TOP

กทม. ให้ยาแรงแก้วิกฤตฝุ่น PM2.5

จากสถานการณ์วิกฤตฝุ่น PM2.5 พบว่าระดับค่าคุณภาพอากาศเกินมาตรฐานอยู่ระดับสีส้มไปทั้งเมืองในบางวัน ส่วนบางวันก็อยู่ระดับเหลือง ซึ่งถือเป็นระดับปริมาณฝุ่นละอองในอากาศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพทั้งสิ้น ที่ผ่านมากรุงเทพมหานคร (กทม.) เฝ้าระวัง ติดตาม และแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ก่อนเข้าสู่ฤดูกาลฝุ่น PM2.5 และขณะเกิดสถานการณ์วิกฤต คอลัมน์ Bangkok Report รวบยอดมาตรการจัดการปัญหาฝุ่น PM2.5 ไปดูกันว่า…กทม. มีมาตรการแก้ไขปัญหาอย่างไรบ้าง

 

‘ประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ’

มาตรการยาแรงป้องกันและแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5

กทม. ใช้มาตรการยาแรง ‘ประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ’ ช่วงวิกฤตฝุ่น PM2.5 โดยสำนักงานเขตต่าง ๆ ออกประกาศดังกล่าวในพื้นที่เขต เมื่อปริมาณฝุ่น PM2.5 สูงเกินมาตรฐาน (สำนักอนามัยกำหนดแนวทางประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ เมื่อในพื้นที่มีค่าความเข้มข้นของฝุ่นละออง PM2.5 มากกว่า 75 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรขึ้นไป เพื่อควบคุมและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเป็นแนวทางให้กับสำนักงานเขตปรับใช้ร่วมกับมาตรการทางกฎหมาย) เช่น สำนักงานเขตหนองจอก สำนักงานเขตทวีวัฒนา และสำนักงานเขตบางกอกใหญ่ ออกประกาศกำหนดพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ พร้อมลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบ นอกจากนี้ หลายสำนักงานเขตได้ออกประกาศเพื่อขอความร่วมมือในการเฝ้าระวัง ควบคุม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาในพื้นที่เช่นกัน

สำหรับพื้นที่ใดมี ‘ประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ’ ก็จะถูกห้ามไม่ให้นำรถเครื่องยนต์ดีเซลที่มีค่าควันดำเกินมาตรฐานมาใช้งานบนท้องถนน ห้ามเผาในที่โล่ง ให้ปฏิบัติตามมาตรการลดฝุ่นละอองจากกิจกรรมการก่อสร้างอย่างเคร่งครัด และให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันฝุ่นละอองและควบคุมการระบายฝุ่นละอองจากแหล่งกำเนิด ไม่ให้เกินมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด หากผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือนหรือปรับไม่เกินสองหมื่นห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 74 แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการสาธารณสุข (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2560

มาตรการสู้ฝุ่น

1.กทม.Low Emission Zone (LEZ) เขตมลพิษต่ำ ห้ามรถบรรทุกเข้าพื้นที่เมืองชั้นใน จำกัดโซนการวิ่งรถบรรทุก 6 ล้อขึ้นไป ที่ไม่ลงทะเบียนบัญชีสีเขียว ห้ามเข้าพื้นที่วงแหวนรัชดาภิเษก โดยใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ควบคุมรถเข้าพื้นที่ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ปัจจุบันมีรถลงทะเบียนบัญชีสีเขียวกว่า 38,000 คัน

2.โครงการรถคันนี้ลดฝุ่น เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม 2567 กทม. ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ร่วมลดค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง/ไส้กรอง เพื่อช่วยเหลือประชาชนในภาวะเศรษฐกิจไม่ดี โดยมีรถเข้าร่วมแล้ว 260,752 คัน จากเป้าหมาย 500,000 คัน

3.ห้องเรียนปลอดฝุ่น โรงเรียนในสังกัด กทม. ทุกโรงเรียนปรับปรุงให้มีห้อง Safe Zone เป็นห้องใหญ่ที่มีการติดตั้งเครื่องปรับอากาศและเครื่องฟอกอากาศ สำหรับห้องเรียนปลอดฝุ่นของนักเรียนชั้นอนุบาล ปรับปรุงแล้วเสร็จ 744 ห้อง

4.เครือข่าย Work From Home (WFH) มีหน่วยงานภาคส่วนต่าง ๆ เข้าร่วมเป็นภาคีเครือข่าย WFH ประมาณ 155 บริษัท เป็นอีกโครงการหนึ่งที่ภาคเอกชนมีส่วนร่วมเพื่อลดปัญหาฝุ่นจากการจราจรและการใช้รถใช้ถนน

5.รถอัดฟางให้ยืมฟรี กทม. มีโครงการสนับสนุนเครื่องอัดฟางให้เกษตรกรยืมใช้ฟรี เพื่อลดการเผาวัสดุทางการเกษตรและช่วยลดต้นทุนให้เกษตรกร โดยดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีเกษตรกรจองใช้งานแล้ว 2,000 – 3,000 ไร่ จากเขตหนองจอกและเขตคลองสามวา

6.สนับสนุนทีมฝนหลวงช่วยลดฝุ่น ด้วยปฏิบัติการลดฝุ่นในพื้นที่กรุงเทพฯ ช่วงต้นปี ทั้งการสเปรย์น้ำปรับลดอุณหภูมิ และการโปรยน้ำแข็งแห้ง ซึ่ง กทม. สนับสนุนทีมฝนหลวงทั้งเรื่องรับบริจาคน้ำแข็งแห้ง และประสานเรื่องพื้นที่การบินในกรุงเทพฯ

7.เปิดช่องทางร้องเรียน แจ้งการเตือนฝุ่นทาง Traffy Fondue ที่มีเมนูสำหรับให้แจ้งเรื่องฝุ่น เรื่องจุดเผา เรื่องรถควันดำโดยเฉพาะ และทาง Line Alert ที่แจ้งเตือนเมื่อมีวิกฤต ให้ประชาชนรับรู้ทันท่วงที

8.การพยากรณ์ฝุ่น ที่แม่นยำขึ้นมาก มีแอปพลิเคชัน Air BKK ที่พัฒนามาหลายเวอร์ชัน คาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นได้ล่วงหน้าหลายวัน

9.ตรวจฝุ่นที่ต้นตอ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 จนถึงปัจจุบัน กทม. ตรวจแหล่งกำเนิดฝุ่น เช่น โรงงาน 236 แห่ง ตรวจแล้วกว่า 14,600 ครั้ง แพลนต์ปูน 105 แห่ง ตรวจแล้วกว่า 2,400 ครั้ง สั่งปิดไป 17 แห่ง เป็นต้น

10.ปรับปรุงการจราจร กทม. สนับสนุนให้ใช้การเดินทางที่ไม่สร้างมลพิษ ทั้งใช้จักรยาน Bike Sharing ปรับปรุงทางเท้าให้ดี เป้าหมาย 1,000 กิโลเมตร ดำเนินการไปแล้ว 800 กิโลเมตร รวมถึงการจราจรบนถนนที่ใช้ระบบ AI มาช่วยควบคุมมากขึ้น หากการจราจรดีขึ้นก็มีส่วนช่วยให้การสะสมของฝุ่นน้อยลง

11.เพิ่มพื้นที่สีเขียว ตามโครงการปลูกต้นไม้ล้านต้น ปลูกไปแล้วกว่า 1 ล้าน 2 แสนต้น โดยขยายเป้าหมายเป็น 2 ล้านต้น เป็นโครงการที่ไม่เห็นผลในวันนี้ แต่อนาคตจะเป็นร่มเงาและคอยดักฝุ่นให้เมืองกรุง รวมถึงจัดทำสวน 15 นาที ที่ กทม. ดำเนินการมาโดยตลอดเช่นกัน

อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ eBook กทม.สาร

👇

https://links.bookkurry.com/bkk_news_issue_295

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด