TOP

การทำงานแบบไหนตอบโจทย์ ตรงใจ ในยุค NEXT NORMAL

เป็นระยะเวลากว่า 2 ปีแล้ว ที่พวกเราทุกคนอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าสถานการณ์นี้ ได้ส่งผลกระทบกับทุกภาคส่วนให้ต้องเร่งปรับตัวในหลาย ๆ ด้าน เรื่องหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ หลายองค์กรได้เปลี่ยนรูปแบบจากการทำงานที่ออฟฟิศ (Work at Office: WAO) มาเป็นการทำงานนอกสถานที่ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานจากที่บ้าน (Work from Home: WFH) หรือจากที่ไหนก็ได้ (Work from Anywhere: WFA) เพื่อรักษาระยะห่างทางสังคม ซึ่งการทำงานในรูปแบบดังกล่าวที่มีการประชุมออนไลน์ตั้งแต่เช้าจรดเย็น ก็ดูเหมือนเป็น new normal สำหรับใครหลาย ๆ คนในช่วงที่ผ่านมาแล้ว 

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อจะก้าวผ่านจาก new normal ไปสู่ next normal หลังโควิด 19 คลี่คลายกลายเป็นโรคประจำถิ่น คงจะเกิดคำถามว่าการทำงานในระยะต่อไปควรเป็นอย่างไร จะกลับมา WAO เหมือนเช่นในอดีตหรือจะ WFH/WFA หรือควรมีการผสมผสานก็ได้ ผู้เขียนจึงขอใช้โอกาสนี้แลกเปลี่ยนข้อมูลและมุมมองเกี่ยวกับรูปแบบการทำงาน ที่ได้มีโอกาสศึกษาหรือพบเจอในช่วงที่ผ่านมา 

 

องค์กรไหนใช้รูปแบบการทำงานใดกันบ้าง

ถ้าเปรียบการขับเคลื่อนองค์กรเหมือนกับการขับรถยนต์ ตอนนี้ก็ดูเหมือนขับมาถึงทางแยกที่ต้องตัดสินใจว่าจะไปทางซ้ายหรือขวาดี แต่ในเวลานี้ เราอาจจะยังไม่มีเครื่องนำทางที่มีประสิทธิภาพมากพอที่จะบอกได้ว่า ควรจะเลือกไปทางไหนจึงจะเหมาะสมที่สุด เพื่อตอบโจทย์ความท้าทายที่มีอยู่ และที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ สิ่งที่พอจะทำได้ก็คือการศึกษาข้อมูลที่มี ดูแนวโน้มรอบด้าน รวมถึงติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เราสามารถเดินหน้าไปพร้อม ๆ กับการเตรียมรับความเปลี่ยนแปลงได้ทันท่วงที

จากบทความเรื่อง “Work from Home กับ Work from Office สรุปเอายังไงดี?” ของ สุพริศร์ สุวรรณิก (2565) สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งรวบรวมผลการศึกษาวิจัยต่าง ๆ ในช่วงที่ผ่านมา และได้สรุปเปรียบเทียบจุดเด่นเกี่ยวกับรูปแบบการทำงานที่บ้าน และการทำงานที่ออฟฟิศเอาไว้ได้อย่างน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นด้านประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ความยืดหยุ่นคล่องตัว ความสัมพันธ์ระหว่างทีมงาน ตลอดจนการบริหารจัดการเรื่องส่วนตัวและเรื่องงาน ซึ่งการที่องค์กรจะเลือกแบบไหนนั้น คงจะขึ้นอยู่กับหลาย ๆ ปัจจัย เนื่องจากมีบริบท ลักษณะงาน บุคลากร รวมถึงวัฒนธรรมองค์กรที่แตกต่างกัน คงไม่มีรูปแบบการทำงานแบบ one-sized-fits-all ที่สามารถตอบโจทย์ทุกคนได้ จากการที่ผู้เขียนได้ติดตามข้อมูลขององค์กรอื่น ๆ ในช่วงที่ผ่านมาก็พบว่า ผู้บริหารระดับสูงในหลาย ๆ องค์กรได้สื่อสารนโยบายการทำงานในระยะต่อไปที่หลากหลาย จึงขอสรุปข้อมูลเป็นหมวดหมู่เท่าที่เห็นมาแลกเปลี่ยนกัน

 

การทำงานแบบ WAO 

องค์กรที่ส่งเสริมให้พนักงานเข้ามาทำงานที่ออฟฟิศ มักชูเรื่องความคล่องตัวในการติดต่อประสานงาน การสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ รวมถึงนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่จะเกิดจากการทำงานแบบพบเจอหน้ามากกว่าการทำงานแบบ WFH ซึ่งก็สอดคล้องกับงานศึกษาของ Gibbs et al. (2021) ที่พบว่า WFH ทำให้เกิดต้นทุนในการติดต่อประสานงาน การสื่อสารมากขึ้น นอกจากนี้ งานศึกษาของ Yang et al. (2021) ชี้ให้เห็นว่าการทำงานนอกออฟฟิศทำให้เกิดปัญหา Silo มากขึ้น รวมถึงความสัมพันธ์ข้ามทีมลดน้อยลง ซึ่งลักษณะดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงาน การริเริ่มสิ่งใหม่ ตลอดจนความผูกพัน การสร้างและถ่ายทอดวัฒนธรรมองค์กรในระยะยาวก็เป็นได้ ทั้งนี้พบว่าองค์กรที่มุ่งเน้นการทำงานแบบ WAO มีอยู่ในหลากหลายธุรกิจ เช่น Netflix บริษัทที่ให้บริการสตรีมมิ่งด้านภาพยนตร์และสารคดีที่ผู้บริหารเห็นว่า WAO ทำให้เกิดการระดมสมอง ถกประเด็นต่าง ๆ และเกิดไอเดียใหม่ ๆ ได้ง่ายกว่าการ WFH หรือ Goldman Sachs บริษัทด้านการเงินการลงทุนระดับโลก ซึ่งผู้บริหารมุ่งเน้นเรื่องนวัตกรรมและการร่วมมือประสานงานเป็นสิ่งสำคัญ และเห็นว่าการกลับมาเจอหน้ากันที่ทำงานจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด

 

การทำงานแบบนอกสถานที่

การทำงานในลักษณะนี้องค์กรแบบ Tech Company มักนำมาใช้ ส่วนหนึ่งอาจเพราะองค์กรเหล่านี้ มีชิ้นงานที่สามารถประเมินผลได้ชัดเจน โดยชูประสิทธิภาพของการทำงานนอกสถานที่ ซึ่งก็สอดคล้องกับงานศึกษาของ Chaudhury et al. (2021) ที่พบว่าการเปลี่ยนรูปแบบการทำงานจาก WFH เป็นการทำงานจากที่ไหนก็ได้ช่วยเพิ่ม productivity ได้มากกว่า 4% โดย Tech Company ได้อาศัยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและเครื่องมือดิจิทัล มาช่วยสร้างความยืดหยุ่นในการทำงาน รวมถึงเพื่อดึงดูดพนักงานรุ่นใหม่ อาทิ Spotify บริษัทสตาร์ตอัปที่ให้บริการเกี่ยวกับมิวสิกสตรีมมิ่ง หรือการฟังเพลงรูปแบบออนไลน์ ซึ่งเห็นว่าแม้การทำงานออฟฟิศจะมีข้อดี แต่องค์กรก็ต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับความต้องการของพนักงาน เพื่อให้สามารถดึงดูดพนักงานไว้ได้

หรืออย่างบริษัทในไทย เช่น KBTG บริษัทด้านเทคโนโลยีในเครือธนาคารกสิกรไทย ได้มีการประกาศนโยบาย Agile from anywhere ตั้งแต่ปี 2564 ที่ให้อิสระกับพนักงานเลือกว่าจะทำงานที่ไหนก็ได้ โดยเห็นว่าแม้จะมีความท้าทายจากการทำงานนอกสถานที่ เช่น การถ่ายทอดวัฒนธรรม การระดมสมอง หรือการควบคุมปริมาณการประชุมในแต่ละวัน แต่ KBTG ก็จะใช้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี หรือการปรับกระบวนการทำงานมาช่วยปิดช่องว่างนี้ นอกจากนี้ ยังมีองค์กรในธุรกิจอื่น ๆ ที่นำรูปแบบการทำงาน WFH หรือ WFA มาใช้เช่นกัน เช่น Deloitte หนึ่งในบริษัท Big Four ของวงการบัญชีและที่ปรึกษาระดับโลก ซึ่งผู้บริหารให้อิสระกับพนักงานที่จะเลือกเวลาและสถานที่ในการทำงาน เชื่อว่ารูปแบบการทำงานในลักษณะนี้จะช่วยทำให้ผู้บริหารและพนักงานปรับตัว จนสามารถยกระดับวิธีการทำงานในที่สุด 

 

การทำงานแบบไฮบริด (Hybrid)

อย่างไรก็ดี หลาย ๆ องค์กรได้เลือกใช้การทำงานในลักษณะไฮบริด ที่มีการผสมผสานระหว่างการทำงานที่ออฟฟิศ และการทำงานนอกสถานที่มาเป็นตัวตั้งต้นในระยะ next normal ที่สถานการณ์ในระยะต่อไป ยังมีความไม่แน่นอนค่อนข้างสูง โดยได้นำจุดเด่นของรูปแบบการทำงานทั้ง 2 แบบมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับบริบทขององค์กร ยกตัวอย่างเช่น Barclays และ JP Morgan สถาบันการเงินระดับโลกที่ผู้บริหารเห็นว่าการ WFH มีข้อดีที่เพิ่มความยืดหยุ่น แต่การกลับมาทำงานที่ออฟฟิศจะช่วยให้เกิดประสิทธิภาพ และการถ่ายทอดวัฒนธรรมองค์กรได้ดี รวมถึงเกิดความยั่งยืนในอนาคตต่อไป โดย JP Morgan ได้กำหนดให้พนักงานมาทำงานที่ออฟฟิศ 3 วันต่อสัปดาห์

หรือ Warner Bros. บริษัทภาพยนตร์และสื่อความบันเทิงก็ได้ให้แต่ละทีมบริหารจัดการการทำงานในรายละเอียดให้เหมาะกับตนเอง โดยมีกรอบภาพรวมคือพนักงานมาทำงานที่ออฟฟิศ 3 วันต่อสัปดาห์ สำหรับในประเทศไทยพบว่ามีองค์กรที่ใช้รูปแบบการทำงานแบบไฮบริดเช่นกัน อาทิ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่มีความกังวลว่า WFA 100% จะกระทบกับความสัมพันธ์ของคน การสืบสานค่านิยมและวัฒนธรรมองค์กรในระยะยาว จึงกำหนดเป็นเกณฑ์กลางให้พนักงานต้องเข้าสำนักงาน 60% และสามารถ WFA 40% โดยให้ทุกคนในฝ่ายต้องปฏิบัติเหมือนกัน ซึ่งปรับเปลี่ยนได้ทุกเดือนโดยจะทดลองใช้รูปแบบนี้ไปก่อนระยะหนึ่ง

 

จะเห็นได้ว่า ยังไม่มีข้อสรุปที่บอกได้ว่ารูปแบบการทำงานแบบใดถึงจะตอบโจทย์ในยุค next normal เพราะแต่ละแบบก็มีจุดเด่นแตกต่างกัน ซึ่งก็คงต้องดูให้เหมาะกับบริบทขององค์กรด้วย ทั้งนี้เข้าใจว่าหลาย ๆ องค์กรรวมถึง ธนาคารแห่งประเทศไทย ก็อยู่ในช่วงปรับตัว และพยายามหาจุดสมดุลว่ารูปแบบไหนจะเหมาะกับองค์กรมากที่สุด ทั้งในด้านการตอบโจทย์พันธกิจ มีความยืดหยุ่น พร้อมส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่พนักงาน โดยต้องมีการติดตาม จับอุณหภูมิ พร้อมประเมินผลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเราก็คงต้องดูกันอีกทีว่าเมื่อเราเข้าสู่ next normal อย่างเต็มตัวแล้ว รถยนต์คันนี้จะไปถึงเส้นชัยด้วยเส้นทางไหน เพื่อให้ผู้โดยสารมีความสุขและปลอดภัยตลอดการเดินทาง

 

**บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย

…………………………………………………………………………………………………..

เรื่องโดย: กองบรรณาธิการ พระสยาม MAGAZINE

ที่มา: BOT พระสยาม MAGAZINE ฉบับที่ 3 เดือนกรกฎาคม – กันยายน 2565

…………………………………………………………………………………………………..

ข้อมูลอ้างอิง

Agile From Anywhere With KBTG: Pt.1 Work in the USA กับพี่ตะวัน Chief Technology Officer | KBTG

Deloitte to allow all staff to decide where and when they work | Financial Review

Dropbox founder Drew Houston on streamlining the digital workspace | Harvard Business School 

Goldman Sachs boss says remote work is an ‘aberration’ | Unleash

“Hybrid Working” รูปแบบการทำงานใหม่ กฟผ. พร้อมกันทั่วประเทศ 1 ก.ค. นี้ | กฟผ.

Introducing Working From Anywhere | Spotify

JPMorgan’s WFH model changed worker productivity—especially on two days of the week | Fortune 

Netflix’s Reed Hastings Deems Remote Work ‘a Pure Negative’ | The Wall Street Journal

Warner Bros. Discovery Doubles Down on Return to Office Mandate (EXCLUSIVE) | Variety

Working from home is losing its effectiveness, bank execs say | Reuters

Where are your employees working? | Deloitte

 

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด