รำลึก “พระปิยมหาราช” ผ่านเหรียญเงิน ผู้ทรงโปรดให้นำพระบรมรูปพระมหากษัตริย์ ประทับบนหน้าเหรียญเป็นครั้งแรกของไทย
ในชีวิตประจำวัน เมื่อเราสัมผัสเหรียญที่ใช้แทนค่าเงิน หรือแม้แต่ธนบัตร ทำให้เราสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของกษัตริย์ผู้นำประเทศทุกพระองค์ ที่ทำให้เราประชาชนคนไทย ได้มีแผ่นดินร่มเย็น ประเทศชาติพัฒนาทัดเทียมอารยประเทศ มีเงินตราที่ผลิตขึ้นใช้เองในประเทศมาหลายร้อยปี จวบจนมีการใช้เงินเหรียญตามแบบสากลที่อยู่ในมือเรา เป็นครั้งแรกในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แผ่นดินสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5
ในปี พ.ศ. 2418 ได้โปรดให้สร้างโรงกษาปณ์แห่งใหม่ขึ้น พร้อมทั้งติดตั้งเครื่องจักรใหม่ที่มีกำลังผลิต และประสิทธิภาพสูงกว่าเดิม และในรัชสมัยของพระองค์ได้เริ่มผลิตเหรียญเงิน ตราพระบรมรูป- ตราอาร์ม (ตราแผ่นดิน) เหรียญกษาปณ์ (หมุนเวียน) รัชกาลที่ 5 หนึ่งบาท หลังตราแผ่นดิน กรุงสยาม เนื้อเงิน ผลิตใช้ครั้งแรกนั้น ไม่มีการระบุปีที่เริ่มใช้บนเหรียญ มาจนถึงปี ร.ศ.120 มีข้อความบอกปี ร.ศ. ผลิตที่ริมขอบเหรียญ ตรงข้างล่างตราแผ่นดิน ด้านหลังของเหรียญ (ร.ศ.๑๒๐, ร.ศ.๑๒๑ ,ร.ศ.๑๒๒, ร.ศ.๑๒๓, ร.ศ.๑๒๔, ร.ศ.๑๒๕ และ ร.ศ.๑๒๖) ลักษณะเหรียญด้านหน้ามีพระบรมรูปรัชกาลที่ 5 หันพระพักตร์ไปทางด้านซ้าย มีข้อความว่า “สมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” ปรากฏบนเหรียญ ด้านหลังเหรียญมีตราแผ่นดิน มีข้อความว่า “กรุงสยาม รัชกาลที่ ๕” และมีคำว่า “บาท หนึ่ง” ปรากฏบนเหรียญ การผลิตเหรียญเงินที่มีพระบรมรูปพระมหากษัตริย์อยู่บนเหรียญในครั้งนี้ จึงถือเป็นครั้งแรกในการผลิตเหรียญกษาปณ์ไทยตามแบบสากลนิยม ด้วยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นความเจริญของประเทศต่างๆ ซึ่งในหลายประเทศ ล้วนมีการผลิตเหรียญพระบรมรูปพระมหากษัตริย์ หรือรูปผู้นำในแผ่นดินของประเทศทั้งสิ้น นอกจากนี้ยังเป็นการแสดงออกให้เห็นถึงความเป็นประเทศเอกราช และได้ถือปฏิบัติมาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน
นอกจากนั้นยังทรงปฏิรูประบบเงินตราครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่ง โดยมีการปรับเปลี่ยนหน่วยเงินตราของไทยที่มีมาแต่เดิม จากหน่วยเรียกตามน้ำหนัก ได้แก่ ทศ พิศ พัดดึงส์ ชั่ง ตำลึง บาท สลึง เฟื้อง ไพ ซีก เสี้ยว อัฐ และโสฬส ซึ่งเป็นระบบที่ยากต่อการคำนวณ และการจัดทำบัญชี ด้วยการนำเอาระบบทศนิยมตามแบบสากลมาใช้ คือ หน่วยเงินบาท และสตางค์ อันเป็นมาตราเงินตราไทยมาจนถึงทุกวันนี้
สำหรับเงินพดด้วงซึ่งได้หยุดผลิตตั้งแต่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา แต่ยังไม่มีการประกาศยกเลิกใช้อย่างเป็นทางการ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการผลิตเงินพดด้วงขึ้นอีก 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 เพื่อเป็นที่ระลึกในงานพระราชพิธีศพพระองค์หญิงเจริญกมลศุขสวัสดิ์ พระราชธิดาองค์สุดท้าย ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งที่ 2 เนื่องในการบำเพ็ญพระราชกุศลถวายสมเด็จพระเทพสิรินทรามาตย์ พระบรมราชชนนี และในวันที่ 28 ตุลาคม 2447 และ ได้มีการประกาศยกเลิกการใช้พดด้วงทุกชนิดราคา หลังจากที่ได้ใช้มาเป็นเวลานานกว่า 6 ศตวรรษ ซึ่งนับว่าเป็นยุคสิ้นสุดของเงินพดด้วงอย่างแท้จริง