ไขความจริงก่อนถูกหลอก ถ้าเขาบอกเรามาแบบนี้…
ช่วงนี้หลายคนอาจเคยได้รับ SMS หรือโทรศัพท์ที่อ้างว่ามาจากบริษัทขนส่งพัสดุชื่อดังหรือหน่วยงานราชการ ซึ่งข้อมูลที่เขาบอกเรานั้นก็มักทำให้เราตกใจ กลัว หรือบางทีก็ทำให้ดีใจ และแฝงด้วยความกดดันให้เราต้องรีบทำตามทันที หากไม่ตั้งสติและตรวจสอบให้รอบคอบก่อนว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ เราก็อาจตกหลุมพรางเสียทรัพย์ให้แก่มิจฉาชีพได้อย่างง่ายดาย แม้สื่อต่าง ๆ จะนำเสนอข่าวเตือนภัย SMS หลอกลวงและแก๊งคอลเซนเตอร์อยู่อย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังมีผู้หลงเชื่อและตกเป็นเหยื่อซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า วันนี้ Financial Wisdom ได้รวบรวมคำลวงของมิจฉาชีพบางส่วนพร้อมไขความจริงมาฝากผู้อ่าน เผื่อท่านใดยังไม่ทราบข้อมูลจะได้รู้ทันและไม่ตกเป็นเหยื่อ หรือช่วยบอกต่อไปยังเพื่อน ๆ ญาติ ๆ และคนที่เรารักให้พ้นภัยได้เช่นกัน
❎ ถ้าเขาบอกเรามาแบบนี้
คุณได้รับสินเชื่อจาก ธปท. xx,xxx บาท คลิกลิงก์เพื่อกรอกรายละเอียด
✅ ไขความจริง
แบงก์ชาติไม่ทำธุรกรรมโดยตรงกับประชาชนทุกรูปแบบ
❎ ถ้าเขาบอกเรามาแบบนี้
พัสดุของคุณถูกตีกลับ ตรวจสอบแล้วเป็นของผิดกฎหมาย และจะโอนสายให้คุยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจทางวิดีโอคอล
✅ ไขความจริง
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่มีนโยบายให้เจ้าพนักงานโทรไลน์ (Line) ส่งข้อความ หรือวิดีโอคอลไปหาประชาชน
❎ ถ้าเขาบอกเรามาแบบนี้
คุณมีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีฟอกเงิน ต้องโอนเงินมาเพื่อตรวจสอบและจะได้รับการคุ้มครองจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) โดยอ้างถึงราชกิจจานุเบกษา และเอกสารที่มีตราสัญลักษณ์ ปปง.
✅ ไขความจริง
ปปง. ไม่เคยออกเอกสารในลักษณะดังกล่าว และรูปแบบราชกิจจานุเบกษาที่กล่าวอ้างไม่ได้เป็นรูปแบบที่ถูกต้อง
❎ ถ้าเขาบอกเรามาแบบนี้
คุณถูกอายัดบัญชีเงินฝาก เพราะเกี่ยวข้องกับเรื่องผิดกฎหมาย และต้องโอนเงินมาให้ตรวจสอบ
✅ ไขความจริง
การอายัดบัญชีเงินฝากเพราะทำผิดกฎหมาย เจ้าพนักงานจะสั่งการไปยังธนาคารโดยตรง เพื่อห้ามเคลื่อนย้ายเงินเท่านั้น ไม่ต้องโอนเงินออกมาให้ตรวจสอบ
❎ ถ้าเขาบอกเรามาแบบนี้
เจ้าหน้าที่ธนาคารโทรมาขอข้อมูลส่วนตัว รวมถึงข้อมูลทางการเงิน เช่น เลขที่บัญชี รหัส หมายเลขบัตรเดบิต บัตรเครดิต เลขท้ายหลังบัตรเครดิต (CVV) เพื่อสมัครหรือต่ออายุใช้บริการต่าง ๆ
✅ ไขความจริง
ธนาคารต่าง ๆ ไม่มีนโยบายให้พนักงานโทรมาสอบถามข้อมูลลูกค้าผ่านทางโทรศัพท์ SMS และโซเชียลมีเดีย
❎ ถ้าเขาบอกเรามาแบบนี้
คุณค้างชำระค่าบัตรเครดิต หากไม่รีบชำระจะถูกฟ้องดำเนินคดี และให้ไปชำระที่ตู้ ATM ทันที แล้วทำตามขั้นตอนที่เจ้าหน้าที่กำลังจะบอก
✅ ไขความจริง
สถาบันการเงินไม่มีนโยบายขอข้อมูลหรือแจ้งให้ลูกค้าทำธุรกรรมผ่านทางโทรศัพท์ หากมียอดค้างชำระจริง ลูกค้าสามารถชำระเองได้ผ่านช่องทางต่าง ๆ ของสถาบันการเงิน โดยไม่ต้องทำรายการผ่านตู้ ATM ตามคำบอกของเจ้าหน้าที่
❎ ถ้าเขาบอกเรามาแบบนี้
เบอร์โทรศัพท์ของคุณมีผู้ร้องเรียนจำนวนมาก จะตัดสัญญาณภายใน 2 ชั่วโมง อยากรู้รายละเอียด ให้กดหมายเลข 9 เพื่อติดต่อสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
✅ ไขความจริง
กสทช. ไม่มีนโยบายโทรศัพท์ไปหาประชาชนเพื่อแจ้งตัดสัญญาณ
❎ ถ้าเขาบอกเรามาแบบนี้
เจ้าหน้าที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โทรมาขอข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ชื่อ นามสกุล วันเดือนปีเกิด เบอร์โทรศัพท์ หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน หมายเลขหลังบัตรประจำตัวประชาชน หรือบอกให้โอนเงิน
✅ ไขความจริง
สปสช. จะโทรหาประชาชนในกรณีเดียวเท่านั้น เมื่อบุคคลนั้นลงทะเบียนเข้ารับการดูแลในระบบ home isolation และไม่ได้รับการติดต่อกลับจากหน่วยบริการ และการโทรหาผู้ป่วยก็จะไม่สอบถามข้อมูลส่วนบุคคลเนื่องจากผู้ป่วย ได้แจ้งข้อมูลตั้งแต่ขั้นตอนการลงทะเบียนแล้ว
นอกจากตัวอย่างกลลวงของมิจฉาชีพแบบด้านบนแล้ว เหล่ามิจฉาชีพยังมีมุกล้ำ ๆ มาทำให้เราหลงเชื่อ ด้วยการหลอกให้คลิกลิงก์ดาวน์โหลดโปรแกรมควบคุมเครื่องระยะไกล (remote desktop) โดยอ้างเหตุผลว่าเป็นการติดตั้งแอปพลิเคชันเพื่อใช้แจ้งความออนไลน์ เช่น โปรแกรม Team Viewer, AirDroid, Chrome Remote Desktop, Inkwire, AnyDesk, LogMeIn, VNC, Parsec ซึ่งโปรแกรมข้างต้นทำให้มิจฉาชีพสามารถควบคุมโทรศัพท์มือถือของเราได้เสมือนเป็นเจ้าของเครื่อง เข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล รหัส OTP และแอบโอนเงินออกจากบัญชีของเรา จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะมุกเก่าหรือมุกใหม่ของมิจฉาชีพ กลลวงทั้งหลายยังคงมีหลักการสำคัญคือ หลอกให้บอกข้อมูลส่วนบุคคลที่สำคัญเพื่อนำไปทำธุรกรรมทางการเงิน หลอกให้คลิกลิงก์เพื่อแฝงตัวเข้ามาดูดข้อมูลสำคัญจากเรา และหลอกให้โอนเงินโดยอาศัยความรู้สึกตกใจ ดีใจ และความไม่รู้ของเหยื่อ ดังนั้น หากเขาบอกเรามาคล้าย ๆ ตัวอย่างเหล่านี้ สงสัยได้ว่าเราเจอมิจฉาชีพเข้าแล้ว ขอให้ตั้งสติ ไม่หลงเชื่อ ไม่บอก ไม่คลิก และไม่โอน หรือดำเนินการใด ๆ ตามคำหว่านล้อม รีบกดวางสาย และเช็กกับศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย (Anti-Fake News Center Thailand) หรือหน่วยงานที่ถูกแอบอ้าง ถ้าพบว่าเป็นเรื่องหลอกลวงหรือเป็นมิจฉาชีพ และถึงแม้ว่าเราจะไม่ตกเป็นเหยื่อ เราก็ไม่ควรวางเฉยโดยจบแค่วางสาย แต่สามารถแจ้งเบาะแส ผ่านผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือที่เราใช้อยู่ หรือที่ตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โทร. 1441 และหากมีความเสียหายเกิดขึ้นแล้ว ก็สามารถแจ้งความได้ที่ www.thaipoliceonline.com หรือที่สถานีตำรวจทุกแห่ง
เรื่องโดย: กองบรรณาธิการ BOT พระสยาม MAGAZINE
ที่มา: BOT พระสยาม MAGAZINE ฉบับที่ 2 ประจำเดือนเมษายน – มิถุนายน 2565
——————————————————————
ขอบคุณข้อมูลจาก
• สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
• สมาคมธนาคารไทย
• สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)
• สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
• สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
• กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม