TOP

ขับเคลื่อนการท่องเที่ยว เชื่อมย่านสร้างสรรค์ ยกระดับเมืองเศรษฐกิจดี

กรุงเทพมหานคร (กทม.) มุ่งหน้าพัฒนา ‘ย่านสร้างสรรค์’ อย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้เป็นประโยชน์ต่อชุมชนทั้งด้านการท่องเที่ยวและการอยู่อาศัย ผ่านการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ตามแนวทางพัฒนาย่านของ กทม. ครอบคลุมตั้งแต่สิ่งแวดล้อม ทางเท้า สวนสาธารณะ ความสะอาด ฯลฯ พร้อมเป็นสื่อกลางในการจัดกิจกรรมและประชาสัมพันธ์ ‘ย่านสร้างสรรค์’ ทุกย่านให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง รวมไปถึงการพัฒนาอย่างต่อเนื่องที่ไม่ใช่แค่สร้างย่านให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว แต่ยังได้วางแผนเชื่อมต่อกับพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อให้เกิดการพัฒนาร่วมกันทั้งระบบ ส่งผลให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคนอย่างยั่งยืน

 

และนี่คือตัวอย่างผลงาน 3 ย่านสร้างสรรค์ที่ กทม. พัฒนาโครงสร้างเชื่อมย่าน ดึงอัตลักษณ์สร้างเศรษฐกิจดี ตามแนวทางที่เห็นผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม

 

เชื่อมย่านคลองโอ่งอ่าง – บางลำพู

(คลองรอบกรุง)

‘ย่านคลองโอ่งอ่าง – บางลำพู’ เป็นพื้นที่สำคัญที่เชื่อมโยงย่านเศรษฐกิจอื่น ๆ ไว้ด้วยกัน โดยเชื่อมโยงกับปากคลองตลาดต่อเนื่องไปยังย่านคลองสานฝั่งธนบุรี เชื่อมโยงกับคลองผดุงกรุงเกษมและถนนข้าวสารด้วยเช่นกัน ตามแผนแม่บทการพัฒนาคลองรอบกรุงที่ กทม. ร่วมกับประชาชนและภาคีเครือข่ายดำเนินการดังนี้

1.พัฒนาสวนสาธารณะใต้สะพานพระปกเกล้า

เป็นจุดเชื่อมโยงสวนลอยฟ้าเจ้าพระยา (สะพานด้วน) เข้ากับพื้นที่สีเขียวแห่งใหม่ เป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางเดินริมคลอง (อยู่ระหว่างการดำเนินงาน คาดว่าแล้วเสร็จในปี 2570)

2.ต่อยอดทางเดินริมคลองโอ่งอ่าง

จากเดิมเส้นทางสิ้นสุดที่สะพานดำรงสถิต กทม. ดำเนินการให้ต่อเนื่องออกไปจนถึงป้อมมหากาฬ เพื่อเปิดประตูเชื่อมต่อระหว่างคลองโอ่งอ่างและบางลำพู

3.พัฒนาทางเดินริมคลองบางลำพู

อยู่ระหว่างการสำรวจและออกแบบทางเดินริมคลองเพื่อเชื่อมต่อพื้นที่สาธารณะให้ประชาชนสามารถใช้สอยร่วมกันได้ (คาดว่าเริ่มดำเนินการในปี 2569) โดยยังได้ปรับปรุงภูมิทัศน์ร่วมกับเอกชน ทาสีอาคารตลอดแนวคลองบางลำพู ซึ่งแล้วเสร็จเป็นบางช่วง

4.จัดกิจกรรมที่แสดงออกถึงอัตลักษณ์ของย่าน

อาทิ ลอยกระทงดิจิทัล ตักบาตรทางน้ำ รวมไปถึงกิจกรรม Toys Festival ที่สื่อถึงตัวตนของผู้ประกอบการภายในย่านคลองโอ่งอ่างที่เคยขายของเล่นในพื้นที่ (สะพานเหล็กเดิม) เป็นต้น

 

เชื่อมย่านเยาวราช สำเพ็ง ทรงวาด

จักรวรรดิ และตลาดน้อย

‘ย่านเยาวราช สำเพ็ง ทรงวาด จักรวรรดิ และตลาดน้อย’ หรือ ‘ย่านไชน่าทาวน์’ เป็นพื้นที่ต่อเนื่องจากริมคลองโอ่งอ่างและทางเดินริมคลองผดุงกรุงเกษม บริเวณริมซ้ายสุดและขวาสุดของย่านที่ กทม. ได้ปรับปรุงไว้แล้ว และยังมีระบบขนส่งสาธารณะ คือ รถไฟฟ้า MRT สถานีหัวลำโพง สถานีวัดมังกร และสถานีสามยอด ทำให้เข้าถึงย่านนี้ได้สะดวกยิ่งขึ้น ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่เป็นจำนวนมาก

กทม. มีแนวคิดพัฒนาเครือข่ายการเชื่อมต่อย่านเศรษฐกิจที่สำคัญ ระหว่างคลองโอ่งอ่างและคลองผดุงกรุงเกษม เพื่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจยิ่งขึ้น ต่อยอดย่านท่องเที่ยวสำคัญ และกระจายรายได้เพิ่มเติมให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่ด้วย 2 ภารกิจ ได้แก่

1.การปรับปรุงทางเดินทางเท้า

อาทิ ถนนเยาวราช ถนนจักรวรรดิ ถนนผดุงด้าว ถนนมังกร ถนนทรงวาด ถนนเจริญกรุง ถนนทรงสวัสดิ์ ถนนลำพูนไชย ถนนสุกร 1-2 ถนนโยธา ตรอกโรงโคม ริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณตลาดน้อย ไปจนถึงหลังคาทางเดินถนนวานิช 1 และตลาดเล่งบ๋วยเอี๊ยะ แต่ละโครงการมีระยะเวลาแล้วเสร็จมาตั้งแต่ช่วงกลางปี 2567 ต่อเนื่องไปจนถึงปี 2570

2.การพัฒนาพื้นที่สาธารณะ ประกอบด้วย 2 โครงการ ดังนี้

โครงการสะพานคนเดินข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา อยู่ระหว่างการออกแบบรายละเอียดและประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

โครงการท่าน้ำเผยอิง อยู่ระหว่างการออกแบบรายละเอียด คาดว่าแล้วเสร็จในปี 2570

 

เชื่อมย่านตลาดพลูสู่แหล่งท่องเที่ยววิถีชุมชน

มนต์เสน่ห์ของ ‘ตลาดพลู’ หรือ ‘ตลาดรัชดาภิเษก (เดิม)’ และชุมชนในละแวกใกล้เคียง ถือเป็นพื้นที่วิถีชุมชนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่สอดคล้องกับโครงการพัฒนาย่านสร้างสรรค์ ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก เกิดเป็นเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน ที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ ในภาพรวม เช่น การจัดการท่องเที่ยววิถีชุมชน ตลาดนัดวัฒนธรรม ถนนคนเดิน ฯลฯ ภายใต้การพัฒนาโดยชุมชนเป็นเจ้าของ และตระหนักรู้ถึงการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

เนื่องจาก ‘ตลาดพลู’ เป็นตลาดเก่าแก่ที่ทำการค้ามาอย่างยาวนานกว่า 37 ปี จนทำให้โครงสร้างเดิมชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา กทม. จึงได้ปรับปรุงตลาดให้ดูทันสมัย มีเอกลักษณ์เฉพาะ มีสิ่งอำนวยความสะดวก สภาพแวดล้อมดีตามมาตรฐานของตลาด ด้านแผงค้าขายปรับปรุงและจัดทำพื้นแบบ Epoxy (ยางสังเคราะห์) ปรับปรุงระบบรางระบายน้ำ ระบบไฟฟ้า ระบบประปา ระบบบำบัดน้ำเสีย และการบริหารจัดการขยะ เพื่อให้ตลาดถูกหลักสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม มีรูปแบบตลาดสวยงาม ที่ กทม. ต้องการยกระดับให้เป็นตลาดทางเลือกใหม่สำหรับประชาชน ตอบสนองความต้องการผู้บริโภค

พร้อมชูจุดเด่นอาหาร Take Home (ซื้อกลับบ้าน) ดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติ ด้วยแผงค้าขายภายในกว่า 100 แผงค้า ปัจจุบัน กทม. ดำเนินการปรับปรุงตลาดพลูแล้วเสร็จตามวัตถุประสงค์ของโครงการ โดยวางแผนนำเข้ารับการคัดเลือกให้เป็น Premium Market ของ กทม. ต่อไป กลายเป็นอีกย่านสร้างสรรค์ที่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่ น่าเที่ยวของทุกคน

อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ eBook กทม.สาร

👇

https://links.bookkurry.com/bkk_news_issue_295

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด