TOP

พิบัติภัย ‘แผ่นดินไหว’ กทม. ผนึกกำลังกู้ชีพ กู้ภัย สร้างความมั่นใจให้ประชาชน

เหตุแผ่นดินไหวเมื่อเวลา 13.20 น. ของวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่มีศูนย์กลางอยู่เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา ขนาด 8.2 ได้ส่งแรงสั่นสะเทือนเป็นบริเวณกว้างมาถึงประเทศไทยหลายพื้นที่รวม 63 จังหวัด มีพื้นที่ได้รับความเสียหาย 18 จังหวัด รวมถึงพื้นที่กรุงเทพฯ สร้างความเสียหายและความสูญเสียครั้งสำคัญของประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะเหตุการณ์อาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ความสูง 30 ชั้น ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง พังถล่มจนทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนหนึ่ง รวมถึงอาคารสูงอีกหลายแห่งได้รับความเสียหายทั่วกรุงเทพฯ และยังเกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมาอีกหลายครั้ง ซึ่งภัยแผ่นดินไหวยังคงเป็นภัยธรรมชาติ ที่ยังไม่สามารถพยากรณ์ล่วงหน้าได้ ทำให้ประชาชนเกิดความวิตกกังวลถึงความปลอดภัยในการใช้ชีวิตต่อจากนี้

จากเหตุการณ์ดังกล่าว พื้นที่กรุงเทพฯ ถูกประกาศให้เป็นเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยระดับ 2 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สั่งการให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) จัดตั้ง ‘ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์กรุงเทพมหานคร’ เพื่อรายงานสถานการณ์แผ่นดินไหว และตั้ง War Room ทำงานตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อรับมือและบรรเทาเหตุการณ์ นอกจากนี้ ยังได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานต่างประเทศอย่างเต็มที่ เพื่อคลี่คลายสถานการณ์โดยเร็วที่สุด

 

เดินหน้าค้นหาผู้สูญหาย

ใต้ซากอาคารอย่างเต็มที่

หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว ปฏิบัติการกู้ภัยและค้นหาผู้สูญหายของทุกหน่วยงานในพื้นที่เกิดเหตุเร่งเดินหน้าต่อเนื่องอย่างเต็มที่ โดยนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ พญ.วันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานคร ร่วมลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดพร้อมจัดระบบบัญชาการเพื่อบูรณาการการทำงานกับทุกภาคส่วน

ทุกฝ่ายเร่งปฏิบัติการโดยใช้ทั้งเครื่องมือนานาชนิดและผู้เชี่ยวชาญสแกนค้นหาสัญญาณชีพ โดยต้องทำงานแข่งกับเวลา แต่เนื่องจากในพื้นที่มีทีมและหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาช่วยเหลือในภารกิจนี้จำนวนมากกว่า 20 หน่วยงาน จึงจำกัดจำนวนเจ้าหน้าที่ เพื่อให้ภารกิจเป็นไปอย่างปลอดภัย ถูกต้อง แม่นยำ และง่ายต่อการเข้าปฏิบัติงานตามความเชี่ยวชาญของแต่ละหน่วยงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ

สำหรับกรณีที่ กทม. ถูกตั้งคำถามถึงการทำงานล่าช้า ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครให้คำตอบว่า “เนื่องจากการทำงานเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ที่รอดชีวิต และผู้ที่เข้าไปปฏิบัติหน้าที่เป็นสำคัญ ต้องทำงานอย่างระมัดระวังให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ทีมทำงานเร่งดำเนินการหน้างาน อุปกรณ์พร้อม เจ้าหน้าที่พร้อม แต่ด้วยความยากและข้อจำกัดในการเข้าพื้นที่ คือ การกำหนดจุดของผู้ที่รอดชีวิตต้องใช้เครื่องมือสแกน ถ้าเป็นที่ราบสามารถนำสุนัข K9 เข้าไปยืนยันได้ แต่ด้านบนซากอาคาร สุนัข K9 เข้าไปยืนยันได้ยาก วิธีการ คือ ต้องนำคนขึ้นกระเช้าเครน 8 คน ปฏิบัติงานได้ครั้งละ 20 นาที และอุปสรรคอีกอย่าง คือ การรื้อถอนโครงสร้างต่าง ๆ จากการประมาณการเบื้องต้น มีซากปรักหักพังทั้งหมดประมาณ 15,000 ลูกบาศก์เมตร คิดเป็นประมาณกว่า 40,000 ตัน คาดว่าการรื้อย้ายต้องใช้เวลา 30 – 60 วัน” ทั้งนี้ พื้นที่ปฏิบัติการด้านในมีผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ ส่วนพื้นที่ด้านนอกโดยรอบมีผู้อำนวยการเขตจตุจักรเป็นผู้ดูแล สำหรับญาติของผู้ประสบภัยอาคารถล่ม สำนักงานเขตจตุจักรจัดพื้นที่พักคอยด้านนอกเพื่อความปลอดภัย

 

เปิดสวนสาธารณะ 5 แห่ง ตลอด 24 ชั่วโมง

ในวันเกิดเหตุแผ่นดินไหวที่ผู้คนอพยพออกจากอาคารสูงมาอยู่ด้านล่างเต็มท้องถนน ทำให้การจราจรติดขัดอย่างหนัก รถสาธารณะบางส่วนหยุดให้บริการ ประชาชนตกค้าง ไม่สามารถเดินทางกลับที่พักได้ กทม. จึงเปิดสวนสาธารณะ 5 แห่ง ตลอด 24 ชั่วโมง ได้แก่ สวนลุมพินี สวนเบญจสิริ สวนเบญจกิติ สวนจตุจักร และสวนสันติภาพ ให้ประชาชนได้เข้าไปพักชั่วคราว พร้อมให้บริการรถน้ำดื่มและรถสุขาเข้าไปเพิ่มเติมด้วย เพื่อรอการจราจรคลี่คลาย รอการตรวจสอบอาคาร และเพื่อให้สบายใจก่อนกลับเข้าสู่ที่พักอาศัย ซึ่งมีประชาชนใช้บริการสวนทั้ง 5 แห่งเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สารวัตรทหาร (สห.) รวมถึงเทศกิจดูแลรักษาความปลอดภัย เพื่อให้ประชาชนอุ่นใจ

 

เปิดศูนย์พักพิงชั่วคราวและศูนย์พักคอยญาติ

กทม. เปิด ‘ศูนย์พักพิงชั่วคราวและศูนย์พักคอยญาติ’ จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ ศูนย์พักพิง ณ ศูนย์บริการผู้สูงอายุดินแดง รองรับได้ 70 คน ศูนย์พักพิง ณ โรงเรียนวัดเสมียนนารี รองรับได้ 150 คน และศูนย์พักคอยญาติผู้ประสบภัย เขตจตุจักร  อีกทั้ง กทม. จับมือ Airbnb.org จัดหาที่พักชั่วคราว โดยไม่มีค่าใช้จ่ายสูงสุด 14 วัน ให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวในกรุงเทพฯ และสนับสนุนที่พักชั่วคราวโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย 7,000 คืน มียอดรวมการลงทะเบียนกับ Airbnb แล้ว จำนวน 612 ครัวเรือน (ข้อมูล ณ วันที่ 4 เมษายน 2568)

 

เร่งตรวจสอบอาคารสูง

หลังจากนายกรัฐมนตรีพร้อมคณะรัฐมนตรีเดินทางมายังศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ กทม. เพื่อประชุมสรุปความคืบหน้าสถานการณ์แผ่นดินไหวจากหลายภาคส่วน แล้วจึงสั่งการให้เร่งตรวจสอบอาคาร สิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ โดยแบ่งการตรวจสอบอาคารที่ได้รับผลกระทบเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

▶️ กลุ่มอาคารภาครัฐ หน่วยงานราชการ และอาคารสาธารณะต่าง ๆ ตรวจสอบโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย

▶️ กลุ่มอาคารเอกชน 9 ประเภทตามบัญชีของ กทม. เช่น โรงแรม คอนโดมิเนียม ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ฯลฯ เนื่องจากตามกฎหมายต้องมีการตรวจสอบอาคารโดยผู้ตรวจสอบที่เป็นวิศวกรทุกปีอยู่แล้ว ดังนั้น กรมโยธาฯ จึงประชาสัมพันธ์ให้เจ้าของอาคารแจ้งให้ผู้ตรวจสอบอาคารของโครงการลงพื้นที่เข้าตรวจสอบ ซึ่งหากไม่เพียงพอหรือบริษัทผู้ตรวจสอบไม่พร้อม ทางกรมโยธาฯ มีบัญชีผู้ตรวจสอบอาคารที่ขึ้นทะเบียนไว้ประมาณ 2,600 ราย สามารถดำเนินการส่วนนี้ร่วมกับ กทม. ได้

▶️ กลุ่มอาคารและบ้านเรือนประชาชน ตรวจสอบความเสียหายด้วยตัวเองก่อนแจ้ง Traffy Fondue

มีรายงานสถานการณ์จากศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ กทม. ว่า ภาพรวมอาคารส่วนใหญ่อยู่ในสภาพที่ไม่มีความเสียหายรุนแรง อาจพบรอยร้าวตามอาคารบ้าง ซึ่ง กทม. ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนแจ้งเข้ามาใน Traffy Fondue เพื่อให้ทีมวิศวกรอาสาเข้าตรวจสอบ ปัญหาที่รับแจ้งส่วนใหญ่เป็นเรื่องอาคารร้าวที่ไม่ใช่โครงสร้างหลักที่รับน้ำหนัก และมีฝ้าเพดานร่วงหล่น ถือเป็นอีกจุดที่มีความเสียหายหลายแห่ง ซึ่ง กทม. ระดมวิศวกรอาสาลงพื้นที่ตรวจสอบโดยเร่งด่วน

เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย กทม. ได้ร่วมมือกับวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ส่ง ‘วิศวกรอาสา’ เข้าตรวจอาคารต่าง ๆ ที่ แจ้งเรื่องรอยแตกร้าวในอาคารผ่าน Traffy Fondue ขณะเดียวกัน กรมโยธาธิการและผังเมืองช่วยตรวจสอบอาคารของหน่วยงานราชการ ส่วนอาคารเอกชน กทม. ร่วมกับ ‘วิศวกรอาสา’ เป็นผู้ตรวจสอบ เพราะสิ่งสําคัญ คือการสร้างความมั่นใจให้พี่น้องประชาชน ซึ่งความมั่นใจต้องมาจากข้อเท็จจริง

ต่อมา นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ออกหนังสือขอให้เจ้าของอาคารหรือผู้ครอบครองอาคาร ประสานผู้ตรวจสอบอาคารเข้าทำการตรวจสอบความเสียหายเพื่อประเมินวิธีการปรับปรุง แก้ไข ซ่อมแซม หรือเสริมกำลังของอาคาร เพื่อให้อาคารมีความปลอดภัย มั่นคง แข็งแรงต่อการใช้งานตามหลักวิศวกรรมและกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยให้รายงานผลต่อ กทม. ภายใน 2 สัปดาห์ เช่นเดียวกับการตรวจสอบอาคารเรียนของโรงเรียนสังกัด กทม. จำนวน 437 แห่ง โดย กทม. ร่วมกับวิศวกรอาสา พบว่ามีเพียงจุดเล็กน้อยที่ต้องซ่อมแซม แต่ไม่กระทบต่อการใช้งานอาคาร ผ่านการประเมินความปลอดภัย 100% ทุกโรงเรียน สามารถใช้งานและเปิดเรียนได้ตามปกติ

 

ตรวจสอบ สะพานปลอดภัยดี

ทางด่วน’ เสียหายบางแห่ง

กทม. โดยสำนักการโยธา และสำนักการจราจรและขนส่ง ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เร่งตรวจสอบสะพานข้ามแม่น้ำและสะพานข้ามแยกในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้ง 81 แห่ง ด้วยวิธีพินิจ (Visual Inspection) พบว่าสภาพเบื้องต้นปกติ ไม่พบความเสียหาย ทุกแห่งปลอดภัยดี สามารถสัญจรได้ตามปกติ ส่วนการร่วมตรวจสอบโครงสร้างทางด่วนพร้อมกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) พบว่าไม่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวและมีความมั่นคงแข็งแรง สามารถใช้ทางด่วนได้อย่างปลอดภัยตามปกติ ยกเว้นบริเวณทางขึ้นและลงบริเวณดินแดงต้องปิดการจราจร เนื่องจากเกิดเหตุเศษวัสดุตกหล่นบนพื้นทางด่วน (ทาวเวอร์เครนก่อสร้างอาคารสูง) โดยหลังจาก กทพ. เก็บซากวัสดุออกจากบริเวณดังกล่าว พร้อมตรวจสอบความปลอดภัยแล้ว ก็สามารถเปิดให้บริการได้เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2568

 

ปรับระบบ Traffy Fondue

ระดม ‘วิศวกรอาสา’ ลงพื้นที่

ตรวจสอบเรื่องร้องเรียน

กทม. เปิดรับแจ้งรอยร้าวและความเสียหายของอาคารบ้านเรือนจากประชาชนผ่าน Traffy Fondue รวมถึงอีกช่องทาง คือ โทร. 1555 โดยมีรายงานความเสียหายพร้อมภาพถ่ายส่งเข้ามามากกว่า 17,000 เรื่อง กว่า 700 อาคาร ซึ่งได้ ‘วิศวกรอาสา’ กว่า 130 คน แบ่งเป็น 20 ทีม ลงพื้นที่ตรวจสอบมากกว่า 100 อาคาร เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน ที่พักอาศัย หรือทำงานในอาคารสูง โดยได้รับเสียงชื่นชมจากประชาชนถึงการจัดการรับเรื่องร้องเรียนผ่านทาง Traffy Fondue ของ กทม. ซึ่งต้องขอบคุณความร่วมมือจากวิศวกรอาสา ที่รวมตัวกันมาได้รวดเร็ว และร่วมทำงานหามรุ่งหามค่ำกับ กทม. แสดงให้เห็นว่า วิชาชีพวิศวกรสามารถเป็นที่พึ่งและพร้อมช่วยเหลือประชาชนชาวกรุงเทพฯ ให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ได้

 

จัดหน่วยเยียวยาจิตใจทั่วกรุงเทพฯ

กทม. ร่วมกับกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข และล่ามภาษาเมียนมาจากกรมประชาสัมพันธ์ จัดหน่วยปฐมพยาบาลและเยียวยาจิตใจ (Mental Health Crisis Assessment and Treatment Team: MCATT) ณ บริเวณพื้นที่เหตุอาคารถล่ม โดยแบ่งเป็น 2 ทีม ได้แก่ ทีมแพทย์สำหรับด้านในเพื่อดูแลเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ และทีมจิตแพทย์ด้านนอกเพื่อดูแลญาติผู้ประสบภัยกับประชาชนทั่วไปทั้งคนไทยและต่างชาติ และยังกระจายการทำงานไปยังศูนย์พักพิงในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนที่มีความวิตกกังวล ความเครียด สามารถรับคำปรึกษา พบนักจิตวิทยาเพื่อวินิจฉัยเบื้องต้นได้ฟรี สำหรับพื้นที่เขตอื่น ๆ ประชาชนสามารถเข้ารับคำปรึกษาได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข กรุงเทพมหานครทั้ง 69 แห่ง และโรงพยาบาลในสังกัด กทม. 11 แห่ง ในวันและเวลาราชการ หรือติดต่อสายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323, 1667, แอปพลิเคชัน หมอ กทม. DMIND และ Sati

 

ประกาศ ‘กรุงเทพฯ’ สิ้นสุดสาธารณภัย

เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2568 กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานคร ประกาศ ‘สิ้นสุดสาธารณภัยในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ’ ยกเว้นพื้นที่ก่อสร้างอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน บริเวณถนนกำแพงเพชร 2 เขตจตุจักร โดยยังคงค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ติดอยู่ภายในอาคารที่ทรุดตัว

 

Bangkok, We are OK!

กทม. ชวนทุกคนร่วมแสดงพลังและสร้างความเชื่อมั่น ด้วยการเปลี่ยนภาพโปรไฟล์เป็นข้อความ ‘Bangkok, We are OK!’ เพื่อช่วยส่งต่อพลังบวกและความมั่นใจให้กันและกัน รวมถึงการสื่อสารไปยังประชาคมโลกว่า กรุงเทพฯ ค้นหาผู้รอดชีวิตอย่างเต็มกำลังความสามารถ ขณะเดียวกัน กรุงเทพฯ ก็แข็งแรงมากพอที่จะดำเนินชีวิตตามปกติได้อีกครั้ง อีกทั้ง กทม. จัดกิจกรรม ‘ดนตรีในสวน Bangkok We are OK Concert’ ณ สวนสาธารณะ 6 แห่ง ทั่วกรุงเทพฯ พร้อมข้อความว่า ‘Life goes on like nonstop music’ เป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้ชาวกรุงเทพฯ เพื่อเป็นพลังให้เมืองก้าวต่อไป

 

มาตรการเยียวยาผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว

กทม. ประชาสัมพันธ์รายละเอียดการเยียวยาแก่ผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว ตามระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยการสงเคราะห์ผู้ประสบภัย พ.ศ. 2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2564 และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 ประกอบด้วยรายการต่าง ๆ ดังนี้

คลิกอ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ eBook กทม.สาร

👇

https://links.bookkurry.com/bkk_news_issue_296 

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด