กรุงเทพมหานคร…กับภารกิจพิชิตโควิด 19 ระลอกใหม่ คนไทยจะชนะไปด้วยกัน
สถานการณ์ของการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 ระลอกใหม่ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา พบผู้ติดเชื้อกระจายทั่วประเทศ กว่า 20,000 คน โดยพื้นที่กรุงเทพฯ มีตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสม ตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2563 เป็นต้นมา ยอดทะลุกว่า 900 คน อยู่ในอันดับที่ 2 ของจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสะสมมากที่สุดในประเทศ รองจากจังหวัดสมุทรสาคร นับจากการระบาดระลอกใหม่จนถึงปัจจุบัน ‘กรุงเทพมหานคร’ (กทม.) ยังคงร่วมมือกับ ‘กระทรวงสาธารณสุข’ ดำเนินการตรวจค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง ไปแล้วกว่า 60,000 ราย โดยจากพื้นที่ทั้งหมด 50 เขต มี 2 เขต ที่ยังไม่พบว่ามีรายงานผู้ติดเชื้อ ได้แก่ เขตสะพานสูงและเขตสัมพันธวงศ์
การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 เรียกว่าอยู่ในระดับคงตัวในผู้ป่วยระบบบริการ และยังพบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก จากการค้นหาเชิงรุกในสถานประกอบการจังหวัดสมุทรสาคร จึงต้องมีการยกระดับการควบคุมกำกับสถานประกอบการ เน้นมาตรการองค์กร โดยเฉพาะผู้ทำงานข้ามจังหวัด การกักตัวผู้สัมผัสเสี่ยงสูงให้ครบ 14 วัน และการเฝ้าระวังเชิงรุกในชุมชนอย่างต่อเนื่อง ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยจังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดโดยรอบ ส่วนพื้นที่อื่นๆ ก็มีการเฝ้าระวังในระบบบริการและการเฝ้าระวังเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง
ลุยค้นหาเชิงรุกในพื้นที่เสี่ยง 6 เขตในกรุงเทพฯ
ที่ผ่านมา กทม. โดยสำนักอนามัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ลงพื้นที่คัดกรองผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19 ในพื้นที่เสี่ยง (Accumulate Ative Case Finding) ของโรงงานในพื้นที่ 6 เขต ได้แก่ เขตภาษีเจริญ เขตบางแค เขตหนองแขม เขตบางบอน เขตจอมทอง และเขตบางขุนเทียน จำนวน 127 โรงงาน (ข้อมูลสะสมถึงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564) มีแรงงานที่ผ่านการตรวจค้นหาเชิงรุกรวม 13,590 คน พบผู้ติดเชื้อ จำนวน 54 ราย นอกจากนี้ สำนักอนามัยยังได้จัดเจ้าหน้าที่ศูนย์บริการสาธารณสุข ลงพื้นที่ร่วมกับฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล ในแต่ละสำนักงานเขต เพื่อดำเนินการค้นหาเชิงรุกในพื้นที่กรุงเทพฯ อาทิ ตลาด สถานประกอบการ ชุมชน ฯลฯ เป็นการคัดกรองกลุ่มเสี่ยงโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 อันจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้อย่างทันท่วงที
ตรวจเข้มสถานประกอบการ สั่งปิดร้าน! หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนด
สืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ อันมีสถานประกอบการต่างๆ เป็นหนึ่งแหล่งสำคัญที่เป็นสาเหตุให้มีการแพร่ระบาดของเชื้อดังกล่าวในวงกว้าง ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 กรุงเทพมหานคร (ศบค.กทม.) ได้มอบหมายให้คณะทำงาน ร่วมกับสำนักงานเขต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสถานประกอบการประเภทผับ บาร์ และคาราโอเกะ ในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อเฝ้าระวังตามมาตรการการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19 และจากการลงพื้นที่พบว่า มีสถานประกอบการ สถานบริการ ที่ฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรการที่ กทม. กำหนด ได้แก่ เปิดเกินเวลา ผู้มาใช้บริการมั่วสุมจำนวนมาก ไม่มีมาตรการป้องกัน จำหน่าย และบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้าน จึงได้มีคำสั่งปิดบริการร้านต่างๆ เป็นเวลาตั้งแต่ 14 วัน ไปจนถึง 5 ปี ตามฐานความผิดของการฝ่าฝืน และไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 ที่ราชการกำหนดไว้
ทำความสะอาดทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ ป้องกันโควิด 19
ร.ต.อ. พงศกร ขวัญเมือง โฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า “ในการระบาดระลอกใหม่ของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19 จนถึงวันนี้ กทม. ไม่ได้มีนโยบายให้ลงพื้นที่ตรวจหาผู้ติดเชื้ออย่างเดียว แตยังได้ประสานงานกับสำนักงานเขต และกระทรวงสาธารณสุข ในการดำเนินงานทำความสะอาดพื้นที่เสี่ยงแต่ละแห่ง ให้มีความสะอาด และปลอดภัยแก่ผู้ใช้บริการ อาทิ ด่านคัดกรองผู้ติดเชื้อ ตลาด สถานประกอบการ โรงเรียนในสังกัด กทม. ฯลฯ และต้องยอมรับว่า การที่สามารถทำให้การระบาดของผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19 ระลอกใหม่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ให้ลดน้อยลงมากกว่าครั้งแรก เพราะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้รวดเร็วกว่า ด้วยความร่วมมือของชาวกรุงเทพฯ ทุกคนช่วยกันอีกนิดนะครับ มาทำให้กรุงเทพฯ ของพวกเราเป็นเมืองที่ปลอดภัย เป็นเมืองที่ไม่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 เพื่อให้พวกเราได้ใช้ชีวิตใกล้เคียงกับวิถีปกติให้มากที่สุดกัน”
มาตรการเยียวยาเพื่อคนกรุงเทพฯ
ตั้งแต่การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 ในระลอกแรกมาจนถึงระลอกใหม่ กทม. เดินหน้าหลายโครงการเพื่อช่วยให้ชาวกรุงเทพฯ ได้รับการเยียวยาจากสถานการณ์วิกฤตครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นสำนักพัฒนาสังคม จัดโครงการตลาดวิสาหกิจชุมชน และเครือข่ายผู้ประกอบการ เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง มีสถานที่แสดงสินค้าได้โดยตรง เพื่อส่งเสริมให้เกิดการสร้างอาชีพ สร้างรายได้แก่ประชาชนในชุมชนต่างๆ อันนำไปสู่การพัฒนากรุงเทพฯ อย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายได้แก่ วิสาหกิจชุมชน และเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน ของดีของอร่อย ทั้ง 50 เขต นอกจากนี้ สำนักงานสถานธนานุบาล หรือโรงรับจำนำ กทม. มีนโยบายบรรเทาความเดือดร้อน และเยียวยาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 ระลอกใหม่ด้วยการขยายระยะเวลาตั๋วรับจำนำ ตั้งแต่ภายในวันที่ 11 กรกฎาคม ถึง 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 สามารถทำธุรกรรมได้จนถึงวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2564 นี้ (ทั้งนี้ ผู้ถือตั๋วรับจำนำ ในช่วงวันที่ดังกล่าว ไม่ต้องติดต่อเพื่อขอใช้สิทธิ์แต่อย่างใด)
ในด้านสำนักงานตลาด กำหนดมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาผู้ค้าและผู้เช่าในตลาดของ กทม. ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 ระลอกใหม่ ประกอบด้วย มาตรการสำหรับตลาดนัดจตุจักร และตลาดนัดมีนบุรี มาตรการสำหรับตลาดธนบุรี มาตรการสำหรับตลาดชุมชน 7 แห่ง ได้แก่ ตลาดประชานิเวศน์ 1 ตลาดบางกะปิ ตลาดหนองจอก ตลาดพระเครื่อง วงเวียนเล็ก ตลาดรัชดาภิเษก ตลาดเทวราช และตลาดสิงหา ที่มีทั้งขยายอายุสัญญาเช่า ยกเว้นการจัดเก็บค่าเช่า ยกเว้นค่าปรับหนี้ค้างชำระ เป็นต้น
กทม. เตรียมจัดหางบประมาณ ‘ฉีดวัคซีนโควิด 19’
ให้ชาวกรุงเทพฯ
ด้านการเตรียมความพร้อมในการ ‘ฉีดวัคซีน โควิด 19’ ให้ชาวกรุงเทพฯ นั้น เตรียมงบประมาณ 1,000 – 10,000 ล้านบาท จัดหาวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19 สำหรับประชาชนชาวกรุงเทพฯ ซึ่งมีจำนวนประมาณ 5 ล้านคน เพื่อให้ทุกคนได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึงทุกพื้นที่ โดย กทม. ได้มอบหมายให้สำนักอนามัยและสำนักการแพทย์ ประสานงานอย่างใกล้ชิดกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อจัดหาวัคซีนที่ปลอดภัย และมีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนน้อยที่สุด
ใช้แอปพลิเคชัน ‘หมอชนะ’
ช่วยหยุดการระบาดเชื้อไวรัสโควิด 19
อย่างไรก็ตาม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เน้นย้ำแนะนำให้ประชาชนใช้แอปพลิเคชัน ‘หมอชนะ’ ซึ่งเป็นอีกวิธีที่คนไทย สามารถช่วยกันหยุดการระบาดของเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 หรือโควิด 19 ได้ โดยจะเป็นช่องทางแจ้งเตือน แนะนำผู้ที่สัมผัสความเสี่ยงให้ไปตรวจ กักตัว หรือปฏิบัติตัวได้อย่างเหมาะสม ช่วยให้เข้าถึงการตรวจวินิจฉัย และขีดวงหยุดการระบาดที่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ชาวกรุงเทพฯ ยังสามารถเข้าเว็บไซต์ BKK COVID19 เพื่อทำแบบประเมินความเสี่ยงการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19 ก่อนเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ทั้งนี้ กทม. ขอความร่วมมือประชาชนทุกคนให้ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา ในทุกครั้งที่ออกจากบ้านและอยู่ในที่สาธารณะ และเมื่อไปใช้บริการตามสถานที่ต่างๆ อย่าลืมลงทะเบียนหรือสแกน ‘ไทยชนะ’ เพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบและสืบสวนโรค หากเกิดการแพร่ระบาดในสถานที่นั้นๆ
เรื่องโดย: อโนชา ทองชัย
ที่มา: BANGKOK NEWS (กทม.สาร) Issue 276 ( 3/ 2564)