กทม. เร่งพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ ล้อ ราง เรือ ยกระดับกรุงเทพฯ สู่มหานครสะดวกสบาย
ที่ผ่านมา ระบบคมนาคมขนส่งของกรุงเทพฯ เป็นระบบที่ใช้ถนนเป็นหลัก เพราะการเจริญเติบโตของเมืองได้ขยายขึ้นอย่างรวดเร็ว และส่วนใหญ่ชุมชนจะขยายไปตามเส้นทางถนน เพราะเข้าถึงชุมชนได้ดีกว่าระบบอื่นๆ แต่ถนนในพื้นที่กรุงเทพฯ มีเพียงประมาณ 8,000 กิโลเมตรเท่านั้น การแก้ไขปัญหาด้วยการตัดถนนใหม่ ก็เต็มไปด้วยข้อจำกัด จึงแก้ปัญหาได้ไม่สมบูรณ์ รวมไปถึงจำนวนรถยนต์ส่วนบุคคลที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากมีความสะดวกสบาย อีกทั้งระบบขนส่งมวลชนไม่ทั่วถึง ไม่เพียงพอ และไม่เอื้อให้เกิดความสะดวกสบายในการเดินทาง ทำให้ปัญหาที่ประชาชนต้องการให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) แก้ไขอย่างเร่งด่วนในลำดับต้นๆ คงหนีไม่พ้น ‘ปัญหาการจราจรที่ติดขัดหรือปัญหารถติด’
การดำเนินงานที่ผ่านมา กทม. พยายามอย่างต่อเนื่องในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว และจากแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2556 – 2575) ในแผนยุทธศาสตร์ ‘มหานครสะดวกสบาย’ นั้น ระบบขนส่งมวลชนของกรุงเทพฯ ต้องมีความทั่วถึง สะดวก ประหยัด การจราจรคล่องตัว และมีทางเลือกทั้งทางเรือ จักรยาน และทางเดิน รวมไปถึงภูมิทัศน์สวยงามเป็นระเบียบ ไม่รกรุงรังทั้งสายไฟฟ้าและสายสื่อสาร กทม.จึงเร่งพัฒนาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ เชื่อมต่อการเดินทาง ‘ล้อ ราง เรือ’ ให้ครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่ยิ่งขึ้น โดยในปีนี้ หลายๆ โครงการของระบบขนส่งมวลชนภายใต้การกำกับดูแลของ กทม.ได้แล้วเสร็จและพร้อมให้บริการประชาชน ด้วยการเดินทางที่สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น มีโครงข่ายเชื่อมโยงกันมากขึ้น เพื่อให้คนกรุงเทพฯ หันมาใช้ขนส่งสาธารณะมากขึ้น ลดปัญหาด้านการจราจรติดขัด และมลพิษก็จะลดลงด้วยเช่นกัน
กทม. สนับสนุนการเดินทาง ที่ไม่ใช้เครื่องยนต์ในเขตเมือง
กทม. ได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อสนับสนุนการเดินทางที่ไม่ใช้เครื่องยนต์ในเขตเมือง (Non-Motorized Transport) โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาทางจักรยานในพื้นที่ถนนสายใหม่ การส่งเสริมการใช้จักรยานในชุมชน เพื่อการเดินทางระยะสั้น และเดินทางไปยังจุดเชื่อมต่อขนส่งมวลชน พร้อมกับสร้างมาตรฐาน และมาตรการคุ้มครองความปลอดภัยผู้ใช้จักรยานในเขตเมือง ภายใต้โครงการความร่วมมือระหว่าง กทม. กับกองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.)
‘โครงการแท็กซี่สำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุ’
เพื่อความเท่าเทียมในการเดินทาง
ด้วยระบบขนส่งมวลชน ยังไม่เอื้อต่อการเดินทางของผู้พิการ และผู้สูงอายุที่ต้องใช้รถเข็น ให้เกิดความเท่าเทียมกับคนทั่วไป กทม. จึงจัดให้มี ‘โครงการบริหารจัดการทดลองเดินรถแท็กซี่สำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุ’ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 เพื่อให้คนกลุ่มนี้ได้รับความสะดวกในการเดินทาง และสามารถเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ โดยให้บริการสำหรับผู้โดยสารที่ต้องการเดินทางไปโรงพยาบาล เป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก รวมไปถึงการเดินทางไปติดต่อสถานที่ราชการ สมาคม มูลนิธิ เป็นต้น โดยสามารถติดต่อศูนย์บริการเพื่อทำการนัดหมายรับ-ส่ง ที่ โทร. 0 2294 6524 ได้ทุกวัน เวลา 9.00 – 16.00 น. ซึ่งรถบริการสามารถรองรับผู้โดยสารวีลแชร์ได้ 2 คน และผู้ติดตาม 2 คน
‘โครงการจักรยานสาธารณะ กทม.’
