TOP

ภารกิจกู้..ให้รู้ทันโจร

มิวเพิ่งตกงานจึงต้องการเงิน 30,000 บาท มาเป็นทุนขายของ วันหนึ่งมิวได้รับ SMS เสนอเงินกู้ มิวกดลิงก์จาก SMS เพื่อดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน กรอกข้อมูลและส่งเอกสารให้ หลังจากนั้นมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับมาทางไลน์ว่ามีค่าธรรมเนียมหมื่นละ 500 บาท มิวจึงโอนไป 1,500 บาท รอจนข้ามวันแล้วแต่เงินก็ยังไม่มา มิวไลน์ไปถามก็ตอบว่าเลขบัญชีผิด มีค่าแก้ไขข้อมูลอีก 1,000 บาท มิวก็โอนไปอีก แต่รอแล้วรอเล่าก็ไม่มีเงินโอนเข้าบัญชี แถมถูกบล็อกไลน์ติดต่อไม่ได้อีกเลย นอกจากไม่ได้เงินแล้ว มิวยังเสียเงินไปอีก เดือดร้อนหนักไปกว่าเดิม

นี่เป็นเพียงหนึ่งเหตุการณ์ตัวอย่างของการกู้เงินในยุคปัจจุบัน ที่ทำได้ง่ายและรวดเร็วผ่านโทรศัพท์มือถือ โดยไม่ต้องออกจากบ้านให้ยุ่งยาก แต่สิ่งที่ยากสำหรับผู้กู้คือ จะรู้ได้อย่างไร ว่าใครคือผู้ให้กู้ที่ไม่คิดดอกเบี้ยหรือทวงถามหนี้โหด หรือไม่ใช่มิจฉาชีพที่จะมาหลอกเอาเงินเราไปอย่างเรื่องราวข้างต้น ก่อนกู้เราจึงควรทำภารกิจต่อไปนี้ให้ลุล่วง เพื่อให้มั่นใจว่าเราจะได้รับเงินกู้และไม่ถูกหลอก

 

ภารกิจที่ 1 แยกแยะตัวปลอมออกจากตัวจริง

ลองมาดูว่าผู้ให้บริการ 3 แห่งด้านล่างนี้ ใครคือผู้ให้กู้ในระบบ ผู้ให้กู้นอกระบบ และมิจฉาชีพ

จะเห็นว่ามีความคล้ายคลึงกันมากๆ แต่ถ้าสังเกตให้ดีจะรู้ว่า
ผู้ให้กู้ในระบบหรือผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาต (แอปฯ A) จะให้เงินกู้เราเต็มจำนวน และอัตราดอกเบี้ยไม่เกินที่ทางการกำหนด
ผู้ให้กู้นอกระบบ (แอปฯ B) ที่มักจะให้เงินกู้เราไม่เต็ม อ้างว่าเป็นค่าดำเนินการเอกสาร แถมเรายังต้องจ่ายคืนเต็มจำนวนที่เรากู้ บวกกับดอกเบี้ยหรือค่าปรับสูง
แอปพลิเคชันเงินกู้ปลอม (แอปฯ C) ที่เนียนๆ ว่าให้เรากู้ได้เยอะ แต่ไม่ได้ให้กู้จริง ซึ่งมักจะให้แอดไลน์มาคุยกันหลังจากที่ดาวน์โหลดแอปฯ และมีพฤติกรรมเช่นเดียวกับเรื่องราวของมิว

 

ภารกิจที่ 2 ตามหาผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาต

ในการป้องกันตัวเองไม่ให้เสียท่าหลงไปกู้เงินกับแอปฯ เงินกู้นอกระบบ หรือแอปฯ เงินกู้ปลอม เราจึงควรเลือกกู้กับผู้ให้กู้ที่ได้รับอนุญาต เพราะมีทางการกำกับดูแล โดยต้องตรวจสอบให้แน่ใจก่อนใช้บริการ

1. สังเกตข้อมูลของแอปฯ โดยการอ่านรีวิว หรือดูจำนวนการดาวน์โหลด และรายละเอียดของแอปฯ (About app) เช่น
• ชื่อผู้พัฒนาระบบ (Offered by) ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นชื่อของผู้ประกอบธุรกิจ และมีที่อยู่ติดต่อได้
• อีเมลของผู้พัฒนาระบบ หากเป็นผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาต จะให้อีเมลขององค์กรสำหรับการติดต่อ

2. ตรวจสอบข้อมูล บางครั้งมิจฉาชีพหรือแอปฯ เงินกู้นอกระบบ จะตั้งชื่อแอปฯ คล้ายคลึงกับผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาต หรือสวมรอยเป็นผู้ได้รับอนุญาตเลย ก่อนตัดสินใจกู้ เราจึงควรตรวจสอบโดย
• เทียบกับรายชื่อผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาต นำข้อมูลชื่อและที่อยู่ที่ได้จากแอปฯ มาตรวจสอบกับหน่วยงานที่กำกับดูแล ว่าเป็นผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาตหรือไม่
• โทรติดต่อไปยังผู้ให้บริการที่ถูกอ้างชื่อ อย่าเพิ่งเชื่อใจใช้เบอร์โทรที่เขาให้มา หรือที่เขาโฆษณาโทรกลับไป แต่เราควรค้นหาเบอร์ติดต่อจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ เพื่อสอบถามว่าเป็นผู้ให้บริการแอปฯ นี้จริงๆ หรือไม่

 

ผู้ให้บริการสินเชื่อ ที่จดทะเบียน

ภายใต้การดูแลของแบงก์ชาติ

👇

สถาบันการเงิน และ Non-bank

เข้าเว็บไซต์ bot.or.th เลือกหัวข้อสถาบันการเงิน แล้วไปที่หัวข้อมุมสถาบันการเงินทางด้านขวา คลิกที่ “รายชื่อ ที่อยู่ Website สง. และ Non-bank” หรือสแกน QR Code

-||-

 

ผู้ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล

เข้าเว็บไซต์ bot.or.th เลือกหัวข้อสถาบันการเงิน แล้วไปที่หัวข้อมุมสถาบันการเงินทางด้านขวา คลิกที่ “รายชื่อผู้ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล” หรือสแกน QR Code

-||-

 

ผู้ให้บริการระบบ Peer-to-Peer Lending Platform

เข้าเว็บไซต์ bot.or.th เลือกหัวข้อระบบการชำระเงิน แล้วไปที่หัวข้อเทคโนโลยีทางการเงินทางด้านซ้าย เลือก “รายชื่อผู้ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล” แล้วคลิกที่ “รายชื่อผู้ให้บริการ P2P Lending Platform ที่ทดสอบภายใต้ Regulatory Sandbox” หรือสแกน QR Code

-||-

 

ผู้ให้บริการสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัด (Pico Finance)

ภายใต้การกำกับกระทรวงการคลัง

https://1359.go.th/picodoc/comp.php

 

**และหากโอนเงินไปให้มิจฉาชีพแล้ว ให้รีบไปโทรแจ้งความที่สถานีตำรวจท้องที่ หรือหากต้องหารขอคำปรึกษา หรือแจ้งเบาะแส สามารถติดต่อ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โทร. 1599

 

ภารกิจสุดท้าย กู้อย่างมั่นใจ

อย่าลืมอ่านเงื่อนไขก่อนกู้ เมื่อรู้แน่ ๆ แล้วว่าเป็นผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาตตัวจริง ก็อย่าเพิ่งรีบกู้จนลืมดูรายละเอียดที่จำเป็น เช่น อัตราดอกเบี้ย ระยะเวลา จำนวนเงิน วิธีการคืนเงินกู้ ที่สำคัญต้องคำนึงถึงความสามารถในการผ่อนชำระของเรา โดยควรกู้เท่าที่จำเป็นและรวมภาระผ่อนชำระหนี้ทุกก้อนของเราต่อเดือนไม่ควรเกิน 1 ใน 3 ของรายได้ต่อเดือน

 

—————————————————————————————————

เรื่องโดย : กองบรรณาธิการ

ที่มา : BOT พระสยาม Magazine ฉบับที่ 4 ประจำเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม 2564

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด