TOP

80 ข้อที่ควรมี ถ้าอยาก Happy เรื่องเงิน

 

จัดการเงินให้พอใช้

1 ใช้เงินน้อยกว่าที่หาได้เสมอ
2 เก็บออมทันทีเมื่อมีเงินเข้ามา
3 ออมเงินอย่างน้อย 1 ใน 4 ของรายได้ต่อเดือน
4 แบ่งรายรับเป็นส่วนๆ แล้วใช้จ่ายตามส่วนที่แบ่งไว้
5 จดรายรับ – รายจ่ายทุกวัน เพื่อหารูรั่วทางการเงิน

 

เตรียมพร้อมเผื่อฉุกเฉิน

6 เตรียมเงินไว้ใช้เผื่อเกิดเหตุไม่คาดคิด เช่น เจ็บป่วย อุบัติเหตุ ตกงาน
7 เก็บเงิน 3 – 6 เท่าของรายจ่ายจำเป็น และค่าผ่อนหนี้ต่อเดือน
8 แยกบัญชีเงินออม เผื่อฉุกเฉินจากบัญชีอื่นๆ
9 เก็บเงินออมเผื่อฉุกเฉินไว้ที่บัญชีออมทรัพย์ จะได้ถอนมาใช้สะดวก
10 ออมเงินให้ครบเช่นเดิม ถ้าต้องถอนเงินไปใช้เผื่อมีเหตุฉุกเฉินอีก

 

จัดการเงินเพื่อเป้าหมายในชีวิต

11 ตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน เป็นไปได้ มีจำนวนเงินและระยะเวลาแน่ชัด
12 แบ่งเป้าหมายระยะยาวเป็นช่วงสั้นๆ ให้มีกำลังใจไปถึงจุดหมาย
13 จัดลำดับความสำคัญของเป้าหมาย สิ่งไหนจำเป็น สิ่งไหนรอได้
14 ศึกษาและลงทุนให้เหมาะกับความเสี่ยงที่รับได้และเป้าหมาย
15 ถึงเป้าหมายได้ไวขึ้น ด้วยวินัยในการใช้เงิน

 

จัดการเงินแบบคนมีคู่

16 เปิดใจคุยเรื่องเงินกันแต่เนิ่นๆ ทั้งเรื่องทรัพย์สิน หนี้สิน ภาระอื่นๆ
17 ตกลงวิธีจัดการเงินว่าจะแยกหรือรวม หรือแยกครึ่งรวมครึ่ง
18 เลือกวิธีที่เหมาะสมและทำได้ (ไม่มีสูตรสำเร็จสำหรับทุกครอบครัว)
19 ทำตามกติกาที่ตั้งไว้อย่างมีวินัย
20 หากรู้สึกกดดันหรือทำตามที่ตกลงกันไว้ไม่ได้ ให้เปิดใจคุยกันใหม่

 

เตรียมตัวโสดสบาย

21 ไม่ชะล่าใจว่าไม่มีภาระ ลุยวางแผนการเงินและลงมือทำทันที
22 อยู่คนเดียวไม่เหงา ถ้าเรามีเงินออมเพื่อท่องเที่ยว
23 อนาคตไม่แน่นอน เก็บเงินก้อนไว้เผื่อแต่งงาน หรือดูแลตัวเองตอนแก่
24 ไม่โอนเงินให้ใครจนหมดตัว แม้จะหลงรักเขาจนหมดใจ

 

เตรียมตัวเกษียณ

25 วางแผนเกษียณตั้งแต่เริ่มทำงาน ปลายทางมีเงินพอใช้ไม่ต้องพึ่งใคร
26 คำนวณเงินที่ควรมี = ค่าใช้จ่ายต่อเดือน x 12 x จำนวนปีที่คาดว่าจะมีชีวิตหลังเกษียณ
27 เช็กเงินออมเพื่อเกษียณที่มีอยู่ จะได้รู้ว่าต้องเก็บอีกเท่าไหร่
28 เพิ่มเงินออมและลงทุนเพื่อเกษียณตามรายได้ที่เพิ่มมากขึ้น
29 ทบทวนและปรับปรุงแผนเป็นประจำ เพื่อทำให้ได้ตามเป้าหมาย
30 เตรียมเงินก้อนเผื่อค่าใช้จ่ายที่มาไม่บ่อยแต่เยอะ เช่น ซ่อมบ้าน

จัดการเงินเมื่อเกษียณ

31 ตรวจสอบแหล่งรายได้หลังเกษียณ เพื่อให้รู้รายรับที่แน่นอน
32 ควบคุมรายจ่ายทุกรายการด้วยการจดบันทึกการใช้จ่าย
33 แบ่งเงินสำหรับใช้จ่ายไว้ในบัญชีออมทรัพย์
34 กระจายการลงทุนโดยคำนึงถึงสภาพคล่องและความเสี่ยง เพื่อให้มีเงินใช้เมื่อต้องการ
35 ทำพินัยกรรมส่งต่อทรัพย์สินให้คนที่รัก ถ้าก่อนหน้านี้ยังไม่ได้ทำ

ก่อนใช้บริการทางการเงิน

36 ไม่ใช้บริการเพราะสงสารพนักงานหรือถูกล่อด้วยโปรโมชัน
37 ทำความเข้าใจเงื่อนไขก่อนตัดสินใจใช้บริการ
38 รู้ภาระผูกพันทางการเงินและมั่นใจว่าทำได้ก่อนตกลงใช้บริการ
39 ไม่ตกลงใช้บริการหากทำตามเงื่อนไขในสัญญาไม่ได้
40 ใช้บริการกับผู้ให้บริการที่มีหน่วยงานกำกับดูแลเท่านั้น

 

ระหว่างหรือหลังใช้บริการทางการเงิน

41 เช็กรายละเอียดก่อนยืนยันโอนเงิน เช่น ผู้รับโอน จำนวนเงิน
42 ไม่บอกข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลทางการเงิน หรือรหัสผ่านแก่คนอื่น
43 เช็กความถูกต้องของเอกสารทางการเงิน เมื่อได้รับมาทันทีทุกครั้ง
44 เปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์และที่อยู่เมื่อไหร่ แจ้งผู้ให้บริการด้วย
45 ร้องเรียนกับสถาบันการเงินหรือ ธปท. หากไม่ได้รับความเป็นธรรม

 

เตรียมตัวก่อนเป็นหนี้

46 ไม่ควรมีภาระผ่อนหนี้เกิน 1 ใน 3 ของรายได้ต่อเดือน
47 ไม่ค้ำประกันให้หรือกู้เงินแทนคนอื่น ถ้าเขาไม่จ่าย แล้วเราจะเดือดร้อน
48 ศึกษารายละเอียดและเปรียบเทียบเงื่อนไขก่อนกู้ทุกครั้ง
49 หลีกเลี่ยงเงินกู้นอกระบบเพราะดอกเบี้ยสูง และมักถูกทวงหนี้โหด
50 กู้เงินผ่านแอปฯ ถูกกฎหมาย ดูได้ที่ “เช็กแอปเงินกู้”

 

ระวังการใช้บัตรเครดิต

51 มีบัตร 1 – 2 ใบก็พอแล้ว จะได้ไม่รูดเพลิน บัตรหายก็รู้ตัวไว
52 ใช้บัตรเครดิตเบิกถอนเงินสดมีค่าธรรมเนียมรวม VAT 3.21%
53 จ่ายขั้นต่ำ ทำดอกเบี้ยบาน
54 ไม่กดเงินสดจากบัตรมาจ่ายหนี้อื่น เพราะมักปลดหนี้ได้ยากขึ้น
55 ไม่ผูกบัตรกับร้านค้าออนไลน์ ที่ตัดชำระเงินโดยไม่ถาม OTP
56 ไม่เปิดเผยข้อมูลบนบัตรโดยไม่จำเป็น เช่น เลขบัตร เลข CVV

 

รู้สักนิดก่อนคิดกู้ซื้อรถ

57 จ่ายเงินดาวน์มาก ดอกเบี้ยน้อย ค่างวดก็น้อยลง
58 จ่ายช้าหรือไม่จ่าย อาจโดนเบี้ยปรับเพิ่มอีก 3% และค่าทวงถามหนี้
59 ขาดส่ง 3 งวดติดกัน อาจถูกบอกเลิกสัญญาและโดนยึดรถ
60 ถูกทวงหนี้ต่อถ้าเจ้าหนี้ขายรถที่ยึดมา แล้วไม่พอจ่ายหนี้ที่ค้างอยู่

 

วางแผนให้ดีก่อนขอสินเชื่อบ้าน

61 เปรียบเทียบดอกเบี้ย ส่วนลด ค่าใช้จ่าย เช่น ค่าประเมินหลักประกัน ค่าโอน
62 เตรียมเงินสำรอง เผื่อขาดรายได้ จะได้ผ่อนต่อไหว
63 ซื้อประกันคุ้มครองวงเงินสินเชื่อและประกันภัยบ้าน ตามความจำเป็น
64 อยากปลดหนี้บ้านไวขึ้น อย่าลืมเช็กค่าธรรมเนียมชำระหนี้ก่อนกำหนด
65 เปรียบเทียบดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายก่อนรีไฟแนนซ์บ้าน

 

ขอปรับโครงสร้างหนี้

66 จ่ายหนี้ไม่ไหวอย่ารอช้า ให้รีบเจรจาขอปรับโครงสร้างหนี้
67 รีไฟแนนซ์กับเจ้าหนี้ใหม่เพื่อลดค่างวด หรือยืดอายุสัญญากับเจ้าหนี้เดิม
68 เปลี่ยนประเภทหนี้ไปเป็นแบบที่ดอกเบี้ยถูกกว่าเดิม
69 รวมหนี้ไม่มีหลักประกันกับหนี้บ้าน เพื่อลดค่างวดและดอกเบี้ย
70 ตกลงกับเจ้าหนี้ไม่ได้ ลองติดต่อ “ทางด่วนแก้หนี้” ธปท.

 

ตั้งการ์ดให้ตัวเองในยุคออนไลน์

71 ไม่เชื่อ ไม่กรอก ไม่บอกข้อมูลส่วนตัวที่สำคัญบนโลกออนไลน์
72 ไม่ดาวน์โหลดแอปฯ หรือโปรแกรมที่ไม่น่าเชื่อถือ
73 ไม่ใช้ wifi สาธารณะทำธุรกรรมการเงิน เพราะเสี่ยงถูกล้วงข้อมูล
74 ตั้งรหัสผ่านให้เดายาก และเปลี่ยนเป็นระยะ เช่น 3 เดือน
75 คลิกออกจากระบบ / sign out หรือ log out ทุกครั้ง เมื่อเลิกใช้งาน

 

รู้ให้ทันภัยการเงิน

76 ตั้งสติ ไตร่ตรอง เมื่อมีคนมาบอกเรื่องที่ชวนให้ตกใจและต้องจ่ายหรือโอนเงิน
77 ไม่แน่ใจ ให้ถาม ธปท. / ตำรวจก่อนโอนเงินหรือให้ข้อมูลใครไป
78 หมั่นติดตามข่าวสารเตือนภัย เช่น PCT police
79 รีบแจ้งความและติดต่อธนาคาร ถ้าเสียทีโอนเงินให้มิจฉาชีพ
80 ระวังการลงทุนที่พูดถึงแต่ผลตอบแทนสูง แต่ไม่เคยพูดเรื่องความเสี่ยง

—————————————————————————————————-

เรื่องโดย : กองบรรณาธิการ BOT พระสยาม Magazine

ที่มา : BOT พระสยาม Magazine ฉบับที่ 6 ประจำเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม 2564

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด