‘รศ. ดร.วิลาสินี พิพิธกุล’ THAI PBS สื่อสารอย่างสร้างสรรค์ บนจริยธรรมและการมีส่วนร่วม
ท่ามกลางกระแสธารข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นต้องได้รับการตรวจสอบอย่างเข้มข้น และการนำเสนอเนื้อหาที่ล่อแหลมต่อการเกิดความขัดแย้ง สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส คือหนึ่งในองค์กรที่ให้ความสำคัญต่อการทำหน้าที่อย่างเที่ยงตรง จนเป็นที่ยอมรับอย่างสูงในการทำหน้าที่สื่อมวลชนที่มีคุณภาพ
ในปี 2551 ไทยพีบีเอส (Thai PBS) ได้รับการก่อตั้งขึ้นโดยเป็นสถานีโทรทัศน์สาธารณะแห่งแรกของประเทศไทย ภายใต้การดำเนินงานขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ที่มีความโดดเด่นในการนำเสนอข่าวสารที่มุ่งเน้นความเป็นกลาง เคร่งครัดในข้อกำหนดด้านจริยธรรม รวมทั้งการเป็นพื้นที่สาธารณะที่เปิดโอกาสให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในทุกระดับอย่างเท่าเทียม
ตลอดระยะเวลาที่จะก้าวสู่ปีที่ 15 ในต้นปีหน้า จาก “ก้าวแรก” ในฐานะ “สื่อสาธารณะ” ปัจจุบันไทยพีบีเอสได้ขยายบทบาทไปไม่หยุดยั้ง โดย รศ. ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ซึ่งได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ ส.ส.ท. เป็นสมัยที่สองตั้งแต่ปีที่แล้ว ได้มาบอกเล่าถึงบทบาทของไทยพีบีเอสและความท้าทายต่อการทำหน้าที่สื่อมวลชนที่มีเป้าหมายในการเติมเต็มช่องว่างของกลุ่มผู้ชม และการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนสังคมไทยสู่ความยั่งยืน
สื่อสาธารณะของประชาชน
ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ประชาชนคาดหวังอย่างยิ่งต่อการนำเสนอข่าวสารที่เที่ยงตรง น่าเชื่อถือซึ่งจากผลการสำรวจความคิดเห็นที่มีต่อสื่อมวลชนประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก จัดทำโดย Reuters Institute (Digital News Report 2564) พบว่าคนไทยยอมรับให้ไทยพีบีเอสเป็นสื่อที่มีความน่าเชื่อถือมากที่สุด โดยมี brand trust scores สูงสุดในบรรดาสื่อมวลชนไทยที่มีการสำรวจทั้งหมด สอดคล้องกับผลการศึกษาโดยหน่วยงานประเมินอิสระภายนอก (2564) ผู้ชม ให้ไทยพีบีเอสเป็นอันดับที่ 1 ด้านความไว้วางใจ ความถูกต้อง เป็นธรรม และไม่ลำเอียงเข้าข้างฝ่ายใด สะท้อนให้เห็นถึงการเป็นสถานีโทรทัศน์ที่ได้รับการยอมรับเป็นอย่างสูง ด้านความน่าเชื่อถือในการนำเสนอข่าวสารและข้อมูล
“ส.ส.ท. หรือไทยพีบีเอส ได้อยู่เคียงข้างกับประชาชนมาโดยตลอด แม้ในช่วงวิกฤตโควิด 19 เพราะเราตระหนักดีว่า นี่คือวิกฤตที่หนักหนาและยาวนาน ซึ่งสื่อสาธารณะจะต้องช่วยนำพาสังคมไทยให้ก้าวพ้นและประคับประคองทุกคน โดยเฉพาะคนที่กำลังอ่อนแรงลงไปเรื่อย ๆ” นี่คือเหตุผลของการดำรงอยู่ในฐานะสื่อสาธารณะของประชาชน
“การเป็นสื่อที่ยึดโยงกับประชาชนนั้น ไม่ใช่เพียงแค่การได้สร้างสรรค์งานที่ประชาชนชื่นชอบพอใจเท่านั้น แต่ไทยพีบีเอสตระหนักดีว่า ต้องทำให้เรื่องราวคุณค่าของความเป็นพหุวัฒนธรรม และความเป็นมนุษย์ที่มีแง่มุมละเอียดอ่อน ได้ถูกบอกเล่าออกมาอย่างมีศักดิ์ศรี เพื่อนำไปสู่การเคารพในความหลากหลายที่อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ อันเป็นหลักการสำคัญประการหนึ่งของสื่อสาธารณะทั่วโลก รวมถึงความตั้งใจที่จะสร้างวัฒนธรรมของการทำงานด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ให้แก่ทีมไทยพีบีเอสทุกคนด้วย”
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันนี้บทบาทของไทยพีบีเอส ก็มีความท้าทายมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งจากภูมิทัศน์สื่อสารมวลชนที่เปลี่ยนแปลงโดยมีช่องทางใหม่ ๆ ในการสื่อสารมากขึ้น ที่ทำให้พื้นที่การเสนอข่าวสารเป็นยิ่งกว่า “red ocean” รวมทั้งการเป็นสถานีโทรทัศน์ที่อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 ในฐานะองค์การสื่อสาธารณะที่ไม่แสวงผลกำไร ที่มีเป้าหมายชัดเจนในการสนับสนุนการพัฒนาสังคมที่มีคุณภาพและคุณธรรมบนพื้นฐานของความเป็นไทย โดยผ่านทางบริการข่าวสารที่เที่ยงตรง รอบด้าน สมดุล และซื่อตรงต่อจรรยาบรรณ ก็ยิ่งเป็นโจทย์ที่ท้าทายการทำงานของไทยพีบีเอสมากยิ่งขึ้น
“โจทย์ใหญ่ของเรามี 2 เรื่องคือ หนึ่งทำดีแล้วก็ต้องมีคนดู เราจึงต้องพยายามนำเสนอเนื้อหาที่เข้าถึงคนดูให้มากที่สุด โดยต้องมั่นใจว่าเรามีเนื้อหาที่สอดคล้องกับความต้องการของคนดูอย่างเพียงพอ เรื่องที่สองคือ จากที่มีการแพร่กระจายของข้อมูลข่าวสารที่ไม่เป็นความจริง (fake news) ในฐานะที่ไทยพีบีเอสพยายามปักธงว่าเราเป็นสื่อที่เชื่อถือได้ ก็ยิ่งต้องให้ความสำคัญกับการนำเสนอข่าวสารที่ถูกต้องจริง ๆ โดยช่วยกันพยายามตรวจสอบหรือขจัดข่าวปลอมออกไป”
“Audience First” คุณค่าที่ยึดโยงประชาชน
รศ. ดร.วิลาสินี กล่าวว่า ข้อได้เปรียบของไทยพีบีเอส คือเป็นองค์กรที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากภาษีสรรพสามิตที่เก็บจากสุราและยาสูบ ทำให้ไทยพีบีเอสเป็นองค์กรสาธารณะที่มีความเป็นอิสระ ไม่ต้องพึ่งพิงอำนาจทุนหรืออำนาจรัฐ จึงกลายเป็นจุดแข็งที่สามารถรักษาหัวใจของความเป็นสื่อสาธารณะไว้ได้ นำไปสู่การทำงานที่พยายามเข้าใจประชาชนให้มากที่สุด และเข้าถึงพวกเขาให้มากที่สุด
ดังนั้น เพื่อให้บรรลุสองเป้าหมายนี้ ช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา เธอจึงได้ประกาศใช้กลยุทธ์สำคัญ 3 ประการด้วยกัน กลยุทธ์ที่หนึ่ง “audience first” ที่วางผู้ชมเป็นศูนย์กลางการทำงาน ภายใต้แนวคิด “คุณค่าที่ยึดโยงกับประชาชน” ทุกเรื่องที่นำเสนอจะต้องมั่นใจว่ามีคุณค่ากับประชาชนอย่างแท้จริง กลยุทธ์ที่สอง คือการปรับตัวให้ทันกับเทคโนโลยีต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว โดยมีการแยกแยะกลุ่มผู้ชมที่เหมาะสมกับแต่ละแพลตฟอร์ม จึงได้มีการเพิ่มบริการใหม่ ๆ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มคนที่มีความหลากหลายให้มากที่สุด กลยุทธ์ที่สาม คือการปิดช่องว่างผู้ชมที่อาจไม่มีมูลค่าทางการตลาด รวมทั้งการเปิดพื้นที่สำหรับผู้ชมที่ไร้เสียงในสังคม (voiceless) เช่น การเปิดช่อง ALTV ซึ่งเป็นช่องการเรียนรู้สำหรับเด็กเมื่อกลางปี 2563
สร้างกลไกตรวจสอบข่าวลวง
ในส่วนของข่าวลวง ซึ่งเป็นหนึ่งในความท้าทายการทำงานขององค์กรสื่อในปัจจุบัน ผู้อำนวยการ ส.ส.ท. เปิดเผยว่า สิ่งที่ไทยพีบีเอสให้ความสำคัญอันดับแรก คือการยึดมั่นในกรอบจริยธรรม ซึ่งนอกจากมีการออกเป็น “คู่มือ” ว่าด้วยการนำเสนอเนื้อหาที่ “ใช้จริง ทำจริง และตรวจสอบจริง” ภายใต้กรอบดังกล่าวแล้ว ไทยพีบีเอสยังมีอนุกรรมการรับพิจารณาเรื่องร้องเรียนจากประชาชนตามช่องทางต่าง ๆ โดยสองกลไกดังกล่าว เป็นการทำงานอยู่ภายใต้ พ.ร.บ. องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะฯ ที่ค่อนข้างมีความแข็งแรง
“นอกจากกลไกที่เป็นทางการแล้ว เรายังพยายามปรับปรุงกระบวนการทำงานรายวัน (day-to-day) โดยเพิ่มกลไกการทำงานในห้องข่าว ผ่านกลยุทธ์ที่เรียกว่า ‘convergent news room’ นำคนทำงานประเด็นข่าวและคอนเทนต์มาประชุมวันละ 3 เวลา เพื่อตรวจสอบการนำเสนอข่าวตัวเองว่ามีความผิดพลาดอะไรหรือไม่ คนอื่นเสนออย่างไร เราจะมีท่าทีต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้นอย่างไร ในการประชุมเรายังมีกระบวนการจัดประเภทความเสี่ยงของข้อมูล (classify) ที่เราได้มา โดยแบ่งเป็น โซนสีเขียว เหลือง แดง ข้อมูลไหนที่บรรณาธิการใส่เป็นสีแดง นั่นหมายความว่าเป็นข้อมูลที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งหากเป็นความเสี่ยงสูงสุดก็ต้องมีการตรวจสอบเป็นลำดับตามที่กำหนดไว้ก่อนจะนำเสนอออกไป”
พร้อมกันนี้ ไทยพีบีเอสยังมีการจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาเนื้อหา ทำหน้าที่มอนิเตอร์เนื้อหาที่นำเสนอแต่ละวันในลักษณะ “content analysis” เพื่อวิเคราะห์การนำเสนอข่าวสารของตัวเองใน 3 ด้าน คือ เนื้อหาข้อมูลว่ามีความถูกต้อง (fact) หรือไม่, มีความเป็นกลาง (impartiality) เช่น มีความเอนเอียงหรือมีอคติหรือไม่ และมีความหลากหลาย (diversity) นำเสนออย่างรอบด้านหรือไม่ สิ่งเหล่านี้ทำให้ไทยพีบีเอสต้องวิเคราะห์ตัวเองอยู่ตลอด รวมถึงการรับฟังคำติชมในทุกช่องทาง ก็ถูกนำมาประมวลผลร่วมด้วยเช่นกัน
“เพื่อให้เกิดการตรวจสอบข้อมูลที่เข้มข้นขึ้น เรายังสนับสนุนให้ความร่วมมือกับเครือข่ายภาคประชาสังคม ‘Cofact’ ที่มาร่วมกันตรวจสอบข่าวลวงต่าง ๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตประชาชน รวมทั้งงานที่อยู่ระหว่างการพัฒนาคือ การร่วมมือกับแพลตฟอร์มต่างประเทศ ในการติดตั้งเครื่องมือตรวจสอบข่าวปลอมในระดับโลกอีกด้วย”
ส่วนร่วมขับเคลื่อนสังคมไทย
ผู้อำนวยการ ส.ส.ท. กล่าวต่อไปว่า นับตั้งแต่ก่อตั้ง ไทยพีบีเอสได้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนสังคมไปสู่ความยั่งยืนเสมอมา อย่างไรก็ดี ปัญหาสังคมหลายประการก็ยังต้องการความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นพลวัต และปัญหาที่เธอมองว่าเป็นประเด็นใหญ่ของสังคมไทยคือความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้าง และการเกิดช่องว่างทางความคิดของกลุ่มคนต่าง ๆ
“ในเรื่องความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างปีนี้ ไทยพีบีเอสได้ปักธงที่จะมีส่วนร่วมในการลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในสังคม โดยกำหนดทิศทางการทำงานในหลายมิติ ตั้งแต่การสร้างความตระหนักว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำมันมีอยู่จริง และเป็นปัญหาที่ฝังลึกอยู่ในระดับโครงสร้าง อีกมิติหนึ่งคือการวางบทบาทให้เป็นพื้นที่ของการระดมความคิดเห็น โดยเปิดประเด็นให้กลุ่มคนต่าง ๆ มาร่วมกันหาทางออก ที่ผ่านมากล่าวได้ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นโต้โผใหญ่ในการเปิดประเด็นความเหลื่อมล้ำมาโดยตลอด ไทยพีบีเอสก็ต้องการเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนเรื่องนี้ ซึ่งเราได้ใช้ข้อมูลของ ธปท. เยอะมาก เช่น เรื่องของคนจนเมือง สังคมสูงวัย และเรายังหวังไกลไปในมิติที่สาม คือการส่งเสริมข้อเสนอเชิงนโยบายที่มาจากเสียงของประชาชน ไปส่งต่อให้ผู้มีส่วนในการกำหนดนโยบายต่าง ๆ ของประเทศ ส่วนเรื่องช่องว่างทางความคิดของกลุ่มคนต่าง ๆ ในสังคม เรามองว่าสื่อมีบทบาทอย่างมากที่จะช่วยกันถมช่องว่างนี้ หรือหากถมไม่ได้ อย่างน้อยก็ให้รู้เท่าทันปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อช่วยกันลดความขัดแย้งและความรุนแรงไม่ให้มันขยายตัวไปมากกว่านี้”
มุ่งสู่สังคมอุดมปัญญา
รศ. ดร.วิลาสินี กล่าวด้วยว่า ไทยพีบีเอสทำงานอยู่บนค่านิยมพื้นฐานหลัก 3 ประการ ที่ยึดปฏิบัติมาตั้งแต่ก่อตั้ง คือ การทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ ความซื่อตรง (integrity) และการมุ่งไปสู่สังคมคุณธรรม โดยแต่ละยุคสมัยจะมีการเพิ่มค่านิยมบางประการ เพื่อให้องค์กรทำหน้าที่สื่อสาธารณะได้ดียิ่งขึ้น เช่น ความสามารถในการฟื้นตัว (resilience) และความคล่องตัว (agility)
ในวาระที่เข้ามารับหน้าที่ผู้อำนวยการ ส.ส.ท. เป็นสมัยที่สอง รศ. ดร.วิลาสินี ก็ได้กล่าวว่า ความสำเร็จในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา คือการส่งเสริมกรอบความคิด “audience first” ผสมผสานให้เข้ากับกรอบของจริยธรรม ทำให้การวางแผนเนื้อหาได้รับการปรับให้เข้าถึงผู้ชมกลุ่มต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น และสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนมากขึ้น โดยมีการพัฒนาแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น VIPA ที่ถือเป็นสตรีมมิงสาธารณะแห่งแรกของไทย การพัฒนา แอปพลิเคชัน C-site ที่ชวนคนมาระดมความคิดหาทางออกให้กับประเทศ การเปิดช่อง ALTV ช่อง 4 ทีวีเรียนสนุก พื้นที่การเรียนรู้สำหรับทุกคน
“4 ปีนับจากนี้เรายังคงเดินหน้าในสิ่งที่ทำไปแล้วด้วยสปีดที่เร็วขึ้น เข้มข้นมากขึ้น และออกสู่ภูมิภาคให้มากขึ้น ทั้งที่เป็นภูมิภาคของไทยเอง และเป้าหมายสู่การเป็นศูนย์กลางสื่อสาธารณะของอาเซียนในอีก 2 ปีข้างหน้า” ทั้งนี้ บทบาทการทำหน้าที่สื่อสาธารณะในยุคสมัยของเธอนั้น จะไม่ใช่เพียงการให้ข้อมูลข่าวสาร แต่จะเป็นเข็มทิศที่ช่วยนำพาและบอกทางออกให้กับสังคม เพื่อช่วยกันประคับประคองสังคมออกจากวิกฤตต่าง ๆ ให้ได้มากที่สุด
“เราไม่ใช่แค่ ‘educate’ แต่ต้อง ‘lead’ หรือช่วยชี้ทางให้กับสังคม โดยเฉพาะสังคมยุคปัจจุบัน สิ่งที่จะพาเราก้าวผ่านวิกฤตไปได้ คือการใช้ปัญญารวมหมู่ (collective wisdom) ซึ่งต้องเริ่มจากการมีพื้นที่ที่ทุกคนรู้สึกอยากมาระดมปัญญาร่วมกัน นอกจากนี้เรายังพยายามนำเสนอเนื้อหาที่มาจากภูมิภาคให้ทั่วทุกมุมของประเทศ เพื่อให้คนในภูมิภาครู้สึกว่านี่เป็นสื่อของเขา และในปีนี้เรายังปักธงในเรื่องของรากเหง้าประวัติศาสตร์ความเป็นชาติไทย ทั้งในวาระที่กรุงรัตนโกสินทร์มีอายุครบ 240 ปี และในโอกาสที่ไทยพีบีเอสกำลังจะครบ 15 ปี เราเลยมองเป็นโอกาสที่จะชวนคนมาเรียนรู้รากเหง้าของตัวเองเพื่อที่จะเข้าใจว่าเราจะเติบโตเป็นอย่างไรต่อไป และทำให้เข้าอกเข้าใจกัน รู้เท่าทันกันมากขึ้น”
สร้างเสริมสัมพันธ์ภาคีเครือข่าย
จากนั้นบทสนทนาก็มาถึงประเด็นที่ว่า ไทยพีบีเอสจะมีการทำงานร่วมกับสื่ออื่น ๆ อย่างไร เพื่อไปสู่การสร้างประโยชน์สุขร่วมกันในสังคม ซึ่ง รศ. ดร.วิลาสินี ก็ได้เปิดเผยว่า หนึ่งในเป้าหมายของไทยพีบีเอส คือการสร้างเครือข่ายร่วมกับสื่อต่าง ๆ ทั้งสื่อที่เป็นสื่อกระแสหลักและสื่ออิสระ ผ่านส่วนงานที่เรียกว่า “ภาคีสัมพันธ์” เพื่อเชื่อมต่อกับองค์กรวิชาชีพสื่อ รวมทั้งการสนับสนุนให้เกิดเครือข่ายผู้ผลิตอิสระและสื่อภาคพลเมือง ที่ไทยพีบีเอสมีเป้าหมายในการสร้าง “creative hub” ให้กับประเทศไทย หรือแม้แต่สตรีมมิง VIPA ก็มีเจตนาให้เป็นแพลตฟอร์มกลาง สำหรับนักสร้างสรรค์คอนเทนต์อิสระ ให้ได้มีพื้นที่นำเสนอผลงานออกไปในตลาดนานาชาติ
สุดท้ายนี้ ผู้อำนวยการ ส.ส.ท. มีมุมมองต่อ ธปท. ว่าเป็นองค์กรที่มีเป้าหมายในการทำประโยชน์เพื่อสาธารณะ ดังนั้น ในแง่การทำงานที่ต้องสื่อสารนโยบายให้สาธารณชนรับทราบ เธอจึงมีคำแนะนำว่า ต้องคำนึงถึงผู้รับสารเป็นอันดับแรก เพื่อวางแผนการสื่อสารในประเด็นที่ประชาชนต้องการทราบได้ดียิ่งขึ้น
“สิ่งที่ ธปท. ควรลงทุนต่อไป คืองานด้าน data visualization ซึ่งเป็นวิธีการเล่าเรื่องด้วยภาพเพื่อย่อยข้อมูลให้เข้าใจง่ายขึ้น จากนั้นก็เลือกใช้แพลตฟอร์มที่เหมาะสมสำหรับการสื่อสารข้อมูลไปสู่คนกลุ่มต่าง ๆ ซึ่ง ธปท. ทำได้ดีอยู่แล้วในการส่งต่อข้อมูลไปสู่กลุ่มคนที่ไม่เหมือนกัน ที่ผ่านมา ธปท. ได้ผลักดันหลายเรื่องให้เป็นวาระแห่งชาติ หลายประเด็นเราน่าจับมือทำไปด้วยกัน ก็หวังว่าเราจะได้ร่วมมือกันต่อไปในอนาคต”
————————————————
เรื่องโดย: BOT พระสยาม MAGAZINE
ที่มา: BOT พระสยาม MAGAZINE ฉบับที่ 2 ประจำเดือนเมษายน – มิถุนายน 2565