TOP

กทม. มุ่งพัฒนาสู่มหานครปลอดภัย รับมือโลกร้อนและฤดูฝน เตรียมพร้อมป้องกันน้ำท่วมทั้งระยะสั้นและระยะยาว

ปัญหาน้ำท่วม รถติดเป็นแถวยาวเต็มท้องถนน ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ในช่วงฤดูฝน ที่สร้างความกังวลให้แก่ชาวกรุงเทพฯ อยู่เสมอ ซึ่งทางกรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศว่า ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 และจะสิ้นสุดในช่วงกลางเดือนตุลาคม พ.ศ. 2563 สำหรับข้อกังวลของประชาชนต่อภัยธรรมชาติในหน้าฝนนี้ ทางกรุงเทพมหานคร ได้เตรียมพร้อมรับมือและพร้อมแก้ปัญหามาล่วงหน้า ตั้งแต่ก่อนเข้าฤดูฝน เพื่อสร้างกรุงเทพฯ ให้เป็น ‘มหานครปลอดภัยและน่าอยู่’ ตามแผนพัฒนากรุงเทพฯ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2556 – 2575) ก้าวสู่ Smart City หรือมหานครอัจฉริยะนั่นเอง

 

กทม. รับมือโลกร้อน น้ำทะเลหนุนสูง เตรียมพร้อมป้องกันน้ำท่วม

องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) นำเสนอผ่านเว็บไซต์ tgo.or.th ถึงกรณีมีรายงานวิจัยในวารสาร Nature Communications เกี่ยวกับผลกระทบของน้ำท่วมจากสภาวะโลกร้อน คาดว่าในปี 2050 (พ.ศ. 2593) ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น อาจกระทบกับประชากรของประเทศไทยร้อยละ 10 หรือประมาณ 6 – 7 ล้านคน ดูเหมือนว่า ขณะนี้เริ่มเห็นผลกระทบแล้วในบางพื้นที่ของประเทศไทย รวมถึงกรุงเทพฯ เช่น บริเวณชายทะเลบางขุนเทียน ฯลฯ จากผลกระทบต่อกรุงเทพฯ ดังกล่าว ยิ่งทำให้กรุงเทพมหานคร ต้องเร่งเตรียมพร้อมรับมือผลกระทบจากสภาวะโลกร้อน ทั้งการดำเนินโครงการเพื่อป้องกัน และแก้ไขปัญหาการกัดเซาะพื้นที่ชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน การตรวจสอบค่าระดับความเสี่ยงจากน้ำท่วมของพื้นที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯ รวมไปถึงการนำนวัตกรรมทางเทคโนโลยี มาใช้ในการบริหารจัดการระบบระบายน้ำของ กทม.เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกัน และแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในระยะยาวที่ผ่านมา กทม.ได้จัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันน้ำท่วม โดยพัฒนาระบบป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ด้วยการเสริมความสูงแนวคันป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา จากเดิมที่ความสูงเฉลี่ย 2.50 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง เป็นความสูงเฉลี่ย 2.80 – 3.50 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง เพื่อป้องกันน้ำจากทะเล และจากแม่น้ำเจ้าพระยาล้นเข้าท่วมพื้นที่กรุงเทพฯ

 

แผนปฏิบัติการป้องกันภัยธรรมชาติ

น้ำท่วมกรุงเทพฯ จากสาเหตุน้ำฝนและน้ำหนุนกรุงเทพฯ ตั้งอยู่บนพื้นที่ราบลุ่มต่ำตอนปลายของแม่น้ำเจ้าพระยา และอยู่ภายใต้อิทธิพลการขึ้น – ลงของน้ำทะเล โดยในอดีตมีห้วย หนอง คลอง บึง และที่ว่างเป็นจำนวนมาก ทำให้ไม่มีปัญหาน้ำท่วมที่รุนแรง ทว่าความเจริญของกรุงเทพฯ ที่รวดเร็วเกินกว่าที่ผังเมืองการใช้ที่ดินและการสาธารณูปโภค รวมทั้งมาตรการในการระบายน้ำ และการป้องกันที่วางไว้จะรับได้ ผนวกกับปัญหาแผ่นดินทรุดอีกสาเหตุหนึ่ง ทำให้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ ทวีความรุนแรงขึ้น เพราะสาเหตุภัยธรรมชาติจากน้ำท่วมกรุงเทพฯ มาจากหลายกรณี ทั้งจากน้ำฝน น้ำทุ่ง น้ำเหนือ และ น้ำทะเลหนุน โดยแผนปฏิบัติการป้องกันน้ำท่วมประจำปีของสำนักการระบายน้ำกรุงเทพมหานคร แบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ
• การปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ เนื่องจากน้ำฝน ด้วยปฏิบัติการการระบายน้ำฝน ที่ตกลงมาให้ออกจากพื้นที่น้ำท่วมโดยเร็ว เพื่อไม่ให้เกิดน้ำท่วมขังหรือเกิดขึ้นเพียงเล็กน้อยในระยะเวลาสั้นๆ กทม.ได้สร้างระบบระบายน้ำต่างๆ คือ ประตูระบายน้ำ ท่อระบายน้ำแก้มลิง สถานีสูบน้ำ คู คลอง และอุโมงค์ระบายน้ำ
• การปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ เนื่องจากน้ำหนุน ด้วยปฏิบัติการป้องกันน้ำท่วมจากน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา มีระดับสูงล้นตลิ่ง โดยสร้างคันกั้นน้ำตามแนวฝั่งแม่น้ำหรือริมฝั่งคลอง อีกทั้งควบคุมการระบายน้ำเข้าและออกในพื้นที่ป้องกัน รักษาระดับภายในกับภายนอกให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม จากการอาศัยประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำเป็นหลัก ในการควบคุมระบบ

 

ประตูระบายน้ำทำงานต่างจากสถานีสูบน้ำอย่างไร

เมื่อพูดถึงประตูระบายน้ำ และสถานีสูบน้ำ เราเชื่อว่าคนกรุงเทพฯ ที่แม้จะคุ้นกับสองคำนี้เป็นอย่างดี แต่ยังคงสงสัยว่าประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำทำงานต่างกันอย่างไร จากเว็บไซต์ของสำนักการระบายน้ำ กทม. (dds.bangkok.go.th) สามารถสรุปคำอธิบายที่เข้าใจง่ายๆ คือ ประตูระบายน้ำใช้เพื่อควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่าน เพื่อรักษาระดับน้ำและความเร็วของน้ำโดยในเวลาที่น้ำทะเลหนุน ก็ปิดประตูน้ำป้องกันปัญหาน้ำจากภายนอกไหลเข้ามาท่วมพื้นที่ชั้นใน แต่เมื่อเกิดน้ำท่วมขังจากพื้นที่ชั้นใน ก็สามารถเปิดประตูน้ำ เพื่อระบายน้ำออกไปจากพื้นที่ได้ทันท่วงที รวมถึงใช้ในการถ่ายเทหมุนเวียนน้ำในคลองต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ ไม่ให้เกิดมีน้ำเน่าเสีย โดย กทม.ได้สร้างประตูระบายน้ำไว้ 242 แห่งทั่วกรุงเทพฯ ในขณะที่สถานีสูบน้ำของ กทม. จำนวน 191 แห่ง มีหลักการคือ ช่วยสูบเพื่อส่งต่อ เป็นการสูบน้ำจากคลองสายย่อย หรือจากท่อระบายน้ำในกรุงเทพฯ ไปรวมยังบ่อบำบัด แล้วค่อยปล่อยออกสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ เนื่องจากน้ำบางแหล่งไม่สามารถไหลออกไปตามธรรมชาติได้ นอกจากนี้ กทม. ยังมีบ่อสูบน้ำอีกจำนวน 306 แห่ง เพื่อระบายน้ำท่วมขังอีกด้วย

 

เพิ่มอุโมงค์ระบายน้ำ เพื่อการแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืน

จากโครงการแก้มลิงตามแนวพระราชดำริ อันเป็นต้นแบบป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ทำให้กรุงเทพมหานครต่อยอดแนวคิดระบบการระบายน้ำในกรุงเทพฯ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ด้วยการจัดหาบึง สระ พื้นที่เอกชน จัดทำเป็นแก้มลิงเพื่อเป็นพื้นที่รับน้ำ จำนวน 31 แห่ง พร้อมกับก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ไปแล้ว 4 แห่ง ได้แก่ อุโมงค์ระบบผันน้ำคลองเปรมประชากร อุโมงค์ระบายน้ำบึงมักกะสันลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา อุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบและคลองลาดพร้าวลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา และอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อจากคลองลาดพร้าวถึงแม่น้ำเจ้าพระยา

 

นอกจากนี้ เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำจากพื้นที่ท่วมขัง กรุงเทพมหานครมีแผนก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ เพิ่มอีก 5 แห่ง ความยาวรวม 37.68 กิโลเมตร ดังนี้ ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา (ฝั่งพระนคร) มี 3 แห่ง ได้แก่ อุโมงค์ระบายน้ำจากบึงหนองบอนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา, อุโมงค์ระบายน้ำคลองเปรมประชากร จากคลองบางบัวลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา, อุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบ จากอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบ และคลองลาดพร้าว ถึงบริเวณซอยลาดพร้าว 130 ส่วนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา (ฝั่งธนบุรี) มี 2 แห่ง ได้แก่ อุโมงค์ระบายน้ำคลองทวีวัฒนาบริเวณคอขวด และ อุโมงค์ระบายน้ำคลองพระยาราชมนตรีจากคลองภาษีเจริญ ถึงคลองสนามชัย ซึ่งหากการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ทั้งหมดเสร็จแล้ว ก็จะทำให้ระบบระบายน้ำในกรุงเทพฯ มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นไปอีก

นอกจากอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ดังกล่าวข้างต้น กรุงเทพมหานครได้ก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำขนาดเล็ก (Pipe Jacking) เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมบริเวณจุดเสี่ยงน้ำท่วมในถนนสุขุมวิท, ถนนพหลโยธิน, ถนนประดิพัทธ์ ให้สามารถระบายน้ำได้เร็วยิ่งขึ้น โดยก่อสร้างแล้วเสร็จจำนวน 7 แห่ง ได้แก่ (1.) โครงการระบบระบายน้ำถนนพหลโยธิน บริเวณแยกเกษตรศาสตร์ (2.) โครงการระบบระบายน้ำซอยสุขุมวิท 31 และซอยสวัสดี (3.) โครงการระบบระบายน้ำถนนทรงสวัสดิ์ ถนนเยาวราช และถนนเจริญกรุง (4.) โครงการระบบระบายน้ำถนนนราธิวาสราชนครินทร์ 17 และถนนสวนพลู (5.) โครงการระบบระบายน้ำบริเวณถนนสุขุมวิท จากซอยสุขุมวิท 107 ถึงคลองบางนา (6.) โครงการระบบระบายน้ำถนนอู่ทองนอก (ลานพระราชวังดุสิต) และ (7.) โครงการระบบบ่อสูบน้ำถนนเพชรบุรี บริเวณสถานทูตอินโดนีเซีย อีกทั้งที่จะใช้งานในเวลาอันใกล้นี้อีก 5 แห่ง คือ (1.) โครงการระบบระบายน้ำถนนสุขุมวิท 21 (อโศกมนตรี) (2.) โครงการระบบระบายน้ำถนนศรีอยุธยาและถนนพระรามที่ 6 (3.) โครงการระบบระบายน้ำสุขุมวิท 63 (เอกมัย) (4.) โครงการระบบระบายน้ำซอยสุขุมวิท (นานาใต้) และ (5.) โครงการระบบระบายน้ำซอยสุขุมวิท 39

 

กรุงเทพมหานครเตรียมพร้อมปฏิบัติการ

และจัดเจ้าหน้าที่ป้องกันน้ำท่วมให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

เนื่องจากกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ มีความลาดชันน้อย มีระดับต่ำกว่าระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้น้ำไม่สามารถไหลตามธรรมชาติ ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ทำให้ตลอดเวลาที่ผ่านมาทางกรุงเทพมหานครจึงต้องดำเนินโครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม รวมทั้งติดตามสถานการณ์ฝนในพื้นที่จุดเสี่ยงน้ำท่วม 14 จุด และจุดเฝ้าระวังน้ำท่วม 56 จุด นอกจากนี้ กทม.ยังเตรียมความพร้อมจัดกำลังเจ้าหน้าที่ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเตรียมเข้าพื้นที่ก่อนที่ฝนจะตก ขณะฝนตก และหลังฝนหยุดตก ซึ่งสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร มีศูนย์เรดาร์ตรวจอากาศอยู่ 2 แห่ง ได้แก่ ศูนย์เรดาร์ตรวจอากาศหนองแขม และ ศูนย์เรดาร์ตรวจอากาศหนองจอก ซึ่งจะทำให้ทราบล่วงหน้าก่อนที่กลุ่มเมฆฝนจะเข้าพื้นที่ประมาณ 3 ชั่วโมง จากนั้น สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร จะแจ้งเตือนผ่านระบบต่างๆ ให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้เข้าพื้นที่เตรียมความพร้อมล่วงหน้า ก่อนที่ฝนจะตกรวมถึงการลดระดับน้ำในคลองให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อเตรียมรองรับปริมาณฝนที่ตกลงมา

 

*************************

เรื่องโดย: อโนชา ทองชัย

ที่มา: กรุงเทพมหานคร / BKK NEWS issue270

เหมือนจันทร์ ศรีสอาด