TOP

กทม. เดินหน้าฉีดวัคซีนโควิด19 พร้อมรณรงค์ตั้งการ์ดต่อ

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 ที่ยังคงต้องเฝ้าระวังนั้น วัคซีนถือเป็นความหวังที่ทั่วโลกรอคอยเช่นเดียวกับประเทศไทย เพื่อให้ทุกจังหวัดรวมทั้งกรุงเทพฯ กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว แต่ประชาชนบางส่วนยังไม่มั่นใจในการรับวัคซีน อย่างไรก็ตามหลังจากที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้เริ่มทำการฉีดวัคซีนให้คนกรุงเทพฯ กลุ่มแรก

ในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทำให้กระแสความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งที่ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน คือการทำงานอย่างเต็มความสามารถของคณะผู้บริหารและทีมงาน กทม. หนึ่งในนั้นคือ นพ.ชวินทร์ ศิรินาค รองปลัดกรุงเทพมหานคร ที่ทุ่มเทเต็มที่เพื่อฉีด ‘วัคซีนโควิด 19’ ให้กับประชาชน รวมถึงดูแลคลัสเตอร์เดิมอย่างเข้มงวด เฝ้าระวังคลัสเตอร์ใหม่ และรณรงค์ให้ประชาชนตั้งการ์ดอย่างต่อเนื่อง โดยบทสัมภาษณ์ในครั้งนี้ เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงภาพการทำงานที่ประสบความสำเร็จในหลายเดือนที่ผ่านมา

 

กทม. ขานรับนโยบายรัฐบาล เร่งฉีดวัคซีน

กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 สูง เมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นๆ โดยปัจจัยหลักเกิดจากการที่ในพื้นที่มีประชาชนจำนวนมาก เป็นแหล่งศูนย์รวมของการคมนาคมและเศรษฐกิจของประเทศ มีการเคลื่อนย้ายของประชากรเข้าและออกพื้นที่เป็นจำนวนมาก จึงกลายเป็นพื้นที่ของการแพร่ระบาด ทั้งนี้ กทม.ได้รับมอบนโยบายจากรัฐบาลในการให้บริการวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 หรือโรคโควิด 19 ควบคู่กับมาตรการป้องกันอื่นๆ

 

เร่งให้บริการฉีด ‘วัคซีนโควิด 19’ ระยะแรกในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดสูง

ในระยะแรก เป้าหมายการให้บริการ ‘วัคซีนโควิด 19’ เพื่อลดความรุนแรงและความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นจากการติดเชื้อ และปกป้องระบบสุขภาพในพื้นที่กรุงเทพฯ จึงเน้นให้บริการในเขตพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดสูง และเป็นพื้นที่รอยต่อกับจังหวัดสมุทรสาคร 6 เขต ได้แก่ เขตจอมทอง เขตบางขุนเทียน เขตบางแค เขตบางบอน เขตภาษีเจริญ และเขตหนองแขม โดยให้วัคซีนกับกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ที่ดูแลรักษาผู้ติดเชื้อทั้งภาครัฐและเอกชน เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย ประชาชนที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค และพักอาศัยในพื้นที่เขตดังกล่าว ประกอบด้วย โรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง เช่น ปอดอุดกั้นเรื้อรัง, และโรคหอบหืดที่ควบคุมได้ไม่ดี, โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคไตเรื้อรังระยะ 5, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคมะเร็งทุกชนิดที่อยู่ระหว่างเคมีบำบัด รังสีบำบัดและภูมิคุ้มกันบำบัด, โรคเบาหวานและโรคอ้วนที่มีน้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัม หรือ BMI มากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร โดยให้บริการฉีดวัคซีนที่โรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน จำนวน 16 แห่ง ในพื้นที่ทั้ง 6 เขต

 

ปรับแผนรับมือกับคลัสเตอร์ตลาดบางแค เพิ่มการฉีด ‘วัคซีนโควิด 19’ เชิงรุก

หลังจากมีการแพร่ระบาดในพื้นที่เขตบางแค โดยมีตลาดเป็นพื้นที่เสี่ยง กทม. จึงได้มีการปรับแผนการดำเนินงานโดยเพิ่มการให้บริการวัคซีนโควิด 19 เชิงรุก ควบคู่กับมาตรการควบคุมโรคในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดดังกล่าว เป้าหมายคือประชาชนกลุ่มเสี่ยงในตลาดที่มีการแพร่ระบาดและชุมชนโดยรอบ จำนวน 6,000 คน ออกหน่วยให้บริการ ‘วัคซีนโควิด 19’ ระหว่างวันที่ 17 – 22 มีนาคม พ.ศ. 2564 ซึ่งสามารถบริการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนได้ถึง 6,824 คน โดยมากกว่าเป้าหมายที่วางไว้ ทั้งนี้การออกหน่วยบริการ ‘วัคซีนโควิด 19’ ของ กทม. ยังสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ซึ่งประชาชนที่ได้รับวัคซีนมีความพึงพอใจเป็นอย่างมาก รวมถึงเป็นต้นแบบในการจัดหน่วยบริการ ‘วัคซีนโควิด 19’ เชิงรุกให้กับพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป

 

กทม. จัดการคลัสเตอร์บางขุนเทียนอย่างทันท่วงที

กทม. พบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 จำนวน 2 ราย เข้ารับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ เมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2564 จึงได้เร่งขยายผลสอบสวนโรคจากผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วย 2 รายดังกล่าวทันที โดยเจ้าหน้าที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 42 ถนอม ทองสิมา ลงพื้นที่สอบสวนโรคที่โรงงานย่านพระราม 2 เขตบางขุนเทียน พบผู้สัมผัสเสี่ยงจำนวน 215 ราย แบ่งเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 37 ราย และผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ 178 ราย ตรวจหาเชื้อในผู้สัมผัสเสี่ยงสูงทั้ง 37 ราย ทราบผลมีผู้ติดเชื้อเพิ่ม 28 ราย โดยในขณะนั้นทีมสอบสวนโรคของ กทม.ได้เร่งติดตามประวัติการเดินทางของผู้ป่วย ค้นหาผู้มีอาการ ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำเพิ่มเติม โดยลงสอบสวนโรคเพิ่มเติมที่โรงงานและหอพัก ที่เกี่ยวข้องกับผู้ติดเชื้อต่อไปด้วย นอกจากนี้ได้จัดรถตรวจหาเชื้อชีวนิรภัยพระราชทาน ตรวจหาเชื้อเชิงรุกค้นหาผู้ติดเชื้อในชุมชน และส่งตัวผู้มีอาการเข้ารับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาล อีกทั้งกักตัวผู้สัมผัสเสี่ยงสูงและดำเนินการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคในพื้นที่

 

เดินหน้าให้ ‘วัคซีนโควิด 19’ เชิงรุก

กทม. จะขยายพื้นที่ให้บริการ ‘วัคซีนโควิด 19’ ให้ครอบคลุมทั้งกรุงเทพฯ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้ารับบริการวัคซีนในโรงพยาบาลทุกแห่ง และมีการจัดบริการหน่วยบริการวัคซีนเชิงรุกตามพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้โดยง่าย ส่งผลให้เกิดการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคต่อไป

 

เชิญชวนประชาชนตั้งการ์ดต่อเนื่อง

ไม่ว่าจะเป็นประชาชนทั่วไป หรือผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว ก็ยังคงต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันส่วนบุคคล (DMHTT) อย่างเคร่งครัด ได้แก่ เว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกนอกบ้าน หรืออยู่ในพื้นที่สาธารณะ ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือแอลกอฮอล์ล้างมือ ตรวจวัดอุณหภูมิ และใช้แพลตฟอร์ม ‘ไทยชนะ’ เมื่อเข้าใช้บริการในสถานที่ต่างๆ รวมไปถึงทุกหน่วยงานในสังกัด กทม. ที่ พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สั่งการให้ดำเนินงานมาตรการคัดกรองก่อนเข้าพื้นที่อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค

 

ที่มา: BANGKOK NEWS (กทม.สาร) Issue 277

เรื่องโดย: ปริม แสงอรุณ

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด