TOP

กทม. เปิดแผนปฏิบัติการ รับน้ำช่วงฤดูฝนปี 2565 ให้กรุงเทพฯ ปลอดภัยจากน้ำท่วม

หลังการประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยาว่า ประเทศไทยได้เข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการของทุกปี ประชาชนทุกพื้นที่ต่างวิตกกังวลกับสถานการณ์น้ำท่วม โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมบ่อยครั้ง ซึ่งกรุงเทพมหานคร (กทม.) ไม่เคยนิ่งนอนใจกับปัญหานี้ มีการสั่งการและกำชับทุกฝ่ายทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามสถานการณ์และแจ้งเหตุอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังได้เตรียมพร้อมในเรื่องต่าง ๆ เพื่อรองรับน้ำฝนที่อาจมีปริมาณมากตามแผนปฏิบัติการรับมือน้ำช่วงฤดูฝนปี 2565

 

เปิดแผนปฏิบัติการรับมือน้ำช่วงฤดูฝนปี 2565

นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงแผนปฏิบัติการรับมือน้ำช่วงฤดูฝนปี 2565 ว่า “กทม. โดยสำนักการระบายน้ำ ได้กำหนดแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพฯ ช่วงฤดูฝนปี 2565 โดยติดตามการพยากรณ์อากาศ จัดเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วมตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเฝ้าระวังกลุ่มฝน

จากเรดาร์ตรวจอากาศของ กทม. ติดตามสถานการณ์ฝนและสถานการณ์น้ำ โดยมีระบบโทรมาตรในการตรวจสอบสถานีเครือข่ายต่าง ๆ ได้แก่ ระบบการตรวจวัดระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาและคลอง 255 แห่ง ระบบตรวจวัดปริมาณน้ำฝน 130 แห่ง ระบบตรวจวัดน้ำท่วมถนน 100 แห่ง ระบบตรวจวัดน้ำท่วมอุโมงค์ทางลอด 8 แห่ง พร้อมทั้งตรวจสอบประสิทธิภาพของอุโมงค์ระบายน้ำ 4 แห่ง สถานีสูบน้ำ 190 แห่ง ประตูระบายน้ำ 244 แห่ง บ่อสูบน้ำ 316 แห่ง”

“นอกจากนี้ ยังมีแผนการลดระดับน้ำตามคูคลองและบ่อสูบน้ำต่าง ๆ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำชั่วคราวในพื้นที่จุดเสี่ยงและจุดเฝ้าระวังน้ำท่วม ล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำ ขุดลอกคูคลอง เปิดทางน้ำไหล จัดเก็บขยะ วัชพืช ตลอดจนจัดเตรียมเครื่องสูบน้ำชนิดเคลื่อนที่ พร้อมเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรอง รวมทั้งประสานงานการไฟฟ้านครหลวงกรณีไฟฟ้าดับ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบแก่ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนในการเดินทาง”

 

เตรียมแผน 3 ระยะ รับมือสถานการณ์อุทกภัยในกรุงเทพฯ

ขณะนี้ กทม. ได้เตรียมความพร้อมทุกด้านสำหรับการรับมือสถานการณ์อุทกภัยช่วงฤดูฝนในกรุงเทพฯ ไว้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเตรียมพร้อมรับมือมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2565 โดยสำนักการระบายน้ำร่วมกับสำนักงานเขตและสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ตรวจสอบแนวป้องกันน้ำท่วมให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงตรวจสอบอุโมงค์ระบายน้ำ ประตูระบายน้ำ บ่อสูบน้ำ เครื่องสูบน้ำ เครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอ รวมถึงมีการเตรียมติดตั้งเครื่องสูบน้ำและแผนสำรองไว้ด้วย

กรณีมีเหตุฉุกเฉิน นอกจากนี้ กทม. ได้ขุดลอกท่อระบายน้ำในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันดำเนินการแล้ว 2,065 กิโลเมตร จากทั้งหมด 3,027 กิโลเมตร อีกทั้งมีการประสานงานกับหน่วยงานอื่น ทั้งภายในและหน่วยงานภายนอก เพื่อบูรณาการความร่วมมือกรณีที่ต้องมีการปรับแผนรองรับการเผชิญเหตุไว้ด้วย ส่วนระยะที่ 2 มีการเตรียมการตั้งแต่ภาวะปกติจนถึงขั้นตอนการเตือนภัยให้ประชาชนรับทราบ ซึ่งได้เร่งรัดการตรวจสอบคูคลองสายหลักและสายย่อย เพื่อให้สามารถรองรับน้ำและส่งน้ำไหลไปตามคลองสายต่าง ๆ จากสายย่อยสู่สายหลักได้เร็วที่สุด

มีการแจ้งเตือนภัยประชาชนเป็นระยะ ๆ โดยศูนย์ป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร มีการติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ต่อเนื่องตลอดเวลา อีกทั้งมีการคาดการณ์ความเสี่ยงล่วงหน้า เพื่อให้หน่วยเคลื่อนที่เร็วสามารถออกไปประจำจุดต่าง ๆ เตรียมพร้อมคลี่คลายสถานการณ์ให้เร็วที่สุด ซึ่งกรณีฝนตกไม่เกิน 60 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง กทม. มีศักยภาพในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ได้โดยไม่ส่งผลกระทบรุนแรง แต่หากกรณีมีฝนตก 60 – 90 มิลลิเมตรต่อชั่วโมงขึ้นไป ตลอดจนมีน้ำเหนือหลากหรือน้ำทะเลหนุนร่วม ซึ่งเป็นปัญหาหลักของกรุงเทพฯ ได้มีการเตรียมแผนและหน่วยเคลื่อนที่พร้อมปฏิบัติงานดูแลและช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัย พร้อมทั้งมีการแจ้งเตือนภัย รวมถึงข้อปฏิบัติตนให้ทราบเป็นระยะ กรณีเกิดเหตุรุนแรงจะมีการอพยพประชาชนออกจากพื้นที่และฟื้นฟูพื้นที่ตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติกำหนดไว้

สำหรับระยะที่ 3 ซึ่งเป็นระยะสุดท้าย อยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2565 – มกราคม 2566 เป็นช่วงที่สามารถตรวจสอบและถอดบทเรียนหลังเกิดเหตุ กทม. จะถอดบทเรียนและเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือสถานการณ์อุทกภัยที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ครั้งต่อไป

 

ระบบระบายน้ำที่แล้วเสร็จ เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในกรุงเทพฯ

วันนี้ กทม. เร่งดำเนินการก่อสร้างระบบระบายน้ำเพิ่มเติมให้แล้วเสร็จ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในพื้นที่ต่าง ๆ ให้ไหลลงคูคลองได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ทำให้บางพื้นที่มีการพัฒนาการระบายน้ำได้ดียิ่งขึ้น ดังนี้
1. งานก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็กคลองรางอ้อรางแก้ว ช่วงจากถนนพหลโยธินถึงซอยพหลโยธิน 65 แยก 2 เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่เขตบางเขนด้านทิศตะวันตก
2. โครงการก่อสร้างสถานีสูบน้ำ และประตูระบายน้ำคลองหลุมไผ่ตอนคลองลาดพร้าว เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ด้านใต้ของเขตบางเขนและด้านเหนือของเขตลาดพร้าว ตั้งแต่ถนนพหลโยธินถึงถนนประดิษฐ์มนูธรรม รวมทั้งยังช่วยป้องกันน้ำไม่ให้เอ่อล้นจากคลองลาดพร้าวเข้ามาในพื้นที่ได้
3. การก่อสร้างบ่อสูบน้ำถนนพหลโยธินฝั่งขาเข้าและขาออกของคลองบางบัวด้านทิศเหนือและทิศใต้ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในถนนพหลโยธินฝั่งขาเข้าและขาออกช่วงบริเวณคลองบางบัว
4. โครงการก่อสร้างระบบ Pipe Jacking และบ่อสูบน้ำถนนพหลโยธิน บริเวณแยกเกษตรศาสตร์ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมบริเวณแยกเกษตรศาสตร์ถึงหน้ากรมป่าไม้ ดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อปี 2563
5. การก่อสร้างสถานีสูบน้ำคลองห้วยขวาง ตอนคลองบางซื่อเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมซอยอินทามระ 41 รวมทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในคลองห้วยขวาง

 

เร่งขุดลอกคลองเพื่อเปิดทางน้ำไหลอย่างต่อเนื่อง

กทม. เดินหน้าขุดลอกคลองในกรุงเทพฯ ซึ่งมีทั้งคูคลอง ลำราง ลำกระโดง เป็นทางระบายน้ำจำนวนทั้งสิ้น 1,980 คลอง ความยาวรวมประมาณ 2,745 กิโลเมตร โดยสำนักการระบายน้ำและสำนักงานเขตมีแผนขุดลอกคลองอย่างต่อเนื่อง เพื่อเปิดทางน้ำไหล เก็บขยะ วัชพืช ผักตบชวา เพิ่มประสิทธภาพการรองรับ และระบายน้ำในคลองเมื่อฝนตก โดยตั้งแต่ปี 2563 ได้รับงบประมาณดำเนินการไป 138 คลอง ความยาวรวม 282.355 กิโลเมตร ต่อมาในปี 2564 ได้รับงบประมาณขุดลอก 42 คลอง รวมระยะทาง 88.977 กิโลเมตร ส่วนในปี 2565 ได้รับงบประมาณประจำปีสำหรับขุดลอก 32 คลอง โดยสภากรุงเทพมหานครเห็นชอบจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมอีกจำนวน 10 คลอง ซึ่งหากดำเนินการแล้วเสร็จก็จะเพิ่มประสิทธิภาพการรองรับและระบายน้ำในคลอง เมื่อมีฝนตกสำหรับระยะเร่งด่วนนี้ ทางสำนักการระบายน้ำได้ใช้แรงงานคน อุปกรณ์ และเครื่องจักร ขุดลอกเองอีกจำนวน 35 คลอง (ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 – พฤษภาคม 2565) โดยเน้นขุดคลองที่มีสภาพตื้นเขินและอยู่ในพื้นที่ใกล้จุดเสี่ยงน้ำท่วม

นอกจากนี้ ในปี 2566 ทางสำนักการระบายน้ำ ได้มีแผนการขุดคลองเพื่อเชื่อม 9 คลองสายหลักและคลองต่าง ๆ อีกจำนวน 65 คลอง เพื่อช่วยเร่งระบายน้ำให้ไหลลงสู่อุโมงค์และสถานีสูบน้ำ แล้วระบายน้ำออกไปสู่แม่น้ำเจ้าพระยา รวมความยาว 393.174 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 50 เขต

 

กทม. เตรียมแผนรับมือผลกระทบจากน้ำเหนือหลากและน้ำทะเลหนุน

กทม. มีแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเนื่องจากน้ำเหนือหลากและน้ำทะเลหนุนสูง ตามที่กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทยแจ้งเตือน โดยการตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของเขื่อนตามแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองฝั่ง เฝ้าระวังจุดที่ยังไม่มีเขื่อนป้องกันน้ำท่วมถาวร รวมถึงตรวจสอบความพร้อมของกระสอบทรายเพื่อใช้เสริมความสูงบริเวณแนวป้องกันบางแห่ง
ที่คันกั้นน้ำมีระดับต่ำ โดยคันกั้นน้ำตามแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย คลองมหาสวัสดิ์ คลองชักพระ และคลองพระโขนง ความยาวรวมประมาณ 79.63 กิโลเมตร มีความสูงของคันกั้นน้ำตั้งแต่ระดับ +2.80 ม.รทก. (เมตรเทียบกับระดับน้ำทะเลปานกลาง) ถึงระดับ +3.50 ม.รทก. และมีแนวป้องกันตนเองของเอกชนบางแห่ง ที่ไม่สามารถป้องกันน้ำท่วมได้หรือแนวฟันหลอ ความยาวประมาณ 2.512 กิโลเมตร เช่น บริเวณท่าเทียบเรือขนส่งสินค้า อู่จอดเรือ ร้านค้าริมน้ำ อาคารโกดังสินค้า โดย กทม. ได้เข้าไปดำเนินการเรียงกระสอบทราย เพื่อเป็นแนวป้องกันน้ำท่วมชั่วคราว

นอกจากนี้ ยังมีแผนเตรียมความพร้อมเพิ่มเติม โดยจัดเตรียมเครื่องสูบน้ำชนิดเคลื่อนที่ สำรองกระสอบทราย และกระสอบเปล่าที่พร้อมบรรจุทราย จัดเตรียม Big Bag ตะกร้าใส่ทรายสำหรับเรียงกระสอบ และพนังกั้นน้ำฉุกเฉิน หากเกิดเหตุฉุกเฉินสามารถจัดส่งเจ้าหน้าที่เร่งแก้ไขได้ทันที

 

เดือดร้อนน้ำท่วมติดต่อสำนักการระบายน้ำ กทม. ตลอด 24 ชั่วโมง

กทม. โดยสำนักการระบายน้ำมีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการป้องกัน และแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ เพื่อเป็นศูนย์กลางประสานงานแก้ไขปัญหาน้ำท่วม มีการพัฒนาและนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้เพื่อวิเคราะห์ ประมวลผล และแจ้งเตือน เช่น ระบบเรดาร์ตรวจอากาศ ระบบตรวจวัดข้อมูลอัตโนมัติ พร้อมทั้งประสานงานหน่วย BEST หรือหน่วยเคลื่อนที่เร็วเข้าประจำพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมขัง เพื่อให้การช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

สำหรับประชาชนสามารถติดตามการแจ้งเตือนผ่านแอปพลิเคชันต่าง ๆ ของสำนักการระบายน้ำ กทม. ได้ตลอด 24 ชั่วโมง สำหรับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ติดต่อขอความช่วยเหลือหรือแจ้งร้องเรียนปัญหาต่าง ๆ และผลกระทบได้ที่ “ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม สำนักการระบายน้ำ กทม.” โทร. 0 2248 5115 ตลอด 24 ชั่วโมง

 

—————————————————————————

เรื่องโดย: กองบรรณาธิการ BANGKOK NEWS กทม. สาร

ที่มา : BANGKOK NEWS กทม. สาร Issue 282/4/2565

 

 

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด