ก้าวสู่ยุค AI และ MACHINE LEARNING คิด-ทำแทนคน
โลกปัจจุบันกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยมี เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) และ machine learning เป็นแรงผลักดันสำคัญ นอกจาก AI จะช่วยด้านพัฒนาการรักษาโรค การเงินการลงทุน และการวิเคราะห์ผู้บริโภค ฯลฯ ได้ด้วยความเร็วที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนแล้ว AI ยังเปิดประตูไปสู่วิธีสื่อสารใหม่ ๆ ในโลกธุรกิจ และการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้คนอีกด้วย
บริษัท บิสกิต โซลูชั่น จำกัด หรือ BIZCUIT ผู้ให้บริการโซลูชันเทคโนโลยี AI ในประเทศไทย ระบุว่า เทคโนโลยี AI โดยเฉพาะด้าน machine learning เป็นที่จับตามองไม่เฉพาะแค่ภาคธุรกิจเท่านั้น แต่ปัจจุบันเป็นนวัตกรรมที่จะสามารถขับเคลื่อนในทุกหน่วยของโครงสร้างพื้นฐานทั้งภาคธุรกิจและภาครัฐ เนื่องจาก machine learning สามารถเรียนรู้และทำความเข้าใจในสิ่งที่มนุษย์ถ่ายทอดจนเสมือนเป็นมนุษย์ และสามารถต่อยอดด้วยเครื่องมือที่หลากหลาย จนทำในสิ่งที่มนุษย์ทำไม่ได้ สิ่งที่สะท้อนกระแสความนิยมของธุรกิจ AI ในตลาดโลก คือ ตลาด AI โลกที่มีมูลค่าถึง 74,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2.48 ล้านล้านบาท ในปี 2564 ที่ผ่านมา โดย 60% ของตลาดเป็นแอปพลิเคชันหรือโซลูชันที่มีการใช้ machine learning คิดเป็นมูลค่า 1.48 ล้านล้านบาท ส่งผลให้เกิดเทรนด์การนำเทคโนโลยี AI ด้าน machine learning ไปประยุกต์ใช้ เพื่อสร้างประสิทธิภาพและขยายขีดความสามารถให้กับภาคธุรกิจและองค์กรของรัฐได้
5 เทรนด์ AI มาแรง
บิสกิต โซลูชั่น ได้ชี้เทรนด์ของเทคโนโลยี machine learning และ AI ที่เน้นพัฒนาให้ทำในสิ่งที่มนุษย์ทำไม่ได้ ซึ่งมี 5 เทรนด์สำคัญ ได้แก่
1. Voice is the new hand เสียงจะเป็นเสมือนแขนที่สามของมนุษย์ ที่จะคอยสั่งการแบบไร้สัมผัส ข้อมูลเสียงจะทำให้เราสั่งงานระบบต่าง ๆ พร้อมยืนยันตัวตน และแจ้งตำแหน่งของเราด้วยการพูดเพียงอย่างเดียว ทำให้เกิดการใช้งานใหม่ ๆ มากมายเหมือนกับจาร์วิสในภาพยนตร์เรื่องไอรอนแมน ซึ่งปัจจุบันมีแอปพลิเคชันที่ให้บริการ เช่น Siri, Echo และ Google Assistant ในช่วงการระบาดของโควิด 19 การใช้ระบบสั่งการด้วยเสียงเพิ่มขึ้น 7% และคาดว่าในปี 2566 จะมีผู้ใช้ระบบสั่งการด้วยเสียงมากกว่า 8,000 ล้านคนทั่วโลก โดย 80.5% เป็นผู้ใช้ที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี
2. Computer generated content การสร้างคอนเทนต์หรือเนื้อหาด้วย AI ที่เกิดจาก เทคโนโลยี Natural Language Generation หรือ NLG ซึ่งเป็นอีก 1 สาขาของ Machine Learning AI โดยปัจจุบันสามารถสอนให้ AI คิดเนื้อหาขึ้นมาเอง เพื่อตอบโต้ความต้องการของมนุษย์แบบอัตโนมัติ หรือสร้างความบันเทิงให้กับมนุษย์ ถูกสร้างขึ้นด้วยซอฟต์แวร์ที่เทียบเท่ากับสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมาได้ เช่น ระบบ 3D TV
3. Natural Language Understanding การทำความเข้าใจภาษากายของมนุษย์ ซึ่งจะถูกใช้ร่วมกับ IoT ทำให้เกิดประสบการณ์ใหม่ ๆ ในอนาคต AI จะสามารถเข้าใจสิ่งที่มนุษย์ต้องการ ไม่ใช่แค่เข้าใจคำสั่ง แต่เข้าใจความต้องการของเรา ประสบการณ์ที่จะได้จาก IoT จะยิ่งทวีคูณ เช่น เมื่อพูดว่าน้ำส้มหมดตู้เย็น สามารถวิเคราะห์ได้ว่าต้องการซื้อน้ำส้ม และจะสืบค้นร้านค้าออนไลน์ เปรียบเทียบราคาและเสนอตัวเลือกที่ดีที่สุดให้
4. Computer Vision การวิเคราะห์ภาพเรียลไทม์จะถูกใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้น โดยสามารถเพิ่มขีดความสามารถของกล้อง CCTV ที่มีอยู่แล้ว ให้มีความสามารถเป็น AI vision analytic ตรวจจับวิเคราะห์ภาพเพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ความก้าวหน้าในการพัฒนา computer vision ในปัจจุบัน มีอัตราความแม่นยำในการระบุวัตถุต่าง ๆ และการจัดหมวดหมู่ ยกระดับขึ้นมาถึง 99% สามารถตรวจจับและตอบสนองข้อมูลเชิงภาพได้อย่างแม่นยำยิ่งกว่ามนุษย์แล้ว
5. ระบบการประมวลผลแบบใหม่ เช่น quantum computer กำลังจะยกขีดความสามารถของ AI ไปแบบก้าวกระโดด เนื่องจากศักยภาพในการประมวลผลของ AI ขึ้นอยู่กับความสามารถของฮาร์ดแวร์ และ quantum computer คืออนาคตที่ทรงพลังของ AI
ปัจจุบันเทคโนโลยี machine learning และ AI ได้ถูกพัฒนาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลากหลายธุรกิจ และมีการเรียนรู้มากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น เทสลา (Tesla) ของอีลอน มัสก์ มีการบันทึกข้อมูลระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติกว่า 1.88 พันล้านไมล์ในปี 2562 ข้อมูลดังกล่าว ได้กลายเป็นมันสมองของรถระบบอัตโนมัติที่จะช่วยปฏิวัติการเดินทางในทศวรรษต่อไป เมื่อเราต้องเผชิญความจริงที่ว่ามีผู้คนต้องเสียชีวิตจากการเดินทางบนท้องถนนปีละ 1.3 ล้านคน ซึ่ง 90% เกิดจากความผิดพลาดของมนุษย์
AI ในบทบาทผู้สร้างสรรค์
จะเห็นได้ว่าทั้ง 5 เทรนด์ AI ที่มาแรงข้างต้น เป็นการใช้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพด้านการสื่อสารของมนุษย์ ทั้ง voice is the new hand การใช้เสียงเพื่อสั่งการ เข้ามาตอบโจทย์ความกังวลของมนุษย์ในการสัมผัสสิ่งต่าง ๆ หลังการระบาดของโควิด 19 หรือ natural language understanding การเรียนรู้และเข้าใจภาษาของมนุษย์ ทำให้ AI ช่วยในการสื่อสารได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมไปถึง computer generated content ความสามารถในการสร้างสรรค์คอนเทนต์ เนื้อหา สิ่งบันเทิงต่าง ๆ เพื่อให้สอดรับกับไลฟ์สไตล์ของผู้คนที่เปลี่ยนแปลงไป
ตัวอย่างเช่น เราสามารถใช้ AI เพื่อสร้างงานศิลปะ บทกวี บทละคร และวิดีโอเกมได้ด้วย GPT-4 ระบบประมวลผลภาษาธรรมชาติของ AI หรือมันสมองของกูเกิล (Google’s Brain) ที่สามารถสร้างสรรค์สิ่งที่ซับซ้อนและเป็นธรรมชาติมากขึ้น ด้วยจินตนาการและความสามารถของระบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่เดิมถือเป็นความสามารถของมนุษย์ที่จะรังสรรค์สิ่งเหล่านี้ขึ้นมาได้
ในปี 2565 เราได้เห็นการนำ AI ไปใช้เขียนหัวข้อข่าวสำหรับบทความและจดหมายข่าว ออกแบบโลโก้ และอินโฟกราฟิก เราได้เห็นความสามารถนี้ของ AI “ปัญญาประดิษฐ์” ที่สามารถกำหนดขอบเขตและการทำงานได้เหมือน “ปัญญาที่แท้จริง” ซึ่งปีที่ผ่านมาทีมผลิตสื่อด้วย AI ของสำนักข่าวบีบีซี ประเทศอังกฤษ ได้ทำการใส่วัตถุดิบ เช่น ภาพ เสียง และชุดข้อมูล เพื่อให้ AI และ machine learning เรียนรู้และประมวลผลสำหรับช่วยงานด้านการผลิต เช่น การตัดต่อภาพ และจัดเฟรมภาพด้วยความฉลาดของ AI ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ทำให้รายการของบีบีซีสามารถเลือกนำเสนอรายการในแบบที่แตกต่างจากเดิม
เปิดความสามารถใหม่ เมื่อ AI พูดคุยได้
Curious Thing แพลตฟอร์มการสื่อสารด้วยเสียง AI ที่มีการประมวลผลการสนทนา AI กับมนุษย์ไปแล้วกว่า 3 ล้านนาที สามารถโทรหาผู้คนและถามคำถาม เช่น “วันนี้คุณรู้สึกอย่างไร” แล้วตามด้วย “รู้สึกอย่างไรเมื่อเทียบกับเมื่อวาน” แพลตฟอร์มดังกล่าว ถูกนำมาใช้บริการในเชิงรุกเพื่อดูแลสุขภาพของผู้คนในช่วงสถานการณโควิด 19 เพื่อแพทย์ให้การดูแลที่เหมาะสม บริการดังกล่าวยังสามารถนำมาใช้ในอุตสาหกรรมการเงิน เพื่อช่วยเหลือและแจ้งเตือนการชำระเงิน และรวบรวมความเห็นของลูกค้าได้อีกด้วย
นอกจากนี้ จากงานวิจัย AI, robotics and automation: Put humans in the loop ของ Deloitte ระบุว่า AI และหุ่นยนต์ กำลังเปิดทางให้ HR ได้ใช้ความสามารถใหม่ ๆ ที่มีอยู่ในซอฟต์แวร์ปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการจดจำใบหน้า และการแยกแยะเพศ สามารถฟังเสียงแล้วระบุได้ว่าเสียงนั้นอยู่ในอารมณ์ไหน และสามารถถอดวิดีโอจากการสัมภาษณ์พนักงานออกมาได้ว่า ผู้ที่มาสมัครงานนั้นมีการศึกษาระดับใด รวมถึงสามารถจับเท็จและวิเคราะห์ผู้สมัครได้ด้วยเครื่องมือวิเคราะห์ต่าง ๆ จะคัดเลือกผู้สมัครอย่างชาญฉลาด และยังสามารถระบุทางเลือกในการประกอบอาชีพ และปรับปรุงทักษะของพนักงานได้
รวมทั้งการที่ AI และเทคโนโลยีที่ล้ำหน้า เริ่มเข้ามามีอิทธิพลในองค์กร ทำให้ทักษะการทำงานหลายด้าน เช่น การคิดเชิงวิเคราะห์และประเมินผล ความคิดสร้างสรรค์ และความสามารถในการแก้ปัญหาเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งองค์กรชั้นนำตระหนักดีว่า เทคโนโลยีเหล่านี้จะมีประสิทธิภาพมากที่สุดเมื่อนำมาใช้งานร่วมกับมนุษย์ ไม่ใช่แทนที่มนุษย์
สำหรับประเทศไทย ในภาคอุตสาหกรรมการเงินมีการใช้งานเทคโนโลยี AI และ machine learning ดังกล่าวแล้ว 100% อุตสาหกรรมค้าปลีก 60% ภาคการผลิตมีการใช้ AI แต่ไม่ใช่ลักษณะของ machine learning แต่เน้นไปที่การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตหรือระบบอัตโนมัติเป็นหลัก จากนี้ไปจะเข้าสู่ยุคการเรียนรู้ด้วย AI ที่ถูกนำมาใช้งานอย่างทรงพลังมากขึ้น และจะพลิกโฉมหน้าใหม่ของวงการธุรกิจของโลกต่อไป
——————————————————————-
เรื่องโดย: กองบรรณาธิการ BOT พระสยาม MAGAZINE
ที่มา: BOT พระสยาม MAGAZINE (2/2565) ประจำเดือนเมษายน – มิถุนายน 2565