องค์การอนามัยโลกชี้ “ภาวะหมดไฟในการทำงาน” โรคใหม่! มีผลสภาพต้องได้รับการรักษาในทางการแพทย์เป็นครั้งแรก
AROUND เชื่อว่าเพื่อนๆ หลายคน คงกำลังเผชิญกับปัญหาและอาการเบื่อหน่าย หรือที่เรียกภาวะ “หมดไฟทำงาน” (Burnout syndrome) ซึ่งเกิดขึ้นได้กับคนส่วนมากที่สะสมความเครียดจากเรื่องต่างๆ มากเกินไป และไม่ได้รับการแก้ไขหรือปฏิบัติอย่างเหมาะสม ส่งผลกระทบต่อจิตใจโดยตรง และยังส่งผลทั้งระบบของร่างกายอีกด้วย
จากที่ประชุมองค์การอนามัยโลก ณ เมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ประจำปี 2562 ได้มีมติให้ภาวะเมื่อยล้าหมดไฟ หรือที่เรียกว่า เบิร์นเอาท์ (Burnout) เป็นอาการผิดปกติที่เกิดจากความเครียดเรื้อรังจากที่ทำงาน ซึ่งไม่ได้รับการแก้ไข และเป็นสภาพที่ต้องได้รับการรักษาในทางการแพทย์เป็นครั้งแรก โดยจะเริ่มประกาศใช้อย่างเป็นทางการทั่วโลก ในวันที่ 1 มกราคม 2565 นับว่าเป็นประเด็นปัญหาทางสุขภาพใจ ที่มักเกิดกับคนวัยทำงานเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุดของประชากรโลก และมีความสำคัญต่อการสร้างเศรษฐกิจครอบครัวและประเทศชาติเลยที่เดียว
มาลองเช็คลิสต์ สัญญาณภาวะหมดไฟ คุณมีอาการแบบนี้กันรึเปล่า?
- รู้สึกว่าชีวิตมีความสุขน้อยลง
- อารมณ์จิตใจแปรปรวน และสิ้นหวัง
- เหนื่อยล้าอ่อนแรง ความเครียดสะสม
- ไม่กระตือรือร้น เบื่อเซ็ง ไม่อยากตื่นไปทำงาน
- ไม่มีสมาธิในขณะปฎิบัติงาน
- เริ่มมีทัศนคติไม่ดีต่องานที่ทำอยู่ หรือมองโลกในแง่ลบ รู้สึกว่าตัวเองด้อยความสามารถ
- รู้สึกโกรธ ขุ่นเคือง ทั้งกับเรื่องงาน เพื่อนร่วมงาน แล้วพาลไปถึงเพื่อนที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานได้ง่ายๆ
- รู้สึกไม่ไว้วางใจใครในการทำงาน แบกรับความเครียดกดดันไว้คนเดียว
- รู้สึกว่าปริมาณงานที่ต้องรับผิดชอบมากเกินไป และหนักอึ้ง
- มองโลกในแง่ร้าย หงุดหงิดง่าย และมีผลงานที่แย่ลง
- ขาดความมั่นใจในตัวเอง สิ้นหวัง และเริ่มแยกตัว
- หาตัวช่วยเพื่อให้มีแรงทำงานในแบบที่กลายเป็นความเสี่ยงกับสุขภาพ เช่น ดื่มกาแฟ สูบบุหรี่จัดขึ้น
- รับประทานอาหารได้ไม่ดี หรือรับประทานมากเกินขนาดโดยขาดสติ
ผลข้างเคียงต่อสุขภาพกาย
เมื่อเกิดภาวะหมดไฟทางจิตใจ สังเกตุตัวเองอาจมีอาการร่วมของภาวะทางร่างกาย เริ่มป่วย ไปทำงานไม่ได้เพราะอาการปวดหลัง กระเพาะอาหาร และลำไส้อักเสบ หรือไมเกรน นอนไม่หลับ อ่อนเพลียตลอดเวลา อาจมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ปวดเมื่อยตามร่างกาย ประสิทธิภาพการทำงานถดถอยลง
ผลกระทบต่อความคิดและการตัดสินใจ
อาจถึงขั้นทะเลาะเบาะแว้งกับคนรอบข้างได้ง่าย รวมทั้งบางคนอาจหาทางออกในทางที่ผิด เช่น สูบบุหรี่จัดขึ้น ดื่มหนักขึ้น หรือเที่ยวเตร่ ไปทำงานสาย เป็นต้น ผลการศึกษาในต่างประเทศ พบว่า คนทำงานประมาณ 1 ใน 4 มีความเครียด โดยร้อยละ 60 มีสาเหตุมาจากการทำงาน
เกิดอะไรขึ้นกับฉัน?
กว่าที่ภาวะหมดไฟจะก่อตัวขึ้นมา อาจใช้เวลาสั่งสมมาเป็นระยะเวลาพอสมควร 6 เดือนถึง 18 เดือน โดยสาเหตุของภาวะหมดไฟนั้นมีหลายประการรวมถึง:
- การได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมในที่ทำงาน
- ภาระงานที่จัดการไม่ได้
- การขาดความชัดเจนว่างานที่ทำมีหน้าที่อะไรบ้าง
- การขาดการสนับสนุนจากผู้จัดการ
- แรงกดดันด้านเวลาอย่างไม่สมเหตุสมผล
พฤติกรรมที่ควรเลี่ยง ลด ละ ความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดภาวะหมดไฟ
- อย่าทำงานอย่างหักโหม เนื่องจากจะมีผลให้ร่างกายถูกใช้งานมาก เสื่อมโทรมเร็ว ภูมิต้านทานโรคจะลดลง
- อย่าหอบงานกลับไปทำต่อที่บ้าน
- การใช้เวลาว่างท่องโลกโซเซียลต่างๆ อย่าให้มากเกินพอดี
- อย่านำปัญหาในที่ทำงานกลับไปบ้าน หรือนำปัญหาจากบ้านไปที่ทำงาน เนื่องจากพฤติกรรมเหล่านี้ จะทำให้สะสมความเครียด รวมทั้งเบียดเบียนเวลาในการพักผ่อนให้น้อยลงไปด้วย
ลดความเสี่ยงในการเผชิญภาวะหมดไฟด้วยตัวเราเอง ลองแก้ปัญหาที่ “ตัวเอง” ก่อนพบแพทย์
- อาจลางานพักผ่อนสักระยะ จะช่วยผ่อนคลายและรู้สึกดีขึ้น
- การกระตุ้นระดับความสามารถในการปรับตัว เมื่อเผชิญกับเรื่องเลวร้าย หลังจากเผชิญปัญหาต่างๆ และทำให้แข็งแกร่งขึ้น”
- ยึดหลักสมดุลชีวิต ด้วยการแบ่งเวลาแต่ละวันออกเป็น 3 ส่วน คือ ทำงาน 8 ชั่วโมง, นอนหลับพักผ่อน 8 ชั่วโมง และอีก 8 ชั่วโมง ใช้เพื่อพักผ่อนหย่อนใจทั้งส่วนตัว กับครอบครัว หรือเพื่อนฝูง
- จัดลำดับความสำคัญของงานเร่งด่วน
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยวันละ 30 นาทีก็ยังดี สัปดาห์ละอย่างน้อย 3 วัน การออกกำลังกายจะช่วยทำให้สมองหลั่งสารแห่งความสุข ช่วยสลายความเครียดได้อย่างดี และช่วยให้นอนหลับดีขึ้น
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ที่ช่วยให้อารมณ์ดี โดยเฉพาะประเภทผัก ผลไม้ ที่มีสารช่วยต้านอนุมูลอิสระ เช่น ผลไม้ที่ให้วิตามินซี ฝรั่ง ส้ม มะขามป้อม พืชผักที่มีสีเขียวเข้ม
- พูดคุยสร้างอารมณ์ขันในหมู่เพื่อนร่วมงานกันเรื่อยๆ
- เมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับการทำงาน ลองปรึกษาเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้างาน อย่าอาย เนื่องจากการปรึกษาจะช่วยให้เราคลายข้อคับข้องใจ และหาทางออกได้เหมาะสมขึ้น โดยไม่ต้องเก็บเรื่องหนักใจไว้คนเดียว
- หากรู้สึกว่าชีวิตตัวเองยังไม่มีความสุข อึดอัดใจ หรือเกิดอาการวิตกกังวลบ่อยๆ สามารถปรึกษาเจ้าหน้าที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน หรือโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง
ส่วนหนึ่งของบทความดีๆ จาก BBC Thai
“ดร. แจ็กกี ฟรานซิส วอล์กเกอร์” นักบำบัดจิต และผู้เขียนหนังสือเรื่อง The Burnout Bible ผู้เชี่ยวชาญในการรักษาคนไข้ที่มีอาการภาวะหมดไฟ กล่าวว่า
“ปกติแล้ว คนที่มาหารู้สึกสับสนว่า ทำไมจู่ๆ ก็ทำเรื่องที่เคยทำได้ไม่ได้เหมือนเดิม ประหนึ่งว่า พวกเขาได้สูญเสียมนตร์วิเศษไปในเวลาฉับพลัน ผู้คนอาจพบว่า ตัวเองกำลังอยู่ใน ‘ภาวะเอาชีวิตรอด’ ซึ่งไม่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ และการแสดงออกมากอย่างที่เคยทำมาก่อน”
-||-
“ดร. วอล์กเกอร์” กล่าวว่า ภาวะหมดไฟแตกต่างจากความเครียด
“ความเครียดเกิดขึ้นเมื่อข้อเรียกร้องที่มีต่อคุณ มีมากเกินกว่าทรัพยากรที่คุณมี ในการทำให้บรรลุเป้าหมาย ทรัพยากรที่ว่าอาจจะเป็นด้านจิตใจ และการปรับตัวเมื่อเจอกับเรื่องเลวร้าย และเรื่องของเวลาและความสามารถที่มีอยู่ก็ได้”
มนุษย์จำเป็นต้องได้รับแรงกดดันบ้าง เพื่อให้ทำผลงานได้ดี แต่เมื่อทำผลงานได้ดีถึงขีดสุดแล้ว พร้อมกับแรงกดดันสูงสุด แต่แรงกดดันนั้นยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ผลงานก็จะเริ่มตกต่ำลง” วัฒนธรรมการทำงานที่เป็นพิษ ก็มีส่วนอย่างมาก “คนจำนวนมากที่ต้องทำงานในลักษณะมีความกดดันสูง และคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องรู้สึกเครียด ความคิดบนความเชื่อเช่นนี้อาจไม่ถูกต้องนัก ความเครียดส่งผลเสียต่อสุขภาพของเรามากเหลือเกิน และเราควรต้องกำจัดความเชื่อเช่นนี้ออกไป และนายจ้างก็จำเป็นต้องมีความรับผิดชอบร่วมกันมากขึ้น ด้วยการมองหาแนวทางปฏิบัติต่างๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ที่อยู่ภายใต้การดูแลให้จัดการความสมดุลระหว่างการทำงานกับการใช้ชีวิตได้ เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะหมดไฟ ผู้ประกอบการและคนในยุคดิจิตอล ต่างต้องเผชิญกับชีวิตอันรีบเร่ง ความรวดเร็วในข้อมูลข่าวสาร และมีความกดดันสูงในการแข่งขัน การเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง แต่ยังต้องดำเนินผลงานที่ดีต่อไป ธรรมชาติของการทำงานที่ไม่มีความแน่นอนในหลายอาชีพ ทำให้เกิดปัญหาอย่างหนึ่ง ปัจจุบันการติดต่อสื่อสารทำให้เราสามารถถูกติดต่อได้ตลอดเวลาทุกช่องทาง และนั่นก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ซึ่งทำให้เราไม่ได้หยุดพักสมองอย่างแท้จริง” ซึ่ง ดร. วอล์กเกอร์ เชื่อว่า วัฒนธรรมการทำงานที่เป็นพิษ น่าจะเป็นหนึ่งในต้นตอสำคัญของความเครียดในการทำงาน
-||-
“ราเชล มอร์ริส” ผู้คิดค้นโครงการ เดอะ เชปส์ (The Shapes Programme) เพื่อช่วยสร้างวัฒนธรรมการทำงานในแง่บวก และช่วยให้คนรับมือกับปัญหาต่างๆ ได้ดีขึ้น
มอร์ริส กล่าวว่า “เป็นเรื่องสำคัญในการให้เวลากับการทำกิจกรรมต่างๆ ที่ทำให้เรารู้สึกว่ามีสวัสดิภาพดีขึ้น อย่างการออกกำลังกาย การติดต่อกับผู้คน หรือการนอนชดเชย เมื่องานมีข้อเรียกร้องมากเกินไป ปฏิกิริยาตามธรรมชาติของเราคือ การเลิกทำสิ่งต่างๆ ที่เราเคยรู้สึกสนุกเมื่อได้ทำ และเคยถูกดูดลงในวังวนความยุ่ง การเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่เป็นเรื่องยาก ผู้คนอาจเริ่มด้วยเรื่องเล็กๆ อย่างการเดินเล่น 5 นาที ตอนพักรับประทานอาหารกลางวัน หรือไปดื่มกาแฟกับเพื่อน อีกปัญหาหนึ่งคือ คนที่มีความเครียดมากมักจะจดจ่อกับเรื่องที่พวกเขาไม่สามารถควบคุมได้ การสนใจเฉพาะเรื่องที่พวกเขาควบคุมได้ สามารถช่วยลดระดับความเครียดลงได้” ดร. มอร์ริส เรียกสิ่งนี้ว่า “พื้นที่แห่งพลัง”
ขอบคุณที่มา : ฺฺBBC Thai | NNT สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์