TOP

เยือน 5 สะพานชุดเจริญ ยล 5 คลองภูมิทัศน์ใหม่ของกรุงเทพฯ

เรื่องราวในอดีตของบ้านเมืองเราถูกจารึกผ่านสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ที่รอให้ทุกคนไปสัมผัสและเรียนรู้ โดยเฉพาะเมืองหลวงที่อายุกว่า 240 ปี อันเต็มไปด้วยเรื่องเล่าแห่งประวัติศาสตร์มากมาย วันนี้ BANGKOK NEWS (กทม.สาร) พาย้อนเวลาไปเยือน 5 สะพานชุดเจริญ ที่อวดโฉมบนคลองต่าง ๆ ของกรุงเทพฯ ในภูมิทัศน์ใหม่ตามแผนพัฒนาคูคลองให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวของกรุงเทพมหานคร (กทม.)

“สะพานชุดเจริญ” เป็นสะพานที่มีคำนำหน้าชื่อว่า “เจริญ” โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 สืบเนื่องพระราชนิยมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างสะพานชุดเฉลิมในวันเฉลิมพระชนมพรรษาทุกปี จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างสะพานชุดเจริญขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์และให้ประชาชนได้ใช้สัญจร ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระองค์ ซึ่งมีจำนวนทั้งหมด 6 สะพาน แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 5 สะพานให้ได้ศึกษา

 

สะพานเจริญรัช 31

(ข้ามคลองคูเมืองเดิมติดกับปากคลองตลาด) สะพานแห่งแรกในสะพานชุดเจริญ สร้างในปี 2454 ขณะที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 มีพระชนมายุ 31 พรรษา สะพานแห่งนี้มีอายุมากกว่า 100 ปี ตัวสะพานเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก บริเวณกลางสะพานประดิษฐานพระปรมาภิไธยย่อของรัชกาลที่ 6 “สะพานเจริญรัช” เป็นสะพานเชื่อมถนนจักรเพชรกับถนนมหาราชและข้ามคลองคูเมืองเดิมที่ กทม. ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ฟื้นฟูทัศนียภาพและปรับปรุง ภูมิทัศน์ของทั้ง 2 ฝั่งคลองตั้งแต่สะพานผ่านพิภพลีลาถึงปากคลองตลาด ระยะทาง 1.7 กิโลเมตร ให้เป็นคลองปลอดขยะ สะอาด สวยงาม เป็นระเบียบ สามารถใช้เป็นเส้นทางสัญจร เพื่อเชื่อมต่อไปยังระบบขนส่งสาธารณะตามนโยบาย “เดินทางดี” พร้อมจุดท่องเที่ยวให้เช็กอินหลายแห่ง

 

สะพานเจริญราษฎร์ 32 (ข้ามคลองมหานาค)

สะพานลำดับที่ 2 ของสะพานชุดเจริญ ใช้ข้ามคลองมหานาคที่ถนนกรุงเกษม นอกจากสร้างในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษาครบรอบ 32 พรรษา รัชกาลที่ 6 แล้ว ยังเป็นปีที่ฉลองสมโภชพระนครครบ 130 ปีด้วย ลักษณะเด่นของสะพานนี้คือรูปนาคราช 5 เศียร ที่อยู่ปลายสะพานทั้ง 4 มุม สำหรับคลองมหานาค กทม. มีโครงการปรับปรุงมาตั้งแต่บริเวณตลาดโบ๊เบ๊ – บริเวณป้อมมหากาฬ สะพานผ่านฟ้าลีลาศ เป็นอีกหนึ่งคลองสำคัญในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ ที่เป็นเส้นทางเชื่อมต่อคลองผดุงกรุงเกษมและคลองโอ่งอ่าง

 

สะพานเจริญพาศน์ 33 (ข้ามคลองบางกอกใหญ่)

สะพานลำดับที่ 3 ของสะพานชุดเจริญ ที่ใช้ข้ามคลองบางกอกใหญ่ที่ถนนอิสรภาพ ถือเป็นสะพานขนาดใหญ่แห่งแรกที่สร้างขึ้นในฝั่งธนบุรี ปัจจุบันปรับปรุงขยายสะพานให้กว้างขึ้นเพื่อรองรับสภาพการจราจรที่คับคั่ง โดยทั้งคลองบางกอกใหญ่ และคลองบางกอกน้อยในย่านฝั่งธนบุรี อยู่ในแผนพัฒนาของ กทม. ที่กำลังพลิกฟื้นและพัฒนาคลองให้มีสภาพแวดล้อมที่ดี ทั้งสองคลองมีสภาพธรรมชาติและวิถีชีวิตดั้งเดิมที่มีเสน่ห์อยู่มากทั้งสองฝั่งคลอง ซึ่ง กทม. เร่งพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวต่อไป

 

สะพานเจริญศรี 34

(ข้ามคลองคูเมืองเดิมตรงวัดบุรณศิริมาตยาราม)

สะพานเจริญศรี 34 เป็นสะพานลำดับที่ 4 ของสะพานชุดเจริญสร้างเมื่อปี 2457 มีลักษณะเด่นที่หัวเสาทั้งสี่เป็นรูปพานมีเครื่องเฟื่องอุบะแบบตะวันตก ตัวสะพานเป็นปูนหล่อ ย่านคลองคูเมืองเดิมบริเวณนี้ สามารถแวะเที่ยวย่านสามแพร่ง ได้แก่ แพร่งภูธร แพร่งนรา และแพร่งสรรพศาสตร์ ซึ่งเป็นแหล่งของกินอร่อยหลากหลาย และแหล่งขายของใช้ เช่น อุปกรณ์เดินป่า เป็นต้น

 

สะพานเจริญทัศน์ 35

เป็นสะพานที่สร้างลำดับที่ 5 สำหรับข้ามคลองวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร ปัจจุบันถูกรื้อออกไปแล้ว เนื่องจากมีการถมคลองเพื่อตัดถนนด้านข้างศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) ทำให้สะพานชุดเจริญในปัจจุบันเหลือเพียง 5 สะพานเท่านั้น

 

สะพานเจริญสวัสดิ์ 36

(ข้ามคลองผดุงกรุงเกษมบริเวณหัวลำโพง)

สำหรับสะพานเจริญสวัสดิ์ 36 เป็นสะพานลำดับที่ 6 ของสะพานชุดเจริญ โดยสะพานที่เห็นกันทุกวันนี้ไม่ใช่สะพานเดิมที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 เนื่องจากสะพานเดิมถูกรื้อถอนไป เมื่อครั้งก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงิน ต่อมาจึงมีการสร้างสะพานเจริญสวัสดิ์ 36 ขึ้นใหม่โดยยังคงรูปแบบสะพานเดิมไว้ การพัฒนาคลองสายหลัก “คลองผดุงกรุงเกษม” เป็นโครงการนำร่องคืนวิถีชีวิตริมคลองในอดีตควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ปัจจุบันกลายเป็นคลองสีเขียวและคลองรักษ์โลก ที่เปิดเส้นทางสัญจรทางน้ำใจกลางเมือง โดยให้บริการเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบ และสามารถเชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะหลัก จนได้รับการบันทึกว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองแรกในภูมิภาคอาเซียน ที่เพิ่มทางเลือกการเดินทางด้วยบริการเรือขนส่งสาธารณะให้สะดวกยิ่งขึ้น

—————————————————————————

เรื่องโดย: กองบรรณาธิการ BANGKOK NEWS กทม. สาร

ที่มา : BANGKOK NEWS กทม. สาร Issue 282/4/2565

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด