“เพลงรบ ฐิติกุลดิลก” ส่งเสียงด้วยภาษามือ เติมเต็มอรรถรสให้กับผู้บกพร่องทางการได้ยิน
ภาพบุคคลที่ใช้ภาษามือเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมมุมล่างบนหน้าจอโทรทัศน์ แม้จะเป็นเพียงพื้นที่เล็ก ๆ แต่ก็มีความหมายยิ่งใหญ่ที่ช่วยให้คนหูหนวกเข้าถึงความเป็นไปของโลกได้อย่างเท่าเทียม ความสำคัญในวิชาชีพที่เปรียบดั่งสะพานเชื่อมข่าวสารความเคลื่อนไหว พร้อมลีลาท่าทางที่ขับเน้นอารมณ์ของเนื้อข่าวอย่างออกรส ทำให้ คุณเพลงรบ ฐิติกุลดิลก กลายเป็นหนึ่งในล่ามภาษามือที่ทำให้คนหูหนวกได้สัมผัสความงดงามของการสื่อสาร
คุณเพลงรบใฝ่ฝันที่จะเป็นนักสังคมสงเคราะห์ตั้งแต่เรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย แต่เมื่อจังหวะชีวิตที่ตั้งใจสอบเข้าคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่เป็นไปตามที่มุ่งหวังเพราะไปสอบผิดสนาม จึงต้องถอยมาตั้งหลักใหม่จนมีโอกาสได้เข้าไปเรียนในรั้วมหาวิทยาลัยมหิดล สาขาวิชาหูหนวกศึกษา คณะศิลปศาสตร์ วิทยาลัยราชสุดา ที่เปิดโลกให้เขาได้เรียนรู้ภาษามือเป็นทักษะพิเศษติดตัว และเปิดทางสู่อาชีพล่ามภาษามือในทุกวันนี้ ทั้งที่ตัวเองไม่ได้มีพื้นเพเกี่ยวข้องกับคนพิการมาก่อนเลย
“ล่ามภาษามือถือเป็นงานบริการอย่างหนึ่ง ผมเลยมองว่ามันก็คืองานสังคมสงเคราะห์นั่นแหละ แต่เป็นสังคมสงเคราะห์ที่มีภาษาศาสตร์เข้าไปเกี่ยวข้อง นั่นคือการใช้ภาษามือช่วยเหลือผู้พิการทางการได้ยิน” คุณเพลงรบกล่าวถึงอาชีพล่ามภาษามือ ที่สุดท้ายแล้วก็ถือว่าเขาได้ทำงานด้านสังคมสงเคราะห์ตามความใฝ่ฝัน
ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย โลกที่เริ่มหล่อหลอมให้เข้าใจผู้พิการ
คุณเพลงรบยอมรับว่า แรกเริ่มเดิมทีที่ต้องเข้ามาศึกษาเกี่ยวกับโลกของคนหูหนวก เขาไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจในลักษณะนิสัย ความคิด หรือบริบทการใช้ชีวิตของคนหูหนวกมาก่อน เขาเริ่มเรียนมหาวิทยาลัยในคณะที่ไม่สามารถนำความรู้สมัยมัธยมปลายมาใช้ได้ กลับกันคือต้องเริ่มเรียนภาษามือ ก ข ค ใหม่ทั้งหมด ความท้าทายที่เพิ่มขึ้นคือ การที่หลักสูตรบังคับให้คนปกติต้องพักร่วมกันกับคนหูหนวกตั้งแต่ปีแรกที่เรียน โดยที่ยังสื่อสารไม่ได้
“ตอนนั้น เรามีความรู้สึกอึดอัดเพราะเราสื่อสารไม่ได้ วิชาที่เรียนก็คือวิชาวัฒนธรรมคนหูหนวกไทยและต่างชาติ แต่เรายังไม่เข้าใจว่ามันจะเป็นสังคมสงเคราะห์ได้ยังไง แต่พยายามตั้งใจเรียน ขยัน เพื่อให้ได้ทุนการศึกษา จนกระทั่งขึ้นปี 2 เราเห็นคนหูหนวกนั่งดูทีวี ด้วยความที่เราอยากให้เขาเข้าใจ เลยพยายามแปลภาษามือแม้เราจะยังไม่เก่ง เริ่มจากสะกดเป็นคำ ๆ ก่อน บางทีแปลไม่ทันบ้าง แต่ก็คล่องขึ้นเรื่อย ๆ เริ่มรู้สึกว่าสนุกดี คนก็มานั่งดูเราเยอะขึ้นจนห้องเต็ม บางคำเราไม่รู้เขาก็สอนเราบ้าง ได้แปลแลกเปลี่ยนกัน”
จากความพยายาม การทำกิจกรรม บวกกับหลักสูตรที่คณะมี ทำให้เริ่มเข้าใจจิตวิทยาคนหูหนวกมากขึ้น ได้รู้ว่าคนหูหนวกไม่ได้มีสุนทรียะทางอารมณ์ เพราะเขาไม่เคยฟังเพลง ฟังนิทาน จึงไม่รู้จักความละมุนอ่อนหวานในชีวิต ในขณะเดียวกันกลับต้องอยู่กับความหวาดระแวง ความไม่ไว้ใจอยู่ตลอด เมื่อได้เรียนรู้ก็ทำให้เข้าใจคนหูหนวกและปรับตัวได้มากขึ้น ก็เริ่มสนุกกับชีวิตในมหาวิทยาลัย
สู่อาชีพล่ามภาษามือ
เส้นทางการทำงานก่อนจะเข้ามาอยู่ในชายคาช่อง 7 นั้น คุณเพลงรบผ่านประสบการณ์ทั้งการเป็นผู้ช่วยนักสังคมสงเคราะห์ของศูนย์บริการสาธารณสุข การทำงานในกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่เขาได้มีส่วนร่วมในการเรียกร้องให้สนับสนุนอาชีพล่ามภาษามือ ด้วยการรวบรวมกลุ่มคนที่ใช้ภาษามือได้มาจดแจ้ง เข้าสู่ระบบ พัฒนาและฝึกอบรมเพิ่มเติม รวมถึงได้มีโอกาสทำงานในสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่เขาได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนบริการสำหรับผู้พิการ การคุ้มครองผู้บริโภคสำหรับผู้พิการ จนนำมาสู่การออกระเบียบให้สถานีโทรทัศน์ต้องมีการใช้ล่ามภาษามือในรายการอย่างน้อยวันละ 1 ชั่วโมง กระทั่งมาถึงการทำงานในฐานะล่ามภาษามือที่สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 ตั้งแต่ปี 2555 ในที่สุดที่ช่อง 7 มีล่ามภาษามือทั้งหมด 6 คน รายการที่รับผิดชอบครอบคลุมเนื้อหาทั้งข่าว บันเทิง กีฬา และพยากรณ์อากาศ โดยใช้สีหน้า ท่าทาง ประกอบการใช้ภาษามือสื่อสารได้อย่างออกรส ด้วยเจตนาที่อยากให้คนหูหนวกเข้าถึงอรรถรสของภาษา และเหตุการณ์ที่ปรากฏในข่าวให้ได้มากที่สุด ทำให้คุณเพลงรบกลายเป็นหนึ่งในล่ามภาษามือรุ่นใหม่ที่เป็นที่จดจำ แม้จะโดนวิพากษ์วิจารณ์จากคนที่ติดภาพของล่ามภาษามือแบบเดิม ๆ อยู่หลายครั้ง แต่เขาก็ยังคงมุ่งมั่นตั้งใจในการทำหน้าที่ล่ามในแบบฉบับของเขาต่อไป
“ผมอยากแปลสะเก็ดข่าว ฝนฟ้าอากาศ ข่าวบันเทิง รายการที่คนหูหนวกดูแล้วเขาขำได้ และต้องยอมรับว่าเราเป็นคนแรก ๆ ที่มาแปลฝนฟ้าอากาศแบบมัน ๆ ถ้าคุณเปรมสุดาบอกว่า ‘ร้อนมากกก’ จะให้เราแปลหน้านิ่ง ๆ คนหูหนวกจะเข้าใจไหมว่าร้อนมากขนาดไหน เพราะคำขยายของภาษามือคือ สีหน้าและท่าทาง น้ำหนักเสียง ครุ ลหุ เสียงต่ำสูงอยู่ที่น้ำหนักมือ เช่น ฝนฟ้าคะนองมันต้องรุนแรงกว่าฝนตก รถชนระเนระนาดก็ไม่ใช่แค่รถเฉี่ยวชน เราก็ต้องใส่เต็ม (ทั้งหน้าตาและท่าทาง) เราไม่แคร์ เราเรียนมาแบบนี้ (หัวเราะ) ผลคือคนก็ร้องเรียนเข้ามา แต่หลัง ๆ ก็มีคนทำตามแบบเรา”
การทำงานในช่อง 7 ยังเปิดโอกาสให้เขาได้ทดลองทำสิ่งใหม่ ๆ อีกมากมาย เพื่อสะท้อนว่าภาษามือก็สามารถสร้างความบันเทิงได้ โดยหนึ่งในตัวอย่างผลงานที่ช่วยขยายฐานการรับรู้ในศักยภาพของล่ามภาษามือ คือการแปลบทเพลง “เธอคือเมโลดี้” ของวง BNK 48 ในรายการสนามข่าว ซึ่งทางช่องได้ให้ความสำคัญด้วยการขยายกรอบภาพล่ามให้ใหญ่ขึ้นเกือบ 1 ใน 3 ของหน้าจอ และการทำหน้าที่ครั้งนั้นยังได้รับเสียงชื่นชมว่าใช้ภาษามือได้พลิ้วไหว ราวกับเป็นโอตะของวงกันเลยทีเดียว
ภาษาของผู้พิการทางการได้ยิน
คุณเพลงรบเปิดเผยว่า องค์ประกอบสำคัญของภาษามือคือ คำศัพท์ สีหน้า ท่าทาง การเคลื่อนไหว และหลักไวยากรณ์ ดังนั้น การเป็นล่ามที่ดีนอกจากมีความรู้ในวิชาชีพแล้ว ก็ต้องมีความกล้าแสดงออกเพื่อถ่ายทอดให้คนหูหนวกได้เข้าใจ พร้อมกันนี้ เขายังเผยข้อเท็จจริงอันน่าตกใจที่คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิด นั่นคือ ความจริงแล้วคนหูหนวกไม่สามารถอ่านหนังสือหรือซับไทเทิลได้ทุกคน เพราะโครงสร้างประโยคที่คนหูหนวกเรียนรู้มีรูปแบบแตกต่างจากคนปกติ และคำศัพท์ที่พวกเขารู้จักก็ยังมีน้อยกว่า ทำให้คนหูหนวกเกือบทุกคนไม่สามารถสื่อสารด้วยการอ่านหนังสือแบบคนทั่วไปได้
เมื่อเอ่ยถึงประเด็นที่น่าสนใจนี้ คุณเพลงรบซึ่งมีอีกสถานะหนึ่งคือ อุปนายกสมาคมล่ามภาษามือแห่งประเทศไทย จึงได้อธิบายถึงหลักการแปลภาษามือว่า ล่ามต้องประมวลประโยคที่ได้ยินแล้วสื่อสารออกมาให้เป็นภาพ โดยไวยากรณ์ของภาษามือจะเรียงประโยคจากกรรม ประธาน กริยา เช่น ฉันไปโรงเรียน ภาษามือจะใช้ว่า โรงเรียน ฉัน ไป หรือหากต้องการจะบอกว่ามีการขโมยทองที่วางอยู่หน้าเคาน์เตอร์ ก็ต้องเริ่มจากทำมือให้เห็นภาพว่ามีเคาน์เตอร์ก่อน แล้วมีทองวาง ส่วนทองจะเป็นสร้อย กำไล หรือแหวน ล่ามก็ต้องอธิบายให้ชัดเจน จากนั้น โจรถึงมาหยิบไป
นอกจากนี้ ล่ามภาษามือในโทรทัศน์ต้องศึกษาเนื้อข่าวก่อนแปลให้เข้าใจ สรุปความหมายให้ได้ใจความ แม้จะเก็บรายละเอียดไม่ได้ทั้งหมด แต่ต้องสรุปความให้ได้ว่ามีอะไรเกิดขึ้น ที่ไหน อย่างไร และผลสรุปเป็นอย่างไร หากแปลผิดก็ค่อยแก้ตัวในเทปต่อไป อย่ามัวหมกมุ่นอยู่กับข้อผิดพลาดในตอนนั้น
“ประสบการณ์จะช่วยให้ล่ามคาดเดาเรื่องราวในข่าวได้ และไม่จำเป็นต้องเก็บรายละเอียดให้ได้ทั้งหมด ซึ่งล่ามมือใหม่สามารถฝึกฝนได้จากการทำงานจริง และดูการแปลจากล่ามเก่ง ๆ หมั่นอัปเดตคำศัพท์ภาษามือใหม่ ๆ จากสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย หรือจะนำมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกันในกลุ่ม รวมถึงรู้จักแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ เช่น การสะกดชื่อตามตัวอักษรในกรณีที่ยังไม่มีการบัญญัติภาษามือ ในส่วนของชื่อเฉพาะนั้น ๆ”
เติมเต็มภาษามือด้วยความรู้ทางการเงิน
คุณเพลงรบเล่าว่า ความท้าทายในการทำงานล่ามภาษามือ คือการมีคำศัพท์ใหม่เกิดขึ้นใหม่ทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นศัพท์ทางการแพทย์ เช่น โควิด เดลต้า โอมิครอน การตรวจ ATK RT-PCR ชื่อวัคซีนต่าง ๆ หรือศัพท์เทคโนโลยีและการเงิน เช่น Metaverse, blockchain, cryptocurrency, Bitcoin ฯลฯ โดยในส่วนหลังนี้เขามีมุมมองว่า ทุกวันนี้คนหูหนวกหลายคนเข้าถึงระบบการเงิน รู้จักการซื้อหุ้นและ cryptocurrency พวกเขาศึกษาเรื่องการเงินเพราะต้องการรายได้มาพัฒนาคุณภาพชีวิต ไม่ให้เป็นภาระของสังคม แต่ปัญหาคือคนหูหนวกก็ถูกหลอกลวงจากมิจฉาชีพได้เช่นกัน เขาจึงเสนอแนะว่า ควรจะมีแพลตฟอร์มสักหนึ่งช่องทางในการให้ความรู้ที่มีการใช้ภาษามือเกี่ยวกับการเงินการลงทุน เพื่อช่วยเตือนภัยทางการเงินไม่ให้คนหูหนวกต้องตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ
“การเงินการบัญชีเป็นหนึ่งในวิถีชีวิตของคนหูหนวก ถ้ามีรายได้พวกเขาจะเป็นอีกหนึ่งพลังของสังคมที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ แต่คนกลุ่มนี้ก็มีที่ถูกหลอกมากมาย จึงคิดว่า อย่างน้อยควรมีสักช่องทางที่ทำเนื้อหาลักษณะเตือนภัยเป็นภาษามือ มีภาพประกอบ มีล่ามอธิบายเป็นภาษามือที่ผ่านการคัดกรองแล้วว่า ถูกต้องใช้ได้เพื่อให้เป็นสื่อทีมีคุณภาพสำหรับคนหูหนวก หรืออย่างแบงก์ชาติอาจร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการทำคำศัพท์ภาษามือด้านการเงิน จะทำเป็นเว็บไซต์ แอปพลิเคชัน หรือจะทำเป็นวิดีโอคลิปแล้วส่งให้สมาคมคนหูหนวกฯ ก็ได้ เพื่อที่สมาคมจะได้ส่งต่อให้คนหูหนวกได้เรียนรู้คำศัพท์ หรือแบงก์ชาติจะเปิดอบรมศัพท์เทคนิคให้กับล่าม เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องแล้วนำมาใช้ในการแปลข่าวได้”
การกำหนดมาตรฐานและยกระดับวิชาชีพ
คุณเพลงรบกล่าวต่อไปว่า การกำหนดศัพท์ภาษามือในประเทศไทยนั้น มีองค์กรหลักที่ดูแลคือ สมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย กับอีกหน่วยงานหนึ่งคือสำนักงานราชบัณฑิตยสภา ซึ่งมีการจัดทำเว็บไซต์พจนานุกรมภาษามือไทยออกมาตั้งแต่ปี 2560 แต่เพราะทุกวันนี้มีคำใหม่เกิดขึ้นมากมายทำให้การกำหนดภาษามืออาจไม่ทันการ ล่ามจึงพยายามแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าไปตามมุมมองของแต่ละคน โดยอิงหลักวิชาการให้มากที่สุด
“คำอุบัติใหม่อย่าง ‘หิวแสง’ ถ้าใช้ตรงตัวคือ ‘หิว’ กับ ‘แสง’ ซึ่งคนหูหนวกจะไม่เข้าใจ เราก็ต้องพยายามอธิบายว่าศัพท์คำนี้คือความอยากเป็นที่รู้จัก หรืออยากให้ตัวเองเด่น ประโยคเดียวกัน ล่าม 5 คนยังแปลออกมาเป็นภาษามือได้ไม่เหมือนกัน คำถามคือ แล้วจะเอามาตรฐานใดมาชี้วัดคุณภาพว่าเราเก่งหรือไม่เก่ง ผมจึงอยากเห็นการกำหนดมาตรฐานทางวิชาชีพเพื่อให้ล่ามได้ทราบว่า ควรพัฒนาตัวเองไปในลักษณะใดบ้าง ต่อยอดไปอย่างไรได้บ้าง เมื่ออายุมากขึ้นทำอาชีพเดิมไม่ได้แล้ว จะไปทำอะไรต่อได้บ้าง ผมยังคิดว่า ในเมื่อล่ามภาษามือเป็นวิชาชีพเฉพาะทาง การพัฒนาวงการล่ามภาษามือต้องมีการทำให้เป็นระบบ ตั้งแต่การศึกษาที่ควรมีไปจนถึงระดับดุษฎีบัณฑิต เพื่อพัฒนาบุคลากรมาสอนบัณฑิตใหม่ เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยได้อย่างแท้จริง ตราบใดที่เราไม่มีบุคลากรทางการศึกษาที่มีคุณภาพ เราจะไม่มีทางเห็นล่ามที่มีคุณภาพ เราจะไม่มีล่ามที่ถูกกำหนดด้วยมาตรฐานทางวิชาการว่าคนนี้มีศักยภาพทางวิชาการหรือทางการแปล”
นอกจากนี้ คุณเพลงรบยังอยากให้มีสภาการแปลของล่ามภาษามือในลักษณะเดียวกันกับล่ามภาษาอื่น ๆ และการมีองค์กรที่ทำหน้าที่ดูแลส่งเสริมอาชีพล่ามภาษามือ การบรรจุล่ามเป็นพนักงานหรือข้าราชการ อยากให้รัฐบาลมองเห็นความสำคัญของอาชีพนี้
บันไดฝันล่ามภาษามือ
เมื่อนับเวลาการทำงานที่ช่อง 7 ถึงปีนี้ก็ครบ 10 ปีแล้ว ที่นี่ทำให้เขาได้เห็นวิสัยทัศน์ของผู้บริหารที่ให้ความสำคัญกับล่ามภาษา มือซึ่งมีผลต่อการทำงานอย่างมาก “การเป็นล่ามภาษามือไม่ได้แค่สื่อความหมาย แตมั่นเป็นตัวแทนที่จะทำประโยชน์อะไรสักอย่างเพื่อคนหูหนวก ทั้งยังได้พัฒนาวิชาชีพของตัวเอง แต่ใครที่อยากเป็นล่ามภาษามือ ผมก็ไม่อยากให้วาดฝันสวยงามว่าเรียนจบแล้วต้องได้เป็นล่ามทีวี เพราะมีตำแหน่งจำกัด อยากให้เผื่อใจและหาแผนสำรองอื่น ๆ ในระหว่างที่ตามฝัน เพราะสายอาชีพนี้สามารถไปเป็นนักพัฒนาสังคม ครูในโรงเรียนโสตศึกษาหรือโรงเรียนการศึกษาพิเศษ หากมุ่งมั่นจะเป็นล่ามทีวีก็ค่อยกลับมาตามความฝันอีกรอบก็ได้ มันเป็นจังหวะ ถ้าน้อง ๆ ตั้งใจและมันมีจังหวะ ย่อมไปสู่ฝันได้อย่างแน่นอน
เกร็ดการทำงานล่ามภาษามือ
• เป็นล่ามต้องศึกษาข่าวไปก่อน รวมทั้งศัพท์เทคนิคและชื่อเฉพาะ ถ้าผู้ประกาศข่าวพูดว่า “คนถูกรถชน” ก็ต้องดูว่าเป็นรถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ หรือข่าวว่าโจรปล้นร้านสะดวกซื้อ ก็ต้องรีบมองก่อนว่าเป็นร้าน 7-Eleven FamilyMart หรือร้านอะไร เพื่อแปลงเป็นภาษามือให้เข้าใจง่าย ความหมายถูกต้องที่สุด
• บางครั้งมีผู้ประกาศข่าวหลายคนนั่งอยู่คนละตำแหน่ง เวลาแปลก็ต้องหันหน้าไปในทิศทางเดียวกับคนที่กำลังแปลอยู่ด้วย เพื่อให้คนหูหนวกที่ดูอยู่เข้าใจว่าใครกำลังพูดเรื่องนี้
• มีการสุ่มตรวจสอบล่ามภาษามือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและการประเมินจากผู้บริโภคเป็นประจำ เพื่อรักษาคุณภาพการทำงาน และใช้ประวัติไปต่อใบประกอบวิชาชีพ
• คนหูหนวกในไทยมีประมาณ 382,615 คน ขณะที่ล่ามภาษามือที่ลงทะเบียนกับสมาคมล่ามภาษามือแห่งประเทศไทย มีประมาณ 600 คน มีทั้งคนที่เป็นล่ามในรายการโทรทัศน์ ครู นักพัฒนาสังคม ไปจนถึงนักแปลในครอบครัวของคนที่มีปัญหาการได้ยิน
——————————————————————–
เรื่องโดย: กองบรรณาธิการ BOT พระสยาม MAGAZINE
ที่มา: BOT พระสยาม MAGAZINE (2-2565) ประจำเดือนเมษายน – มิถุนายน 2565