เช็คลิสต์ 14 อาการฮีทสโตรก ใช่คุณหรือไม่! ในสภาวะอากาศร้อนระอุทะลุปรอทกว่า 40 องศา กับ 12 ทิปส์ปรับพฤติกรรม
จากสภาพอากาศที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นทุกวัน กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานสภาพอากาศ ประเทศไทยทั่วทุกภูมิภาค มีอุณหภูมิร้อนถึงร้อนจัดสูงทะลุ 40 องศาเซลเซียส อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ทำให้เกิดภาวะปัญหาสุขภาพตามมา โดยเฉพาะโรคที่เรียกว่า “ฮีทสโตรก” (Heat Stroke) หรือ โรคลมแดด ที่ช่วงนี้คงได้ยินกันบ่อยขึ้นตามสื่อต่างๆ ที่ออกข่าวเตือนให้ระวังมากเป็นพิเศษ ร่างกายเมื่ออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูงเกินไป และได้รับความร้อนที่มากเกิน 40 องศาเซลเซียสกว่าร่างกายจะทนได้ ย่อมส่งผลกระทบให้ร่างกายเกิดการทำงานที่ผิดปกติของระบบสมอง และระบบการไหลเวียนโลหิต นั่นคือความเสี่ยงโอกาสเป็นโรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรก (Heat stroke) ได้ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการรักษาพยาบาลโดยด่วน เพราะว่าอาการดังกล่าวจะนำไปสู่ภาวะหมดสติเฉียบพลันได้ และอันตรายอื่นๆ อาจตามมา เช่น อวัยวะสำคัญได้รับความเสียหาย หรือไม่ก็ถึงขั้นเสียชีวิตได้
AROUND แนะนำเช็คลิสต์ 14 อาการ
ที่บอกว่าเรากำลังอยู่ในความเสี่ยง ด้วยสัญญาณเตือนของโรคฮีทสโตรก เพื่อให้รู้เท่าทันพร้อมรับมือมาฝาก
ในสภาพที่อากาศร้อนจัด ปกติร่างกายเราจะมีการปรับตัว สำคัญเราต้องหมั่นเช็คตัวเองบ่อยๆ ร่างกายจะส่งสัญญาณบางอาการที่เตือนให้เรารู้ตัวล่วงหน้า ขอเพียงเราต้องสังเกตุตัวเองให้ดี
1. เหงื่อออกมากกว่าปกติ ในบางคนเหงื่อไม่ออกจากร่างกายเลย ทั้งที่ร้อนมาก (เข้าขั้นน่าวิตก)
2. หายใจเร็ว
3. หน้าแดง
4. กล้ามเนื้อเกร็ง เป็นตะคริว
5. มึนงงสับสน
6. ตัวร้อนจัดขึ้นเรื่อยๆ
7. รู้สึกกระหายน้ำมากเป็นพิเศษ
8. วิงเวียนปวดศรีษะ
9. หัวใจเต้นเร็วแต่แผ่วเบา
10. คลื่นไส้อาเจียน
11. รู้สึกสับสน
12. รูม่านตาขยาย
13. ความรู้สึกตัวเริ่มน้อยถอยลง
14. เกิดอาการชัก
บุคคลที่อยู่ในภาวะกลุ่มเสี่ยง:
ผู้สูงอายุ, ผู้ป่วยโรคเบาหวาน, เด็กเล็ก และคนที่ทำงานกลางแจ้งเป็นประจำ, ผู้ที่อดนอน, ผู้ที่ดื่มเหล้าจัด และผู้ที่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคอ้วน รวมถึงนักกีฬา และทหารที่เข้ารับการฝึก โดยไม่มีการเตรียมสภาพร่างกายให้พร้อมที่จะเผชิญกับสภาพอากาศร้อนจัด
TIPS: สำหรับการปรับพฤติกรรมสุขภาพเพื่อป้องกันโรคฮีทสโตรก
1. ดื่มน้ำ 1-2 แก้ว ก่อนออกจากบ้านในวันที่มีอากาศร้อนจัด
2. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ รวมถึงเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน เพราะว่าสารเหล่านั้นจะยิ่งไปกระตุ้นให้ร่างกายขับถ่ายปัสสาวะมากขึ้น ยิ่งทำให้เรามีภาวะขาดน้ำมากขึ้นตามมา
3. หลีกเลี่ยงอาหารมื้อใหญ่ที่เต็มไปด้วยคาร์โบไฮเดรต หรือกลุ่มแป้งและน้ำตาล รวมถึงกลุ่มที่มีโปรตีนปริมาณสูง เพราะว่ากระบวนการย่อยอาหารจะใช้เวลานานมากขึ้น ส่งผลข้างเคียงทำให้ร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้นตามมานั่นเอง อย่างไรก็ตามมีผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์พบว่า การรับประทานอาหารเผ็ดร้อนจะช่วยคลายร้อนได้เช่นกัน เพราะทำให้ร่างกายขับเหงื่อออกมา และปลดปล่อยความร้อนส่วนเกินในร่างกายออกมาได้
4. ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่มีสีอ่อน โปร่งสบายระบายอากาศได้ดี ผ้าที่มีส่วนผสมของใยฝ้ายและลินิน ไม่หนา น้ำหนักเบา และสามารถระบายอุณหภูมิความร้อน รวมถึงป้องกันแสงแดดได้
5. การเลือกเสื้อผ้าสวมใส่ไม่เฉพาะในช่วงกลางวันเท่านั้น ยังต้องคำนึงถึงช่วงกลางคืนด้วย ควรเลือกเสื้อผ้าที่มีน้ำหนักเบาสำหรับปูที่นอนและสวมใส่ ก็สามารถช่วยได้
6. ปิดม่านในห้องนอนในช่วงกลางวัน และถอดปลั๊กอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ไม่จำเป็น ก็ช่วยลดความร้อนภายในห้องนอนได้อีกวิธี
7. ก่อนออกจากบ้านควรใช้ครีมกันแดด ที่มีค่า SPF15 ขึ้นไป
8. หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดในวันที่อากาศร้อนจัด โดยเฉพาะก่อนการออกกำลังกาย หรืออยู่ท่ามกลางสภาพอากาศร้อนเป็นเวลานาน แต่หากต้องอยู่ท่ามกลางสภาพอากาศร้อนนาน ควรดื่มน้ำให้ได้ชั่วโมงละ 1 ลิตร แม้จะไม่รู้สึกกระหายน้ำก็ตาม และแม้จะทำงานในที่ร่มก็ควรดื่มน้ำ อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว
9. ในเด็กเล็กและคนชราควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษ โดยให้อยู่ในห้องที่มีอากาศระบายได้ดี และไม่ให้เด็กหรือคนชราอยู่ในรถที่ปิดสนิทตามลำพัง
10. ในกรณีที่จะต้องไปทำงานท่ามกลางสภาพอากาศที่ร้อนจัด ควรเป็นบุคคลที่มีสุขภาพแข็งแรง โดยออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้งๆ ละ 30 นาที เพื่อให้ร่างกายเคยชินกับสภาพอากาศร้อนจัด
11. ในวันที่ร้อนจัด สิ่งที่ควรทำมากที่สุดคือ อยู่ภายในอาคารหรือที่ร่ม หรือ สถานที่มีเครื่องปรับอากาศให้ได้มากที่สุด
12. สำหรับผู้ที่ต้องเดินทางท่องเที่ยวในช่วงนี้ ในช่วงวันสองวันแรกอาจจะต้องลดกิจกรรมหนักๆ ไปก่อน เพื่อให้ร่างกายได้ปรับตัวให้เข้ากับสภาพอากาศที่ร้อนจัดเสียก่อน
รองอธิบดีกรมการแพทย์กล่าวเพิ่มเติมว่า หากพบเจอผู้เป็นโรคฮีทสโตรก สามารถช่วยเหลือเบื้องต้นโดยนำเข้าในที่ร่ม นอนราบ ยกเท้าสูงทั้งสองข้าง ถ้ามีการอาเจียนให้นอนตะแคงก่อน เมื่ออาเจียนแล้วให้นอนหงาย คลายเสื้อผ้าที่รัดแน่นออก ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบ ตามลำตัว ซอกคอ รักแร้ เชิงกราน ศีรษะ เพื่อลดอุณหภูมิร้อนในร่างกาย ร่วมกับการใช้พัดลมเป่าระบายความร้อน ราดน้ำเย็นลงบนตัว เพื่อลดอุณหภูมิร่างกายให้ลดต่ำลง ให้ดื่มน้ำหรือน้ำเกลือแร่เพื่อทดแทน แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด