TOP

8 เรื่องลึกแต่ไม่ลับ หลังรั้วแบงก์ชาติ

ทุกองค์กรล้วนมีตำนานเรื่องเล่า ยิ่งองค์กรที่มีอายุยาวนานก็จะยิ่งมีอะไรให้เล่าขานมากขึ้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งกำลังจะมีอายุครบ 80 ปี จึงมีเรื่องน่ารู้มากมาย เราได้คัดบางเรื่องมาเล่าให้คุณผู้อ่าน แอบบอกเลยว่าแม้แต่พนักงาน ธปท. บางคนก็อาจจะยังไม่รู้เรื่องต่อไปนี้

 

แบงก์ชาติไทย ไม่เคยมีป้ายชื่อ

คุณสืบ หงสกุล อดีตผู้อำนวยการฝ่ายออกบัตรธนาคารเล่าเรื่องราวไว้ว่า “พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยพระองค์แรกนั้น ทรงเป็นนักเรียนอังกฤษ ท่านนิยมอังกฤษ แบบแผนต่างๆ ของธนาคารเราเกือบทั้งหมด ก็เอามาจากธนาคารแห่งประเทศอังกฤษ ธนาคารนั้นก็อยู่ไม่ไกลจากแม่น้ำเทมส์ วังบางขุนพรหมก็อยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา ที่เห็นได้ชัดอีกอย่างก็คือ แต่ไหนแต่ไรมาไม่ว่าเราจะอยู่ที่ฮ่องกงแบงก์ (สถานที่ทำการแห่งแรกที่ถนนสี่พระยา) หรือแม้เมื่อย้ายไปอยู่วังบางขุนพรหมแล้ว เราก็ไม่เคยมีป้ายชื่อธนาคาร ซึ่งก็เหมือนกับธนาคารแห่งประเทศอังกฤษ ที่ไม่มีป้ายบอกชื่อธนาคาร”

 

ห้องทำงานผู้ว่าการ ธปท. พระองค์แรกเป็นห้องนอนพี่สาว

ปี 2488 ธปท. ย้ายที่ทำการจากตึกธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ จำกัด ถนนสี่พระยามาที่วังบางขุนพรหม พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย (ผู้ว่าการ ธปท. พระองค์แรก) ทรงเลือกใช้ห้องชั้นบนทางทิศใต้ ซึ่งเป็นห้องบรรทมของหม่อมเจ้าประสงค์สม บริพัตร ชายาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ซึ่งมีศักดิ์เป็นภคินี (พี่สาว) ต่างมารดาของพระองค์ เป็นห้องทำงาน และผู้ว่าการท่านต่อๆ มาอีก 10 ท่าน ก็ได้ใช้ห้องนี้เป็นห้องทำงานเรื่อยมาจนถึงปี 2525 เมื่ออาคารสำนักงานใหญ่หลังใหม่ (ปัจจุบันคืออาคาร 2) สร้างแล้วเสร็จ จึงย้ายห้องทำงานของผู้ว่าการ ธปท. ขึ้นไป ปัจจุบันห้องทำงานที่ตำหนักใหญ่ วังบางขุนพรหมนี้ ชื่อว่าห้องวิวัฒนไชยานุสรณ์ ภายในห้องมีโต๊ะทำงาน โต๊ะประชุม และชุดรับแขก ซึ่งเป็นของเดิมที่เคยมีอยู่ในห้องนี้

 

ต้นไกรที่ไม่ได้ตั้งใจปลูก

ใครที่เคยผ่านเข้ามาหน้าเสาธงด้านตะวันตกของอาคาร 1 ก็อาจจะมองเห็นเค้าโครงส่วนหนึ่งของกำแพงวัง ที่กั้นระหว่างวังบางขุนพรหมและวังเทวะเวสม์ ที่ยังคงหลงเหลือไว้ให้เห็น บนกำแพงจะมองเห็น ต้นไกร ขนาดใหญ่เติบโตคร่อมอยู่ น่าสงสัยไหมว่าใครหนอมาปลูกไว้ตรงนี้ เรื่องราวของต้นไกรนี้เกิดขึ้นมานานแล้ว สมัยที่ ธปท. ยังไม่ได้ขยายพื้นที่ทำงานไปยังพื้นที่ของวังเทวะเวสม์นั้น บริเวณกำแพงด้านที่ใกล้ตำหนักใหญ่ วังบางขุนพรหม เป็นเรือนเพาะชำต้นไม้ จนวันหนึ่งมีคนงานแบงก์ชาติเดินหิ้วกระถางต้นไกรมาจากพื้นที่อื่น เพื่อนำกลับมาไว้ที่เรือนเพาะชำ ในระหว่างที่ยังเดินมาไม่ทันถึงเรือนเพาะชำ กระถางต้นไกรเกิดหลุดมือตกแตก คนงานคนนั้นเลยเหวี่ยงต้นไกรทิ้งไปที่ริมกำแพง ต้นไกรนั้นไม่ตาย แต่กลับเติบโตสูงใหญ่กลายเป็นต้นไม้ที่สง่างามอยู่ตรงกลางระหว่างวังบางขุนพรหมและวังเทวะเวสม์ และยังแผ่กิ่งก้านให้ร่มเงาแก่สัตว์เล็กๆ และชาวแบงก์ชาติมาจนถึงทุกวันนี้

 

รู้จักต้นไม้เก่าแก่ตั้งแต่ครั้งสร้างวังบางขุนพรหม

ในรั้ว ธปท. ยังมีต้นไม้เก่าแก่อยู่อีกหลายต้น ในที่นี้ขอแนะนำให้รู้จักสักสองต้น หนึ่งคือ ต้นประดู่ ที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ุ กรมพระนครสวรรค์วรพินิ ต หรือทูลกระหม่อมบริพัตรทรงขอให้พระชนนี คือสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรีทรงปลูกให้ในช่วงสร้างวังบางขุนพรหมช่วงทศวรรษ 2440 ปัจจุบันยืนต้นเพียงหนึ่งเดียวที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา อายุก็ปาเข้าไปกว่า 120 ปีแล้ว

ต้นที่สองคือ ต้นตะลิงปลิง ยืนต้นอยู่ทางทิศเหนือของตำหนักใหญ่ วังบางขุนพรหม ต้นนี้ไม่ทราบว่าใครปลูกแต่เมื่อออกลูก พระเชษฐภคินีของทูลกระหม่อมบริพัตร คือสมเด็จฯ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทรจะทรงให้ข้ าหลวงเก็บมาทำยำตะลิงปลิงเสวยเสมอ

 

เคยไปชมวัตถุพิพิธภัณฑ์ของ ธปท. ที่มีชิ้นเดียวในโลกหรือยัง

ในจำนวนวัตถุพิพิธภัณฑ์เกือบสามพันชิ้น ที่จัดแสดงในนิทรรศการเงินตราที่ศูนย์การเรียนรู้ ธปท. ล้วนเป็นวัตถุที่หาชมได้ค่อนข้างยาก แต่มีอยู่หนึ่งชิ้นกล่าวได้ว่ามีเพียงชิ้นเดียวในโลก จัดแสดงอยู่ที่ชั้น B1 มีชื่อเรียกว่า เหรียญทองคำ พระบรมรูปรัชกาลที่ 6

– ไอราพต สันนิษฐานว่าทำขึ้นเพื่อทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในโอกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ 15 ปี เมื่อปี 2468 ปัจจุบันยังไม่พบวัตถุนี้ในที่แห่งอื่น หากมาเที่ยวพิพิธภัณฑ์ไม่ควรพลาดชม

 

ทำไมถึงมีรูปปั้นช้างใน ธปท.

รูปปั้นช้างด้านหน้าตำหนักใหญ่ วังเทวะเวสม์ เดิมอยู่ที่วังสะพานถ่าน (ปัจจุบันคือบริเวณดิโอลด์ สยาม ช้อปปิ้ง พลาซ่า) สันนิษฐานว่าเป็นสัญลักษณ์ของเสนาบดีว่าการต่างประเทศมาตั้งแต่สมัยแรก ที่แยกกรมท่าออกจากกรมคลังในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ในปี 2461 รูปปั้นช้างนี้เคยมาตั้งอยู่หน้าตำหนักใหญ่ วังเทวะเวสม์ครั้งหนึ่งแล้ว แต่เมื่อกระทรวงสาธารณสุขใช้วังเทวะเวสม์เป็นที่ทำการได้ย้ายไปไว้ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ครั้นถึงปี 2537 เมื่อกระทรวงสาธารณสุขย้ายออกไป ธปท. ก็นำกลับมาไว้หน้าตำหนักใหญ่ตามเดิม จากการสัมภาษณ์สมาชิกราชสกุลเทวกุลเมื่อปี 2547 ช้างนี้มิได้ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของวังเทวะเวสม์ แต่เจ้าของวังเทวะเวสม์ คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ทรงใช้เป็นสัญลักษณ์ประจำพระองค์ในฐานะที่ทรงเป็นเสนาบดีว่าการต่างประเทศ

 

ควีนเอลิซาเบธเคยเสด็จมาที่แบงก์ชาติ

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักรและเจ้าชายฟิลิปดยุกแห่งเอดินบะระ พระสวามี เสด็จมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ระหว่างวันที่ 28 ตุลาคม – 1 พฤศจิกายน 2539 เพื่อร่วมเฉลิมฉลองในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปีโดยในวันที่ 29 ตุลาคม 2539 นั้นนับเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่สำคัญยิ่ง เนื่องด้วยสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักรและเจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ พระสวามีได้เสด็จมาที่ ธปท. เพื่อเสวยพระกระยาหารกลางวัน และทอดพระเนตรพิธีซ้อมใหญ่กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ที่เรือนแพ วังเทวะเวสม์

 

รู้จัก “ธนาคารสาร” ต้นกำเนิดวารสารที่ท่านกำลังอ่านอยู่ในขณะนี้

ก่อนหน้าจะมี BOT พระสยาม MAGAZINE ที่ท่านกำลังอ่านอยู่ในขณะนี้ ธปท. ได้จัดทำสิ่งพิมพ์ซึ่งนับได้ว่าเป็นรากฐานของวารสารในปัจจุบันมาต่อเนื่องยาวนาน สิ่งพิมพ์ฉบับแรกที่จัดทำคือ “ธนาคารสาร” ออกเผยแพร่ระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม 2513 และสิ้นสุดวันที่ 1 ธันวาคม 2519 ธนาคารสารมีกำหนดเผยแพร่เดือนละ 2 ฉบับ จัดทำโดยฝ่ายธุรการ เนื้อหาเป็นการนำเสนอคำสั่ง ประกาศ ที่ธนาคารประสงค์จะแจ้งให้พนักงานทราบ และยังมีข่าวกิจกรรม ความเคลื่อนไหวของพนักงาน และสวัสดิการสิ่งพิมพ์ฉบับที่สองคือ “ธปท. ปริทรรศน์” เผยแพร่ฉบับแรกเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2514 และฉบับสุดท้ายเผยแพร่เดือนธันวาคม 2519 เป็นวารสารรายไตรมาส เนื้อหาเน้นการสื่อสารให้พนักงานทราบถึงกิจกรรมของพนักงานและธนาคาร การสัมภาษณ์พิเศษ ข่าวความเคลื่อนไหวของพนักงาน บทความเนื้อหาเกี่ยวกับธนาคารและเนื้อหาทั่วไปที่เขียนโดยพนักงาน

 

ส่วน “วารสารพระสยาม” ที่คุ้นเคยกันมานานกว่า 4 ทศวรรษ เผยแพร่ฉบับแรกในวันที่ 1 มกราคม 2521 มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจและทัศนคติที่ดีระหว่างพนักงาน และระหว่างพนักงานกับธนาคาร เพื่อเป็นสื่อกลางเผยแพร่ข่าวสารข้อมูล และเรื่องราวต่างๆ ที่พนักงานพึงทราบ เพื่มเพิ่มพูนความรู้ ความเข้าใจ อันจะเป็นประโยชน์ต่องานของธนาคาร เพื่อให้พนักงานได้อ่านเรื่องอันเป็นสารคดีและบันเทิงทั่วไปบ้างตามสมควร ผู้จัดทำคือ หน่วยพนักงานสัมพันธ์ ส่วนการพนักงาน รวมทั้งคณะกรรมการอำนวยการมี 10 คน มีบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา และฝ่ายศิลป์ ปัจจุบันวารสารพระสยามเปลี่ยนมาเป็น “BOT พระสยาม MAGAZINE” ภายใต้การดูแลของฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร มีการปรับปรุงเนื้อหาเพื่อขยายกลุ่มผู้อ่านให้ครอบคลุมทั้งภายในและภายนอกองค์กร ผ่านการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เมื่อปี 2555 โดยเน้นการสื่อสารมาตรการและนโยบาย ธปท. ความรู้ทางการเงินการธนาคาร เทคโนโลยีทางการเงินและเศรษฐกิจ รวมถึงบทสัมภาษณ์ของบุคคลที่น่าสนใจ

-||-

 

ผู้เขียน : สุมัยวดี เมฆสุต ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมความรู้ทางการเงิน

ในการทำงาน 34 ปีที่แบงก์ชาติ ได้มีโอกาสดูข้อมูลเก่าๆ และของมีค่าเก่าๆ มากมาย รวมถึงได้พูดคุยกับอดีตพนักงานตั้งแต่ระดับผู้ว่าการ มาจนถึงนักการภารโรงร่วมร้อยชีวิต จึงมีเรื่องราวมาเล่าต่อได้มากมายหลายร้อยเรื่อง

——————————————————————————————————-

ที่มา : BOT พระสยาม MAGAZINE ฉบับที่ 6 ประจำเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม 2564

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด