่งนอกจากสวนสาธารณะขนาดใหญ่ กทม. ยังมีโครงการสวน 15 นาที ที่มีเป้าหมายให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงสวนสาธารณะใกล้บ้านได้ด้วยการเดินเท้าในระยะเวลาประมาณ 15 นาที

 

Kick Off แผนยุทธศาสตร์ความยั่งยืน 8 ด้าน   

สำหรับโครงการเดินหน้าพัฒนากรุงเทพฯ สู่ความยั่งยืนนั้น กทม. มุ่งเน้นการเปลี่ยนแปลงในทุกมิติ ผ่านแผนยุทธศาสตร์ 8 ด้าน ที่ออกแบบมาเพื่อเป็นพลังขับเคลื่อนให้เมืองก้าวสู่อนาคตที่ยั่งยืน ได้แก่

▶️ ลดปริมาณขยะที่นำไปฝังกลบ จัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง พร้อมส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน

▶️ คุณภาพอากาศของกรุงเทพฯ อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน มีการเฝ้าระวัง ติดตั้งระบบแจ้งเตือน ลดต้นตอและที่มาของฝุ่น 5 ป้องกันผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมที่มีต่อสุขภาพของประชาชน

▶️ สัดส่วนพื้นที่สีเขียวต่อจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น เพิ่มต้นไม้พร้อมเผยแพร่วิธีการดูแลต้นไม้ใหญ่

▶️ การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

▶️ การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีการนำพลังงานสะอาดมาใช้ทดแทน

▶️ จัดการน้ำเสียในชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ วางแผนรับมือน้ำท่วม และให้ประชาชนเข้าถึงน้ำสะอาดได้

▶️ ประชาชนใช้ระบบขนส่งมวลชนแทนการใช้รถยนต์ส่วนตัวมากขึ้น

▶️ บริหารจัดการและเศรษฐกิจสีเขียว ส่งเสริมความร่วมมือเพื่อให้มีการจัดการความยั่งยืนของกรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่องและส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือจากทุกภาคส่วนอย่างเป็นรูปธรรม

 

ยุทธศาสตร์ความยั่งยืน 8 ด้านดังกล่าว ไม่เพียงสร้างการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืนเท่านั้น แต่ยังเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับคุณภาพชีวิตคนกรุงเทพฯ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดย กทม. ได้แต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินการด้านความยั่งยืนของ กทม. โดยเฉพาะ เพื่อให้การขับเคลื่อนสู่เป้าหมายด้านการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ

 

ชวนผู้ประกอบการร่วมแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5

ลงทะเบียนบัญชีสีเขียว

ทุก ๆ ปี คนกรุงเทพฯ ยังต้องประสบปัญหาค่าฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐานและอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะในช่วงอากาศหนาวที่ความกดอากาศต่ำ ซึ่ง กทม. เตรียมความพร้อมรับมือปัญหาดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง และยังเพิ่มความเข้มงวดในการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง เพื่อบรรเทาความรุนแรงของสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ด้วยการส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน

ในช่วงปลายปี 2567 ถึงต้นปีนี้ กทม. เดินหน้าโครงการใหม่ ชวนผู้ประกอบการนำรถบรรทุกขนาด 6 ล้อขึ้นไป ลงทะเบียนบัญชีสีเขียว กระตุ้นผู้ประกอบการขนส่งนำรถบรรทุกตั้งแต่ 6 ล้อขึ้นไป เข้าสู่กระบวนการบำรุงรักษาตามมาตรฐานสิ่งแวดล้อม และลงทะเบียนในระบบให้สอดคล้องกับมาตรการเขตมลพิษต่ำ (Low Emission Zone) ในกรุงเทพฯ เป็นการช่วยลดฝุ่น PM 2.5 ที่ไม่ใช่แค่วันที่ค่าฝุ่นสูง แต่ช่วยลดฝุ่นได้ในทุก ๆ วัน

 

นำร่อง GreenWin

พาพี่วินแว้นรถไฟฟ้าลดมลพิษ PM2.5

เนื่องจากจำนวนรถจักรยานยนต์รับจ้างในกรุงเทพฯ มีเกือบ 100,000 คัน และด้วยปัญหาฝุ่น PM2.5 ส่วนใหญ่มาจากเครื่องยนต์ของรถยนต์สันดาป รวมถึงรถจักรยานยนต์ ฉะนั้น กทม. จึงเปิดโครงการ ‘GreenWin (วินเขียว กทม.)’ ร่วมกับบริษัท สตรอม (ไทยแลนด์) จำกัด และภาคีเครือข่าย เพื่อรณรงค์ให้ผู้ขับขี่เปลี่ยนมาใช้รถจักรยานยนต์พลังงานไฟฟ้า เพื่อช่วยกันทำให้อากาศในกรุงเทพฯ ดีขึ้น และในระยะแรก บริษัท สตรอมฯ มอบรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า EZZYWIN รุ่น Panther จำนวน 20 คัน ให้กับโครงการนี้เพื่อนำไปทดลองใช้และเก็บข้อมูลเบื้องต้น โดยเป้าหมายระยะยาว คือ การเปลี่ยนรถจักรยานยนต์ในระบบวินจักรยานยนต์ให้กลายเป็น GreenWin ภายในระยะเวลา 5 ปี หากโครงการนี้สำเร็จจะสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 161,205 ตันต่อปี คิดเป็นการปลูกต้นไม้กว่า 15 ล้านต้นต่อปี

 

ทุกหน่วยงานสังกัด กทม.

มีแผนงานเพื่อความยั่งยืนของเมือง

“กทม. จัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมคนเดียวไม่ได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคประชาชน ภาควิชาการ ภาคเอกชน และชุมชน ทุกฝ่ายล้วนมีความสำคัญ” นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงแนวทางการพัฒนากรุงเทพฯ สำหรับการทำงานของ กทม. ไม่ได้มีเพียงสำนักสิ่งแวดล้อมที่เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนสู่เมืองยั่งยืนภายใต้กรอบการทำงาน 4 ด้าน ได้แก่ ขยะ คุณภาพอากาศ เสียง และพื้นที่สีเขียวเท่านั้น แต่ยังมีหน่วยงานระดับสำนักอีก 16 สำนัก มีแผนงานด้านความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ สำนักการจราจรและขนส่ง เดินหน้าแผนงานป้องกันมลพิษหรือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ล้วนมาจากภาคการขนส่ง เช่นเดียวกับสำนักการระบายน้ำที่ดูแลจัดการเรื่องการจัดตั้งโรงบำบัดน้ำเสีย ฯลฯ

 

โครงการส่งเสริมการจัดทำคาร์บอนฟุตพรินต์

ตั้งเป้าสำเร็จ BMA Net Zero

กทม. เปิดตัว ‘โครงการส่งเสริมการจัดทำคาร์บอนฟุตพรินต์’ ของสำนักงานเขตประจำปีงบประมาณ 2568 ด้วยการเสริมสร้างความรู้ด้านการทำคาร์บอนฟุตพรินต์ขององค์การแก่ข้าราชการและบุคลากรของสำนักงานเขต 50 เขต โดยให้องค์กรบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ชี้แจงแนวทางการจัดทำคาร์บอนฟุตพรินต์ขององค์กร ในประเด็นก๊าซเรือนกระจก การกักเก็บก๊าซเรือนกระจก การจัดทำรายงานการปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกของหน่วยงาน

ในปีงบประมาณ 2567 ที่ผ่านมา มีสำนักงานเขต 14 เขต ได้รับการประเมินผลงานอยู่ในระดับดีเยี่ยม ได้แก่ เขตคลองสาน เขตจตุจักร เขตทวีวัฒนา เขตทุ่งครุ เขตบางกอกน้อย เขตบางคอแหลม เขตบางนา เขตบางบอน เขตบางพลัด เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตพระนคร เขตยานนาวา เขตหลักสี่ และเขตห้วยขวาง

 

ทั้งนี้ การคำนวณค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือการจัดทำคาร์บอนฟุตพรินต์ของ กทม. จัดทำขึ้นเพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปกำหนดมาตรการหรือดำเนินงานโครงการลดก๊าซเรือนกระจกตามนโยบาย ‘คาร์บอนควบคุมได้ กทม. ปลอดคาร์บอน’ หรือ BMA Net Zero ต่อไป

 

👉 อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ eBook กทม.สาร: https://links.bookkurry.com/bkk_news_issue_294

 

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด