‘คลองโอ่งอ่าง’ เวนิสไทยแลนด์ แชะ ช้อป ชิม แลนด์มาร์กใหม่กรุงเทพฯ
วันเวลาหมุนเวียนเปลี่ยนผ่าน หลายสิ่งอย่างก็เปลี่ยนไปเช่นกัน จากสะพานเหล็กเก่าสถานที่คุ้นหู แหล่งรวบรวมของเล่นเกมคอนโซล และสิ่งของเพื่อความบันเทิงต่าง ๆ ถูกปรับภูมิทัศน์เปลี่ยนโฉมเป็น ‘ถนนคนเดินคลองโอ่งอ่าง’ แลนด์มาร์กแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ อีกทั้งเป็นต้นแบบการพัฒนาคลองของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่ประสบผลสำเร็จระหว่างการร่วมแรงร่วมใจของ กทม. กับภาคประชาชน ซึ่งรวมไปถึงมลภาวะสิ่งแวดล้อม ที่ ณ วันนี้ สายน้ำในคลองโอ่งอ่างใสสะอาด และสองฝั่งคลองสวยงามตลอดแนวยาว จนสามารถพายเรือคายักและเล่นซัพบอร์ดในคลองแบบสบายๆ ชิลล์ๆ กันได้แล้ว
‘คลองโอ่งอ่าง’ หัวใจของโซนเมืองเก่า
พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มองว่าจุดนี้เป็นหัวใจของโซนเมืองเก่า อีกทั้งยังมีเส้นทางเชื่อมต่อกันหมดตั้งแต่สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา เมื่อเดินต่อลงมาก็เป็นคลองโอ่งอ่าง (ใกล้กับรถไฟฟ้าใต้ดินสถานีสามยอด) พอเดินต่อไปก็เป็นพาหุรัด และไปอีกไม่ไกลก็ถึงเยาวราช แล้วจากนั้นไปจบที่ตลาดน้อย จึงเกิดเป็นนโยบายของ กทม. ร่วมกับชุมชนย่านนี้ สร้างพื้นที่ให้คลองโอ่งอ่างที่เคยมีชื่อว่า ‘สะพานเหล็ก’ กับภาพจำที่รกรุงรังไร้ระเบียบ และขาดความปลอดภัย ให้กลายเป็นถนนคนเดิน “คลองโอ่งอ่าง” ที่แตกต่างจากทั่วไป เพราะได้นำสตรีทอาร์ต (Street Art) และกราฟฟิตี้ (Graffiti) มาเชื่อมโยงกับถนนคนเดิน เชื่อมกับชุมชนและวัฒนธรรม ด้วยการบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ และวิถีชีวิตชุมชนของคลองโอ่งอ่าง ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันผ่านรูปวาด จึงกลายเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของคนกรุงเทพฯ ที่กำลังรอทุกคนจากทั่วสารทิศมาปักหมุดและเช็กอินที่นี่ เพื่อมาหาความสุขบวกความจรรโลงใจในงานศิลปะอันตื่นตาตื่นใจ ‘ถนนคนเดินคลองโอ่งอ่าง’ สวยงามอย่างแตกต่าง ชวนให้เที่ยวเช็กอิน! เพราะต้องการให้ถนนคนเดินคลองโอ่งอ่าง มีความพิเศษกว่าถนนคนเดินทั่วไปอย่างแตกต่าง ทาง กทม. จึงสร้างคลองโอ่งอ่างจากสะพานดำรงสถิต – สะพานโอสถานนท์ ระยะทางรวม 750 เมตร ที่ได้รับการพัฒนาและเปิดให้ทำการค้าอย่างมีระเบียบ สวยงาม และปลอดภัยในรูปแบบ ‘ถนนคนเดิน’ ที่แตกต่างด้วยพื้นที่ที่เป็นร้านขายของ แต่มีพื้นที่สำหรับการแสดงต่างๆ เช่นเดียวกับหลายๆ ประเทศที่มีพื้นที่สำหรับการแสดงเปิดหมวก ดังนั้นตลอดเส้นทางของถนนคนเดินแห่งนี้ จะเห็นทั้งนักเรียนและบุคคลทั่วไป มาแสดงดนตรีเปิดหมวก มาวาดรูปโชว์ ซึ่ง กทม. เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถติดต่อสำนักงานตลาดของ กทม. มาขอแสดงงานตัวเองกันได้เลย
แชะ! ช้อป! ชิม! เที่ยวแห่งเดียว…สนุกสุดคุ้ม
สองฝั่งของถนนคนเดินคลองโอ่งอ่าง แบ่งออกเป็นโซนต่างๆ ที่ไม่ว่าจะมาเป็นคู่รัก กลุ่มเพื่อน ครอบครัว ฯลฯ ก็เดินเที่ยวเล่นได้อย่างสนุกสนานเพลิดเพลิน อย่างโซน ชิม! (สะพานภาณุพันธ์ุ – สะพานบพิตรพิมุข) มีสตรีทฟู้ด ร้านจำหน่ายอาหารท้องถิ่น เครื่องดื่ม และพื้นที่ให้หยุดพักรับประทานอาหารอร่อยๆ รสเลิศโซน ช้อป! (สะพานภาณุพันธุ์ – สะพานหัน) มีร้านค้าท้องถิ่นและสินค้าตามเทศกาล ส่วนโซน แชะ! (สะพานดำรงสถิต – สะพานภาณุพันธ์ุ) มีผลงานสตรีทอาร์ต ให้เก็บภาพในหลากหลายเรื่องราวกันอย่างเพลิดเพลิน และเป็นโซนค้าขายของเล่น เกม อีกทั้งกล้องมือสองให้เลือกสรรเป็นเจ้าของกัน แต่ไม่อยากให้พลาด! ลานวัฒนธรรมบริเวณสะพานหัน – สะพานบพิตรพิมุข มีร้านค้า ร้านอาหารเชิงวัฒนธรรมและหลากหลายเชื้อชาติ ทั้งแขก จีน ไทย พร้อมด้วยร้านค้า DIY พื้นที่ศิลปะสร้างสรรค์ ซึ่งมีจิตรกรทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่นมาวาดภาพเหมือน และแสดงผลงานศิลปะอยู่ในบริเวณนี้ด้วย
‘ถนนคนเดินคลองโอ่งอ่าง’ เวนิสไทยแลนด์
และหมุดหมายใหม่ของนักท่องเที่ยวทั่วโลก
นับจากนี้ กรุงเทพฯ ไม่ได้มีเพียงแค่ถนนข้าวสารเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกอีกต่อไป แต่กรุงเทพฯ มีเวนิสไทยแลนด์และถนนคนเดินคลองโอ่งอ่าง เป็นหมุดหมายใหม่ที่ใครๆ ก็อยากมาเยือนสักครั้งในชีวิต มาเสพงานศิลป์ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวแห่งประวัติศาสตร์ของวิถีชุมชนเก่าแก่ มากินอาหารอร่อยจากแต่ละร้านที่มารวมตัวกันอยู่ที่นี่ มาพักผ่อนหย่อนใจในบรรยากาศที่แม้เป็นภูมิทัศน์ใหม่ แต่ก็ยังเต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์แห่งย่านเก่าแก่ของเกาะรัตนโกสินทร์ โดยในยามพลบค่ำ คลองโอ่งอ่างมีการจัดไฟประดับสวยงามบริเวณริมคลอง ให้ตื่นตาตื่นใจกันด้วยการเดินเที่ยวคลองโอ่งอ่างแล้ว ยังแวะไปหาของอร่อยขึ้นชื่อที่เยาวราช หรือเดินไปชมวิวตระการตา ยามค่ำกลางแม่น้ำเจ้าพระยาที่สวนเจ้าพระยาลอยฟ้าได้เช่นกัน ถ้าอยากรู้ว่า ‘คลองโอ่งอ่าง เวนิสไทยแลนด์’จะสวยงามขนาดไหน แวะไปเช็กอินกันเลย
คลองโอ่งอ่าง เดินทางมาสะดวก ง่ายๆ ด้วย
- รถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงิน ลงสถานีสามยอด ทางออก 1 เดินมาแค่ 100 เมตร
- นั่งเรือด่วนเจ้าพระยาขึ้นฝั่งที่ท่าเรือด่วนสะพานพุทธ
- นั่งรถโดยสารประจำทางสาย 4, 5, 7, 21, 37, 40, 85
- นั่งรถโดยสารประจำทางปรับอากาศ
———————————-
เรื่อง: อโนชา ทองชัย
ภาพ: พุฒิพัฒน์ ศุภวิบูลย์ผล
ที่มา: Bangkok News Issue 274