เพิ่มทางเลือกของการเดินทาง
สำหรับระบบขนส่งมวลชนทางล้อ กทม. มีนโยบายเพิ่มทางเลือกในการเดินทางรูปแบบใหม่ให้แก่ประชาชน และเพื่อส่งเสริมการใช้จักรยานในการสัญจรระยะสั้นในพื้นที่กรุงเทพฯ อีกทั้งเป็นการเชื่อมต่อการเดินทางระบบขนส่งมวลชนต่างๆ จึงริเริ่ม ‘โครงการจักรยานสาธารณะกรุงเทพมหานคร’ โดยมีพื้นที่นำร่องในย่านธุรกิจ เช่น สีลม สาทร สยามสแควร์ เป็นต้น โดยปัจจุบันโครงการฯ มีสถานีบริการ 50 สถานี จำนวนจักรยาน 336 คัน
BRT รถโดยสารด่วนพิเศษด้วยระบบขนส่งอัจฉริยะ
รถโดยสารด่วนพิเศษ (Bus Rapid Transit หรือ BRT) เป็นระบบขนส่งมวลชนทางถนนอีกรูปแบบหนึ่ง ที่ กทม. มุ่งมั่นพัฒนาให้เกิดอย่างเป็นรูปธรรม เปิดให้บริการมาตั้งแต่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ด้วยมูลค่าการลงทุนที่ต่ำกว่า และก่อสร้างได้รวดเร็วกว่ารถไฟฟ้า แต่มีความสะดวกสบาย แม้ใช้พื้นผิวถนนด้วยทางวิ่งเฉพาะ เดินทางได้รวดเร็วด้วยระบบขนส่งอัจฉริยะ เพื่อให้เป็นระบบรองที่สามารถเชื่อมต่อเข้าสู่ระบบหลัก ทำให้การเดินทางของชาวกรุงเทพฯ ครอบคลุมและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดย BRT ให้บริการบนถนนนราธิวาสราชนครินทร์ และถนนพระราม 3 เริ่มต้นที่สถานีสาทร สิ้นสุดที่สถานีราชพฤกษ์ รวม 12 สถานี ระยะทาง 16 กิโลเมตร ให้บริการตั้งแต่เวลา 06.00 – 24.00 น.
BMA FEEDER นำส่งด้วยบริการ Shuttle Bus ให้คนกรุงเทพฯ
เดินทางได้แบบไร้รอยต่อ จุดเริ่มต้นของ BMA FEEDER เกิดจากการที่ระบบขนส่งมวลชนหลักไม่เชื่อมต่อกัน 100% จึงนำมาสู่แนวคิดเชื่อมต่อการเดินทางด้วยบริการ Shuttle Bus พาผู้โดยสารไปถึงที่หมายระบบขนส่งมวลชนหลักในระบบราง ได้แก่ รถไฟฟ้า รถไฟฟ้าใต้ดิน และแอร์พอร์ตเรลลิงก์ โดยการเดินรถไม่ทับซ้อนกับรถเมล์ ซึ่งนำร่องไปแล้ว 3 เส้นทาง โดยให้บริการฟรี 6 เดือน ตั้งแต่เวลา 05.00 – 21.00 น. ได้แก่
- B1 เส้นทางจากสถานีขนส่งสายใต้ใหม่ ถึงบีทีเอสบางหว้า จุดจอดรับ-ส่งประกอบด้วย สถานีขนส่งสายใต้ใหม่-เนติบัณฑิตยสภา-สถานีบีทีเอสบางหว้า-
ตลาดดอกไม้-สถานีขนส่งสายใต้ใหม่ - B2 เส้นทางจากดินแดง ถึงบีทีเอสสนามเป้า ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนเส้นทางเดินรถใหม่ โดยเริ่มต้นจากอาคารธานีนพรัตน์ (กทม. 2) – โรงพยาบาลทหารผ่านศึก- บีทีเอสสนามเป้า – สำนักงาน ปปส. – โรงพยาบาลทหารผ่านศึก – บีทีเอสสนามเป้า – โรงเรียนรักษาดินแดง (รด.) – มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย – กระทรวงแรงงาน – สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น (ดินแดง)
- B3 ชุมชนเคหะร่มเกล้า ถึงแอร์พอร์ตเรลลิงก์สถานีลาดกระบัง จุดจอดรับ-ส่งประกอบด้วย ชุมชนเคหะร่มเกล้า – สวนเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา – เคหะร่มเกล้า 30 (ตรงข้ามสนามกีฬาเคหะร่มเกล้า) – สถานี ARL ลาดกระบัง – ชุมชนเคหะร่มเกล้า ทั้งนี้ประชาชนสามารถลงทะเบียนใช้งาน และเช็คตำแหน่งรถได้แบบเรียลไทม์ เพียงใช้แอปพลิเคชัน Viabus
เชื่อมต่อการเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะระบบราง ยกระดับชีวิตเมือง
หลังจากที่ภาครัฐผลักดันรถไฟฟ้าให้เกิดขึ้นแล้วหลายสาย เชื่อว่าประชาชนต้องอยากรู้ว่า ตอนนี้ทาง กทม. ร่วมมือทำงานกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดำเนินการก่อสร้างรถไฟฟ้าทั่วกรุงในเส้นทางใดบ้าง และสายต่างๆ นั้นมีความคืบหน้าไปถึงขั้นไหนแล้ว
- รถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ (เปิดให้บริการเดินรถตลอดสายเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2561) และช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต ได้เปิดบริการไปแล้ว 5 สถานี ได้แก่ สถานีห้าแยกลาดพร้าว, สถานีพหลโยธิน, สถานีรัชโยธิน, สถานีเสนานิคม และสถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา เปิดให้บริการแก่ประชาชนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อทดสอบระบบรถไฟฟ้าอีก 4 สถานี คือ สถานีกรมป่าไม้. สถานีบางบัว, สถานีกรมทหารราบที่ 11 และสถานีวัดพระศรีมหาธาตุ
- รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่ – บางซื่อ เปิดบริการประชาชนเต็มรูปแบบตลอดเส้นทางเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2559
- รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ซึ่งเป็นเส้นทางสายสีม่วงใต้ กำลังเตรียมการประมูลเพื่อดำเนินการก่อสร้างเป็นรถไฟสายหลักต่อไป
- รถไฟฟ้าสายสีทอง (สถานีรถไฟฟ้ากรุงธนบุรี – สำนักงานเขตคลองสาน – ประชาธิปก) เชื่อมต่อโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนสายหลัก ในพื้นที่ 3 เส้นทาง ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีเขียว (บีทีเอสสายสีลม) ปัจจุบันเปิดให้บริการถึงสถานีบางหว้า ซึ่งในอนาคต กทม. มีแผนต่อขยายแนวเส้นทางไปจนถึงตลิ่งชัน
- รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง มีความก้าวหน้าการก่อสร้างไปแล้ว 55.67% ณ วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2563
- รถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี มีความก้าวหน้าการก่อสร้างไปแล้ว 55.62% ณ วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2563
- รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง – บางแค และช่วงเตาปูน – ท่าพระ ที่มีทั้งระบบรถไฟฟ้าใต้ดินและยกระดับ ซึ่งเปิดบริการครบทุกเส้นทาง ทำให้การเดินทางระหว่างฝั่งธนบุรีกับฝั่งพระนคร ไปมาหาสู่กันเพียงไม่กี่นาที
- รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีความก้าวหน้าการก่อสร้างรถไฟฟ้า 58.59% ณ วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2563
- รถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต คาดว่าเปิดให้บริการประชาชนได้ในปีหน้า (พ.ศ.2564)
- รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย – มีนบุรี ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (บอร์ด รฟม.) ความคืบหน้าของโครงการฯ นี้ กำลังอยู่ในช่วงศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ประเมินว่าน่าจะก่อสร้างได้จริงประมาณปี พ.ศ. 2565
- รถไฟฟ้าสายสีเทา ช่วงวัชรพล – ทองหล่อ – ท่าพระ คาดว่าสามารถเริ่มก่อสร้างได้ในปี พ.ศ. 2564
พัฒนาเส้นทางสัญจรทางน้ำ
สร้างทางเลือกการเดินทางด้วยขนส่งมวลชนทางเรือ
กทม. มีนโยบายที่จะพัฒนาการเดินทางในคลองของกรุงเทพฯ จำนวน 28 คลองที่มีศักยภาพ โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะขยายให้บริการเดินเรือสาธารณะ แก่ประชาชนที่ใช้บริการเรือโดยสารในหลายเส้นทาง จัดให้มีการเดินเรือเพิ่มเติมในเส้นทางสายใหม่ โดยเริ่มต้นที่คลองแสนแสบส่วนต่อขยาย (วัดศรีบุญเรือง -มีนบุรี) ต่อมาได้นำประสบการณ์มาพัฒนาการเดินเรือในคลองภาษีเจริญ จากท่าเทียบเรือประตูน้ำภาษีเจริญ ไปจนถึงเพชรเกษม 69 รวมทั้งหมดจำนวน 15 ท่า ระยะทางประมาณ 11.50 กิโลเมตร อีกทั้งเมื่อมีการผ่อนปรนมาตรการสถานการณ์ COVID-19 กทม. ได้เปิดเดินเรือคลองผดุงกรุงเกษมอีกครั้ง โดยให้บริการทุกวันไม่เว้นวันหยุด จากท่าเรือ
สถานีตลาดเทวราช (เขตพระนคร) ถึงท่าเรือสถานีหัวลำโพง (เขตปทุมวัน) ระยะทาง 5 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 4 เขต ได้แก่ เขตพระนคร เขตดุสิต เขตป้อมปราบฯ และเขตปทุมวัน มีจุดเชื่อมต่อการเดินทาง 4 จุด นั่นคือ
– จุดต่อเรือด่วนเจ้าพระยา ที่ท่าเรือตลาดเทวราช
– จุดต่อเรือแสนแสบ ที่ท่าเรือกระทรวงพลังงาน
– จุดต่อรถไฟชานเมือง ที่ท่าเรือสถานีรถไฟหัวลำโพง
– จุดต่อรถไฟฟ้าใต้ดิน ที่ท่าเรือสถานีรถไฟหัวลำโพง
******************
เรื่องโดย : อโนชา ทองชัย
ที่มาและภาพ : BANGKOK NEWS (กทม.สาร) ฉบับ 271